เหรียญเทพจันทร์ลอย รุ่นแรก-วัดนครหลวง วัตถุมงคลเด่นกรุงเก่า

พระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่าแก่ มีโบราณสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่หลายแห่ง พร้อมตำนานเล่าขานมากมายน่าสนใจ

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ “แผ่นหินเทพจันทร์ลอย” ที่วัดนครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

เล่ากันว่าสร้างขึ้นจากแผ่นหินศักดิ์สิทธิ์ รูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร หนา 6 นิ้ว ชาวบ้านเรียกแผ่นหินนี้ว่า “พระจันทร์ลอย”

เดิมไม่ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดนครหลวง แต่ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดเทพจันทร์ลอย”

โดยมีตำนานเล่าขานต่อๆ กันมาว่า…

 

“…ครั้งสมัยเมืองอโยธยาเป็นราชธานี ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในเมือง ทำให้ชาวเมืองเจ็บไข้ล้มตายเป็นจำนวนมาก สมัยก่อนใช้วีธีการรักษาแบบแผนโบราณ ควบคู่ไปกับเวทมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ แต่การรักษาก็ไม่เป็นผล ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพย้ายถิ่นหนีกันเป็นจำนวนมาก

ข่าวนี้ได้แพร่สะพัดไปถึงเหล่าฤๅษีที่บำเพ็ญตบะอยู่ที่เมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ต้นแม่น้ำป่าสัก บรรดาเหล่าฤๅษีจึงได้ประชุมหารือกัน แล้วมอบหมายให้เภสัชฤๅษี (ผู้ทรงคุณวิเศษทางยา) 5 ตน ออกไปหาว่านยา เพื่อมาปรุงยารักษาโรค โดยนำตัวยาทั้งหมดที่หามาได้ มาสุมรวมเป็นกองเดียวกัน จากนั้นจึงร่ายเวทมนตร์ปลุกเสกว่านยาพร้อมๆ กัน

ด้วยอำนาจญาณสมาบัติอันแก่กล้า ทำให้ว่านยากองนั้นหลอมกลายสภาพเป็นแผ่นหินรูปกลมขนาดใหญ่

ระหว่างทาง น้ำได้เซาะเอาว่านยาในแผ่นหินละลายไหลลงมาด้วย ประชาชนพลเมืองแห่งเมืองอโยธยาได้พากันอาบ กินน้ำผสมว่านยาจากหินลอยนั้น แล้วอาการเจ็บไข้ก็เหือดหายคลายลงดั่งปลิดทิ้ง

จากนั้น แผ่นหินได้ลอยตามน้ำ จนมาถึงวังน้ำวน ระหว่างวัดใหม่กับวัดนครหลวง ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก แผ่นหินนั้นได้ลอยเป็นทักษิณาวัตร ชาวบ้านเมื่อเห็นเหตุการณ์ จึงช่วยกันเอาเชือกผูกแผ่นหินแล้วลากขึ้นฝั่ง แต่ได้พยายามอยู่นานก็ไม่สำเร็จ

จนกระทั่งมีชีประขาวคนหนึ่งมาทำพิธีบวงสรวง แล้วเอาสายสิญจน์คล้องแผ่นหิน อัญเชิญขึ้นจากน้ำได้ จากนั้นจึงนำไปประดิษฐาน ณ วัดนอก

 

เหรียญเทพจันทร์ลอย พ.ศ.2444

 

เมื่ออัญเชิญไว้ในที่อันควรแล้ว เป็นที่ศรัทธานับถือกัน เมื่อผู้ใดมีอาการป่วยไข้ต่างก็จะพากันไปกราบไหว้ เอาน้ำมาราดรดไปที่แผ่นหินเทพจันทร์ลอย แล้วรองรับน้ำไปดื่มต่างยา ก็พากันหายป่วยไข้จนหมดสิ้น เทพจันทร์ลอยจึงเป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงสืบต่อมา

