รู้จัก ‘คลื่นความร้อน’ ให้ถึงแก่น (2) | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

ในบทความแรก รู้จัก ‘คลื่นความร้อน’ ให้ถึงแก่น (1) ผมได้ให้ความหมาย สาเหตุ และผลกระทบของคลื่นความร้อนไปแล้ว คราวนี้มาดูประเด็นสำคัญที่เหลือกันต่อครับ

ถาม 5 : เมื่อเปรียบเทียบกับภัยจากสภาพอากาศอื่นๆ คลื่นความร้อนสร้างความเสียหายต่อชีวิตมากแค่ไหน?

ตอบ 5 : ในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจาก National Weather Service ระบุว่า สถิติการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากสภาพอากาศเลวร้ายในช่วงปี 1977-2006 รวมระยะเวลา 30 ปี เป็นดังนี้ ตัวเลขในวงเล็บคือ จำนวนเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกาในแต่ละปี :

ความร้อน (170 คน)

พายุฤดูหนาว (106 คน)

น้ำท่วม (99 คน)

เฮอร์ริเคน (76 คน)

ฟ้าผ่า (62 คน)

ทอร์นาโด (54 คน)

จะเห็นว่า (คลื่น) ความร้อนเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนเสียชีวิต นั่นคือ คลื่นความร้อนเป็น “ภัยเงียบ” ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก เป็นภัยที่มองไม่เห็นเด่นชัดเหมือนกันภัยจากสภาพอากาศแบบอื่นๆ

ถาม 6 : คลื่นความร้อน สลายตัวไปได้อย่างไร?

ตอบ 6 : เนื่องจากสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนคือ ระบบความกดอากาศสูง (high-pressure system) ในบรรยากาศระดับที่สูงที่อยู่เหนือพื้นที่เกิดเหตุ ดังนั้น หากระบบความกดอากาศสูงนี้เคลื่อนจากไป (movement of high-pressure system) ก็จะเปิดโอกาสให้อากาศร้อนระบายขึ้นสูง และเกิดเมฆเพิ่มขึ้น

หากเมฆมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น (increased cloud cover) โดยเฉพาะเมฆก้อนระดับต่ำ ก็จะช่วยบดบังแสงอาทิตย์ และทำให้แสงอาทิตย์ตกถึงพื้นน้อยลง นอกจากนี้ เมฆก้อนยังอาจพัฒนาไปเป็นเมฆฝน ซึ่งฝนที่ตกลงมาก็จะช่วยคลายร้อนได้อีกทางหนึ่ง

แผนภาพแสดงกระแสอากาศเย็นมาจากทางตะวันตกในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.2019

ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะแถบอบอุ่น การที่มีแนวปะทะอากาศเย็น (cold front) เคลื่อนที่เข้ามา ก็จะช่วยให้คลื่นความร้อนสลายตัวไปได้ เนื่องจากสาเหตุ 2 อย่าง คือ มวลอากาศเย็นเข้ามาช่วยลดอุณหภูมิ และแนวรอยต่อของมวลอากาศมีโอกาสเกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้มาก ฝนที่ตกลงมาย่อมช่วยลดอุณหภูมิของอากาศได้ตามที่กล่าวมาแล้ว

ในบางพื้นที่ หากมีพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) เคลื่อนที่เข้ามาก็ย่อมรบกวนระบบความกดอากาศสูง อีกทั้งพายุหมุนเขตร้อนยังนำอากาศที่ชื้นและเย็นกว่าเข้ามาด้วย

ในพื้นที่เขตมรสุม อาจมีเมฆและฝนที่เกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมมาช่วยสลายคลื่นความร้อน เช่น กรณีคลื่นความร้อนที่อินเดียและปากีสถานในบางเหตุการณ์

มีกรณีเฉพาะกรณีหนึ่งที่ขอบันทึกไว้ กล่าวคือขณะเกิดคลื่นความร้อนที่ยุโรปในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2019 นั้น ปรากฏว่าในวันที่ 26 กรกฎาคม มีกระแสอากาศเย็นจากทิศตะวันตกเข้ามาช่วยลดอุณหภูมิในบางพื้นที่ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสฝั่งตะวันตก และสเปนบางส่วน อากาศเย็นที่เข้ามานี้อาจทำให้เกิดฝนซู่และฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ลมแรง และลูกเห็บ

ถาม 7 : พื้นที่ใดในโลกที่มักเกิดคลื่นความร้อน?

