จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (13)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (13)

 

หลังยุคกุบไลข่าน

จนถึงการล่มสลาย (ต่อ)

กบฏอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่มีผู้นำชื่อ กวอจื่อซิง (มรณะ ค.ศ.1355) ขุนศึกเมืองเหาโจว ที่ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งหยังในมณฑลอันฮุย โดยใน ค.ศ.1352 หลังสิ้นหลิวฝูทงไปแล้วจูหยวนจังก็ไปขึ้นต่อกวอจื่อซิง

ในขณะนั้นเหาโจวกำลังถูกล้อมโดยทัพหยวนมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่นานต่อมาจูหยวนจังก็ได้รับความไว้วางใจจากกวอจื่อซิง จนกวอจื่อซิงให้ธิดาบุญธรรมของตนแต่งงานกับจูหยวนจัง และเมื่อกวอจื่อซิงสิ้นชีพไปใน ค.ศ.1355 จูหยวนจังจึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสืบแทน

ภายใต้การนำของจูหยวนจัง ทัพกบฏของเขาสามารถยึดพื้นที่ที่ปัจจุบันคือเมืองหนันจิงเอาไว้ได้ และใช้เมืองนี้เป็นฐานปฏิบัติการในการขยายพื้นที่ครอบครองออกไป

ในช่วงนี้จูหยวนจังได้บุคคลจำนวนหนึ่งมาเข้าร่วม ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ หลี่ซั่นฉัง (ค.ศ.1314-1390) และหลิวจี (ค.ศ.1311-1375) ซึ่งต่างมีภูมิหลังเป็นเจ้าที่ดินด้วยกันทั้งคู่

ทั้งสองไม่เพียงจะได้วางแผนให้จูหยวนจังโค่นล้มราชวงศ์หยวนเท่านั้น หากยังมองไปไกลถึงขั้นให้จูหยวนจังรวมจีนเป็นแผ่นดินเดียวกันอีกด้วย

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าให้จูหยวนจังก้าวขึ้นครองแผ่นดินจีนนั้นเอง

 

ทัพกบฏภายใต้การนำของจูหยวนจังได้บุกเข้ายึดพื้นที่ต่างๆ ทางภาคใต้ในขณะที่หยวนยังคงรักษาพื้นที่ทางภาคเหนือที่ครอบครองอยู่ก่อนแล้ว โดยใน ค.ศ.1363 ทัพของเขาสามารถปราบทัพของเฉินโหย่วเลี่ยงได้สำเร็จ ตัวของเฉินโหย่วเลี่ยงต้องธนูจนเสียชีวิต

อนึ่ง กรณีเฉินโหย่วเลี่ยงมีประเด็นที่พึงขยายความด้วยว่า หลังจากที่เขาฆ่าสีว์โซ่วฮุยแล้วตั้งตนเป็นผู้นำแทนแล้ว ทัพกบฏของเขาก็เติบใหญ่ขึ้นมา โดยศึกระหว่างเขากับจูหยวนจังเป็นศึกที่กระทำกันเหนือทะเลสาบผอหยังในมณฑลเจียงซี

ศึกนี้หากว่ากันโดยกำลังแล้วทัพของเฉินโหย่วเลี่ยงได้เปรียบมากกว่า แต่เหตุที่พ่ายแพ้ก็เพราะจูหยวนจังได้ใช้การยุทธแบบศึกผาแดงในยุคสามรัฐ ด้วยการเผาเรือของตนพุ่งเข้าชนแล้วเผาเรือของเฉินโหย่วเลี่ยงจนมอดไหม้เป็นจุณ และทำให้ศึกครั้งนี้ถูกเรียกขานว่า ศึกทะเลสาบผอหยัง (ผอหยังหูจือจั้น, battle of Lake Poyang)

ส่วนที่ว่าตัวเขาต้องธนูจนสิ้นชีพนั้น บันทึกระบุว่า ลูกธนูพุ่งเจาะเข้าที่กะโหลกของเขาจนทะลุ เรื่องราวของเฉินโหย่วเลี่ยงจึงถือเป็นกรณีศึกษาของ “ศาสตร์หน้าด้านใจดำ” ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม พอถึง ค.ศ.1367 จูหยวนจังก็มีชัยชนะเหนือกลุ่มกบฏของจังซื่อเฉิง เมื่อหมดคู่แข่งแล้ว จูหยวนจังก็กรีธาทัพมุ่งไปภาคเหนือเพื่อโคนล้มหยวน โดยใน ค.ศ.1368 ทัพกบฏของจูหยวนจังก็ยึดมณฑลซันตง เหอหนัน และเหอเป่ยเอาไว้ได้

จากนั้นก็บุกเข้ายึดเมืองหลวงต้าตูได้สำเร็จ

 

ในบันทึกของฝ่ายมองโกลได้กล่าวถึงการโค่นล้มหยวนไว้อย่างสนใจว่า ชาวจีนได้ปลอมตนเป็นกองเกวียนคาราวานชาวคาซัค โดยแจ้งแก่นายด่านกำแพงเมืองว่า ตนได้นำเครื่องบรรณาการมาถวายแด่ท่านข่าน

