The Outfit

วัชระ แวววุฒินันท์

สําหรับการเสพความบันเทิงแล้ว ก่อนที่จะเป็นยุคของโรงภาพยนตร์เฟื่องฟู ก็จะเป็นยุคของ Play หรือละครเวที มาก่อน ซึ่งเมืองไทยก็เป็นอย่างนั้น

โรงภาพยนตร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยตอนปี 2445 แต่เป็นโรงแบบชั่วคราว ฉายหนังม้วนเดียวจบ ก่อนจะพัฒนาเป็นโรงภาพยนตร์แบบถาวรคือโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยในปี 2496 ซึ่งเข้ามาแทนที่การแสดงละครเวทีที่ค่อยๆ ลดความนิยมลง ด้วยเป็นของใหม่ ตื่นตาตื่นใจมากกว่า

แต่ถึงกระนั้น สำหรับภาพยนตร์ทางฝั่งฮอลลีวู้ดเองก็มีหลายเรื่องที่ได้นำละครเวทีมาสร้างขึ้นใหม่ โดยเล่าเรื่องและนำเสนอใหม่ในบริบทแบบภาพยนตร์ที่เปิดโอกาสให้สร้างอะไรตามจินตนาการได้มากกว่า

อย่างเช่น เรื่อง “บุษบาริมทาง” หรือ My Fair Lady, Phantom of The Opera, Les Miserables, Cats เป็นต้น ส่วนผลงานใหม่ๆ ที่เพิ่งผ่านเวทีออสการ์ไปไม่นาน ก็เช่น The Whale ที่ส่งให้ แบรนเดน เฟรเซอร์ ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปครองในปี 2523 รวมทั้งเรื่อง The Father ในปี 2521 ที่ แอนโทนี่ ฮอปกินส์ ก็ได้รับรางวัลนำชายยอดเยี่ยมเช่นกัน

สำหรับเครื่องเคียงฯ ฉบับนี้ ผมจะเขียนถึงภาพยนตร์เรื่อง The Outfit ที่ออกฉายในปี 2022 ที่มีความเป็นละครเวทีอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่

The Whale เล่าเรื่องทั้งเรื่องผ่านบ้านพักเล็กๆ ของแบรนเดน ส่วน The Father มีฉากหลังเป็นอพาร์ตเมนต์ที่มีห้องใช้งานเป็นส่วนๆ จะมีสถานที่อื่นแทรกมาบ้างก็คือโรงพยาบาลเท่านั้น

สำหรับ The Outfit ซึ่งแปลว่า “เครื่องแต่งกาย” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในร้านตัดสูทแบบอังกฤษแห่งหนึ่งในเมืองชิคาโก ในปี ค.ศ.1956 โดยหนังได้ใช้สถานที่เดียวนี้ในการเล่าเรื่องความยาว 1 ชั่วโมงกับ 40 นาที ได้อยู่หมัด แถมเป็นหนังประเภทแก๊งสเตอร์ซะด้วย

เรื่องโดยย่อคือ ตัวละครเอกที่เป็นชายสูงวัยเจ้าของร้านตัดสูทที่ว่านี้ มีชื่อว่า “เลียวนาร์ด เบอร์ลิง” เดิมมีร้านอยู่บนถนน Savile Row ซึ่งเป็นย่านที่อุดมไปด้วยร้านตัดเสื้อผ้าระดับคุณภาพในกรุงลอนดอน แต่เลียวนาร์ดก็จำต้องหนีจากที่นั่นมาก็เพราะผลพวงจาก “สงครามโลกครั้งที่สอง” แต่เลียวนาร์ดบอกว่า “ไม่ใช่สงครามจากนาซีนะ แต่เป็น กางเกงยีนส์”

เพราะเศรษฐกิจของอังกฤษตกต่ำ คนไม่มีเงินพอจะตัดเสื้อผ้าราคาแพงได้ และกางเกงยีนส์จากอเมริกาก็มาตอบโจทย์ผู้คนพอดี

