ตักบาตร ทำไมถอด ‘รองเท้า’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ชีวิตของผมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาต้องเรียกว่าชีพจรลงเท้าอย่างแท้จริง เพราะเดินทางไปศรีลังกาเสียเจ็ดวัน กลับมาอยู่เมืองไทยได้สองวันก็ไปออสเตรเลียเจ็ดวัน เป็นอันว่าในหนึ่งเดือนอยู่ต่างประเทศเสียครึ่งเดือนแล้ว อีกครึ่งเดือนที่อยู่ในเมืองไทยก็ยังมีการเดินทางไปเชียงใหม่ ขอนแก่น และร้อยเอ็ดอีก

แบบนี้ถ้าให้เหรียญรางวัลกับตัวเองว่าเป็นนักเดินทางตัวยงก็เห็นจะได้

การเดินทางไปห่างจากบ้านของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการเดินทางภายในประเทศหรือเดินทางไปต่างประเทศก็ตาม เป็นโอกาสที่เราจะได้เห็นอะไรที่แตกต่างไปจากสิ่งที่พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และถ้านำมาคิดตรึกตรองต่อไปอีกสักนิด ก็เป็นการลับสมองของเราได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

เรื่องที่พบเห็นและนำมาคิดต่อไปนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร แต่อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวันก็เป็นได้

สำหรับการพบกันสัปดาห์ก่อนในพื้นที่ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” แห่งนี้ ผมได้เล่าเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในระบบที่เรียกว่า Public-Private Partnership หรือ PPP ที่ผมได้ไปพบเห็นที่ประเทศออสเตรเลียมาแล้ว เรื่องนั้นเป็นประเด็นวิธีทำงานที่ใหญ่โตพอสมควร และน่าพิจารณาว่านำมาใช้ประโยชน์ในบ้านเราได้เพียงใดหรือไม่บ้างตามสมควร

วันนี้เรามาคุยกันเรื่องเบ็ดเตล็ดบ้างดีกว่า ทั้งคนอ่านคนเขียนจะได้ไม่ปวดหัวเกินสมควร ตกลงนะครับ

 

เรื่องแรกผมเก็บตกประเด็นมาจากประเทศศรีลังกาครับ

ที่ประเทศศรีลังกานั้นมีธรรมเนียมประเพณีว่าหากเราจะเดินย่างเท้าเข้าไปในวัดวาอารามต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่ เราต้องเดินเท้าเปล่าเข้าไป หมายความว่าต้องถอดรองเท้าไว้ตั้งแต่ต้นทางโน่นเลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น วันหนึ่งผมไปสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งตามประวัติกล่าวว่า พระนางสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงนำข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศอินเดียมามอบให้พระเจ้าเทวานัมปิยติส พระเจ้าแผ่นดินของลังกาทรงปลูกไว้เป็นที่เคารพสักการะของมหาชน ผมไปถึงที่บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์เวลาราวบ่าย 2 โมง แดดกำลังร้อนระอุเลยทีเดียว

จากจุดที่ถอดรองเท้าเดินเข้าไปถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นลานหินสลับกับลานทรายที่อมความร้อนมาเต็มอิ่มแล้วตลอดทั้งวัน ระยะทางก็น่าจะประมาณเกือบ 100 เมตรเห็นจะได้

ผมรับสารภาพครับว่า ผมต้องเดินด้วยอัตราความเร็วมากกว่าการเดินปกติ และเป็นการเดินแบบไม่เต็มฝ่าเท้า คือเดินเต้นกระย่องกระแย่งไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะเดินไปถึงที่หมายปลายทางที่มีร่มไม้อยู่นิดหนึ่งให้ได้อาศัยพักเท้า และตั้งสติถวายสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ต่อไป

ขณะที่อยู่บ้านเรา ผมเดินไปไหนมาไหนก็ใส่รองเท้าอยู่เป็นปกติ เข้าวัดก็ยังใส่รองเท้าเข้าไปได้จนถึงขั้นตอนที่เดินเข้าไปในอาคาร เช่น พระอุโบสถหรือพระวิหารนั่นแหละจึงค่อยถอดรองเท้า

 

ผู้ร่วมคณะเดินทางคนหนึ่งถามผมขึ้นมาว่า พอนึกออกไหมว่าทำไมจึงต้องถอดรองเท้า

ผมก็ตอบไปตามอัตโนมัติของผมว่า ในอดีตกาลนานโพ้นของประเทศอินเดีย รองเท้าเป็นของวิเศษเพื่อเป็นของสำหรับชนชั้นสูงท่านใช้สอยกัน ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ใส่รองเท้าหรอกครับ กล่าวโดยเฉพาะเจาะจง คนที่ใช้รองเท้าได้อาจจะมีเฉพาะเจ้านายเสียด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีต้นทางมาจากมหากาพย์รามายณะของเมืองแขก เมื่อพระรามรับปากท้าวทศรถ ผู้เป็นพระบิดาออกไปเดินป่าสิบสี่ปี เพื่อเปิดโอกาสให้พระพรตผู้เป็นพระอนุชาได้ครองราชสมบัติ แต่พระพรตไม่ยอมตามนั้น พยายามที่จะทรงเว้าวอนขอให้พระรามกลับไปเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระรามก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจเพราะถือคำสัตย์ที่ให้ไว้กับพระบิดาเป็นสำคัญ

สุดท้ายแล้วพระพรตต้องขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากพระรามเพื่อนำไปเป็นเครื่องบูชาสักการะในระหว่างรักษาราชบัลลังก์ไว้คอยท่า

พระรามท่านให้อะไรไปหรือครับ

รองเท้าครับ

เรียกให้ไพเราะและเป็นราชาศัพท์ก็ต้องบอกว่า ท่านให้ฉลองพระบาทสำหรับพระพรตเชิญไปประดิษฐานไว้บนราชบัลลังก์รอเวลาพระรามเสด็จกลับมา

นี่ก็ส่อเค้าให้เห็นแล้วว่า ฉลองพระบาทเป็นเรื่องสำคัญ สำคัญจนถือเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ได้

แม้ธรรมเนียมในราชประเพณีของบ้านเรา ซึ่งเกือบร้อยทั้งร้อยได้ต้นทางความคิดมาจากเมืองแขกอินเดีย เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือเครื่องบรมราชูปโภคสำคัญสำหรับพระเจ้าแผ่นดินห้าประการ ที่พราหมณ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หนึ่งในห้ารายการนั้น ก็คือฉลองพระบาทอีกแล้ว

เห็นไหมครับว่า เรื่องฉลองพระบาทหรือรองเท้านั้นมีความหมายมาก และน่าจะแสดงถึงความเป็นเจ้ายศอย่างหนึ่งของผู้เป็นเจ้าของรองเท้า

 

สมเด็จพระบรมศาสดาของเราเมื่อทรงปลีกพระองค์ออกจากโลกวิสัย และได้ตรัสรู้พระธรรมอันวิเศษในเวลาต่อมา ท่านได้สละเรื่องทางโลกไปหมดสิ้น และผมนึกว่าน่าจะหมายความรวมถึงฉลองพระบาทซึ่งเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันของความเป็นเจ้าชายด้วย

ดังนั้น ของใช้จำเป็นสำหรับพระภิกษุไม่ว่าจะเป็นไตรจีวรและสิ่งที่เราเรียกกันว่าอัฐบริขารก็ดี ตรวจดูแล้วเราจะพบว่าไม่มีรองเท้าอยู่ในหมวดเครื่องใช้เหล่านั้น แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ห้ามขาดไม่ให้พระภิกษุใช้รองเท้านะครับ ท่านอนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องมีลักษณะความหนาความบางตลอดถึงวัสดุให้เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ

กล่าวโดยรวมแล้วก็คือเป็นรองเท้าสำหรับใช้งานทั่วไปแต่ไม่ใช่ของอวดวิเศษหรืออวดยศอวดฐานะอย่างฆราวาสทำกัน

สังเกตไหมครับว่าเวลาพระท่านมาเดินบิณฑบาตที่หน้าบ้านเรา ท่านไม่ได้ใส่รองเท้ามานะครับ ท่านเดินเท้าเปล่าอุ้มบาตรมาทั้งสิ้น

เราผู้เป็นชาวบ้านหรือคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่ชีวิตประจำทุกวันนี้สวมใส่รองเท้าอยู่ตั้งแต่เช้ายันค่ำ ต่างได้รับคำสั่งสอนจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายว่าเวลาใส่บาตรให้ถอดรองเท้า

ทำไมต้องทำอย่างนั้นหรือครับ

 

เพราะมีพระวินัยบัญญัติห้ามมิให้พระสงฆ์ขณะบิณฑบาตอยู่ในฐานะหรือแสดงตนอยู่ในฐานะเหนือกว่า

พระภิกษุท่านเป็น “ผู้ขอ” โดยรูปศัพท์ก็จริง แต่ไม่ใช่การขออย่างขอทานนะครับ ตามสายตาของเราผู้เป็นชาวบ้านแล้วท่านมาโปรดสัตว์เสียด้วยซ้ำ

เมื่อพระผู้มารับบาตรท่านไม่ใส่รองเท้า ชาวบ้านจึงสมควรเอื้อเฟื้อต่อพระวินัยของพระภิกษุ โดยการยืนเสมอกับท่าน นั่นคือท่านไม่ใส่รองเท้าเราก็ไม่ใส่รองเท้าเหมือนกัน

พวกเราบางคนไม่เข้าใจสาระในเรื่องเหล่านี้ นึกว่าคุณพ่อคุณแม่ให้ถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร แต่เรากลัวเท้าเราจะเปื้อน เราจึงใช้วิธีถอดรองเท้าก่อนแล้วขึ้นไปยืนซ้อนอยู่บนรองเท้านั้นอีกทีหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติเช่นนี้ได้หลงลืมสาระที่มีมาแต่เดิมไปจนหมดสิ้น

แต่พระภิกษุท่านก็เมตตาครับ ถึงแม้เราจะทำประดักประเดิดแบบนั้น ถ้าเรานิมนต์ท่านมารับบาตร ท่านก็เปิดฝาบาตรรับข้าวปลาอาหารจากเราอยู่ดี ข้อที่ว่าท่านผิดพระวินัยนั้น ไม่ใช่ข้อที่เป็นพระวินัยฉกาจฉกรรจ์ ท่านสามารถไปปลงอาบัติได้

ตัวผมเองเวลาที่ใส่บาตรอยู่กับหน้าบ้านของตัวเอง ผมก็ถอดรองเท้ายืนอยู่บนพื้นดินเสมอกับพระภิกษุผู้รับบาตร

แต่ถ้าบางวาระโอกาส ผมแต่งเครื่องแบบข้าราชการที่เรียกว่าชุดปกติขาวไปร่วมงานพิธีบำเพ็ญกุศลตักบาตรในช่วงเช้า ผมมีความเห็นว่ารองเท้าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบข้าราชการ ถ้าถอดรองเท้าเสียแล้วก็เป็นการแต่งตัวครึ่งๆ กลางๆ ด้วยเหตุผลอย่างนั้นผมก็จะใส่รองเท้านั้นแล้วยืนใส่บาตร พระภิกษุท่านก็เมตตารับบาตรแล้วไปปลงอาบัติเอาทีหลัง

สถานการณ์อย่างนี้จะบอกว่าท่านเมตตาเอื้อเฟื้อต่อวินัยของข้าราชการก็เห็นจะพอได้

 

ที่ผมปรารภเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะไปอยู่ที่เมืองศรีลังกามาหนึ่งสัปดาห์ ทุกวันตอนเช้าผมตื่นขึ้นมาแล้วก็มีโอกาสได้ใส่บาตรกับพระภิกษุชาวไทยที่เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนีท่านเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบทให้ ทำอย่างนี้ทุกวันวันละห้าสิบหกสิบรูป เป็นที่ชื่นอกชื่นใจของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง

แต่นอกจากพวกเราชาวไทยใส่บาตรพระชาวไทยด้วยกันเองแล้ว ผมสังเกตเห็นว่า พระภิกษุเมืองศรีลังกาท่านไม่ได้ออกบิณฑบาตอย่างบ้านเรา ชาวบ้านศรีลังกาซึ่งมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งและอาจจะกล่าวได้ว่ายิ่งกว่าบ้านเราเป็นไหนๆ เขาไม่ได้ใส่บาตรครับ

สอบถามดูได้ความว่าเขานำภัตตาหารทั้งหลายไปถวายพระที่วัด ซึ่งภัตตาหารที่นำไปถวายนั้นก็มีมากเพียงพอที่พระจะฉันได้ทั้งมื้อเช้าและมื้อเพล

ผมนึกย้อนทบทวนความทรงจำของตัวเองก็พบว่า เวลาไปเที่ยวเมืองหลวงพระบาง แล้วตัวเราเองมีความขยันตื่นแต่เช้าไปตักบาตรข้าวเหนียวอยู่ริมถนนในเมืองดังกล่าว ชาวบ้านทั้งหลายใส่แต่ข้าวเหนียวลงไปในบาตร และพวกเราซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวก็ทำตามอย่างนั้นด้วย

ถามไกด์ว่าแล้วท่านได้กับข้าวบ้างหรือไม่ ผมก็ได้รับคำตอบว่าท่านรับบาตรแต่ข้าวเหนียว ส่วนกับข้าวที่จะฉันร่วมกับข้าวเหนียวนั้น ชาวบ้านนำไปถวายที่วัดอีกทีหนึ่ง ได้ยินแล้วก็โล่งอกครับ

ฉันแต่ข้าวเหนียวอย่างเดียวเห็นจะไม่คล่องคอเนอะ

 

เห็นไหมครับว่าประเด็นนิดเดียว เพียงแค่ไม่เห็นชาวบ้านศรีลังกาตักบาตร ในขณะที่ตัวผมเองมีโอกาสได้ใส่บาตรพระไทยวันละหลายรูป ก็ทำให้ผมสามารถคิดย้อนหน้าย้อนหลังไปได้ไกลพอสมควร ตั้งแต่รองเท้านั้นสำคัญไฉน ไปจนถึงธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ในเมืองไทยของเรา เปรียบเทียบตลอดไปจนถึงเมืองศรีลังกาและลาวด้วย

นี่คือตัวอย่างของการลับสมอง ที่สำหรับส่วนตัวผมเองแล้วเห็นว่าทำให้การท่องเที่ยวไปต่างเมืองหรือต่างประเทศของผมมีความสนุกเพิ่มขึ้น

ไม่ใช่การพบเห็นอะไรแล้วก็จบเพียงแค่ว่าได้พบเห็น

วิธีคิดอย่างนี้ถือว่าเป็นของแถมที่ได้มาจากการไปท่องเที่ยวหรือเดินทางก็แล้วกัน แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก แค่เที่ยวให้สนุกผมก็เห็นว่าเป็นของวิเศษมากพอแล้ว และเป็นมาตรฐานที่คนทั่วไปเขาทำกัน

กรุณาอย่าถือผมเป็นตัวอย่างเลยครับ ผมเป็นคนฟุ้งซ่านมากอย่างนี้นี่เอง

ปล่อยให้แกเป็นบ้าไปคนเดียวเถิด อย่าไปยุ่งกับแกเลย ฮา!