ครั้นผ่านเข้ามาได้ก็รีบขนเครื่องบรรณาการลงจากเกวียน เกวียนสามเล่มแรกเป็นหีบใส่เพชรนิลจินดา แต่เล่มถัดไปคือปืนใหญ่ โดยชาวจีนที่ปลอมเป็นชาวคาซัคได้จุดชนวนปืนใหญ่ขึ้น

เสียงปืนใหญ่ที่ดังลั่นก็คือสัญญาณแจ้งให้บรรดากองกำลังที่ซ่อนตัวอยู่ในเกวียนเล่มถัดๆ ไปลุกฮือออกจากที่ซ่อน จากนั้นก็บุกเข้าโจมตีวังหลวงฉับพลันทันที

จักรพรรดิที่ถูกปลุกด้วยเสียงปืนใหญ่ตั้งองค์ไม่ทัน ทรงหยิบได้ก็แต่ราชลัญจกรหยกซ่อนไว้ในแขนฉลองพระองค์คลุมยาว และทรงหนีไปได้อย่างหวุดหวิด จักรพรรดิองค์สุดท้ายของหยวนทรงหนีไปยังภาคเหนืออันเป็นถิ่นเดิมของชาวมองโกล

จากนั้นราชวงศ์หยวนจึงถึงกาลล่มสลาย โดยมีจักรพรรดิ 11 องค์ แต่หากรวมจักรพรรดิที่มีมาก่อนตั้งราชวงศ์หยวนอีกสามองค์ด้วยแล้วก็จะมีจักรพรรดิ 14 องค์

 

ระบบการปกครองของหยวน

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ราชวงศ์หยวนถือเป็นราชวงศ์ของชนชาติที่มิใช่จีนที่ปกครองจีนได้อย่างเบ็ดเสร็จและยาวนาน ผิดกับยุคก่อนหน้านี้ที่แม้จะมีชนชาติที่มิใช่จีนขึ้นมาปกครองจีนด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงชั่วเวลาสั้นๆ และมิใช่ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล

ยิ่งกล่าวเฉพาะพื้นที่การปกครองด้วยแล้ว นับว่าหยวนมีพื้นที่ที่ปกครองกว้างใหญ่ไพศาลมากกว่าราชวงศ์ใดของจีน ไม่ว่าจะทั้งก่อนหน้าและหลังจากนี้

แต่ด้วยเหตุที่หยวนเป็นราชวงศ์ของชนชาติที่มิใช่จีน ระบบการปกครองของหยวนในส่วนหนึ่งจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมของมองโกลอยู่ด้วย นั่นคือ พื้นฐานของสังคมทาส และเมื่อหยวนนำเอาระบบการปกครองและวัฒนธรรมบางด้านของจีนมาใช้

การปกครองของหยวนจึงมีระบบที่มีลักษณะเฉพาะไปด้วย

 

การปกครองส่วนกลาง

ก่อนที่ชาวมองโกลจะผงาดขึ้นมาปกครองจีนนั้น ชาวมองโกลมีประเพณีการปกครองที่งานศึกษานี้เคยกล่าวถึงไปบ้างแล้ว นั่นคือ คูริลไต (khuriltai) อันเป็นคำเรียกการประชุมเหล่าผู้นำชาวมองโกลเผ่าต่างๆ เพื่อพิจารณาปัญหาสำคัญและเลือกผู้นำสูงสุด

ในแง่นี้ คูริลไต จึงเป็นระบบการปกครองโดยชนชั้นสูง โดยเมื่อเจงกิสข่านก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดแล้ว บุคคลที่จะผ่านการเลือกให้เป็นข่านจะต้องเป็นสายเลือดโดยตรงของเจงกิสข่านเท่านั้น

ในขณะเดียวกันก็เปิดช่องทางให้ข่านเขียนพินัยกรรมหรือคำสั่งเสีย ว่าจะให้ผู้ใดเป็นข่านคนต่อไปได้ด้วย โดยบุคคลที่ปรากฏชื่อในพินัยกรรมหรือคำสั่งเสียจะถูกนำมาพิจารณาในที่ประชุม คูริลไต ซึ่งบางทีอาจมีข้อโต้แย้งหรือมีการใช้กำลังได้เช่นกัน

และเมื่อได้มาแล้วก็จะมีการเฉลิมฉลองให้แก่ข่านองค์ใหม่

แต่กล่าวโดยทั่วไปแล้วผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นข่านมักจะมีคุณสมบัติเป็นคนที่เข้มแข็ง มีใจจงรักภักดี เป็นผู้ที่มีความสามารถสูง และเมื่อได้มาแล้วข่านจะมีอำนาจที่เด็ดขาด คำสั่งอื่นใดที่ขัดกับคำสั่งของข่านหรือมีพฤติกรรมที่ต้องการทำลายข่านจะถูกควบคุม

อย่างไรก็ตาม แม้ข่านจะมีอำนาจสูงสุด แต่ข่านก็มิได้ใช้อำนาจนั้นตามลำพังเสมอไป สิ่งที่ข่านมักถือปฏิบัติก็คือ การนำประเด็นปัญหาที่สำคัญมาพิจารณาในที่ประชุม คูริลไต และเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ การทำสงคราม

เมื่อเป็นเช่นนี้ข่านจึงเป็นผู้เรียกประชุม การประชุมจึงไม่มีสมัยการประชุมที่แน่นอน