เขาบอกว่าเมื่อมาเปิดร้านที่นี่ ลูกค้ารายแรกของเขาคือ “รอย บอยล์” ซึ่งเป็นหัวหน้า แก๊งบอยล์ ที่เริ่มมีอิทธิพลในชิคาโก และจากนั้นร้านของเลียวนาร์ดก็ได้กลายเป็นสถานที่ที่แก๊งบอยล์แอบส่งข้อมูลข่าวสารกันภายในแก๊งอย่างลับๆ

เลียวนาร์ดจะทำเหมือนมองไม่เห็นเมื่อมีคนจากแก๊งเข้ามาในร้าน และตรงไปห้องด้านหลังเพื่อเปิดดูสิ่งที่อยู่ในกล่องสำหรับส่งข่าวสาร จากนั้นก็จากไป โดยเขาจะนั่งทำงานเย็บผ้าอย่างเงียบๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จะมีที่เคลื่อนไหวหน่อยก็คือ “มาเบิล” หญิงสาวที่เป็นผู้ช่วยคนเดียวของเขา ที่จะคอยเปิดประตูต้อนรับและส่งแขก

วันหนึ่งได้เกิดมีเสียงเคาะประตูร้านรัวๆ ก่อนจะมีคนในแก๊งบอยล์ที่ชื่อ “ฟรานเซส” พยุงร่างของ “ริชชี่” ลูกเจ้าพ่อรอย บอยล์ ที่ถูกยิงที่ท้องเข้ามา ในขณะที่มีเสียงไซเรนของตำรวจดังอยู่ข้างนอก

ทั้งสองมาหลบพักในร้านนี้อย่างคุ้นเคย และขอแกมบังคับเลียวนาร์ดให้จำต้องเปลี่ยนจาก ช่างเย็บสูท มาเป็น หมอเย็บแผล เพื่อเย็บแผลด้านหน้าและด้านหลังของริชชี่ ป้องกันไม่ให้เสียเลือดไปมากกว่านี้

นอกจากเขาสองคน สิ่งที่เฟรเซอร์หิ้วติดมือมาด้วยคือกระเป๋าเอกสารสีน้ำตาล ที่ด้านในบรรจุของสำคัญต่อความเป็นความตายของแก๊งอย่างมาก นั่นคือ ตลับเทปเสียงขนาดเล็ก ที่บันทึกเสียงสนทนาที่จะบอกได้ว่า “ใครเป็นหนอนบ่อนไส้”

ตอนที่ได้เทปมาทั้งสองยังไม่ทันได้ฟัง เพราะต้องเผชิญกับแก๊งคู่อริ คือ แก๊งลาฟอนเทนเสียก่อน และนั่นเป็นสาเหตุให้ริชชี่โดนยิง

จากที่เดินเรื่องเรียบๆ เป็นการปูพื้นในช่วงแรก หนังจึงได้เริ่มสนุกมากขึ้นให้คนดูติดตามว่าจะเกิดอะไรต่อไป ในขณะที่เลียวนาร์ดเองก็ไม่รู้จะทำยังไง ใจไม่อยากให้ร้านของตนเป็นที่หลบซ่อนตัวของริชชี่ เพราะทั้งแก๊งลาฟอนเทนและตำรวจกำลังล่าตัวเขาอยู่ ซึ่งอาจนำความซวยมาถึงเขาได้

แต่ครั้นจะขับไล่ไสสงให้ออกไปจากร้านก็ไม่ได้ แถมโดนเฟรเซอร์ที่เป็นสมุนมือขวาของรอยขู่จะฆ่าเขาอยู่เนืองๆ หากไม่ยอมทำตาม

เรื่องมาเพิ่มดีกรีความเข้มข้นไปอีกเมื่อริชชี่มาเสียชีวิตลงในร้าน จากนั้นความวุ่นวายโกลาหลก็เกิดขึ้นกับสถานที่แห่งนี้ ซึ่งเรื่องจะพลิกไปพลิกมาตลอด ทำให้คนดูที่แน่นอนว่าจะต้องเอาใจช่วยเลียวนาร์ดอยู่แล้ว ได้ลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เลียวนาร์ดจะทำยังไงกับเรื่องร้ายๆ นี้

