ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเสียง |
เผยแพร่ |
อย่างที่บอกไปเที่ยวก่อนนั่นแหละครับ ที่ว่าผมไม่เคยฟังลำโพงรุ่นเต้ยๆ ของ DALI กับเครื่องในอนุกรม Master Series ของ NAD มาก่อน ส่วนใหญ่ที่ฟังก็เป็นเครื่องในตระกูล Classic กับลำโพงประกอบเข้าขาตั้ง ที่ทั้งซิสเต็มมีตั้งแต่กว่าครึ่งแสนไปจนถึงแสนต้นๆ แล้วจับทางได้อย่างหนึ่ง ว่าเครื่องกับลำโพงสองค่ายนี้ให้การทำงานที่เข้าขากันดี แบบที่เรียกว่า Synergy System เป็นบวก, อะไรแถวๆ นั้น
จึงเมื่อจับพลัดจับผลูมาได้ฟัง Flagship Jr. ทำงานร่วมกับเครื่องระดับ Master ของทั้งสองแบรนด์ ก็นับได้ว่าเป็นอีกประสบการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย
สำหรับที่จ่าหัวเอาไว้ว่า – ทั้งซิสเต็มสองล้านห้าเอาอยู่, นั้น ราคาของลำโพงอยู่ที่คู่ละล้านหก ในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์สามเครื่องราคารวมเกินครึ่งล้านไปนิดหน่อย ที่เหลือเป็นราคาของสายนำสัญญาณและสายลำโพง รวมๆ แล้วไม่เกินสองแสนครับ ซึ่งเป็นของ Supra Cables สายคุณภาพสูงราคา ‘ยิ่งกว่า’ สมเหตุสมผลของสวีเดน
ที่บอกอย่างนั้นเป็นเพราะเคยพูดคุยกับคุณ Tommy Jenving (ค.ศ.1945-2011 – ผู้ก่อตั้ง Jenving Technology เจ้าของแบรนด์ Supra) เมื่อคราวไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตของเขาในเมือง Gothenburg แล้วถามถึงด้วยความแปลกใจ ว่าทำไมราคาสายของเขาเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ในระดับคุณภาพเดียวกันแล้ว ราคาถึงแตกต่างกันเอาการนัก คุณเขาตอบว่าเป็นเพราะผลิตภัณฑ์ของเขาไม่มีค่าการตลาดเข้ามากำหนดราคาสินค้าด้วย พูดง่ายๆ ก็คือเขาไม่เคยซื้อสื่อเพื่อโฆษณาเลยนั่นเอง
แต่ด้วยคุณภาพของตัวมันเอง รวมทั้งการพูดถึงของนักเล่นแบบปากต่อปาก สื่อก็เดินทางมาพบ พูดคุย และนำไปพูดถึงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเวลามีรุ่นใหม่ๆ ออกมา และไม่เฉพาะสื่อในยุโรป หากแต่สื่อระดับคัมภีร์ของนักเล่นในอเมริกาเหนือ ก็ยังมาพูดคุย สัมภาษณ์ แล้วนำเรื่องราวเกี่ยวกับสายประเภทต่างๆ ของเขาไปตีพิมพ์อยู่เนืองๆ
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกและตอกย้ำความเป็น ‘บุคคลคุณภาพผู้ผลิตสินค้าคุณภาพ’ ก็คือ คุณเขาได้รับการยกย่องให้เป็น Sweden’s Greatest Hi-Fi Personality ครับ
