หอศิลป พีระศรี : คุณค่าและบทบาทต่อสังคมไทย (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

หอศิลป พีระศรี

: คุณค่าและบทบาทต่อสังคมไทย (2)

 

แม้ หอศิลป พีระศรี จะเปิดทำการเพียงแค่ราว 14 ปี ระหว่าง พ.ศ.2517-2531

แต่จากข้อมูลที่ทีมภัณฑารักษ์หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เคยสำรวจไว้พบว่า ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีดังกล่าวมีนิทรรศการและกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ถูกจัดขึ้นภายในหอศิลป์มากถึง 233 งาน

หรือหากคิดง่ายๆ ก็คือ ในทุก 1 เดือนจะมีกิจกรรมใหม่ถูกจัดขึ้นโดยเฉลี่ย 1.38 งาน

ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้สูงมากจนน่าทึ่ง แม้กระทั่งหอศิลป์สมัยใหม่ในปัจจุบันไม่ว่าแห่งไหนก็ไม่มีที่ใดจะสามารถจัดงานได้เป็นจำนวนมากในระดับความถี่เช่นนี้

ไม่เพียงแค่ความพิเศษในเชิงปริมาณนะครับ หากมองในแง่คุณภาพและผลกระทบที่มีต่อสังคมเราก็อาจพูดได้ว่า หอศิลป พีระศรี ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการศิลปะและสังคมไทย

ซึ่งในทัศนะผมคิดว่ามีอยู่ 5 ประการที่น่าสนใจควรแก่การพูดถึง

ภาพถ่ายบรรยากาศงาน รายการเพลงฉ่อย ในปี พ.ศ.2521 ณ หอศิลป พีระศรี
ที่มาภาพ : ฐานข้อมูล มูลนิธิหอศิลป พีระศรี

ประการที่หนึ่ง หอศิลป พีระศรี เป็นพื้นที่เปิดกว้างมากในการจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่เฉพาะแค่งานศิลปะแต่ขยายไปสู่งานในเชิงวัฒนธรรมอื่นๆ อีกด้วย

ซึ่งปกติทั่วไปของหอศิลป์ ณ ช่วงเวลานั้น (แม้กระทั่งในปัจจุบันหลายแห่งก็ยังเป็นเช่นนี้อยู่) มักจะเป็นพื้นที่สำหรับจัดงานศิลปะตามขนบนิยามมาตรฐาน เช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ฯลฯ

แต่ หอศิลป พีระศรี เปิดพื้นที่ให้แก่การจัดงานฉายภาพยนตร์ สัมมนา ละครเวที ดนตรี

และที่น่าสนใจคือการจัดรายการเพลงฉ่อยในปี พ.ศ.2521 โดยมีพ่องานคือ เอนก นาวิกมูล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ผลพลอยได้ของการเปิดโอกาสให้แก่กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายเช่นนี้ก็ได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ศิลปะในแบบสมัยใหม่ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเข้าถึงยาก เจือจางลงไม่มากก็น้อย

ปกหนังสือรวมผลงานศิลปะของ “กลุ่มธรรม” ในปี พ.ศ.2519 ณ หอศิลป พีระศรี
ที่มาภาพ : ฐานข้อมูล มูลนิธิหอศิลป พีระศรี

ประการที่สอง หอศิลป พีระศรี หากมองย้อนกลับไปในบริบทในช่วงที่เปิดใช้งาน ก็พูดได้โดยไม่เกินจริงไปนักว่าคือพื้นที่ศิลปะที่ให้เสรีภาพทางความคิดและการสร้างสรรค์อย่างมากแก่ศิลปิน โดยเฉพาะหากเทียบเคียงกับหอศิลป์ที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น

ซึ่งการจัดงานหลายครั้งเป็นงานที่มีแนวคิดท้าทายตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์แนวทางศิลปะแบบทางการที่ครอบงำสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางศิลปะแบบสกุลศิลปากร

งานที่มักถูกอ้างถึงอยู่เสมอเมื่อพูดถึงการเปิดพื้นที่ต่อแนวคิดที่หลากหลายแปลกใหม่ของ หอศิลป พีระศรี คืองานที่ชื่อว่า “สอนศิลป์ให้ไก่กรุง” โดย อภินันท์ โปษยานนท์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2528

ที่ภายในงานมีการยกกรงไก่และไก่จริงๆ กว่า 200 ตัวมาจัดแสดง พร้อมทั้งวิดีโอ (ซึ่งถือเป็นสื่อศิลปะที่แปลกใหม่ในยุคนั้น) ที่มีภาพของผู้ชายคนหนึ่งกำลังถือภาพโมนาลิซ่าอยู่โดยทำท่าเสมือนว่ากำลังสอนให้ลูกไก่ได้รู้จักว่าภาพศิลปะอันยิ่งใหญ่ชิ้นนี้คือภาพอะไร ไปจนถึงการจัดแสดงภาพโมนาลิซ่าที่บิดเบี้ยวอยู่ตามผนังห้อง

ทั้งหมดนี้ได้สร้างความแปลกใจ ขบขัน และสับสน (ไปพร้อมๆ กับกลิ่นของขี้ไก่ที่ลอยฟุ้งอยู่ในห้องนิทรรศการ) ว่าความหมายของงานนี้คืออะไร และก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างอย่างหลากหลาย ไปจนถึงการวิจารณ์ว่างานชิ้นนี้ควรถือว่าเป็นงานศิลปะหรือไม่

ไม่เพียงแต่การเปิดโอกาสให้งานแนวคิดล้ำสมัยได้จัดแสดง ในบางช่วงขณะของประวัติศาสตร์ หอศิลป พีระศรี ก็เคยเป็นพื้นที่เปิดกว้างต่อความคิดทางศิลปะที่สุ่มเสี่ยงต่อนิยามความมั่นคงของรัฐ

เช่น การจัดงานนิทรรศการศิลปะของ “กลุ่มธรรม” นำโดย ประเทือง เอมเจริญ ในระหว่างวันที่ 5 -31 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งงานหลายชิ้นภายในนิทรรศการเป็นงานที่อาจถูกมองว่าเชื่อมโยงกับแนวทาง “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ซึ่งภาครัฐ ณ ขณะนั้นมองว่าเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสังคมไทย และทำให้ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

นิทรรศการก็ถูกคุกคามและต้องปิดงานลงในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2519 หลังจากที่เปิดงานมาได้เพียง 4 วันเท่านั้น

โดยผลงานหลายชิ้นถูกทำลายเพราะกลัวว่าจะกลายเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี และเป็นเหตุให้ ประพันธ์ ศรีสุตา ผู้อำนวยการ หอศิลป พีระศรี ณ ขณะนั้นต้องลาออกจากตำแหน่ง

นอกจากตัวอย่างงาน 2 ชิ้นที่ยกมา หากไล่ดูนิทรรศการและกิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดระยะเวลา 14 ปี ก็จะมองเห็นงานที่มีลักษณะเช่นนี้ปรากฏแทรกให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ทั้งงานประเภท video art, performance art, installation art, happening art และภาพถ่าย

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทายวงการศิลปะในช่วงเวลนั้นอย่างยิ่ง

 

ประการที่สาม หอศิลป พีระศรี ได้เข้าไปมีส่วนไม่มากก็น้อยต่อการก่อตัวขึ้นสิ่งที่เรียกว่างานศิลปะแบบประเพณีไทยใหม่ (neo-traditional) ในฐานะที่เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ “กลุ่มศิลปไทย 23” นําโดย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ ณ ขณะนั้น ที่มีฐานแนวคิดในลักษณะชาตินิยมไทย และต่อต้านอิทธิพลศิลปะจากยุโรป อเมริกา ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงงานศิลปะตามแนวทางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะแบบประเพณีเดิมของไทย

