กลุ่มรัฐอิสลามแห่งจังหวัดโคราซาน สงครามก่อการร้ายในบ้านของปูติน!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

กลุ่มรัฐอิสลามแห่งจังหวัดโคราซาน

สงครามก่อการร้ายในบ้านของปูติน!

 

“การจู่โจมอย่างไม่ให้ตั้งตัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ… กฎของความรอบคอบทำให้เราต้องสร้างหลักประกันว่า ผลของการจู่โจมเช่นนี้จะทำให้เราเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้”

Colin S. Gray

 

ข่าวด้านความมั่นคงที่แพร่กระจายในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม เรื่องการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในรัสเซียทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 140 คน และบาดเจ็บในจำนวนประมาณเดียวกันนั้น เป็นรายงานข่าวที่ต้องถือว่า “เซอร์ไพรส์” อย่างมาก เพราะปกติแล้วข่าวจากรัสเซียมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” (Special Military Operations) ของกองทัพรัสเซียในสงครามยูเครน หรือเป็นเรื่องของความสำเร็จในการรุกคืบหน้าของทหารรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออกของยูเครน

ข่าวครั้งนี้กลับเป็นเรื่องของการที่รัสเซียถูกโจมตีจากการก่อการร้าย พร้อมกับมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนเป็นสัญญาณที่ต้องพิจารณาด้วยความน่าสนใจถึง การกลับมาของการก่อการร้ายที่สังคมรัสเซียเคยเผชิญมาแล้วในยุคหลังสงครามเย็น พร้อมกับส่งสัญญาณถึงความท้าทายด้านความมั่นคงที่กำลังเกิดขึ้นกับ “ระบอบปูติน” ที่ในด้านหนึ่งอาจจะรับมือกับการต่อต้านของผู้เห็นต่างในกรณีของสงครามยูเครนได้อย่างง่ายดายด้วยการใช้ “อำนาจรัฐ” อย่างเข้มงวด

ในอีกด้านคือ การควบคุมสังคมการเมืองให้เดินไปในทิศทางที่ผู้นำต้องการ ซึ่งต้องยอมรับว่าประธานาธิบดีปูตินประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ แม้จะเกิดการประท้วงโดยเฉพาะในกรณีการเสียชีวิตของผู้นำฝ่ายค้านก็ตาม

แต่เมื่อการก่อการร้ายที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกลับมาเกิดอีกครั้ง คู่ขนานไปกับปัญหาสงครามยูเครนที่ยังไม่มีสัญญาณของความสำเร็จทางทหารมากนัก จึงน่าสนใจว่าประธานาธิบดีปูตินจะดำเนินนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร

 

กระแสในเวทีโลก

หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปี 2020 และตามมาด้วยสถานการณ์สงครามยูเครนในปี 2022 แล้ว ดูเหมือนว่าการก่อการร้ายที่เคยเป็นประเด็นใหญ่ในเวทีโลกมาก่อนหน้านั้น ดูจะลดความสำคัญลงมาก โดยวัดได้จากสถิติการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนเสมือนหนึ่งการก่อการร้ายกำลังถอยออกไป และเปิดทางให้กับการมาของสงครามตามแบบเช่นที่เกิดในยูเครน

แม้ในปลายปี 2023 เราจะเห็นการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส แต่ก็มีลักษณะของการโจมตีด้วยการใช้กำลังอย่างไม่ปกปิด ไม่ใช่เป็นการก่อการร้ายในแบบการวางระเบิด หรือการใช้ระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการก่อเหตุอย่างเปิดเผย ไม่ใช่เป็น “ปฏิบัติการลับ” ดังเช่นที่บรรดาผู้ก่อการร้ายตามปกติกระทำกัน

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบันนั้น การก่อการร้ายจะเป็น “วาระความมั่นคง” ที่ดูจะมีความสำคัญน้อยลง เพราะเวทีโลกกำลังเผชิญกับสภาวะของสงครามโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในยูเครน กาซา หรือในทะเลแดงก็ตาม

ในความเป็นจริงของโลก เราอาจตอบได้ดีว่าการก่อการร้ายไม่เคยหายไปจากเวทีโลกอย่างแน่นอน ตราบเท่าที่สถานการณ์ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ในการเมืองโลกแล้ว ตราบนั้นการก่อการร้ายยังคงเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นได้เสมอ หรือบางทีเราอาจต้องยอมรับความจริงประการสำคัญว่า การใช้ความรุนแรงทางการเมืองยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญของ “ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” ที่จะใช้ก่อเหตุกับ “ตัวแสดงที่เป็นรัฐ” เสมอ

ฉะนั้น ในภาวะเช่นนี้จึงทำให้หลายฝ่ายดูจะกังวลกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัฐ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง จนทำให้เราไม่ทันคิดถึงการก่อการร้ายเท่าใดนัก ประกอบกับกิจกรรมของบรรดาขบวนการก่อการร้ายได้ถูกปราบปรามอย่างหนัก

 

แต่แล้วสิ่งที่คาดไม่ถึงในทางความมั่นคงก็เกิดขึ้น เมื่อรัสเซียถูกการก่อการร้าย ซึ่งในขณะนี้อาจจะยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า “ใครเป็นผู้กระทำ?” แม้ในเบื้องต้น “กลุ่มรัฐอิสลาม” หรือ “กลุ่มไอเอส” (IS : The Islamic State) จะออกมาแถลงในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา โดยอ้างถึงความรับผิดชอบในฐานะผู้กระทำก็ตาม แต่ผู้นำรัสเซียกลับพยายามสร้างข้อมูลที่มีนัยว่า การก่อการร้ายมีความเกี่ยวโยงกับทางยูเครน ซึ่งผู้นำรัฐบาลยูเครนได้ออกข่าวปฏิเสธแล้ว

แต่ทางการรัสเซีย และสื่อของรัฐดูจะแถลงไปในทิศทางเดียวกัน ที่ไม่กล่าวถึงการแถลงยอมรับของกลุ่มไอเอสในฐานะผู้ก่อเหตุ และกลับเสนอข่าวว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุพยายามขับรถมุ่งหน้าไปทางยูเครน แต่ถูกจับเสียก่อน

การเปิดประเด็นเช่นนี้ไม่มีความชัดเจนถึงแหล่งข้อมูล และหลักฐานของฝ่ายรัสเซียแต่อย่างใด ซึ่งทำให้เกิดการตีความได้ว่า ผู้นำรัสเซียพยายามโยนความรับผิดชอบให้กับทางรัฐบาลยูเครนเท่านั้นเอง เพราะการกระทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้าง “กระแสชาตินิยมรัสเซีย” ในการต่อต้านรัฐบาลยูเครนเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้าง “กระแสต่อต้านยูเครน” ในสังคม

อีกทั้งยังเป็นการแสวงหาความสนับสนุนจากสาธารณชนรัสเซียให้ช่วยสนับสนุน “สงครามของประธานาธิบดีปูติน” ในยูเครนอีกด้วย อีกทั้งความรุนแรงที่เกิดนั้น ยังช่วยสร้างกระแสความเห็นใจต่อรัฐบาลรัสเซียในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับการถูกโจมตีจากการก่อการร้าย และสนับสนุนต่อนโยบายระดมพลของผู้นำรัสเซียอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าทางฝ่ายประเทศตะวันตกได้แจ้งเตือนประชาชนของประเทศตนที่อยู่ในรัสเซียจากข้อมูลข่าวกรองว่า ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการแจ้งเตือนหน่วยงานความมั่นคงรัสเซียในเรื่องนี้ด้วย ดังที่สำนักข่าวทัสส์ (Tass) ของรัสเซียยอมรับว่า เป็นความจริงที่หน่วยงานความมั่นคงรัสเซียได้รับการแจ้งเตือนจากฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐ ถึงการโจมตีดังกล่าว แต่ทางการรัสเซียอาจจะไม่อยากกล่าวถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก

เพราะเท่ากับยอมรับว่า ระบบแจ้งเตือนภัยก่อการร้ายในสังคมรัสเซียอ่อนแอ และหน่วยงานความมั่นคง (FSB) แทบจะไม่ยอมกล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด

 

กลุ่มรัฐอิสลามยังอยู่!

จากรายงานที่ปรากฏในสื่อตะวันตก ล้วนพุ่งเป้าของผู้ก่อเหตุไปยัง “กลุ่ม ISKP” หรือ “กลุ่มรัฐอิสลามแห่งจังหวัดโคราซาน” (Islamic State Khorasan Province: ISKP) หรือบางคนอาจจะเรียกว่า “ไอซิส-เค” (ISIS-K คือ ISIS- Khorasan) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มรัฐอิสลามจากอัฟกานิสถาน กลุ่มนี้ก่อตั้งในปี 2015 และพยายามที่จะเปิดปฏิบัติการในรัสเซียมาก่อนแล้ว และการแถลงความรับผิดชอบของกลุ่มนี้ ก็ไม่แตกต่างจากการแถลงของกลุ่มนี้ในครั้งก่อนๆ เช่น การโจมตีกองกำลังของฝ่ายตะวันตกในอัฟกานิสถาน หรือการโจมตีสนามบินคาบูลในปี 2021 ที่มีทหารอเมริกันเสียชีวิตถึง 13 นาย และพลเรือนอีกกว่า 150 คน หรือการโจมตีสถานทูตรัสเซียในคาบูลในปี 2022

นอกจากนี้ กลุ่มรัฐอิสลามโคราซานเองได้เคยนำเสนอวาทกรรมต่อต้านรัสเซียมาเป็นระยะแล้ว

อย่างไรก็ตาม การอ้างความรับผิดชอบดังกล่าวไม่ได้ถูกประกาศโดยกลุ่ม ISKP โดยตรง แต่เป็นการแถลงผ่านศูนย์กลางของกลุ่มไอเอสคือ “Amaq News” ซึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มนี้มีลักษณะเป็น “สาขาย่อย” หรือบางคนอาจจะถือว่าเป็นกลุ่มที่ปฏิบัติการในระดับท้องถิ่น แต่หากพิจารณาถึงปฏิบัติการที่เกิดจากกลุ่มนี้ อาจจะต้องถือว่า ไม่ใช่องค์กรในแบบท้องถิ่นอีกต่อไป กลุ่มเปิดปฏิบัติการโจมตีอย่างต่อเนื่อง ทั้งเป้าหมายพลเรือนและเป้าหมายความมั่นคงในอัฟกานิสถาน รวมทั้งเป้าหมายของฝ่ายตะวันตก (ก่อนการถอนกำลังของฝ่ายตะวันตกออกจากอัฟกานิสถาน)

ตัวอย่างการโจมตีที่สำคัญในอัฟกานิสถานในปี 2020 คือการโจมตีมหาวิทยาลัยคาบูล สถานผดุงครรภ์ และยังโจมตีมอสของศาสนิกชนกลุ่มน้อยอีกด้วย และปฏิบัติการสำคัญอีกส่วนคือ การโจมตีสนามบินคาบูลในวันถอนกำลังของกองทัพสหรัฐ ที่ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 13 นาย พร้อมกับพลเรือนอีกกว่า 150 คน หรือการวางระเบิดที่เป็นที่พักของชาวจีนในอัฟกานิสถาน ซึ่งการโจมตีเช่นนี้ไม่ใช่ในระดับท้องถิ่น เป็นแต่เพียงเหตุเกิดในอัฟกานิสถาน จึงดูเหมือนเป็นการก่อเหตุในระดับท้องถิ่น

