ลอยชาย

ญาดา อารัมภีร
จิตรกรรมฝาผนังวัดบางขุนเทียนใน

นุ่งโจงกระเบนถือกันว่าสุภาพ นุ่งลอยชายเป็นการนุ่งตามสบายของชายไทยทั้งหนุ่มแก่ในสมัยโบราณ ห่างไกลคำว่าสุภาพ

“กาญจนาคพันธุ์” เล่าถึงการนุ่งลอยชายไว้ในหนังสือ “เด็กคลองบางหลวง เล่ม 1” หนังสือชุด 100 ปี ขุนวิจิตรมาตรา ว่า

“เวลานุ่งเอาผ้าทั้งผืนนั้นมาโอบหลัง กะให้ชายผ้าข้างหน้าเท่ากัน แล้วขมวดชายพกเหน็บแน่นติดตัว และทิ้งชายห้อยลงไปข้างหน้าเรียกว่า ‘นุ่งลอยชาย’ ถ้าจะเปรียบให้เห็นง่ายๆ ก็อย่างเรานุ่งผ้าขาวม้าปัจจุบันนั่นเอง”

นุ่งลอยชาย คือ นุ่งผ้าโดยปล่อยชายผ้านุ่งให้ห้อยอยู่ ไม่ม้วนขึ้นมาเหน็บชายอย่างโจงกระเบน

นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตอนที่ท้าวสิลราชเซ่นสรวงสังเวยในเรือ จุดธูปเทียนรินเหล้าบวงสรวงเชิญเจ้าพ่อเทพารักษ์ที่สิงอยู่ตามเกาะตามภูเขาและในน้ำมารับเครื่องเซ่น ทันทีที่เสียงตีม้าล่อดังขึ้น ผีก็เข้าร่างขรัวนายจนตัวสั่นเทิ้ม ตาเหลือกลาน ลุกพรวดพราด นุ่งผ้าลอยชายออกมา

“พอเจ้าเข้าขรัวนายให้กายสั่น ลุกถลันเหลือกตาเหมือนบ้าหลัง

นุ่งลอยชายกรายมาหน้าบัลลังก์ ขึ้นโต๊ะตั้งนั่งรินกินสุรา”

 

เนื่องจาก ‘นุ่งลอยชาย’ นั้นนุ่งง่ายๆ ไม่สุภาพ เท่ากับทำตามสบาย ไม่แยแสอะไร แสดงว่าถือดี ทำตามความพอใจของตัวเองเป็นสำคัญ พวกนุ่งลอยชายจึงมักเป็นพวกนักเลง ดังที่เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าว่า

“พวกหัวไม้ลอยชายออกกรายกรีด เหน็บมีดขวานคร่ำทำก๋าเก่ง

เข้าในวัดยัดเยียดเบียดตะเบ็ง สาวสาวกลัวนักเลงลงนาวา”

เรียกว่าพอนักเลงหัวไม้มาก็ได้เรื่อง แทนที่สาวๆ จะได้เที่ยวชมงาน ก็เปลี่ยนใจหนีลงเรือ

แม้แต่ตัวขุนช้างเองก็ถูกนางพิมพิลาไลยด่ากระทบโดยด่าอ้ายผลบ่าวของนางที่หัวล้านเหมือนกันว่า

“อ้ายเจ้าชู้ลอมปอมกระหม่อมบาง ลอยชายลากหางเที่ยวเกี้ยวหมา”

‘หาง’ ในที่นี้คือ หางกระเบนหรือชายกระเบนนั่นเอง

หนังสือ เด็กคลองบางหลวง เล่ม 1 ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการนุ่งลอยชายว่า

“การนุ่งผ้าลอยชายนั้น บางคนชอบนุ่งใต้สะดือก็มี มักนุ่งขมวดไว้ชายพกใหญ่ๆ”

พันมโนและบริวารในเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เป็นบ้านนอกเข้ากรุง เห็นสาวๆ ชาววังเดินผ่าน ได้กลิ่นน้ำอบหอมฉุยก็ตามติดเกี้ยวพาราสีจนเดินข้ามฉนวนประตูดิน ถูกตาถินนายประตูรั้งตัวไว้ หาว่านุ่งผ้าลอยชายเข้าวัง

“งุ่มง่ามข้ามฉนวนประตูดิน ตาถินนายประตูครู่เอาผ้า

ชายพกหลกลุ่ยหุยหม่อมตา ยั่นอ้ายบ้าลอยชายคาดใต้พก”

เลยถูกปรับเงินแทนการลงโทษ

“เสียเงินให้สลึงเขาจึงปล่อย หน้าจ๋อยกลับมาทั้งนายไพร่”