นิทรรศการที่สำคัญครั้งหนึ่งของกลุ่มนี้ที่จัดขึ้น ณ หอศิลป พีระศรี คือ “นิทรรศการจิตรกรรมศิลปไทย 23 ครั้งที่ 3” เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2527 และเพียงไม่กี่เดือนต่อมา เฉลิมชัย (และเพื่อนศิลปินอีกสองท่าน) ก็ได้เดินทางไปเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธประทีบ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแนวทางจิตรกรรมแบบประเพณีไทยใหม่

 

ประการที่สี่ หอศิลป พีระศรี มีส่วนสำคัญมากในฐานะพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะในรูปแบบที่มีกลุ่มทุนธนาคารเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์หลัก ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการศิลปะไทยที่น่าสนใจอีกช่วงเวลาหนึ่ง จากเดิมที่งานศิลปะเคยมีผู้อุปถัมภ์คือเจ้านายและผู้ดี ต่อมาก็เปลี่ยนมือมาสู่รัฐ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) มาสู่กลุ่มนายทุนสมัยใหม่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

โดยตั้งแต่ในปีแรกของการก่อตั้ง หอศิลป พีระศรี ก็ได้เริ่มจัดนิทรรศการ “งานประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้ง 1” ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ.2517 โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของวงการศิลปะไทย และเปิดตัวกลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ (กลุ่มทุนธนาคาร) ที่ต่อมาจะเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์ที่สำคัญมากให้แก่วงการศิลปะ

(ในปี พ.ศ.2522 ธนาคารกสิกรไทยก็เริ่มเข้ามาให้การสนับสนุนการประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยเป็นครั้งแรก และกลายเป็นอีกหนึ่งธนาคารที่มีบทบาทต่อวงการศิลปะไทยเรื่อยมา)

 

ประการที่ห้า หอศิลป พีระศรี ในปี พ.ศ.2528 ได้เข้าไปมีบทบาทสนับสนุนงานเชิงทดลองของศิลปินแขนงต่างๆ ที่เรียกว่า “เวทีสมั่ย” ริเริ่มโดย จุมพล อภิสุข ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันศิลปะเชิงความคิดและการแสดง โดยเปิดเวทีเดือนละครั้ง และมีกิจกรรมมากมายทั้งการแสดงสด อ่านบทกวี แสดงดนตรีเพื่อชีวิต และดนตรีพื้นบ้านจากภูมิภาคต่างๆ

“เวทีสมั่ย” ณ เวลานั้นถือเป็นเวทีที่แหวกขนบทุกอย่างของงานศิลปะ เป็นพื้นที่แห่งการทดลองอย่างแท้จริง ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก

ถึงขนาดที่มีนักวิชาการบางท่านนิยามว่า “เวทีสมั่ย” คือจุดเริ่มต้นของพื้นที่ทางศิลปะแนวทดลอง (Experimental art space) ในสังคมไทย

 

บทบาท (อย่างน้อย) ห้าประการข้างต้นที่ยกมาคือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 14 ปี และเป็นช่วงเวลาที่ทำให้วงการศิลปะครึกครื้น ผู้คนเป็นจำนวนมากเดินทางเข้าชมงานศิลปะตลอดจนกิจกรรมที่จัดขึ้นใน หอศิลป พีระศรี จากภาพถ่ายเก่าที่ถูกเก็บรักษาไว้ในฐานข้อมูลของ มูลนิธิหอศิลป พีระศรี ทำให้เราเห็นถึงความคึกคักอย่างไม่น่าเชื่อ หลายงานมีผู้คนเป็นจำนวนมากเบียดเสียดกันเข้าชมงาน เป็นบรรยากาศที่แม้แต่หอศิลป์ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้

ด้วยความสำเร็จดังกล่าว ทุกคนในช่วงเวลานั้นน่าจะจินตนาการว่า หอศิลป พีระศรี คงเติบโตขึ้นและกลายเป็นสถาบันทางศิลปะที่มั่นคงของสังคมไทยไปอีกยาวนาน

แต่ความเป็นจริงกลับเดินไปในทางตรงกันข้าม หอศิลป พีระศรี ปิดตัวลงอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ.2531 ทั้งๆ ที่กำลังเป็นพื้นที่ทางศิลปะที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของสังคมไทย