กรมโฆษณาการ เปิดเพลงอะไรปลุกปลอบขวัญคนไทย ครั้งปลายสงคราม

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

กรมโฆษณาการ

เปิดเพลงอะไรปลุกปลอบขวัญคนไทย

ครั้งปลายสงคราม

 

ใครจะคิดได้ว่า ในช่วงปลายสงคราม ตามเมืองใหญ่ๆ และจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารในไทยถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรอย่างหนักเสีย

ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลและกองทัพไทยสิ้นสมรรถภาพทางการทหารในการต่อต้านการโจมตีทางอากาศเพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนไทยมากไปกว่าการเปิดเพลงผ่านวิทยุกรมโฆษณาการเพื่อปลุกใจและปลอบขวัญให้คนไทย

เครื่องบินทิ้งระเบิด บี 29 รุ่นที่บินเข้ามาทิ้งระเบิดพระนคร และวงดนตรีกรมโฆษณการ

ความเป็นความตายในยามสงคราม

ในช่วงปลายสงคราม เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรโจตีพระนครอย่างหนัก ชาวปากคลองตลาดคนหนึ่งบันทึกว่า เมื่อเสียงหวอเตือนภัยดังขึ้น ชาวบ้านละแวกนั้นรีบวิ่งออกจากบ้านเข้าวัดโพธิ์ พวกเขาหวัง “เอาพระเป็นที่พึ่ง ไม่กลัวผีที่คอยหลอกคนขี่สามล้อ เวลาหวอมาคนเราไม่กลัวผี แต่กลัวความตาย ที่จะทำให้เรากลายเป็นผีนั่นเอง” (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 92)

ในช่วงเวลานั้น ชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระนครประหนึ่งแขวนอยู่บนเส้นด้าย

คนไทยแถบสถานีรถไฟบางกอกน้อยอันเป็นจุดยุทธศาสตร์เล่าว่า ในช่วงนั้น รัฐบาลประกาศให้ชาวบ้านพรางไฟ ด้วยใช้ผ้าสีดำหรือสีกรมท่าทำเป็นกรวยครอบหลอดไฟไว้ป้องกันมิให้เครื่องบินสัมพันธมิตรเห็นในการโจมตีทางอากาศ แม้แต่การเผาศพก็ให้เผาในเวลากลางวันแทน

ในช่วงต้นสงคราม คนไทยทั่วไปยังคงทำงานได้ปกติ แต่อันตรายจากระเบิดเกิดมากในช่วงปลายสงคราม เนื่องจากพระนครถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีถี่ขึ้น ผู้คนอพยพไปนอกเมือง แต่มีความเป็นห่วงบ้านยังต้องแวะกลับมาบ้านตรวจความปลอดภัยอยู่เสมอ (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 265)

แม้นผู้ใหญ่ในครั้งนั้นจะหวาดกลัวความสูญเสียทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สินและชีวิตจากการทิ้งระเบิด แต่เด็กๆ ครั้งนั้นกลับเห็นเป็นเรื่องสนุกสนาน ดังวราห์ ชาวบางไส้ไก่ ฝั่งธนบุรีเล่าว่า สมัยวัยเด็กช่วงสงครามนั้น “การวิ่งดูเครื่องบินทิ้งระเบิดตามประสาเด็ก ค่อนข้างสนุกกับเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นการดูอย่างระมัดระวังตลอดเวลา เพราะไม่รู้ภัยจะมาถึงตัวเมื่อไร ที่หวาดเสียวเห็นจะเป็นตอนที่เครื่องบินบินผ่านตัวไป กลัวระเบิดตกลงมา หรือไม่ก็ถูกกราดยิงด้วยปืนกล…” (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

การโจมตีทางอากาศครั้งนั้นจะใช้การทิ้งระเบิดและยังยิงปืนกลลงมาทำลายบ้านเรือนและทหารญี่ปุ่น ฝูงบินมักจะเข้ามาโจมตีในคืนเดือนหงายเพื่ออาศัยแสงจันทร์นำทาง แต่เมื่อปลายสงคราม มีโจมตีแม้ในคืนเดือนมืดด้วยการใช้พลุส่องสว่างให้แสงแทน รวมทั้งการโหมโจมตีในยามกลางวันอีกด้วย (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 271-272)