 

ค่าปรับนั้นไม่แน่นอน บทละครเรื่อง “รามเกียรติ์” รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงผู้คนเที่ยวชมมหรสพในงานฉลองกรุงลงกาที่สร้างใหม่ว่า

“บ้างนุ่งผ้าพกยาวชาวสวน ลอยชายข้ามฉนวนเขาจับได้

นายประตูขู่สำทับจับหวายไว้ ขอให้สี่สลึงจึงวางมือ”

ตอนราชาภิเษกพระราม ผู้คนที่ชมงานสมโภชถูกลงโทษอย่างหนักเนื่องจาก

“พวกบัณฑิตปิดขมับนุ่งม่วง ห่มแพรดวงเดินเยื้องยักไหล่

เที่ยวลอยชายกรายข้ามฉนวนใน โขลนไล่เฆี่ยนตีหนีลนลาน”

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ‘กฎมณเฑียรบาล’ ใน “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2” ระบุโทษไว้ว่า

“อนึ่ง ผู้ใดทัดดอกไม้ แลนุ่งผ้าแดงผ้าชมภูไพรำการะกำหาเชิงมิได้ ห่มผ้านอกเสื้อห่มผ้าบ่าเดียว นุ่งผ้าเหนบหน้า หิ้วชายลอยชายแลเข้าในสนวนประตู สนวนตะพาน สนวนในรั้วไก่ในกะลาบาตแลหน้าพระธินั่ง ประตูทับเรือก็ดีพระตำหนักก็ดี ฝ่ายผ้าเสื้อไซ้ให้ฉีกเสีย ดอกไม้ไซ้ให้คลุกฝุ่นโพกหัว ตามโทษหนักโทษเบา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จะเห็นได้ว่า ‘นุ่งผ้าลอยชาย’ เดินผ่าน ‘สนวน’ หรือ ‘ฉนวน’ ซึ่งเป็นทางเดินมีเครื่องกำบัง 2 ข้างสำหรับพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายฝ่ายในเสด็จขึ้นลงหรือเข้าออก ถือเป็นความผิดต้องได้รับโทษ

 

“กาญจนาคพันธุ์” ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ “เด็กคลองบางหลวง เล่ม 1” ว่า

“ได้ยินพูดกันว่า คนนุ่งผ้าลอยชายเดินผ่านวังเจ้านายก็ไม่ได้ เวลาจะผ่านต้องรวบชายผ้ามาโจงกระเบน เมื่อพ้นหน้าวังไปแล้วก็ปล่อยได้ ถ้าไม่ทำเช่นนี้อาจโดนอาญาวัง

เจ้าชู้หนุ่มๆ นุ่งผ้าลอยชายจะไปไหนก็ตาม แต่ถ้าเข้าไปหาผู้ใหญ่ หรือเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัด ตลอดจนศาล ต้องจับชายม้วนโจงกระเบนเหมือนกันหมด มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการดูหมิ่น ไม่สุภาพ ข้าพเจ้าเคยเห็นคนหนุ่มบ้างคนแก่บ้างมาหาบิดาข้าพเจ้าที่บ้าน พอขึ้นสะพานท่าน้ำหน้าบ้าน เขาก็ม้วนชายผ้าโจงกระเบนทันที ไม่มีใครนุ่งลอยชายเข้ามาเลย”

‘ลอยชาย’ จึงเป็นสำนวนที่มาจากการนุ่งผ้าลอยชาย (คือไม่โจงกระเบน นุ่งแบบนุ่งโสร่งถือกันว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อย) หมายความว่า ทำตามสบายใจ ทำตามชอบใจ ทำอย่างเป็นอิสระ แสดงท่าทางภาคภูมิ ทำถือดีไม่เคารพคารวะ มีท่าทางกรีดกราย ฯลฯ (จาก “สำนวนไทย” ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ดังที่บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” เล่าถึง เจ้าเงาะกวนประสาทพ่อตาแม่ยายด้วยการ

“ก้มกรานคลานหมอบพินอบพิเทา กราบแล้วกราบเล่าเฝ้าหลอกล้อ

ฉวยได้ฝาชีที่ขันน้ำ แกล้งทำปะเตะเล่นเช่นตะกร้อ

ท้าวสามลโกรธาด่าทอ เจ้าเงาะหัวร่ององอไป

แล้วคุกเข่าเข้ามาลาแม่ยาย ทำอุบายชี้มือบอกใบ้

ลุกขึ้นเดินลอยชายสบายใจ กลับๆ ไปกระท่อมทับฉับพลัน”

ยังมีวิธีนุ่งผ้าที่น่าสนใจ

ติดตามฉบับหน้า •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร