ข้อเสนอถึงรัฐบาลไทย! ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมา

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ข้อเสนอถึงรัฐบาลไทย!

ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมา

 

“การต่อสู้ทางการเมืองในแต่ละประเทศมีผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่างในการยุติสงคราม”

Fred Charles Ikle

Every War Must End (1971)

 

สถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมาดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะนับจากการรุกใหญ่ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 (ยุทธการ 1027)

และยิ่งจากหลังปีใหม่แล้ว ฐานที่ตั้งของกองทัพฝ่ายรัฐบาลทหารถูกตีแตกหลายจุด พร้อมกันนี้หลายเมืองที่เคยอยู่ในความควบคุมของฝ่ายรัฐบาลก็ตกอยู่ในมือของฝ่ายต่อต้านฯ ประกอบกับฝ่ายต่อต้านก็เปิดการรุกทางทหารอย่างต่อเนื่อง จนเห็นถึงการถดถอยทางทหารของฝ่ายรัฐบาล จนเป็นเสมือนกับการล้มลงของ “เมียนมาโดมิโน”

แต่สถานการณ์สงครามเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากเสมอ และไม่ชัดเจนว่าอาการ “เมียนมาโดมิโน” จะเดินไปถึงจุดสุดท้ายในรูปแบบใดหรือในเวลาใด แต่สิ่งที่อาจคาดคะเนได้อย่างแน่นอนเมื่อฤดูร้อนได้มาถึงอย่างเป็นทางการแล้ว เงื่อนไขของความแห้งแล้งของอากาศจะมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเปิดการรบใหญ่ ดังนั้น จึงเป็นไปได้อย่างมากว่า สงครามพร้อมที่จะยกระดับขึ้นในช่วงข้างหน้า

ในสภาวะของ “เมียนมาโดมิโน” เช่นที่กำลังเกิดขึ้นดังที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น สิ่งที่เกิดตามมาคือ การประกาศระดมพลด้วยการออกกฎหมายเกณฑ์ทหารใหม่

การประกาศเช่นนี้ย่อมถูกตีความได้ว่า เป็นสัญญาณถึงความขาดแคลนกำลังพลในกองทัพ แต่ในทางกลับกัน การทำเช่นนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนหนุ่มสาวพยายามที่จะหนีออกจากพม่ามายังประเทศไทยมากขึ้นด้วย

(ปัญหานี้อาจเทียบเคียงได้กับการประกาศการระดมพลของผู้นำรัสเซียในสงครามยูเครน ที่ทำให้คนหนุ่มสาวที่มีคุณภาพจำนวนมากตัดสินใจออกจากประเทศ)

 

ข้อพิจารณาถึงรัฐบาลไทย

ในภาวะเช่นนี้ หลายฝ่ายอยากเห็น “บทบาทเชิงบวก” ของรัฐบาลไทย ที่จะเข้ามาเป็นผู้ที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์สงครามให้ทุเลาลง หรือดีที่สุดในเชิงอุดมคติคือ ไทยจะช่วยผลักดันให้สงครามไปสู่จุดสุดท้าย ซึ่งในการดำเนินการเช่นนี้ มีประเด็นต่างๆ ที่อาจต้องนำมาเป็นข้อพิจารณาสำหรับรัฐบาลกรุงเทพฯ ดังนี้

1) รัฐบาลต้องยอมรับเป็นหลักการในเบื้องต้นว่า วิกฤตสงครามกลางเมืองเมียนครั้งนี้มามีผลกระทบใหญ่ต่อประเทศไทย ถ้าไม่ยอมรับหลักการนี้แล้ว ประเด็นที่เหลือทั้งหมดจะไม่มีนัยที่ต้องพิจารณา เพราะหากรัฐบาลยังเชื่อในแบบเดิมว่า สงครามกลางเมืองเมียนมาเป็นเรื่องปกติ และไทย “ไม่ควรตระหนก” กับปัญหา และอีกไม่นานปัญหาก็จะสงบไปเช่นสงครามในอดีต

