สังคม อ้าแขนรับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ‘คนใหม่’ พร้อมกับ คำถาม

บทความพิเศษ

 

สังคม อ้าแขนรับ

สุจิตต์ วงษ์เทศ ‘คนใหม่’

พร้อมกับ คำถาม

 

การหวนคืนสู่ประเทศไทยของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นการหวนคืนอย่างที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “โพสต์” สุจิตต์ วงษ์เทศ

แม้ในท่อนท้ายของ “โง่ เง่า เต่า ตุ่น”

ด้านหนึ่ง มีการอ้างอิงไปถึง “สิทธารถะ” อันเป็นนิพนธ์เรืองนามของ เฮอร์มานน์ เฮสเส

ด้านหนึ่ง มีการอ้างอิงถึง “พระธุดงค์” ในถ้ำลึก บนเขาสูงแห่งภาคเหนือ

และที่สุดยืนยันถึงการตัดสินใจ ณ เบื้องหน้าดอกบัวบานอยู่ในตระพังน้ำของพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย

“เราจะรีรออยู่ทำไมให้เสียเวลา รีบไปเด็ดมาบูชาพระอัฐารศกลางใจเมืองกันเถิด แม้ดอกบัวจะไม่มี และแม้ว่าพระอัฐารศจะภินทนาการไปสิ้นก็หาได้เป็นอุปสรรคไม่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นปัจฉิมโอวาทว่าการปฏิบัติบูชาย่อมบรรลุปรารถนาสูงสุดต่างหาก

ทั้งปรารถนาของผู้บูชา คือเรา และทั้งปรารถนาของผู้ที่ถูกบูชา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

เหมือนกับเป็นการยืนยันความเป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ คนเดิม

กระนั้น หากยึดหลักแห่งความเป็นอนิจจังขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวกันก็จำเป็นต้องยอมรับในความเป็นจริงของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมื่อหวนกลับสู่ “ประเทศไทย” ทุกอย่างก็ “ไม่เหมือนเดิม”

 

มองทะลุ สยามรัฐ

สังคมศาสตร์ ปริทัศน์

คล้ายกับว่าเมื่อกลับสู่บ้านข้างวัดชิโนรส ฝั่งธนบุรี คล้ายกับเมื่อกลับเข้าทำงานบนสำนักงานของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” บนถนนราชดำเนิน ฝั่งพระนคร

ทุกอย่างจะเหมือนเดิม บ้านเดิม สำนักงานเดิม

แต่เมื่อมองความเป็นจริงโดยรอบอย่างพิเคราะห์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ย่อมรู้ว่าทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนเดิม

เป็นไปตามกฎแห่ง “อนิจจัง” ไม่เที่ยง

หากมองไปยังสำนักเดิมคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

อาจไม่ใกล้เคียงกับโดมเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์

อาจไม่ใกล้เคียงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามย่าน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ทุกอย่างล้วนแปรเปลี่ยน อาจไม่เหมือน “อิทะกะ” แต่ก็ “ไม่ต่าง” มากนัก

มองผ่านความรับรู้ต่อเรื่องราวของ “สงครามเวียดนาม” อาจจะยังไม่มากนัก นั่นก็คือเป็นการรับรู้กันในวงแคบผ่านนิตยสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ผ่านหนังสืออย่าง “เจ็ดสถาบัน”

แต่ในห้วงนับแต่การเดินทางไปสหรัฐของ สุจิตต์ วงษ์เทศ กระทั่งเข้าสู่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514

การเคลื่อนไหวในทาง “ความคิด” และในทาง “การเมือง” ได้เปลี่ยนไป

 

รัฐประหาร ถูกต้าน

นักศึกษา ประชาชน

หากพลิกหนังสือ “วีรชนหาญกล้า” ของฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ งานรำลึกวีรชน 14 ตุลาคม ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในปี 2518

ก็จะพบกับ “บรรยากาศ” อันเป็นความแปลกใหม่

การรัฐประหารหรือที่ชนชั้นปกครองเรียกอย่างบิดเบือนว่า “ปฎิวัติ” นั้น พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ขุนศึกคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ในระหว่างเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า

“ถ้าใครคิดปฏิวัติก็บ้าเต็มทนแล้ว”

แต่เมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกได้ก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พลเอกคนเดียวกันนี้ก็กลายเป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติอย่างหน้าตาเฉย

แต่นักศึกษา ประชาชนใช่ว่าจะยอมจำนนให้ชนชั้นปกครองเหล่านี้ทำการปู้ยี่ปู้ยำบ้านเมืองอย่างง่ายดาย วันที่ 18 พฤศจิกายน นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการชุมนุมประท้วงภายในมหาวิทยาลัย

และต่อมาก็ได้สลายตัว

วันที่ 19 พฤศจิกายน นายก อมธ.และประธานคณะต่างๆ ได้ประชุมออกแถลงการณ์ตอบโต้คณะรัฐประหารและเรียกร้องให้นักศึกษาประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างสันติและได้นำพวงหรีดไปวางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