ภายใต้สิ่งโชคชะตาและความตายของประชาชนที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้รัฐบาลในครั้งนั้นพยายามปลุกขวัญกำลังใจและปลอบใจให้ประชาชนคลายความหวาดกลัวด้วยการกระจายเสียงเพลงปลุกใจที่มุ่งสร้างความรู้สึกปลุกเร้าจิตสำนึกให้รักชาติ รักษาความสามัคคีและมีความเสียสละให้ชาติผ่านวิทยุของกรมโฆษณาการให้จิตใจประชาชนฮึกเหิมไม่หวาดหวั่นอยู่ตลอดเวลา

เครื่องบินทิ้งระเบิด บี 29 รุ่นที่บินเข้ามาทิ้งระเบิดพระนคร และวงดนตรีกรมโฆษณการ

บทเพลงปลุกปลอบขวัญ

ในช่วงสงคราม รัฐบาลได้เผยแพร่เพลงปลุกใจให้ประชาชนรักชาติและมีความสามัคคีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ เช่น เพลง ตื่นเถิดชาวไทย รักเมืองไทย แหลมทอง และต้นตระกูลไทย

แต่มีเพลงอยู่สองเพลงที่ถูกใช้ในการปลุกปลอบขวัญในช่วงปลายสงครามยามที่สัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศ การใช้เพลงในการปลอบขวัญในช่วงเวลานั้นยังอยู่ในความทรงจำของคนร่วมสมัยในครั้งนั้น คือเพลง “พุทธคุณคุ้มไทย” และเพลง “รักชาติยิ่งชีพ”

ช่วงปลายสงคราม วิทยุกรมโฆษณาการนิยมเปิดเพลงพุทธคุณปกป้องให้ประชาชนฟัง (โกวิทย์ ตั้งตรงจิตร, 2556, 148) โดยหมอเสนอ อินทรสุขศรี ครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ศิริราชในช่วงสงครามเล่าว่า ในช่วงนั้น ชาวบ้านสังเกตกันว่า เมื่อไรวิทยุกรมโฆษณาการเปิดเพลงพุทธคุณคุ้มไทยของหลวงวิจิตรวาทการ เขาสังเกตว่า “พอเพลงนี้เริ่มขึ้นทีไร เพลงจบได้สักพักเท่านั้นแหละ หวอดังขึ้นมาทันที แล้วชั่วอึดใจ เสียงหึ่ง หึ่งของเครื่องบินข้าศึกก็ได้ยินเหมือนว่ามาอยู่เหนือหัวเราแล้ว” (เสนอ อินทรสุขศรี, 2548, 81)

อย่างไรก็ตาม ใหญ่ นภายน นักดนตรีกรมโฆษณาการเล่าว่า ในระหว่างที่พระนครถูกทิ้งระเบิด ผู้คนในพระนครต่างหวาดกลัวกันมาก พอได้ยินเสียงหวอเท่านั้น วิ่งกันหน้าตื่นหกล้มหกลุก ตะเกียกตะกายหาที่หลบภัยกัน ลงท้องร่องสวนบ้าง มุดเข้าหลุมที่ขุดไว้กันบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อระเบิด

ในช่วงนั้น กรมโฆษณาการครั้งนั้นนำเพลง “รักชาติยิ่งชีพ” มาเปิดกระจายเสียงก่อนที่เครื่องบินจะมาทิ้งระเบิด เป็นการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า รู้ว่าเมื่อใดเพลงรักชาติยิ่งชีพดังขึ้น ประชาชนต้องรีบเข้าหาที่กำบังหรือหลุมหลบภัยทันที

ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตียุทธศาสตร์ทางการทหาร เครดิตภาพ : NARA