2) ที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทย ทำให้ไทยหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น ไทยควรต้องเข้าไปมีบทบาท “เชิงบวกอย่างสร้างสรรค์” ในการแก้ไขปัญหา เพื่อเสริมสร้าง “เกียรติภูมิงานการทูตไทย” ที่ตกต่ำมานาน และจะเป็นโอกาสของการสร้าง “ภาพลักษณ์ใหม่” ของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลพลเรือนไทยที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยการสร้างนโยบายที่มีทิศทางเชิงบวก โดยไม่สนับสนุนรัฐบาลรัฐประหารอย่างชัดเจน จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยไม่ต้องตกเป็น “จำเลยร่วม” กับรัฐบาลทหารเมียนมาเช่นใน 3 ปีที่ผ่านมา

เพราะต้องยอมรับความจริงว่า หลังจากรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว รัฐบาลไทยกลายเป็น “หลังพิง” ที่สำคัญให้แก่รัฐบาลทหาร

3) รัฐบาลไทยควรใช้โอกาสนี้สร้างบทบาทเชิงบวกจากวิกฤตเมียนมา ด้วยการทำหน้าที่เป็น “peace broker” เพื่อเปิด “เวทีสันติภาพเมียนมา” (Myanmar Peace Forum) ที่กรุงเทพฯ และการสร้างเวทีสันติภาพนี้ต้องการความชัดเจนด้วยการกำหนดทิศทาง “ยุทธศาสตร์ไทย” ต่อการแก้ปัญหาเมียนมา

4) การดำเนินการเช่นนี้ รัฐบาลไทยจะต้องดำเนิน “การทูต 3 ขา” ที่ชักชวน 3 ตัวแสดงหลักในสงครามนี้คือ SAC (รัฐบาลทหารเมียนมา) NUG (รัฐบาลประชาธิปไตยพลัดถิ่น) EAOs (องค์กรติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย) ให้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ เช่นที่ไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วในกรณีเขมร 3 ฝ่ายในอดีต มิใช่การเริ่มต้นตั้งข้อกำหนดว่าการกระทำเช่นนั้นคือการแทรกแซงกิจการภายในของเพื่อนบ้าน แต่ต้องคิดว่าวันนี้เพื่อนบ้านมี “วิกฤตใหญ่” และจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือ เพื่อลดผลกระทบต่อไทย

5) รัฐบาลไทยควรเปิดการติดต่อกับทุกฝ่าย มากกว่าจะยึดโยงอยู่กับรัฐบาลทหารเท่านั้น หรือเชื่อแบบเดิมว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลทหารจะดำรงอยู่ตลอดไป หรือเชื่อในแบบที่หลายประเทศที่มองเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” ในอียิปต์ก่อนการล้มลงของรัฐบาลทหารว่า เป็น “รัฐบาลอำนาจนิยมที่คงทนถาวร” จนละเลยต่อการประเมินถึง “พลวัต” ทางการเมือง ที่คนในสังคมจำนวนมากในสังคมไม่ตอบรับรัฐบาลทหาร

 

6) ไทยต้องเลิกความเชื่อเก่าของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำให้เกิดชุดความคิดแบบ “ดอน-พรพิมล/ปานปรีดิ์-สีหศักดิ์” ว่า ไทยเป็นกลาง และความเป็นกลางเช่นนี้คือ การสนับสนุนรัฐบาลทหาร และไม่ยอมเปิดการติดต่อกับกลุ่มอื่นๆ เท่าที่ควร และเชื่อว่าการไม่ยึดติดกับรัฐบาลทหารคือ การละเมิดความเป็นกลาง

7) รัฐบาลไทยต้องลด “การทูตทหาร” ลง เช่น ยุติการเยือนพม่าในระดับของ ผบ.เหล่าทัพ เพราะทำให้เกิดความหวาดระแวงทางการทูตจากฝ่ายอื่นๆ และการเยือนเช่นนี้ไม่เป็นผลบวกต่องานการทูตไทย แต่ถ้าจะมีอยู่ อาจคงไว้ในระดับที่ไม่เกินเจ้ากรมฝ่ายอำนวยการ แต่ต้องเป็นการติดต่อในเรื่องปกติเพื่อไม่ให้ถูกใช้ในการสร้างภาพ เพราะรัฐบาลทหารเมียนมาต้องการภาพการเยือนของผู้นำทหารไทย เพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ และใช้ “บลั๊ฟฟ์” ฝ่ายต่อต้านว่า กองทัพไทยเลือกอยู่กับฝ่ายรัฐประหารเท่านั้น

8) ในการสร้างเวทีสันติภาพเมียนมา รัฐบาลไทยต้องดึงรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 6 ประเทศหลักให้ร่วมรับรู้ และเป็นผู้ค้ำประกันสันติภาพที่จะเกิดในอนาคต คือสหรัฐ จีน สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย และหากสันติภาพเกิดเป็นจริงได้ รัฐมหาอำนาจเหล่านี้อาจต้องเข้ามาเป็น “ผู้ค้ำประกันสันติภาพ” ด้วย

9) รัฐบาลไทยต้องยอมรับเฉพาะหน้าว่าจีนและอินเดียเป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญ และอาจต้องมีการพูดคุยติดต่อสื่อสารกับ 2 ประเทศดังกล่าวมากขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพ หรืออย่างน้อยเพื่อให้เกิดการคลี่คลายของสถานการณ์สงคราม

10) การดำเนินการเช่นนี้ควรต้องอยู่ในกรอบของอาเซียน เพื่อผลักดัน “ฉันทามติ 5 ข้อ” และไทยควรใช้เวทีอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของลาวในฐานะประธานอาเซียนในการแก้ปัญหานี้ด้วย

อีกทั้งไทยต้องตระหนักเสมอว่าไทยต้องเดินไปกับอาเซียน และอาเซียนอาจต้องเป็น “ผู้ค้ำประกันสันติภาพ” ในฐานะองค์กรในภูมิภาค และต้องไม่ยึดติดกับ “หลักของการไม่แทรกแซงกิจการภายใน” เพราะอาเซียนควรมีบทบาทในการแก้ไข “วิกฤตการเมือง” ของชาติสมาชิกด้วย

 

11) ไทยและอาเซียนควรผลักดันปัญหาวิกฤตการณ์เมียนมาให้เข้าสู่วาระของสหประชาชาติ เพื่อให้สหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แม้หลายฝ่ายจะรู้สึกว่าสหประชาชาติติดกับดักอยู่กับสงครามใหญ่ของโลกปัจจุบันคือ สงครามยูเครน และสงครามกาซา

12) การให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดตั้ง “สถานีมนุษยธรรม” เป็นความจำเป็น แต่ต้องไม่ใช่การใช้ช่องทางนี้เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลทหารเมียนมา การทำเช่นนั้นจะทำให้ไทยตกเป็น “จำเลยร่วม” กับรัฐบาลทหารไปด้วย

13) รัฐบาลไทยควรต้องตระหนักว่าในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนี้ โดยหลักการสากลแล้ว จะไม่มอบให้เป็นภารกิจของฝ่ายทหาร แต่จะดำเนินการโดยฝ่ายพลเรือน เพื่อหลีกเลี่ยงความละเอียดอ่อนของปัญหาทางการเมืองในพื้นที่ความขัดแย้ง แต่ทหารจะเป็นผู้ให้ความคุ้มครองเพื่อให้ภารกิจนี้สำเร็จ

14) หากสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น และสำทับด้วยผลจากการออกกฎหมายเกณฑ์ทหารใหม่ รัฐบาลไทยควรต้องเตรียมรับการเป็น “โปแลนด์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เช่นที่โปแลนด์เป็นประเทศหน้าด่านของการรับผู้อพยพภัยจากสงครามยูเครน

15) ผลของการถดถอยของกองทัพเมียนมาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำลังทำให้เกิดสภาวะ “เมียนมาโดมิโน” ที่เกิดการพ่ายแพ้ทางทหารติดต่อกัน ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่า ภาวะนี้จะนำไปสู่จุดจบของระบอบทหารหรือไม่ แต่สงครามนับจากนี้ไปจะรุนแรงมากขึ้นภายใต้เงื่อนไขของอากาศคือ “สงครามฤดูแล้ง”

16) การรบใหญ่จะเกิดในฤดูแล้งนี้ ดังนั้น “Dry-season Offensive” ที่กำลังจะเกิดจะเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญต่ออนาคตของฝ่ายต่างๆ และหากสงครามขยายตัวย่อมจะกระทบกับแนวชายแดนไทย

17) เพื่อให้การดำเนินการของไทยมีเอกภาพ และไม่เกิดการแย่งชิงเอาหน้าของหน่วยราชการไทย รัฐบาลควรจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานไทย-เมียนมา” (The Thai-Myanmar Coordination Center) เพื่อควบคุมทิศทางและนโยบายของฝ่ายไทยเอง โดยเฉพาะจัดการการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ที่ไม่จำเป็นต้องควบคุมและ/หรือดำเนินการโดยทหารไทย

เพราะทำให้เกิดความหวาดระแวงจากปัญหาความใกล้ชิดของทหาร 2 ประเทศว่า ความช่วยเหลือนี้จะถูกส่งมอบให้แก่กลุ่มนิยมรัฐบาลทหารเท่านั้น

 

18) ผู้นำทหารควรต้องตระหนักว่า กองทัพไม่มีสิทธิ์ที่จะดำเนินนโยบายเมียนมาอย่างเป็นอิสระ กองทัพเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในนโยบายของรัฐ และไม่ใช่รัฐ เว้นแต่ปัญหานี้เกิดจากความอ่อนแอ และความไม่เข้าใจของรัฐมนตรีกลาโหม และผู้นำรัฐบาลในปัจจุบัน

19) ปัญหาทับซ้อนที่สำคัญในสงครามเมียนมาคือ แก๊งอาชญากรจีน หรือกลุ่ม “จีนเทา” รัฐบาลไทยควรต้องผลักดันให้เวทีสันติภาพมีวาระดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นช่องทางของการแก้ปัญหา มิเช่นนั้นในอนาคต ไทยจะเผชิญพื้นที่อาชญากรรมขนาดใหญ่อยู่ติดแนวชายแดนไทยจากแม่สอดถึงแม่ฮ่องสอน

20) ไทยและอาเซียนต้องร่วมกันผลักดันให้จีนแก้ “ปัญหาจีนเทา” อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้อาชญากรจีนใช้ภูมิภาคนี้ เป็นฐานของการก่ออาชญากรรมในระดับโลก มิใช่การปราบปรามเฉพาะกลุ่มจีนเทาที่ตอบรับต่อนโยบายของจีน

21) การทำเวทีสันติภาพไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความขัดแย้งและผลประโยชน์ของคู่ขัดแย้งที่แตกต่างกัน และยังมีผลประโยชน์ของรัฐภายนอกที่เกี่ยวข้องอีกด้วย การจัดตั้ง “ทีมพม่า” เพื่อช่วยรัฐบาลในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายต่อปัญหาเมียนมา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นในการเตรียมรับสถานการณ์ข้างหน้า

22) รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าการจัดทำเวทีสันติภาพอาจต้องใช้ระยะเวลา และเมียนมามีปัญหาภายในที่ยุ่งยากหลายเรื่องทับซ้อนกัน แต่การเริ่มต้นทำ “ความริเริ่มกรุงเทพฯ” (The Bangkok Initiative) อาจจะเป็นจุดตั้งต้นของการดึงทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การสร้าง “เวทีสันติภาพเมียนมา” ให้เกิดเป็นจริงได้

23) ในวันนี้ “ระบอบทหารที่คงทนถาวร” กำลังถูกท้าทายด้วย “พลวัตสงคราม” อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ดังนั้น จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลกรุงเทพฯ จะต้อง “คิดใหม่” ในปัญหาเมียนมาอย่างจริงจัง!