ดังที่บอกไปว่าผมได้ฟังซิสเต็มนี้แบบจับพลัดจับผลู คือไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน จึงไม่ได้มี ‘ตัวช่วย’ อะไรติดไม้ติดมือไปด้วย อาศัยฟังเอาจากการสตรีมไฟล์ Hi-Res Audio จากผู้ให้บริการที่น้องนุ่งเขาเป็นสมาชิกอยู่ โดยขอให้สตรีมเพลงจากอัลบัมที่คุ้นๆ มาฟัง ซึ่งยิ่งฟังไปนานๆ ก็ยิ่งตอกย้ำความรู้สึก (ที่เป็นส่วนตัว) ที่ว่าเครื่องกับลำโพงสองแบรนด์นี้ทำงานด้วยกันได้ดี (ซึ่งตอนนี้ต้องใส่สร้อยว่า – ดีมากๆ ด้วย)
โดยเฉพาะกับการทำงานของ NAD นั้น ผมฟังเครื่องในอนุกรม Master Series มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่เปิดตัว และตามฟังมาอย่างต่อเนื่อง ฟังกับลำโพงโน้น นี้ นั้น มาก็ไม่น้อย ทำให้พอบอกได้ว่าไม่เคยรู้สึกว่า NAD Master Series ทำงานได้อย่างเป็นอิสระ ปลดปล่อยตัวเอง และสำแดงศักยภาพออกมาแบบหมดหน้าตักได้ เหมือนที่ Master M66 + M23 ทำงานกับ DALI Epikore 11 นี้เลย
ทั้งคู่ให้การทำงานสอดประสานกันอย่างลื่นไหลดีมาก รังสรรค์ความเป็นดนตรีออกมาอย่างน่าฟัง ส่งมอบทุกรายละเอียดเสียงออกมาได้แบบหมดจด ครบถ้วน ไม่มีใดตกหล่นแม้แต่เพียงน้อยนิด นั้น, คือความรู้สึกจากที่ได้ฟังแทร็คแรกๆ แล้วรื้อลิ้นชักคามทรงจำเปรียบเทียบเอากับซิสเต็มอื่นๆ ที่เคยฟังแทร็กนั้นๆ แบบเคยคุ้นมานานช้า และเป็นซิสเต็มอื่นๆ ในความทรงจำที่ยังคงจับเค้าลางภาพรวมของเสียงได้ดี ซึ่งล้วนเป็นซิสเต็มที่มีราคากว่าสามล้านไปยันสิบล้านขึ้นทั้งสิ้น เรียนอีกอย่างว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของผมนั้น เวลาไปฟังชุดเครื่องเสียงที่มีราคาสูง แพงๆ นั้น โอกาสค่อนข้างน้อยครับ, ที่จะได้เจอะเจอกับชุดที่มีราคาในช่วงล้านห้าถึงสามล้าน ไม่ทราบเป็นไงเหมือนกัน จังหวะมันไม่ค่อยได้เจอกันสักกี่มากน้อยเลย เลยไม่มีซิสเต็มในระดับราคาที่ใกล้กันมาเทียบเคียงด้วย
จึงให้รู้สึกทึ่งกับน้ำเสียงของซิสเต็มที่มีราคาไม่ถึงสองล้านห้าชุดนี้อยู่ไม่น้อย
เพราะหากได้ฟังโดยที่ไม่ได้รับรู้ราคาค่าตัวของแต่ละชิ้น แต่ละอย่างมาก่อน กับภาพรวมของเสียงที่ได้สัมผัสนั้นผมปัดไปอยู่กลุ่มสามล้านห้าขึ้นโน่นเลย
แต่ประเด็นนั้นช่างเถอะครับ เพราะมันเป็นความพอใจในเรื่องของนามธรรม (เสียง) ที่จะมีใครพอใจควักเงินจ่าย (อย่างเป็นรูปธรรม) หรือไม่ ก็ล้วนเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นการเฉพาะของใครคนนั้น ที่ใครอื่นมิควรไปก้าวล่วง เพราะเรื่องทำนองนี้สำหรับบางคนแล้ว ได้สุ้มเสียงที่พึงใจเพิ่มอีกนิดโดยจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกเท่าไร, ก็ยินดี แต่ก็มีใครอีกไม่น้อยคนเช่นกัน ที่ให้รู้สึกว่าได้เสียงเพิ่มขึ้นมาอีกแค่นั้น แต่ต้องเพิ่มเงินอีกตั้งเท่านี้, ไม่เอาดีกว่า
