เมื่อคนญี่ปุ่นเลือก ‘สุสาน’ お墓

คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการไหว้สุสานบรรพบุรุษ (お墓参り) เช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายจีน ใน “วันเช็งเม้ง” คนญี่ปุ่นไหว้สุสาน ก่อนและหลัง 7 วัน ของวันที่กลางวันกับกลางคืนเท่ากัน ในฤดูใบไม้ผลิ คือ วันวสันตวิษุวัต (春分の日) ในฤดูใบไม้ร่วง คือ วันศารทวิษุวัต (秋分の日) และเทศกาลโอบ้ง (お盆) ระหว่างวันที่ 13 -16 กรกฎาคม หรือสิงหาคม ของทุกปี ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

คนญี่ปุ่นสร้างสุสาน (お墓) เก็บอัฐิของบรรพบุรุษ และคนในครอบครัวที่จากไป เพื่อให้ท่านได้อยู่อย่างสงบชั่วนิรันดร์ ทุกปีเมื่อมาไหว้สุสานตามเทศกาลก็เป็นโอกาสได้น้อมรำลึกถึงและแสดงสำนึกในพระคุณของผู้จากไป อีกทั้งยังเป็นการแสดงความผูกพันของสายใยครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นของบรรพบุรุษตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและอนาคตต่อๆ ไป เป็นความภูมิใจในความเป็นปึกแผ่นของวงศ์ตระกูล

เมื่อยุคสมัยและสภาพสังคมเปลี่ยนไป สังคมผู้สูงวัย (高齢化社会) ลูกหลานแยกย้ายกันไปทำงานต่างถิ่น การเดินทางกลับมาไหว้สุสานบรรพบุรุษทุกปีขณะที่ยังเป็นหนุ่มสาวก็ไม่ลำบาก ครั้นเมื่อแก่ตัวลงก็ย่อมมีปัญหาติดขัดตามวัยและสังขาร ไม่อาจเดินทางไปจังหวัดไกลๆ ใช้เวลาหลายชั่วโมง นอกจากนี้ แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลง (少子化) บางครอบครัวก็ไม่มีลูกที่จะสืบทอดหน้าที่ดูแลสุสานต่อ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนที่ใช้บริการบริษัทเอกชนให้ย้ายอัฐิบรรพบุรุษ (墓じまい) จากจังหวัดบ้านเกิดมายังสุสานที่อยู่ใกล้ที่อยู่ปัจจุบันกันมากขึ้น

 

ตัวอย่างคุณตาวัย 75 ปี มีบ้านเกิดที่จังหวัดยามางาตะ ทางตอนเหนือ มาอยู่ที่จังหวัดไซตามะ ใกล้โตเกียว และสร้างครอบครัวมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม ภรรยาเสียชีวิตแล้ว จึงสร้างสุสานให้ที่จังหวัดนี้ เมื่อปีที่แล้ว เดินทางไปไหว้สุสานบรรพบุรุษที่บ้านเกิด หลังจากไม่ได้ไปดูแล 3 ปีจากการระบาดของโควิด-19 พบบริเวณโดยรอบมีต้นไม้ ต้นหญ้ารกเรื้อ แผ่นหินสลักชื่อบรรพบุรุษล้มเอียงจากภัยธรรมชาติ หรือน้ำหนักของหิมะที่ทับถม เห็นแล้วไม่อยากให้บรรพบุรุษอยู่ในสภาพเช่นนี้

เมื่อปรึกษากับพี่น้องที่อยู่กันคนละทิศคนละทาง ทุกคนเห็นพ้องให้ย้ายอัฐิของท่านไปอยู่ที่เดียวกับสุสานของภรรยาคุณตา สลักข้อความเพิ่มเติมว่า อัฐิบรรพบุรุษย้ายมาจากจังหวัดยามางาตะ คุณตาไม่มีลูก แต่พี่สาวและน้องสาวมีลูก จึงคิดว่าให้เป็นหน้าที่ของพวกเขาดูแลต่อไป

บางคนบอกว่าพ่อแม่พร่ำสอนว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแลสุสานของตระกูล รู้สึกเป็นภาระมาตลอด ไม่อยากให้ภาระนี้ตกทอดไปถึงลูกของตัวเอง จึงตัดสินใจย้ายสุสานของพ่อแม่มาอยู่ในจังหวัดที่ตัวเองอยู่ แม้ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย และอาจถูกมองจากคนรอบข้างว่าไม่สำนึกบุญคุณบุพการี แต่ก็ดีกว่าปล่อยสุสานทิ้งไว้เพราะตัวเองก็ชราลง เดินทางไม่สะดวก จึงรู้สึกได้ปลดเปลื้องภาระ จะตายตาหลับได้แล้ว

แต่ยังมีวิธีอื่น นอกจากการย้ายสุสาน คือ การใช้บริการทำความสะอาดและจัดเครื่องเซ่นไหว้สุสานแทน โดยติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือวัดในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่าย

 

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน (厚生労働省) พบว่าในปี 2022 มีการเปลี่ยนแปลง ย้าย หรือยกเลิกสุสานเดิม (改葬) ทั่วประเทศ จำนวน 151,076 ราย สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา คือเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 20 ปี จากปี 2002 จำนวน 72,040 ราย แสดงให้เห็นสภาพสังคมและการดำเนินชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

