ดอกไม้และก้อนอิฐที่ชายแดน! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

การส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมครั้งแรกของรัฐบาลไทยให้แก่ผู้ประสบภัยสงครามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 นั้น ดูจะเป็นความภูมิใจของรัฐบาลไทย ที่สามารถสร้างภาพเชิงบวกให้แก่งานการต่างประเทศไทยที่ตกต่ำมานาน เพราะอย่างน้อยรัฐบาลไทยยอมที่จะดำเนินการทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายต่างๆ เรียกร้องมาตลอด เนื่องจากสงครามกลางเมืองเมียนมา ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงจากการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2564 นั้น ได้ทำให้เกิด “วิกฤตด้านมนุษยธรรม” อย่างรุนแรง

หลังการรบในเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้น ได้มีเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องที่อยากเห็นรัฐบาลไทยยอมเปิดทางให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำรัฐบาลไทยเดิมที่มีพื้นฐานมาจากการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ กับผู้นำทหารที่ก่อการรัฐประหารที่เนปิดอร์ การดำเนินการทางด้านมนุษยธรรมของไทยนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ดังนั้น นโยบายต่างประเทศไทยก่อนเลือกตั้ง 2566 ต่อปัญหานี้มีความชัดเจนที่ถือเอารัฐบาลทหารเมียนมาเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต่อมา การเปลี่ยนแปลงเกิดใน 2 ส่วนคือ การมาของรัฐบาลพลเรือนที่กรุงเทพฯ และการถดถอยอย่างต่อเนื่องของกองทัพรัฐบาลเมียนมา

ผลที่ตามมาคือ ทำให้เสียงเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยในการปรับนโยบายเพื่อรับกับสถานการณ์สงครามในเมียนมาดังมากขึ้น และทั้งทำให้การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมถูกผลักดันมากขึ้น จนนำไปสู่ภาพที่เกิดในเช้าวันที่ 25 มีนาคม ที่ “สภากาชาดจังหวัดตาก” ทำพิธีส่งมอบของจำนวน 4,000 ชิ้นให้กับสภากาชาดเมียนมา

อีกทั้ง เพื่อให้ประชาสัมพันธ์ถึงการให้ความช่วยเหลือนี้ ในเช้าวันที่ 24 มีนาคม กองทัพบกได้พาคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงพื้นที่เพื่อทำข่าว เพราะว่าที่จริงแล้ว การดำเนินการของกระทรวงต่างประเทศไทย และกาชาดจังหวัดตาก จะเกิดไม่ได้โดยไม่ผ่าน ”การจัดการ“ ของกองทัพบกไทย และเป็นที่ทราบกันในพื้นที่ว่า การดำเนินการของกองทัพบกใช้กะเหรี่ยง ”กลุ่ม BGF” ที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา และแตกออกมา เป็นเหมือน “ผู้อำนวยความสะดวก” แต่หลายฝ่ายก็กังวลกับปัญหาประวัติของกลุ่ม

ประเด็นเช่นนี้มีความละเอียดอ่อน เพราะทำให้นักสังเกตการณ์หลายฝ่ายในเวทีระหว่างประเทศที่ติดตามเรื่องนี้ ดูจะมีความแปลกใจอย่างมาก และมองด้วยความแคลงใจว่า ทำไมไทยไม่ใช้ความสัมพันธ์ของ “กลุ่ม KNU” ซึ่งว่าที่จริง มีความใกล้ชิดกับทหารไทยมาก่อนและมานานด้วย นายทหารไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อาจจะคิดด้วย “ความตื้นเขินทางการทูต” เพียงต้องการ “สร้างภาพ” เพื่อให้เห็นถึงการมีบทบาทของกองทัพบก พร้อมกับเปิดทางให้กระทรวงต่างประเทศไทยที่ถูกวิจารณ์มานานถึง “ความอืดอาด” ได้มีบทสำคัญด้วย

ว่าที่จริง มีเสียงคัดค้านมาโดยตลอด ที่ไม่อยากเห็นความช่วยเหลือจากไทยส่งผ่านกาชาดเมียนมา เพราะองค์กรนี้ถูกมองว่าเป็น “ตัวแทน” ของรัฐบาลทหาร จนถึงขนาดคนที่ทำงานชายแดนกล่าวกับผู้เขียนว่า “อยากเอาเครื่องจีพีเอส. ติดไปกับของเหล่านี้ เพราะอยากรู้ว่าปลายทางสุดท้ายของนี้ไปถึงใคร?”