แผ่นหินได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดนอก เป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา จนถึงรัชสมัยของ ‘พระเจ้าปราสาททอง’ พระองค์ได้มาสร้างปราสาทขึ้นไว้เป็นที่ประทับสำหรับทรงแปรพระราชฐานที่วัดนอก และได้ปฏิสังขรณ์วัดนอกขึ้นใหม่ ด้วยทรงเห็นว่าวัดนี้มีแผ่นหินขนาดใหญ่ทรงกลมคล้ายพระจันทร์เต็มดวงประดิษฐานอยู่ จึงทรงให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า ‘วัดเทพพระจันทร์ลอย’

ครั้งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น พระองค์มีพระประสงค์ใฝ่หาวัตถุโบราณจากหัวเมืองต่างๆ ไปประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตร

มณฑลอยุธยา จึงได้ส่งแผ่นหินพระจันทร์ลอยนี้มาให้โดยเดินทางขนส่งมาพักไว้ที่ท่าราชวรดิฐ ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อรอกราบทูลถวาย

คืนหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนิมิตว่า…แผ่นหินพระจันทร์ลอยนี้ไม่ประสงค์จะอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และขอกลับไปอยู่อยุธยาเช่นเดิม

รุ่งขึ้นเมื่อทรงตื่นจากบรรทมเห็นเป็นนิมิตมหัศจรรย์เช่นนั้น พระองค์จึงทรงมีพระบัญชาให้ทหารมหาดเล็ก นำแผ่นหินพระจันทร์ลอยกลับไปไว้ยังที่อยู่เดิมในทันที

ครั้นเมื่อมหาดเล็กนำแผ่นหินมาถึง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ก็ช่วยกันยกแผ่นหินไว้ที่โคนต้นโพธิ์ในวัดนครหลวง ไม่ได้นำไปคืนไว้ที่เดิม ที่วัดเทพจันทร์ลอย

แผ่นหินพระจันทร์ลอย จึงได้ประดิษฐาน ณ วัดนครหลวงมาจนถึงทุกวันนี้…”

 

ครั้นต่อมาถึงปี พ.ศ.2444 พระครูปลื้ม วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดนครหลวง รวมทั้งสร้างมณฑปสำหรับเป็นที่ประดิษฐานแผ่นหินจันทร์ลอยด้วย ในครั้งนั้นจึงได้สร้างเหรียญเทพจันทร์ลอยขึ้นเป็นที่ระลึกเป็นครั้งแรก เท่าที่ทราบมี 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินกับเนื้อตะกั่ว แต่จะสร้างเป็นเนื้อเงินเสียส่วนใหญ่ มอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้ช่วยเหลือในการปฏิสังขรณ์

ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม มีหูเชื่อม ด้านหน้า เป็นรูปพระฤๅษีถือลูกประคำ รอบเหรียญขอบบนเขียนคำว่า “ปะติสังขอน รูปพะจันลอย” ขอบล่างเขียนคำว่า “พุท ๒๔๔๔ ปี ร.ศ.๑๒๖”

ด้านหลังเป็นพระพุทธรูป 3 องค์ นั่งขัดสมาธิ

เป็นเหรียญเก่าอีกเหรียญของพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระเกจิอาจารย์ที่มาร่วมปลุกเสก คือ หลวงพ่อนวม วัดกลาง, หลวงพ่อกรอง วัดเทพจันทร์ลอย, หลวงพ่อรอด วัดสามไถ, หลวงพ่อปุ้ม วัดสำมะกัน ฯลฯ

อีกทั้ง หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ซึ่งเป็นชาวนครหลวงโดยกำเนิด และมีความสนิทสนมกับหลวงพ่อนวมและหลวงพ่อกรอง เดินทางมาร่วมปลุกเสกด้วย

หากได้ไปเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็น่าที่จะแวะไปเที่ยวที่วัดนครหลวง อ.นครหลวง แห่งนี้ นอกจากจะได้ไปสักการะเทพจันทร์ลอย ยังได้เที่ยวชมปราสาทนครหลวงอันเก่าแก่ สร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่ได้จำลองแบบซุ้มปรางค์ของขอมมาไว้ด้วย

เป็นปราสาทอันงดงามด้วยศิลปะอีกแห่งหนึ่งของพระนครศรีอยุธยา •

 

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]