รัฐบาลสั่งจับไปสอบสวนที่สถานีตำรวจและควบคุมตัวไว้ 5 ชั่วโมงจึงปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อหาอะไรแต่ก็ได้กล่าวเตือนเชิงสำทับว่า

“คณะปฏิวัติถอยไม่ได้อีกแล้ว”

 

จดหมาย เข้ม เย็นยิ่ง

ส่งตรง ทำนุ เกียรติก้อง

ได้มีการเคลื่อนไหวในกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะลงชื่อประท้วงการรัฐประหาร แต่ก็เงียบหายไป

นิตยสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ปล่อยหน้าบทบรรณาธิการว่างไว้ขาว

เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการรัฐประหาร ปฎิกิริยาเงียบเหล่านี้แสดงออกอย่างกว้างขวางและเริ่มสิ้นหวังกับระบบรัฐสภาที่ควบคุมโดยชนชั้นปกครอง กลุ่มจักรพรรดินิยม ทุนนิยมขุนนางและศักดินานิยม เพราะพวกนี้สามารถยุบสภาโดยไม่แยแสต่อประชาชน

ในเดือนธันวาคม นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งอยู่ที่อังกฤษได้เขียนจดหมายในนามของ นายเข้ม เย็นยิ่ง ถึง ผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง เรียกร้องให้เร่งสร้างกติกาการปกครองหมู่บ้านออกมาใหม่เพื่อความสุขความเจริญของสังคม

จดหมายฉบับนี้ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร “ชาวบ้าน” ซึ่งเป็นนิตยสารที่เปิดโปงจักรพรรดินิยมอเมริกาและเขียนวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองอย่างตรงไปตรงมา

ต่อมา นิตยสาร “ชาวบ้าน” ก็ถูกบีบโดยเงื่อนไขทางกฎหมายให้เลิกไป

หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน ทำให้การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาซบเซาลงระดับหนึ่ง แต่หาได้หยุดยั้งการเคลื่อนไหวอย่างซึมลึกลงได้ไม่

ที่น่าสนใจคือการเคลื่อนไหวทางด้าน “วัฒนธรรม”

 

ชัยพฤกษ์ ลอมฟาง

นักศึกษา ประชาชน

นอกเหนือจาก “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการแล้ว ยังมี “ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน” ที่มี อนุช อาภาภิรม เป็นบรรณาธิการ โดยมี วิทยากร เชียงกูล เป็นกำลังสำคัญ

ความน่าสนใจอยู่ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี กับ วิทยากร เชียงกูล สังกัด “ชมรมพระจันทร์เสี้ยว” ซึ่งมีฐานที่มั่นใหญ่อยู่ชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผลงานของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ปรากฏผ่านหนังสือเล่มละบาทอย่างคึกคัก

ขณะเดียวกัน ในฐานะบัณฑิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยากร เชียงกูล ประสานเข้ากับ กมล กมลตระกูล ผลักดันนิตยสาร “ชาวบ้าน” ในนามสมาคมศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ทวี หมื่นนิกร และ วารินทร์ วงศ์หาญเชาวน์ เป็นมือเขียนอันคึกคักและห้าวหาญ

ยิ่งกว่านั้นภายหลัง “ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน” แปรเป็น “วิทยาสารปริทัศน์” และเปลี่ยนบรรณาธิการจาก อนุช อาภาภิรม เป็น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สร้อยแห่งนักศึกษาประชาชนก็ไปปรากฏผ่าน “ลอมฟาง ฉบับนักศึกษาประชาชน” จากการทำหน้าที่บรรณาธิการของ สำเริง คำพะอุ

ความน่าสนใจเป็นอย่างมากยังได้แก่ การปรากฏขึ้นของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” อันประกอบส่วนจากสมองของคนรุ่นใหม่

นั่นก็คือ บุญส่ง ชเลธร จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กมล กมลตระกูล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิรุณ ฉัตรวณิชกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธัญญา ชุนชฎาธาร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ นิตยสาร “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ได้เป็นฐานในการตีพิมพ์งานเขียน “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของ “ทีปกร” ขึ้นมา

นั่นคือ การเชื่อมร้อยระหว่าง จิตร ภูมิศักดิ์ กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

วรรณกรรม เพื่อชีวิต

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เพิ่งอยู่ในตราประทับแห่ง เมด อิน U.S.A. และตกอยู่ในภวังค์แห่ง โง่ เง่า เต่า ตุ่น

เป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ย้อนกลับมาตั้งหลัก ณ สยามรัฐรายวัน

ทำงานเรียงอยู่เคียงข้างกับ ขรรค์ชัย บุนปาน โดยมี นพพร บุณยฤทธิ์ อยู่ในสถานะแห่ง “บรรณาธิการ”

จากนั้น ไม่นาน สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ถูกยื่น “ซองขาว” จาก “สยามรัฐ”