จีนขาลง : ข้อทักท้วงของริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ (2) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญจีนและเอเชียตะวันออกสังกัดสถาบันคลังสมอง Lowy Institute ของออสเตรเลียได้ให้สัมภาษณ์ จีเดียน ราคมัน แห่ง น.ส.พ. The Financial Times ในหัวข้อ “Is China’s power on the wane?” (อำนาจจีนกำลังลดถอยหรือ?) เมื่อกุมภาพันธ์ ศกนี้ (https://www.ft.com/content/943fc54df2b4-44ea-aa0f-ae49f16ee033) โดยทักท้วงว่ามิควรด่วนสรุปว่าจีนกำลังอยู่ในช่วงขาลงไปเสียทีเดียว ดังรายละเอียดต่อจากตอนก่อนดังนี้ :-

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จีนแตก

จีเดียน ราคมัน : ถึงแม้จะใช่อยู่ว่าจีนอาจไม่ลงเอยแบบญี่ปุ่นสมัยฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกเมื่อทศวรรษที่ 1990 แต่มันก็น่าห่วงใยอยู่นะครับ ทั้งในแง่ขวัญกำลังใจของพลเมืองเพราะอย่างที่คุณบอกว่าคนจีนเอาเงินไปลงทุนไว้ในอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก แล้วยังมีปัญหาในแง่ที่ว่าจีนมองหาทางปรับย้ายเศรษฐกิจไปอยู่บนฐานอุปสงค์ในประเทศ เพื่อที่จะได้พึ่งพาพวกผู้ส่งออกน้อยลงด้วย แล้วจู่ๆ ผู้คนก็มารู้สึกว่าตัวเองกำลังสูญเสียความมั่งคั่งไป ทำให้พวกเขาน่าจะใช้จ่ายน้อยลง

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : นั่นคือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นเรื่อยมาจนถึงตอนนี้เผงเลยครับ หลังโรคระบาดโควิดสงบลง จีนตั้งใจกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนมา ก็เป็นงั้นชั่วคราวนะครับ แต่ไม่อีกต่อไปแล้ว และเหตุผลใหญ่ประการหนึ่งคือเครื่องยนต์การเติบโตด้วยการบริโภคน่ะไม่ยักเร่งเครื่องได้เร็วเท่าที่รัฐบาลต้องการ แน่ล่ะครับว่ารัฐบาลจีนผลักดันเรื่องนี้มา 15 ปีแล้วและมันก็ยังทะยานไม่ขึ้นสักที

สาเหตุเฉพาะหน้าของการนี้คือความห่วงกังวลเรื่องความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินนั่นแหละครับ ถ้าหากแหล่งเก็บสะสมความมั่งคั่งหลักของคุณอันได้แก่บ้านช่องห้องหอของคุณและบางทีก็อาจรวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่คุณไปลงทุนไว้บ้างน่ะมันเกิดมูลค่าคงที่เข้าหรืออันที่จริงกระทั่งมูลค่าลดลงด้วยซ้ำไปเนื่องจากตลาดมันแช่แข็งน่ะ คุณย่อมน่าจะใช้จ่ายน้อยลงและน่าจะอดออมมากขึ้นใช่ไหมครับ นอกจากนี้ ภาวะสังคมสูงวัยก็ส่งผลกระทบต่อเรื่องนี้ด้วย

กล่าวคือ ผู้คนยังพากันอดออมเพื่อไว้เป็นค่าเล่าเรียนของลูกเต้าเอย เงินบำนาญเอย ค่าดูแลรักษาสุขภาพเอย ฯลฯ

Richard McGregor กับงานวิจัย Xi Jinping : The Backlash, 2019

แนวนโยบายให้ประชาชนพึ่งตนเองของสี จิ้นผิง

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : และผมคิดว่าเรื่องน่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็คือระบบการเมืองกลายเป็นตัวสกัดกั้นการบริโภคเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนเพียงใด

พูดอีกอย่างก็คือเวลาเราดูกรณีอเมริกาและประเทศอื่นๆ พยายามกระตุ้นอุปสงค์หลังโควิดสงบลงหรือพยุงอุปสงค์เอาไว้ระหว่างเกิดโควิดระบาดน่ะ ส่วนมากทำกันด้วยการโอนเงินไปให้ครัวเรือนทั้งหลาย แต่จีนไม่ทำอย่างนั้นนะครับ กระทรวงการคลังจีนดูจะมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อมาตรการดังกล่าว และที่กระทั่งสำคัญกว่านั้นคือดูเหมือนสี จิ้นผิง จะต่อต้านมันมากทีเดียว เพราะเขาเห็นมันเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งซึ่งทำให้ผู้คนอ่อนปวกเปียกลงอะไรเทือกนั้น

จีเดียน ราคมัน : เออ จะว่าไปมันก็เป็นตลกร้ายนะครับที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ดันคัดค้านระบบสวัสดิการน่ะ

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ครับ ท่าทีของสี จิ้นผิง ที่สั่งห้ามมาตรการพรรค์นี้นั้นออกไปทางบัญญัติศักดิ์สิทธิ์เลยทีเดียว วันก่อนผมเปิดค้นดูงานเขียนของสี จิ้นผิง เรื่องนี้นิดหน่อย มันเป็นเรื่องของการสร้างตัวให้แข็งแกร่งบึกบึน ยืนหยัดขึ้นมาด้วยลำแข้งของตัวเอง เป็นค่านิยมแบบเก่ามากทีเดียวครับ

จีเดียน ราคมัน : แกบอกคนหนุ่มสาวให้กัดก้อนเกลือกินด้วยไม่ใช่หรือครับ?

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ครับ ให้กัดก้อนเกลือกิน ซึ่งเป็นสำนวนจีนว่าให้ทนลำบากเข้าไว้อะไรทำนองนั้น

ทว่า ไม่กี่เดือนหลังนี้ สี จิ้นผิง ก็เปลี่ยนสารที่สื่อออกมาเรื่องนี้ไปนิดหน่อยนะครับ คือยอมตระหนักรับว่าครัวเรือนมากหลายกำลังเดือดร้อนดิ้นรนกันอยู่ และแน่ล่ะว่าในแง่นโยบายรัฐบาลก็ปรับเปลี่ยนไปนิดหน่อยด้วย และเปิดช่องทางกว้างขึ้นแก่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องอีกเล็กน้อย

แต่แน่ล่ะครับว่าการกระตุ้นที่ว่านั้นไม่เกี่ยวกับครัวเรือนสักเท่าไหร่เลย การกระตุ้นเศรษฐกิจในจีนน่ะเป็นเรื่องของบรรษัทต่างๆ และการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักเสมอ หรืออย่างในกรณีนี้ก็คือก่อสร้างหอสูงโทรคมนาคม อุตสาหกรรมไฮเทค เทือกนั้นแหละครับ พวกเขาก็เลยติดหล่มจมปลักอยู่แต่กับการกระตุ้นแบบเดิมๆ

ทีนี้อะไรคืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงในจีนล่ะ? มีการโต้แย้งถกเถียงเรื่องนั้นกันอยู่ครับ ตกลงมันโต 5% อย่างที่รัฐบาลจีนบอก หรือใกล้เคียง 1% มากกว่ากัน? ผมคิดว่าเอาเข้าจริงเศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้ปีละ 3-4% อย่างสบายๆ ทีเดียวถ้าหากพวกเขามีตัวแบบการเติบโตที่แตกต่างออกไป แต่พวกเขายังไปไม่ถึงจุดนั้นครับ

 

ปัญหาคนหนุ่มสาวตกงาน

จีเดียน ราคมัน : ผมขอตั้งข้อแย้งเพื่อชวนคิดต่อไปอีกสักพักนะครับ ดูเหมือนว่าอันตรายอีกอย่างในระบบของจีนก็คือความผิดหวังดูจะกระทบจิตใจคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยเสียเป็นส่วนใหญ่ จีนขึ้นชื่ออื้อฉาวว่าเป็นสังคมที่แข่งขันกันมากเหมือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ผู้คนพากันทุ่มเทความพยายามสุดชีวิตจิตใจแต่แล้วกลับหาอาชีพการงานในระดับที่ตัวคาดหวังไม่ได้น่ะครับ

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ใช่ครับ และในบางแง่มันเป็นภาวะซวยสองต่อด้วย คือไม่ใช่เพียงแค่ว่าผู้คนหางานไม่ได้เท่านั้น มันเป็นเรื่องที่ผู้คนอยากมีวิถีชีวิตที่ต่างออกไปด้วยครับ

พูดอีกอย่างก็คือพวกคนหนุ่มสาวได้ไปถึงระดับกินแซบนุ่งงามแล้ว ไม่เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ที่แค่กินอิ่มนุ่งอุ่น และฉะนั้น คุณก็เลยเจอปัญหาประเภทคนที่ออกอาการบอกลาหันหลังให้กับสังคมหรือนอนเฉยไม่กระตือรือร้นไปทำอะไรอีกแล้วในชีวิต

แน่ล่ะครับว่าปัญหาที่ใหญ่กว่าการตกงานของคนหนุ่มสาวคือความผิดหวังในอาชีพการงานประเภทที่พวกเขาได้มา แบบว่าคุณได้ปริญญามาจากเมืองนอกแต่กลับลงเอยเป็นไรเดอร์ส่งอาหารอะไรเทือกนั้น ดังนั้น จึงไม่เพียงแค่ลู่ทางอาชีพการงานของคุณจะมืดมัวเท่านั้น แต่ลู่ทางทำรายได้ของคุณก็พลอยมืดมนไปด้วย

แล้วอุตสาหกรรมบางภาคส่วนที่เงินเดือนสูงอย่างด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมก็พากันปลดคนงานออก ดังนั้น เว้นเสียแต่คุณมีตำแหน่งการงานดีในบริษัทต่างๆ ที่ดีกว่าหรือในภาคการเงินของรัฐบาลและสถาบันวิจัย เป็นต้น งานของคุณถึงจะมั่นคง ขณะที่ตำแหน่งการงานในด้านวิศวกรรมทั่วไปเอย วิศวกรรมการก่อสร้างเอย วิศวกรรมโยธาเอย ชักหาได้น้อยลงเรื่อยๆ ครับ

สำหรับการดัดแปลงระบบเศรษฐกิจเสียใหม่ในทางยุทธศาสตร์ โดยพัฒนาเศรษฐกิจบริโภคหรือเศรษฐกิจบริการขึ้นมา มันก็ยังเป็นเรื่องยากลำบากเช่นกันในสภาพที่รัฐกับพรรคไม่อยากปล่อยมือจากอุตสาหกรรมภาคบริการและภาคการเงิน

ฉะนั้น ผมจึงเปิดใจรับความเป็นไปได้อยู่นะครับที่จีนอาจจะขึ้นสู่จุดสุดยอดที่เป็นไปได้แล้วในทางเศรษฐกิจและเริ่มเข้าสู่ขาลง ชั่วแต่ว่าผมอิดหนาระอาใจที่จะเที่ยวประกาศมันออกมาเมื่อนี้เมื่อนั้น

ความมั่นคงแห่งชาติมาก่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

จีเดียน ราคมัน : แล้วข้อถกเถียงที่ว่าถ้าหากเป็นจีนยุคก่อนสมัยที่พวกเทคโนแครตมีอิทธิพลควบคุมมากกว่าตอนนี้ จีนคงจะยืดหยุ่นคล่องตัวและสามารถสำรวจช่องทางต่างๆ มากกว่านี้ล่ะครับ พอจะฟังขึ้นไหม? แต่กระนั้นเท่าที่เห็น สี จิ้นผิง ก็เป็นเจ้านายประเภทตามควบคุมแบบจู้จี้จุกจิกไม่ละวาง แถมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ที่ช่ำชองอีกต่างหาก เสียจนกระทั่งแกทำให้เศรษฐกิจเสียหายอย่างเอาการเอางานเสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการเล่นงานบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่างของแจ๊ก หม่า กับพวก เป็นต้น

สี จิ้นผิง จะมีปัญญาดัดแปลงระบบเศรษฐกิจจีนใหม่ทางยุทธศาสตร์หรือครับ?

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ในแง่ทฤษฎีคงจะไม่ครับ เพราะผู้คนพูดกันว่าสียอมสละการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อเห็นแก่ความสำคัญเร่งด่วนด้านความมั่นคงแห่งชาติอย่างรู้สำนึก

พูดอีกอย่างคือแกทำให้เศรษฐกิจมั่นคงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้กับสหรัฐและโลกตะวันตก ด้วยความกังวลถึงผลกระทบที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพหากเกิดการเผชิญหน้าใดๆ ขึ้นกับสหรัฐครับ

และไอ้ผลกระทบที่ว่าก็อาจเป็นได้ทั้งผลกระทบสั่นคลอนเสถียรภาพที่เกิดจากสงครามธรรมดา หรือผลกระทบที่เกิดจากการปกป้องจีนไว้จากการณรงค์ของสหรัฐในประเด็นอย่างไมโครชิพและเทคโนโลยีอื่นๆ ในทำนองสร้างเครือข่ายระบบความมั่นคงทางคอมพิวเตอร์เพื่อป้องกันจีนเอาไว้จากการโจมตีทางไซเบอร์เป็นต้นด้วย

และถ้าทำอย่างนั้นหมายถึงเศรษฐกิจจะเติบโตน้อยลงหน่อยละก็ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายสำหรับสีครับ

แต่กระนั้นก็อย่าเพิ่งลืมกรณีอสังหาริมทรัพย์ไปนะครับ ผมน่ะไม่อยากระบุว่าอะไรเป็นลักษณะทั่วไปของสี จิ้นผิง ครับ ทว่า รัฐบาลจีนก็ตัดสินใจอย่างรู้สำนึกเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่จะสะกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ให้แตกโพละ เอาล่ะพวกเขาอาจคิดว่ามันจะเป็นแค่การระเบิดแบบควบคุมอยู่ ทำนองระเบิดรื้อทำลายตึกเฉพาะหลัง ขณะที่เอาเข้าจริงมันกลับกลายเป็นกระแสคลื่นกิจการล้มละลายฉิบหายวายป่วงต่อเนื่องกันเป็นชุดยาวเหยียดไปเสียฉิบ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)