บริษัทเอกชนผู้ให้บริการด้านนี้ จำเป็นต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่มารับงานขนย้าย เปลี่ยนแปลงสุสานเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นหน่วยงานหนึ่ง ก็ขยายเป็นฝ่ายหลักที่รับงานโดยเฉพาะ และนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ให้ลูกค้าได้เห็นแผนผังภาพ 3 มิติของสุสานปลายทาง มีบริการเก็บภาพถ่ายรำลึก แผนผังสาแหรกครอบครัวไว้บนคลาวด์ เพื่อให้ลูกหลานดูได้ทุกเวลา เป็นต้น เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ตอบรับความต้องการของลูกค้าอย่างดี

คนญี่ปุ่นเมื่อเสียชีวิตลงจะเผาศพและเก็บอัฐิไว้ที่สุสาน มีการสำรวจความคิดเห็นคนในโตเกียวอายุระหว่าง 20-80 ปี ว่า หากเสียชีวิตลงท่านอยากให้เก็บอัฐิตัวเองที่สุสานแบบใด ระหว่าง สุสานแบบทั่วไปมีแผ่นจารึกเฉพาะครอบครัว (一般墓) หรือสุสานแบบรวมกับผู้อื่น (合葬墓) ซึ่งสุสานแบบนี้ยังแยกย่อย 2 แบบ คือ เก็บอัฐิรวมไว้ใต้ดินบริเวณใกล้ต้นไม้ใหญ่ (納骨堂(のうこつどう)) ซึ่งมีต้นไม้หลายพันธุ์ให้เลือกได้ หรือเก็บไว้ในล็อกเกอร์ในอาคารใหญ่ (納骨堂(のうこつどう)) แบบนี้บางแห่งทำหรูหราเป็นแบบตู้นิรภัยก็มี

ซึ่งแต่ละชนิดก็มีข้อดีข้อเสียและค่าใช้จ่ายต่างกันไป ข้อดีของสุสานแบบรวมคือ ตั้งอยู่ในที่เดินทางได้สะดวก

 

ผลสำรวจพบว่า มีผู้ตอบเลือกแบบเฉพาะครอบครัว และแบบรวมกับผู้อื่น จำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีผู้ขอเลือกแบบโปรยอัฐิลงทะเล (散骨(さんこつ)) ให้เหตุผลว่า การสร้างสุสานก็เพื่อคนอยู่ข้างหลัง แต่หากเป็นคนโสด ไม่เหลือญาติพี่น้องแล้ว สุสานก็ไม่จำเป็นต้องมีเลย

ที่จังหวัดชิบะ กำลังก่อสร้างสุสานแบบรวมทั้ง 2 แบบ โดยแบบใต้ต้นไม้ใหญ่ สามารถเก็บอัฐิได้มากถึงราว 3 หมื่นราย แบบนี้บรรจุอัฐิลงในถุงเล็กๆ แทนการบรรจุในโถ จึงประหยัดเนื้อที่ได้มาก เมื่อเปิดเฟสแรกรับเพียง 700 ราย แต่มีผู้สนใจมากถึง 3,600 ราย จึงต้องจับสลาก มีผู้ผิดหวังจำนวนมาก บางรายสมัครมาถึง 5 ครั้งกว่าจะได้ตามที่หวัง

ที่น่าสนใจคือ มีการจำแนกประเภท อัฐิคนเดียว อัฐิสามีภรรยา อัฐิของผู้เสียชีวิตแล้ว บางรายที่สามีหรือภรรยาเสียชีวิตแล้วจึงนำอัฐิไปบรรจุก่อนได้

สหกรณ์ผู้สูงวัยจังหวัดเฮียวโกะ เมืองโกเบ ได้จัดทำสุสานอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ เป็นสุสานทั่วไปแบบครอบครัว แต่ไม่ได้เก็บอัฐิของคนในครอบครัวเดียวกันทำเป็นสุสานรวม รับสมัครคนที่พร้อมจะเป็น “เพื่อนร่วมสุสาน” (墓(はか)友(とも)) ขณะนี้มีผู้สนใจทำสัญญาแล้ว 256 คน

เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการเตรียมไว้สำหรับตัวเองในอนาคต

 

ทุกเดือนสหกรณ์จัดสัมนาสำหรับเหล่า “เพื่อนร่วมสุสาน” (ที่ยังมีชีวิต) เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมสำหรับ “วันสุดท้ายของชีวิต” มีการรับประทานอาหารร่วมกันและฉายสไลด์เมื่อสมาชิกไปร่วมคารวะ “เพื่อนร่วมสุสาน” (ที่เสียชีวิตแล้ว) สมาชิกบอกว่า เป็นโอกาสดีที่ได้ทำความรู้จัก “เพื่อนร่วมสุสาน” ไว้ล่วงหน้า ได้เห็นหน้า ได้ดื่มชา ได้พูดคุยกัน ก่อนจะถึงวันนั้น บางคนจึงไม่พลาดที่จะมาร่วมงานทุกครั้ง

สภาพครอบครัวแบบเดิมที่อยู่ร่วมกัน 3 รุ่น เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็น “ครอบครัวเดี่ยว” มากขึ้น การจะรักษาขนบธรรมเนียมแบบเดิมอาจเป็นเรื่องยากที่หลายคนรู้สึกเป็นภาระ และไม่อยากส่งต่อภาระนี้ไปให้ลูกหลานในอนาคตอีก

เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว เหลือเพียงเถ้ากระดูก…

ก็ไม่น่าจะยึดติดกับอะไรอีก…