ยิ่งเมื่อเจ้าพ่อรอยมาถึงร้านเพื่อมาหาลูกชายที่ถูกยิง และไม่พบลูกชายที่รักคนเดียวของเขา เราจะได้เห็นความน่าเกรงขามของเจ้าพ่อแก๊งอาชญากรอย่างรอยที่ค่อยๆ ผุดขึ้นมา และบรรยากาศก็ยิ่งตึงเครียดเข้าไปใหญ่

ก่อนที่เรื่องจะลุกลามใหญ่โตไปอีกมาก

คงจะพอเล่าได้ประมาณนี้นะครับ ไม่งั้นจะเป็นการเปิดเผยเนื้อหาของหนังมากเกินไป แต่จะขอเขียนถึงการแสดงของ “มาร์ก ไรแลนซ์” ที่รับบท “เลียวนาร์ด” ช่างตัดเสื้อสูงวัยได้อย่างน่าชื่นชม

หลายคนอาจจะพอคุ้นหน้าคุ้นตาเขาบ้าง เขาคือผู้ขึ้นรับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมของเวทีออสการ์ในปี 2015 จากเรื่อง “Bridge of Spies” ผลงานสร้างของ สตีเวน สปีลเบิร์ก เรื่องนี้เขารับบท “รูดอล์ฟ เอเบิล” ซึ่งเป็นสายลับของรัสเซียในช่วงสงครามเย็น แม้เวลาในหน้าจอไม่มากนัก แต่ก็เป็นตัวละครที่เป็นประเด็นของเรื่องและมีความสำคัญในช่วงไคลแมกซ์ ซึ่งไรแลนซ์ก็สามารถนำการแสดงที่พิเศษ ลุ่มลึก แต่มีพลังจากข้างในออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม คงเพราะเขาเติบโตมาจากการเป็นนักแสดงละครเวทีมาก่อนนั่นเอง จนสามารถคว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมเฉือนคู่แข่งคนอื่นไปครองได้ รวมทั้งยังได้รับรางวัลเดียวกันนี้จากงาน BAFTA อีกด้วย

สำหรับเรื่อง The Outfit นี้ หนังใช้เขาคุ้มมาก เราจะเห็นเขาเดินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ และด้วยการแสดงที่นิ่งๆ เรื่อยๆ สุขุมแบบคนแก่ใจดี ท่าทางสุภาพ แต่เหมือนซ่อนอะไรบางอย่างไว้

ทำให้เราอยากติดตามไปให้จนจบเรื่องว่าสุดท้ายแล้วเขาเป็นใครกันแน่?

ในตอนเปิดเรื่องเราจะได้ฟังเขาบรรยายผ่านภาพการทำงานถึงงานอาชีพอันเป็นที่รักของเขาว่า

“ถ้ามองด้วยตาเปล่า ชุดสูทจะประกอบด้วยสองส่วน คือเสื้อสูทและกางเกง แต่สองส่วนที่เห็นชัดเจนนี้ ประกอบด้วยผ้าสี่ชนิด ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนแกะ และขนสัตว์ และผ้าสี่ชนิดนั้นถูกตัดเป็น 38 ชิ้น เข้าสู่กระบวนการวัดขนาด ขึ้นรูป ประกอบชิ้นผ้าเหล่านั้นเข้าด้วยกัน โดยมีขั้นตอนไม่ต่ำกว่า 228 ขั้นตอน”

ด้วยความหยิ่งในศักดิ์ศรีตามแบบฉบับคนอังกฤษ เขาก็จะหน้าตึงขึ้นมาทันทีหากมีใครเรียกเขาว่าเป็น Tailor หรือ ช่างเย็บผ้า แล้วก็จะแย้งกลับด้วยเสียงเข้มๆ ว่า เขาเป็น Cutter หรือ ช่างตัดเสื้อผ้า ต่างหาก