ตอบ 7 : พื้นที่ที่เกิดคลื่นความร้อนบ่อย ได้แก่ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา อย่างในช่วงปี 2015-2019 พบว่าเกิดขึ้นทุกปี ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดในบางปี เช่น ออสเตรเลีย อินเดียและปากีสถาน จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ เป็นต้น

 

ถาม 8 : เหตุการณ์คลื่นความร้อนครั้งสำคัญของโลกเกิดขึ้นที่ใดบ้าง?

ตอบ 8 : หากใช้จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นเกณฑ์ จะพบว่าเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุด ได้แก่ คลื่นความร้อนที่ยุโรปในปี 2003 ซึ่งคร่าชีวิตไปกว่า 71,000 คน

ส่วนอันดับที่ 2 ถึง 10 ได้แก่
(2) รัสเซีย กรกฎาคม-กันยายน ปี 2010 [55,000 คน]
(3) สหรัฐอเมริกา ปี 1988 [4,000-17,000 คน]
(4) ยุโรป มิถุนายน-กรกฎาคม ปี 2006 [3,400 คน]
(5) อินเดีย พฤษภาคม ปี 2015 [กว่า 2,500 คน]
(6) สหรัฐอเมริกา ปี 1980 [กว่า 1,700 คน]
(7) ญี่ปุ่น กรกฎาคม-สิงหาคม ปี 2010 [กว่า 1,700 คน]
(8) สหรัฐอเมริกา ปี 1936 [กว่า 1,600 คน]
(9) ปากีสถาน มิถุนายน ปี 2016 [กว่า 1,400 คน]
และ (10) อินเดีย พฤษภาคม ปี 2003 [กว่า 1,200 คน]

เหตุการณ์คลื่นความร้อนครั้งร้ายแรง

ถาม 9 : ภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกับคลื่นความร้อนไหม?

ตอบ 9 : ลองดูแผนภาพอย่างง่ายที่ให้ไว้ แกนนอนคือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อเหตุการณ์ลักษณะหนึ่งๆ ส่วนแกนตั้งคือ ระดับความมั่นใจว่าเหตุการณ์ลักษณะหนึ่งๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

จะเห็นว่ากรณีที่เกิดสภาพอากาศหนาวสุดขีด (Extreme cold) และร้อนสุดขีด (Extreme heat) ทั้งระดับความรู้ความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างไรต่อความร้อนหนาว และความมั่นใจว่าเหตุการณ์หนาวสุดขีด-ร้อนสุดขีดเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาสอยู่ในระดับสูงมาก (วงสีส้ม)

 

ถาม 10 : ช่วยยกตัวอย่างกลไกที่ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดคลื่นความร้อน

ตอบ 10 : เป็นไปได้ว่าคลื่นความร้อนที่ยุโรปที่เกิดจากโอเมก้าบล็อกอาจเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

สมมุติฐานหนึ่งอธิบายว่า เนื่องจากปริมาณน้ำแข็งในทะเลแถบขั้วโลกเหนือลดลง จึงทำให้บริเวณขั้วโลกเหนือสะท้อนแสงอาทิตย์ได้น้อยลง ผลก็คือน้ำทะเลสะสมความร้อนจากแสงอาทิตย์เอาไว้

ต่อมาเมื่อน้ำทะเลระบายความร้อนนี้ออกสู่อากาศ ก็จะทำให้อากาศเหนือขั้วโลกอุ่นขึ้น ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิอากาศระหว่างขั้วโลกกับบริเวณที่อยู่ถัดลงมาทางใต้ลดลง กระแสลมกรดจึงอ่อนกำลังตามไปด้วย

กลไกดังกล่าวนี้ เรียกว่า Arctic Amplification (เฉพาะขั้วโลกเหนือ) แต่ถ้ามองว่าเกิดกับขั้วโลกก็จะเรียกว่า Polar Amplification

ผมได้เล่าแง่มุมหลักๆ เกี่ยวกับคลื่นความร้อนไปแล้ว และหากมีประเด็นใดที่ยังสงสัยก็ลองสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามมาได้ครับ

-แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ฝนฟ้าอากาศกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