การสร้างหลุมหลบภัย ในสงครามมหาเอเชียบูรพา

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

การสร้างหลุมหลบภัย

ในสงครามมหาเอเชียบูรพา

 

พลันเมื่อรัฐบาลไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านพร้อมการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐแล้ว

ไม่นานจากนั้น ฝูงบินของอังกฤษจากพม่าเข้าทิ้งระเบิดตอบโต้ไทยทันที รัฐบาลไทยสร้างหลุมหลบภัยและส่งเสริมให้คนไทยสร้างหลุมหลบภัยเพื่อความปลอดภัยในชีวิต

หลุมหลบภัยจึงเป็นแหล่งหลบภัยชาวพระนครในยามที่ฝูงบินของฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าทิ้งระเบิดตั้งแต่ช่วงต้นสงครามจวบจนสงครามสิ้นสุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายสงครามเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยเหนือฝ่ายอักษะในยุโรป และญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำอย่างหนัก ณ ยุทธภูมิที่อิมผาลในอินเดีย (ต้นปี 2488)

หลุมหลบภัยที่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงและเครื่องบินทิ้งระเบิด บี 29 ชนิดที่ทิ้งระเบิดในไทย

ประสบการณ์หลบภัยทางอากาศ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เมื่อครั้งเป็นเด็กที่อาศัยแถบถนนสุรวงศ์เล่าว่า

ในช่วงต้นสงคราม พระนครถูกโจมตีทางอากาศ บ้านเรือนแถบบางรักถูกทิ้งระเบิด แต่ครอบครัวของเขายังไม่คิดที่จะย้ายออกนอกพระนคร แต่พ่อสั่งกระสอบทรายมาตั้งกั้นผนังห้องด้านล่างเพื่อทำห้องหลบภัยสำหรับครอบครัว

ต่อมา เมื่อพระนครถูกโจมตีถี่ขึ้น พ่อเห็นว่า การหลบภัยบนดินไม่ปลอดภัยเสียแล้วจึงจ้างคนงานขุดหลุมหลบภัยลงไปในดิน ใช้ดินเหนียวยาไม่ให้น้ำเข้า ใช้กระดานไม้ปูเป็นพื้น และทำเนินสูงขึ้น ในช่วงนั้น บ้านแถวสุรวงศ์ต่างๆ ก็มีหลุมหลบภัย (สุลักษณ์ ศิวรักษ์, 2527, 243)

หมอเสนอ อินทรสุขศรี เล่าว่า เมื่อภัยทางอากาศชุกขึ้น ทางราชการได้สร้างหลุมหลบภัยสาธารณะตามถนนต่างๆ เพิ่มขึ้นหลายแห่ง บางแห่งเป็นหลุมแบบเปิด บางแห่งก็เป็นหลุมแบบปิด โดยหลุมแบบเปิดเป็นการขุดหลุมดินลงไปจากพื้นคล้ายสนามเพลาะ ส่วนหลุมหลบภัยแบบปิดนั้นจะขุดดินลึกลงไปเป็นอุโมงค์หลบได้ 10-20 คน บ้านใดมีพื้นที่และมีฐานะพอควรมักจะสร้างหลุมหลบภัยสำหรับคนในครอบครัว (เสนอ อินทรสุขศรี, 2548, 77)

ทางราชการสมัยนั้นได้สร้างหลุมหลบภัยสาธารณะสำหรับประชาชนขึ้นหลายแห่ง เช่น หน้าสถานีหัวลำโพง ที่สามแยก หน้าโรงภาพยนตร์โอเดียนมีหลุมหลบภัยขนาดใหญ่ เมื่อเกิดการโจมตีทางอากาศ จะมีเสียงหวอออกวิทยุอยู่เนืองๆ (สุลักษณ์, 244)

ภาพอาคารบ้านเรือนพังทลายจากการโดนทิ้งระเบิดอย่างหนักช่วงสงคราม เครดิตภาพ : Checkk Outzz

รัฐบาลแนะนำให้สร้างหลุมหลบภัย

เมื่อไทยขัดแย้งกับฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีน (2483) รัฐบาลระมัดระวังการถูกฝรั่งเศสโจมตีทางอากาศด้วยการแจกจ่ายในหนังสือ เรื่อง ป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศ (2484) มีคำแนะนำให้ทำหลุมหลบภัยทางอากาศที่ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หรืออิฐใช้กำบังภัยทางอากาศสำหรับประชาชน แบ่งเป็นที่หลบภัยในอาคาร และที่หลบภัยนอกอาคาร

รัฐบาลแนะนำให้ประชาชนสร้างที่หลบภัยภายในอาคาร มีผนังหนา แข็งแรง ห้องที่อยู่เหนือห้องหลบภัยนั้นต้องมีลักษณะโปร่งเพื่อลดแรงอัด เพดานห้องแข็งแรง ขนาดห้องกว้างพอที่จะอยู่ได้ 2 ชั่วโมง โดยให้คำนวณอากาศให้คนละ 3 ลบ.ม. ห้องที่เหมาะสมในการสร้างที่หลบภัยควรเป็นห้องชั้นล่างบริเวณมุมอาคารที่บดบังจากอาคารอื่นด้วย รัฐบาลยังแนะนำอีกว่า หน้าต่างกระจกของบ้านทุกบานให้กรุด้วยวัสดุต้านทานแรงระเบิด บานกระจกให้ติดด้วยผ้าหรือกระดาษเหนียว (กรมโฆษณาการ, 2484, 2-3)

สำหรับหลุมหลบภัยส่วนตัวนอกบ้านขนาด 8 คนนั้น มีชนิดที่หลบภัยบนดิน (ไม่ได้ขุด) หลุมหลบภัยกึ่งใต้ดิน และที่หลบภัยใต้ดิน แบ่งเป็นแบบปิดและแบบเปิด แต่รัฐบาลแนะนำว่า หลุมหลบภัยที่ดีที่สุด คือ หลุมที่ขุดลงใต้ดินแบบปิด และควรมีการสร้างทางหรือหลุมระบายน้ำเพื่อสูบน้ำหรือวิดน้ำออก ควรมีทางปล่องระบายอากาศ ปลายปล่องมีฝาชีครอบกันฝนด้วย

หลุมหลบภัยแบบปิดชนิดไม่ขุด

หลุมหลบภัยแบบต่างๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลให้แนวคิดในการสร้างหลุมหลบภัยนั้นต้องคำนึงถึง พื้นที่นั้นมีโอกาสถูกทิ้งระเบิดไหม ความหนาแน่นของประชากรที่สัญจรไปมา ระดับน้ำใต้ดิน ระยะทางในการวิ่งจากที่หลบภัยแห่งหนึ่งมายังที่หลบภัยไม่ควรเกิน 600 เมตร และที่หลบภัยควรอยู่ห่างจากอาคารพอประมาณหากอาคารทลายลง (208)

ส่วนแบบในการสร้างหลุมหลบภัยให้คำนึงถึงขนาดจุคนจำนวนน้อยๆ ดีกว่าจุมาก เพราะหากถูกทำลายลงจะไม่เสียหายมาก การขุดคูดินแคบดีกว่าคูกว้าง แบบหลุมปิดดีกว่าแบบหลุมเปิด ขุดลึกดีกว่าตื้นเนื่องจากได้แนวกำบังได้มากกว่า และให้ประชาชนต้องคำนึงระดับน้ำใต้ดินด้วย

สำหรับการสร้างผนังกันแนวแรงระเบิดนั้นให้ใช้ลังไม้ใส่ดิน กระสอบทราย ขอนไม้ ส่วนหลุมหลบภัยที่ขุดลงในดินนั้นให้สร้างหลุมขังน้ำหรือทางระบายน้ำสำหรับเครื่องสูบน้ำหรือถังน้ำสำหรับตักออกด้วย โดยขั้นบันไดควรวางไม้ตามแนวขั้นบันไดและให้กรุไม้แนวตั้งขั้นบันไดด้วย

สำหรับแนวปฏิบัติเมื่อต้องหลบภัยในการหลบภัยนั้น รัฐบาลแนะนำว่าให้ประชาชนเก็บทุกส่วนของร่างกายอยู่ในที่กำบัง ไม่สร้างความรำคาญให้ผู้ที่หลบภัย เช่น สุบบุหรี่ รักษาความสะอาดภายในหลุม ไม่ควรใส่กุญแจห้องหลบภัยเพื่อให้ทุกหลุมมีความพร้อมในการรองรับการหลบภัย จัดเตรียมเครื่องมือรื้อถอนเมื่อที่หลบภัยพังลง เช่น ชะแลง ขวาน เชือก พลั่ว เสียม ไฟฉาย หน้ากากกันไอพิษ เครื่องปฐมพยาบาล (172)

หลุมหลบภัยแบบเปิด

ไม่แต่เพียงรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนสร้างหลุมหลบภัยตามบ้านเรือนอย่างกว้างขวางเท่านั้น แต่รัฐบาลยังให้การตรวจสอบคุณภาพของอาคารและหลุมหลบภัยของประชาชน โดยมีการตรวจสอบและให้ใบรับประกันความปลอดภัยจากหน่วยงานของรัฐอีกด้วย

สรศัลย์ แพ่งสภา เล่าว่า การโจมตีทางอากาศพระนครในครั้งแรกในคืนวันที่ 8 มกราคม 2485 นั้น พระนครยังมีหลุมหลบภัยไม่กี่แห่ง แต่ตามบ้านเรือนประชาชนทั่วไปขณะนั้นยังไม่มีใครสร้างหลุมหลบภัยเลย (สรศัลย์ แพ่งสภา, 2558, 52)

รัฐบาลไทยเคยส่งเสริมให้คนไทยสร้างหลุมหลบภัยมาตั้งแต่สงครามอินโดจีน (2483) แล้ว แต่ต่อมา เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาระเบิดขึ้น (2484) และมีการโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรถี่ขึ้น ประชาชนทั่วไปที่มีพื้นที่และมีกำลังทรัพย์เพียงพอมักจะสร้างหลุมหลบภัยสำหรับครอบครัวขึ้น

แต่ประชาชนทั่วไปจะหลบภัยตามที่หลบภัยสาธารณะที่รัฐบาลจัดสร้างขึ้น หรือไม่ก็หลบภัยตามสะดวก เช่น หลบในสวน ในท่อระบายน้ำ หรือแม้แต่ในโบสถ์

แบบหลุมหลบภัยแบบเปิดที่ใช้กระสอบทราย
ภาพการทิ้งระเบิดบริเวณบ้านหม้อช่วงสงคราม เครดิตภาพ : Checkk Outzz
ใบตรวจสอบและรับรองหลุมหลบภัย เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี