ถอยไม่ได้ต้องไปให้ถูก

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

มีความหงุดหงิดระดับรำพึงคำสบถจนถึงงุ่นง่านขนาดแสวงหาคำด่าทอมาแสดงระบายออก สำหรับผู้สนใจความเป็นไปทางการเมืองในกลุ่มที่ถูกปลูกฝังให้เกลียดชัง “ทักษิณ ชินวัตร” และยังไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการแห่งความชิงชังนั้นได้

อาจจะเป็นความเกลียดชังต่อ หยั่งราก แผ่กิ่ง เป็นใบ ดอก ผล จนครอบครองพื้นที่ในจิตใจจนก่อสภาวะอยู่ร่วมแผ่นดินกันไม่ได้

เมื่อ “ทักษิณ” กลับมาดูท่าจะค่อยๆ มีความสามารถใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่เคยใช้ อาการทนไม่ไหวจึงเกิดขึ้น

ยิ่งเป็นการใช้ชีวิตที่ดูเหมือนกลไกอำนาจจะเอื้ออภิสิทธิ์ให้เหนือคนธรรมดาขึ้นมาอีก อาการเกรี้ยวกราดจึงเกิดขึ้น

แทนที่จะตั้งคำถามกับกลไกอำนาจว่าไฉนเปลี่ยนไปจากที่เชื่อว่าจะเป็น

กลับเอาทุกอย่างไปลงที่ “ทักษิณ” หมดสิ้น

จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเหตุเพราะคนจำพวกนี้ เอาแต่หวังพึ่งกลไกอำนาจ เพราะรู้ดีถึงสภาพไร้พลังของตัวเองที่จะไปจัดการอะไรได้

เมื่อกลไกอำนาจเปลี่ยนวิธีการที่ไม่ถูกใจก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ทำได้แค่ระบายความผิดหวังไปกับสิ่งที่ตัวชิงชัง

บางคนออกอาการคลุ้มคลั่งอย่างไร้ความสามารถจะคิดหน้าคิดหลัง คิดถึงเหตุและผล เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ

คนจำพวก “ไม่รู้หมู่รู้จ่า” บ้าไปตามความชอบไม่ชอบของตัวเองแบบนี้ดูแล้วยังมีอยู่เยอะทีเดียว

ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นอะไรเลยที่จะทำความเข้าใจว่า “กลไกอำนาจถึงต้องจัดการทุกอย่างเพื่อให้ทักษิณกลับมา”

“นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 1/2567” ที่ทำเมื่อกลางเดือนมีนาคมนี้ คำตอบที่ชัดจนว่า “กลไกการสืบทอดอำนาจ” ไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจากต้องใช้ “ทักษิณ ชินวัตร” เท่านั้น

ในคำถามบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 42.75 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, อันดับ 2 ร้อยละ 20.05 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 3 ร้อยละ 17.75 นายเศรษฐา ทวีสิน, อันดับ 4 ร้อยละ 6.00 น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร, อันดับ 5 ร้อยละ 3.55 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, อันดับ 7 ร้อยละ 1.45 นายอนุทิน ชาญวีรกูล, อันดับ 8 ร้อยละ 1.05 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ร้อยละ 2.45 คนอื่นๆ รวมกัน, ร้อยละ 2.05 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ลงไปในรายละเอียดทั้งที่ถูกเล่นงานจนเป็นที่รับรู้กันว่ายากที่จะได้รับอนุญาตให้เข้ามามีส่วนในอำนาน แต่ “พิธา” กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ด้วยในการสำรวจครั้งก่อนได้ร้อยละ 39.40

ขณะที่ “เศรษฐา” ซึ่งได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และขยันทำงานหามรุ่งหามค่ำ ความนิยมกลับตกลงจากที่เคยได้ร้อยละ 23.35 เมื่อครั้งก่อน

และแม้ว่า “อุ๊งอิ๊ง” จะได้มากขึ้นจาก 5.75 แต่ย่อมถือว่าน้อยนิดจนนับว่ามีนัยสำคัญไม่ได้

ยิ่งมาดูคะแนนนิยมพรรคยิ่งเป็นคำตอบที่ชัด

 

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 48.45 พรรคก้าวไกล

อันดับ 2 ร้อยละ 22.10 พรรคเพื่อไทย

อันดับ 3 ร้อยละ 12.75 ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 4 ร้อยละ 5.10 พรรครวมไทยสร้างชาติ

อันดับ 5 ร้อยละ 3.50 พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 6 ร้อยละ 2.30 พรรคพลังประชารัฐ

อันดับ 7 ร้อยละ 1.70 พรรคภูมิใจไทย

อันดับ 8 ร้อยละ 1.30 พรรคไทยสร้างไทย และร้อยละ 1.40 พรรคอื่นๆ ที่เหลือรวมกัน

และไม่ตอบ/ไม่สนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ด้วยแนวโน้มของความเป็นไปเช่นนี้ หากตระหนักถึงความจำเป็นของ “กลไกสืบทอดอำนาจ” ที่ภารกิจหลักอยู่ที่ “ผู้คนในอุดมการณ์อนาคตใหม่หรือก้าวไกล” ให้พ้น ต้องไม่ปล่อยให้มายุ่งเกี่ยวกับศูนย์กลางอำนาจบริหารประเทศ แต่จำเป็นต้องนำพาการเมืองเดินไปในเส้นทางประชาธิปไตย

ด้วยพิสูจน์แล้วว่า “อำนาจที่ถูกควบคุมด้วยคณะรัฐประหาร” มีแต่ทำให้ประเทศในภาพรวมล้าหลัง และหมดหนทางพัฒนาไปสู่อนาคตที่ดีงาม

 

ประชาธิปไตยต้องขึ้นอยู่กับ “ความนิยมของประชาชน”

ในยุคสมัยเช่นนี้ หากต้องการใครสักคนที่เข้ามาผนึกกำลังสู้กับ “อนาคตใหม่ ก้าวไกล” จะมีใครเป็นตัวเลือกที่เทียบเคียงกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้

เกือบ 20 ปีกับการถูกโหมใส่ให้เผชิญชะตากรรมเลวร้ายสารพัด แต่ “ทักษิณ ชินวัตร” ยังยืนหยัดอยู่ได้ ไม่เพียงเพิ่มบารมี และสถานะได้ไม่หยุดหย่อนทั้งที่ตัวตนไม่อยู่ในแผ่นดิน แต่ผลงานที่ฝากไว้ยังครองใจและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอยู่เสมอ

ไม่ลองตั้งคำถามหรือว่าการจัดการให้ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับมานั้น “เพื่ออะไร”

กับภารกิจที่ “ถอยไม่ได้” ของ “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” หากไม่อาศัย “ทักษิณ” เดินนำ

จะ “ไปถูก” หรือ