คำกล่าวเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนอะไรมากไปกว่า “ความหวาดระแวง” ที่เกิดจากบทบาทของฝ่ายไทย แม้หลายคนในฝ่ายไทยเข้ามาทำเรื่องการส่งของด้วยความจริงใจ และความหวังที่จะช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง ไม่ได้หวังว่า การเข้ามาช่วยครั้งนี้จะเป็น “ใบเบิกทาง” เพื่อไปสู่ผลประโยชน์ที่มากกกว่า

อย่างไรก็ตาม คำตอบที่น่าสนใจจากกรณีนี้มาจากแถลงการณ์ของกลุ่ม KNU ที่ดูจะสวนทางกับ “ภาพสวยๆ” ที่กระทรวงต่างประเทศ และกองทัพบกไทยพยายามนำเสนอต่อสื่อ พร้อมกับตามมาด้วยคำถามต่างๆ

กลุ่มกะเหรี่ยง KNU นำเสนอ 6 ประเด็น ดังนี้ 1) วิกฤตมนุษยธรรมในเมียนมาเกิดจากการกระทำของรัฐบาลทหาร ซึ่งเท่ากับส่งสัญญาณที่อยากให้รัฐบาลไทยตระหนักถึงต้นตอของปัญหา

2) รัฐบาลทหารใช้ประโยชน์จากความช่วยเหลือของไทย และการให้ความช่วยเหลือผ่านสภากาชาดเมียนมาจะไม่เป็นการช่วยเหลือประชาชนแต่อย่างใด

3) ขณะที่มีการส่งมอบความช่วยเหลือในบางจุด รัฐบาลทหารกลับส่งอากาศยานเข้ามาบินเหนือพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ประชาชนหวาดกลัวจนต้องหลบหนี

4) การสร้างความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การทำลายความไว้วางใจระหว่างกันจะยิ่งทำให้ปัญหามีมากขึ้น ซึ่งเท่ากับกำลังสะท้อนว่ามีปัญหาความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นแล้ว

5) กลุ่ม KNU ได้เคยส่งแผนจัดการความช่วยเหลือนี้ไปให้กลุ่มอาเซียนและไทยแล้ว จึงเท่ากับมีนัยว่า ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายไทยไม่รับแผนนี้ คำตอบนี้อาจมีนัยถึงคำอธิบายว่า ทำไมกองทัพบกต้องพึ่งกลุ่ม BGF มากกว่า KNU

6) กลุ่มเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือด้วยความชัดเจนก่อนดำเนินการส่งความช่วยเหลือในครั้งต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต อันเท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองว่า การส่งความช่วยเหลือครั้งนี้กลายเป็นปัญหาทางการเมืองอีกแบบ ที่ฝ่ายไทยควรต้องตระหนักมากขึ้นในอนาคต

ถ้ากล่าวโดยสรุปคงต้องถือว่า แถลงการณ์นี้เป็น “การติติง” รัฐบาลไทย แต่ถ้าพิจารณาในทางการทูตแล้ว คำแถลงนี้คือ “การฉีกหน้า” กระทรวงต่างประเทศและกองทัพบกไทยโดยตรง แต่ฝ่ายไทยก็มีวิธีแก้เกมส์ที่ชายแดนเสมอ ด้วยการผลักดันให้กะเหรี่ยงอีกกลุ่มคือ KTLA ออกมามาแถลงการณ์ในวันที่ 27 นี้ เพื่อชื่นชม และขอบคุณไทยสำหรับความช่วยเหลือ ซึ่งหลายฝ่ายตีความว่า ฝ่ายไทยคงกดดันให้มี “ดอกไม้” ให้รัฐบาลไทยบ้าง เพราะตอนนี้การส่งความช่วยเหลือในวันที่ 25 ดูจะเป็น “ก้อนอิฐ” เสียมากกว่า และปัญหานี้กลายเป็นเรื่อง “นินทาทางการเมือง” อย่างไม่จบที่ชายแดน แต่ก็สร้างความ “หวาดระแวง” ทางการเมืองได้มากกว่าที่คิดด้วย

ที่เหลือนับจากนี้ จึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลไทยมองเรื่องนี้อย่างไร … คิดเรื่องนี้อย่างไร หรือจะยังเดินหน้าด้วยการกระทำในลักษณะเช่นนี้ต่อไป แต่ทั้งหมดเป็นคำถามในแบบชวนให้คิดอีกด้านว่า รัฐบาลไทยควรต้องมี “กรอบคิดทางยุทธศาสตร์” ในนโยบายไทยต่อปัญหาสงครามเมียนมาอย่างชัดเจนใช่หรือไม่?