ไรแลนด์ทำให้เราเชื่อได้ว่าเขามีความเป็นช่างตัดสูทจริงๆ จากอากัปกิริยาในการทำงานของเขาที่ดูคล่องแคล่ว ชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการหยิบวางกระดาษเพื่อทำแบบ การสร้างแบบ การนำแบบที่สร้างไปใช้กับผ้า การเขียนแบบด้วยชอล์ก การตัดผ้า การเย็บ การเนา การเลาะด้าย และทำให้เราได้เห็นวิธีการตัดสูทหนึ่งตัวของช่างสมัยก่อนอีกด้วย เช่น การใช้เตารีดเหล็กที่มีความร้อนวางบนผ้า หรือการใช้ท่อนไม้ที่มีน้ำหนักมาตีที่เนื้อผ้า เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังเห็นถึงความประณีตบรรจงของเขาอย่างการค่อยๆ พับผ้าที่ใช้ใส่ในกระเป๋าเสื้อสูทและจัดวางเรียงอย่างดี แสดงออกถึงการทำงานที่มุ่งมั่น มีระเบียบแบบแผน

การแสดงออกที่น่าชื่นชมของเขาคือ สายตา และน้ำเสียง ที่ดูเรียบๆ แต่แฝงด้วยการใช้ความคิด ซ่อนความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเมื่อความจริงในตอนท้ายเรื่องที่เฉลยออกมา จึงยิ่งช่วยสนับสนุนการแสดงเหล่านั้น

นับว่า มาร์ก ไรแลนด์ สามารถแบกหนังทั้งเรื่องได้จริงๆ สมกับที่เคยได้รับรางวัลออสการ์มาแล้ว สำหรับนักแสดงคนอื่นก็ต้องขอชื่นชมหัวหน้าแก๊งทั้งสอง คือ รอย แห่งแก๊งบอยล์ และหัวหน้าแก๊งลาฟอนเทนที่เป็นผู้หญิงผิวดำ

ทั้งสองคนแสดงให้คนดูรู้สึกได้ถึงความเป็นคนมีอำนาจที่ซ่อนอยู่ภายใต้อากัปกิริยาที่นิ่งๆ สุขุม ลุ่มลึก แต่แฝงความเด็ดขาดและโหดเหี้ยมอยู่ในที โดยเฉพาะบอยซ์ที่แสดงออกถึงคนเป็นพ่อที่รักและเป็นห่วงลูกในแบบหัวหน้าแก๊งอันธพาลได้อย่างดี

จึงเป็นหนังที่เล่าเรื่องในสถานที่เดียวในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในคืนเดียวได้อย่างน่าสนใจ ชวนให้เราติดตามไปจนถึงตอนจบได้แบบเพลินๆ ซึ่งนอกจากงานทางด้านการแสดงแล้ว งานภาพและงานดนตรีประกอบจึงมีความสำคัญอย่างมากในการขับเน้นอารมณ์ของเรื่อง

ในความเป็นเรื่องของแก๊งสเตอร์ทำให้เราเห็นว่า คนที่มีอำนาจ ก็จะพยายามรักษาอำนาจของตน และพร้อมจะเข่นฆ่าทำลายล้างคนอื่นที่เห็นว่าเป็นศัตรูอยู่เสมอ หรือ คนที่ต้องการซึ่งอำนาจก็พร้อมจะทำทุกอย่างแม้แต่การหักหลังเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้เสมอ

จะว่าไป เรื่องของพวกโจรอันธพาลอย่างแก๊งสเตอร์นี้ ก็ไม่ได้ต่างจากเรื่องของวงการตำรวจในบ้านเรายามนี้เลย

ใครสนใจรายละเอียดของเนื้อหาลึกๆ ก็หาชมได้ทางสำนักนายกฯ เอ๊ย ได้ทาง Netflix นะครับ สวัสดี •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์