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มก่อการร้ายในหลายส่วนพยายามยกระดับตัวเอง ด้วยการขยายปฏิบัติการในระดับท้องถิ่น ไปสู่การโจมตีเป้าในระดับระหว่างประเทศ เพราะปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจะช่วยยกสถานะของกลุ่มในเวทีสากลทันที ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแสวงหาความสนับสนุนทางด้านการเงิน และชื่อเสียงที่เกิดขึ้นจะเป็นแรงดึงดูดสมาชิกใหม่ให้เข้าร่วมองค์กร กลุ่มทาลิบัน กลุ่มอัลกออิดะห์ ล้วนเดินในแนวทางเช่นนี้มาก่อน และยังหวังว่าการยกระดับปฏิบัติการสู่เวทีสากล จะเป็นหนทางของการขยายองค์กรในอนาคต

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้ว กลุ่ม ISKP พยายามสร้างสถานะในสากลด้วยการเปิดการโจมตีทั้งในทาจิกสถาน ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ตลอดรวมทั้งการโจมตีที่เกิดในอิหร่านอีกด้วย ซึ่งในช่วงก่อนการโจมตีรัสเซียนั้น หน่วยข่าวกรองอเมริกันเริ่มตรวจจับข้อมูลได้ว่า กลุ่มอาจเปิดการโจมตีนอกพื้นที่อัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ตาม การที่รัสเซียตกเป็นเป้าหมายการก่อการร้ายจากกลุ่มรัฐอิสลามนั้น อาจอธิบายได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นบทบาททางทหารของรัสเซียในการปราบปรามกลุ่มกบฏในซีเรียในปี 2015 หรือการมีปฏิบัติการทางทหารในแอฟริกา เช่น ในมาลี บูร์กินาฟาโซ ตลอดรวมถึงการปราบปรามชาวมุสลิมในสังคมรัสเซียเอง และก่อนเกิดเหตุก็เพิ่งมีการจับกุมชาวมุสลิมที่เตรียมก่อเหตุกับโบสถ์ชาวยิว เป็นต้น

ดังนั้น รัสเซียในกรณีนี้ จึงถูกมองว่าเป็น “ศัตรูกับอิสลาม” หรือข้อมูลบางส่วนระบุว่า กลุ่มเองถือว่าประธานาธิบดีปูตินเป็นฝ่ายตรงข้าม ดังตัวอย่างของการโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายต่อสถานทูตรัสเซียในอัฟกานิสถานในเดือนกันยายน 2022 เป็นต้น

(ดูข้อมูลรายละเอียดส่วนหนึ่งได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายอย่าง Jason Burke ที่ปรากฏใน The Guardian เป็นต้น)

 

อนาคต

ในท้ายที่สุด การก่อการร้ายครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ระบบงานความมั่นคงของรัสเซียมุ่งไปสู่ปัญหาสงครามในยูเครนเป็นหลัก จนอาจจะละเลยต่อปัญหาการป้องกันการก่อการร้ายในบ้าน แม้สังคมรัสเซียในอดีตได้เคยเผชิญกับความรุนแรงขนาดใหญ่ในบริบทของ “การก่อการร้ายในเมือง” มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบุกยึดโรงละครใจกลางกรุงมอสโกในปี 2002 และการบุกยึดโรงเรียนเด็กที่เมืองเบสแลนในปี 2004 แต่การเตรียมรับการก่อการร้ายในเมืองของรัสเซียปัจจุบัน ดูจะอ่อนลงอย่างมาก

การกลับมาของภัยคุกคามของการก่อการร้ายครั้งจึงเป็นความท้าทายต่อ “ระบอบปูติน” อย่างมาก เป็นเสมือนการ “รับน้องใหม่” หลังชัยชนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดีปูตินในเทอมที่ 5 ที่เพิ่งมาแล้วด้วย!