สําหรับประวัติเพลงรักชาติยิ่งชีพนี้ เป็นผลงานของหลวงรณสิทธิ์พิชัยแต่งเนื้อร้อง ส่วนทำนองแต่งโดยเอื้อ สุนทรสนาน มีเนื้อเพลงว่า “เกิดเป็นไทย เป็นไทยดังนาม เพียบด้วยความรักชาติยิ่ง ทั้งใจทั้งกายทุกสิ่ง ยิ่งวาจาจริงทุกสิ่งไป ชาติที่รักของเรา เราควรเทิดไว้บูชา มีคุณล้นเหลือล้ำค่า สุดจะพรรณนานับได้ เราเป็นไทย ต้องใจมีความรักชาติ เราต้องพลีชีวาตม์ สละให้ชาติด้วยความหวังดี มาเผ่าพงศ์วงศ์วานของไทย เรารวมใจดำรงคงชาติด้วยดี รักชาติเรานี้ยิ่งชีพ” ในครั้งนั้น เมื่อคนไทยได้ยินเพลงนี้จากวิทยุเมื่อไร ต่างต้องหาที่หลบภัยโดยเร็ว

และภายหลังที่การทิ้งระเบิดผ่านพ้นไปแล้ว กรมโฆษณาการจะเปิดเพลง “พุทธคุณคุ้มไทย” ซึ่งมีเนื้อหาขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองชาวไทยและชาติไทยให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป (mgronline.com/columnist/detail/9480000146326)

ทั้งนี้ เพลงพุทธคุณคุ้มไทยมีเนื้อดังนี้ “ขอพุทธคุณปกป้องคุ้มครองไทย เป็นที่ดำรง เป็นแหล่งพระธรรมและพระวินัย ให้อยู่ยืนยงแผ่ไพศาลไปทุกแดนแผ่นดิน ขอปวงสิ่งเรืองฤทธิ์มาช่วยประสิทธิ์ให้ไทยเถกิง ขอให้ไทยโชติช่วงดังดวงเพลิงอยู่ชั่วฟ้าดิน เกียรติไทยเกริกก้องเหมือนกลองเภรินทุกทิศทุกทาง”

ความเสียหายของบ้านเรือนประชาชน เมื่อ 19 มกราคม 2487

พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เล่าว่า ในช่วงปลายสงคราม กองทัพอเมริกันตั้งกองบัญชาการต่อต้านญี่ปุ่นที่เมืองแคนดี้ ศรีลังกา ฝ่ายสัมพันธมิตรจะส่งเครื่องบินเข้าโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในไทย บางครั้งในช่วงแรก ฝูงบินทิ้งระเบิดบินมาจากฮาวายมุ่งไปอินเดีย จึงถือโอกาสทิ้งระเบิดในไทยด้วย แต่เป้าหมายในครั้งแรกๆ นั้นมีความสะเปะสะปะมาก ต่อมาเมื่อเกิดความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศอเมริกันภาคตะวันออกกับสำนักบริการยุทธศาสตร์ (O.S.S) แล้ว เป้าหมายการทิ้งระเบิดมีความแม่นยำขึ้น

ทวีเล่าต่ออีกว่า ครั้งหนึ่ง เขาปฏิบัติการทิ้งระเบิดลงอู่บางกอกด๊อดริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นอู่ซ่อมเรือขนาดใหญ่ที่ญี่ปุ่นครอบครองในไทย เครื่องบินทิ้งระเบิดจะบินลดระดับลงต่ำถึงขนาดเห็นคนไทยยืนดูแถวถนนเจริญกรุง โบกมือโบกผ้าเช็ดหน้าให้กับพวกนักบินสัมพันธมิตร (ทวี จุลละทรัพย์, 190-191)

เมื่อครั้งสงคราม ครั้นรัฐบาลตรวจพบการเข้ามาโจมตีทางอากาศของสัมพันธมิตรแล้ว รัฐบาลพยายามส่งสัญาณเตือนภัยให้ประชาชนเตรียมหาที่หลบให้ปลอดภัยด้วยการใช้เพลงผ่านวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการเพื่อปลุกใจและปลอบขวัญคนไทยเตรียมรับมือภัยจากสถานการณ์อย่างมีสติอันยังคงอยู่ในร่องรอยของความทรงจำของคนในครั้งนั้นที่ทำให้คนในครั้งนี้เข้าใจถึงความทุกข์ยากของปู่ย่าตาทวดของเราในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี

เสนอ อินทรสุขศรี และภาพความเสียหายของพระนครจากระเบิด เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2487
กรมโฆษณาการรับบทบาทในการกระจายเสียงปลุกปลอบขวัญในช่วงสงคราม
หลวงวิจิตรวาทการและหลวงรณสิทธิพิชัย