ถึงได้บอกว่าเรื่องของเสียงโดยเฉพาะเสียงดนตรีนี่ มันเป็นเรื่องของนามธรรมที่มิอาจใช้มาตรใดมาชั่ง ตวง วัด แล้วบอกความแตกต่างอย่างเป็นรูปธรรมได้ แต่มันเปี่ยมไปด้วยพลังที่แต่ละจิตวิญญาณเมื่อได้สัมผัสแล้ว ก็จะเกิดสัมผัสรู้แห่งตนว่าพร้อมทุ่มเทแค่ไหนเพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงดนตรีที่ได้ยินนั้น
กลับมาพูดคุยเรื่องของเสียงที่ได้ฟังจากซิสเต็มสองล้านห้า (เอาอยู่) กันต่อดีกว่าครับ
ประทับใจแรกก็อย่างที่บอกไปข้างต้นนั่นแหละครับ มันรังสรรค์รายละเอียดเสียงที่มีความเป็นดนตรีออกมาได้น่าทึ่งมาก มีความคมชัดอย่างน่าฟัง ทั้งยังให้ความชัดเจนในทุกระดับความดัง ปลายเสียงแหลมทอดไปได้ไกลแบบมีประกายระยิบระยับ ก่อนจะจางหายไปอย่างอ่อนโยน นุ่มนวล การทำงานของ Fabric Dome กับแผง Planar Ribbon สอดประสานกันดีมาก ไร้การบิดเบือนอย่างสิ้นเชิง และมีความต่อเนื่องกันอย่างลื่นไหล ซึ่งเมื่อพูดถึงตรงนี้แล้วต้องย้อนลงไปถึงความชอบพอในเสียงย่านความถี่กลางด้วย ทั้งกลางตอนบนที่ส่งหน้าที่ไปให้ EVO-K Hybrid Tweeter รับช่วงต่อนั่นแหละครับ
ทั้งคู่ให้การทำงานรับส่งกันได้เนียนและด้วยความเป็นธรรมชาติสูงมาก หลอมรวม (เสียง) กลาง/แหลมเป็นเนื้อเดียวที่หากให้พูดบอกเป็นรูปธรรม ก็เหมือนเห็นการไล่เฉดสีจากเข้มทึบไปอ่อนจางที่แผ่กว้างมาก คือเมื่อมองภาพรวมของแผ่นสีก็จะเห็นความแตกต่างของความเข้มจางอย่างชัดเจน แต่เมื่อมองแต่ละจุดบนแผ่นสีนั้นแล้ว ไม่อาจบ่งบอกความแตกต่างของแต่ละจุดที่ติดกันได้เลยจริงๆ และนั่นก็เป็นแบบเดียวกับกลางตอนล่างที่ทำงานร่วมกับวูฟเฟอร์ได้อย่างกลมกลืนเอามากๆ ด้วย
ภาพรวมของเสียงกลางนั้นมีความบริสุทธิ์และสัตย์ซื่อในความถูกต้องเที่ยงตรงสูงมาก เนื้อเสียงมีความเป็นธรรมชาติโดยเฉพาะกับเสียงร้อง ทั้งเสียงร้องหญิงและชาย ให้ออกมาอย่างสมจริงชนิดที่ผู้ร้องแทบจะหลุดออกจากลำโพงมายืนให้เห็นตัวเป็นๆ ว่ากำลังส่งเสียงให้ฟังอยู่เบื้องหน้านั้นเลย
ส่วนเบสให้ออกมาเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างน่าประหลาดใจมาก เพราะเสมือนผนวกสับ-วูฟเฟอร์เข้าไว้ในตู้ด้วย โอ่อ่าและยิ่งใหญ่แบบที่ฟังออร์เคสตราวงใหญ่แล้วได้อรรถรสเหมือนนั่งฟังอยู่นโถงแสดงดนตรีนั่นเทียว
แม้จะได้อยู่ด้วยกันไม่นานชั่วโมงนัก แต่ก็สัมผัสได้ว่าเครื่องเสียงและลำโพงซิสเต็มนี้ให้การทำงานร่วมกันได้ยอดเยี่ยมมาก เป็นความยอดเยี่ยมที่บอกผ่านเสียงดนตรีนานารูปแบบที่ได้ฟังอย่างชัดแจ้งยิ่งนัก นับเป็นคู่หูที่ทำงานด้านดนตรีร่วมกันได้เข้าขามากจริงๆ
ที่สำคัญ, เสียงดนตรีที่ร่วมกันรังสรรค์ออกมานั้น จัดอยู่ในระดับ Reference System ได้เลย •
เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022