ประธานซีพีเอฟ แนะแนวทาง ‘นายกฯ’ ดึงบิ๊กบริษัทใหญ่ มาลงทุน ต้องมีเงื่อนไข ‘พิเศษ’

ผู้บริหารเครือมติชน มีโอกาสเข้าพบผู้บริหารของ บจม.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) นำโดย นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ซึ่งการพบปะดังกล่าว ได้รับฟังทัศนะข้อคิดเห็น และข้อมูล ด้านการลงทุนมากมายและในหลากหลายประเด็น

โดยเฉพาะการดึงต่างชาติมาลงทุนในประเทศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 21-24 มีนาคม ได้นำเสนอมุมมองของ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร CPF ต่อเรื่องดังกล่าวดังนี้

เศรษฐกิจไทยปีนี้ ดีที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ตัวนี้จะเป็นพระเอกชูโรง

แต่ที่สำคัญอีกด้าน คือการลงทุน

การที่จะดึงบริษัทใหญ่ๆ เข้ามาลงทุนในเมืองไทยนั้น นายกรัฐมนตรีต้องออกโรงเอง ต้องเจรจาเงื่อนไขที่ให้ประโยชน์กับนักลงทุน เพราะประเทศต่างๆ ในอาเซียน ผู้นำเขาก็มีการดึงการลงทุน อย่างสิงคโปร์ ทุกประเทศมีระเบียบเหมือนบีโอไอของไทย ซึ่งใครๆ ก็รู้หมดว่าบีโอไอมีเงื่อนไขเป็นอย่างไร

ดังนั้น ลึกๆ แล้ว บริษัทใหญ่ๆ ที่มา ต้องเจรจาให้เงื่อนไขพิเศษกับเขา ให้เฟเวอร์พิเศษ

ถ้าบริษัทใหญ่มาแล้ว เราไม่ให้เฟเวอร์เขา คู่แข่งของเราก็จะดึงเขาไป เราจะไปเอามาตรฐานกลางไม่ได้

สมัยนี้ บริษัทใหญ่กับบริษัทใหญ่ เวลาจะค้าขายกัน ซีอีโอกับซีอีโอต้องคุยกันเอง ถ้าให้เซลส์ธรรมดาหรือจัดซื้อไปขาย ก็จะไม่ได้

แม้กระทั่งเคเอฟซีพยายามเจรจาให้เราส่งไก่ให้กับสาขาต่างๆ ทั่วโลก การให้เซลส์มาบิดราคาหมดสมัย

ฉะนั้น ประเทศเราต้องกล้าให้เฟเวอร์เขา

 

ประธานซีพีเอฟเล่าว่า สมัยซีพีเอฟไปลงทุนเวียดนาม 30 ปีก่อน กฎเกณฑ์ไม่มี มีเรื่องค่าเช่าที่ดิน เวลาจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศนั้น เราคิดอย่างเดียวว่าประเทศนั้นเติบโตหรือไม่ จะสร้างโอกาสให้ธุรกิจเราหรือไม่

หากเขาเพิ่งจะเติบโต การเข้าไปลงทุนไม่ว่าทางถูกหรือทางผิดเราก็ชนะ เพราะคู่แข่งน้อย

แต่ถ้าเราเข้าไปประเทศที่เขาอิ่มตัวแล้ว อย่างอเมริกา หรือยุโรป ลงทุนไม่ได้ เพราะประเทศเขาอิ่มตัว หมายถึง ประชากรไม่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมก็อิ่มตัวแล้ว

หากเป็นอย่างนี้ เราไปแข่งก็เหนื่อย ต้องไปแข่งในที่อุตสาหกรรมยังโต 30 หรือ 50 ปี เพราะอย่างนี้ เท่ากับช่วยเราทางอ้อม เพราะคู่แข่งไม่ได้มาก และเราก็เริ่มโตไปพร้อมกับเขา

ยกตัวอย่าง วันนี้ มีสงครามใน 2 ประเทศ ที่เราไปลงทุนคือ เมียนมา และรัสเซีย

เมียนมา ทาง CPG (CP Group) ลงทุน ส่วนรัสเซีย ทางซีพีเอฟไปลงทุน

คนคงมองว่า ผู้ที่เข้าไปทำธุรกิจคงปวดหัว หรือยุ่งยาก แต่ตรงกันข้าม เพราะในเมียนมา ธุรกิจยังดำเนินไปได้ปกติ และกำไรดีด้วย

ส่วนรัสเซียกำไรดีกว่าปกติ และรัฐบาลรัสเซียยิ่งให้ความสำคัญกับนักลงทุน

เช่น ปกติหากบริษัทกู้เงินเสียดอกเบี้ย 14-15% แต่ช่วงเกิดสงคราม รัสเซียคิดดอกเบี้ย 3-4% รัฐบาลเขาช่วยสนับสนุนให้ เพราะเขาไม่อยากให้เราถอนตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราทำธุรกิจอาหารยิ่งมีความสำคัญ เท่ากับว่าช่วยเรื่องความมั่นคงด้านอาหารในประเทศเขาด้วย

หรือเมื่อครั้งประเทศเขาต้องการคนไปเป็นทหาร แต่บริษัทเรามีการจ้างคนพันกว่าคน ก็มีการขอร้องว่าบริษัทต้องการแรงงาน เพราะคนที่ช่วยผลิตอาหาร ก็ช่วยประเทศเหมือนกัน

จึงทำให้ธุรกิจเรากำไรได้ดีกว่าปกติทั้งสองแห่ง มองจากสายตาคนนอก น่าจะลำบาก แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น

อีกด้านหนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินของประเทศรัสเซีย อ่อนค่าจาก 70 รูเบิล เป็น 90 รูเบิล ค่าเงินแบบนี้เราไม่ได้เสียหายเพราะเรากู้เงินในประเทศเขา 100% เพื่อขายในประเทศเป็นเงินรูเบิล ตอนนี้เมื่อคิดเทียบจากรูเบิลเป็นดอลลาร์แล้ว หนี้เราน้อยลง นี่เป็นเทคนิค แต่หากบริษัทเอาเงินดอลลาร์ไปลงทุนแต่ต้น หากเจอค่าเงินอ่อน

ค่าเสียหายคงมหาศาล

 

นายอดิเรกกล่าวอีกว่า การส่งเสริมการลงทุนในแต่ละประเทศมีเทคนิคไม่เหมือนกัน อย่างในประเทศไทยก็จะกังวลว่า รัฐบาลจะช่วยแต่บริษัทใหญ่ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า บริษัทใหญ่มีการจ้างงานจำนวนมาก

อย่างเครือซีพี มีการจ้างงาน 4 แสนกว่าคน คิดง่ายๆ ว่าหากเขาไปดูแลคนในครอบครัวอีก 3-4 คน เท่ากับเป็นการช่วยดูแลคน 1.2 ล้านคน

ซึ่งคน 1.2 ล้านคนนี้ ต้องมีบริษัทมาจ่ายเงินเดือน และต้องนำมาจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขณะที่บริษัทต้องเสียแวต เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งภาษีทั้งหมด รัฐบาลจะต้องนำไปพัฒนาประเทศ หรือไปช่วยคนจน

ฉะนั้น ผมคิดว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนธุรกิจเอกชนให้ใหญ่ และไปแข่งขันกับทั่วโลกได้

อย่างซีพีเอฟ มียอดขาย 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นขายในประเทศแค่ 30% โดยมีการส่งออกจากประเทศไทย 5% แล้วเงินที่เราไปลงทุนในต่างประเทศ 60-70% นำกลับมาเข้าบริษัทในประเทศไทย มาโชว์กำไรก็ต้องมาเสียภาษีให้รัฐบาล คำถามคือ ถ้าบริษัทเล็กๆ ใครจะไปลงทุนในต่างประเทศ เหมือนกับแอปเปิลที่ขายไปทั่วโลก เฟซบุ๊กหรือเมตา คนใช้ 5,000-6,000 ล้านคนทั่วโลก บริษัทใหญ่ขนาด 2-3 ล้านล้าน รัฐบาลก็ยังหนุนเต็มที่ ให้เอกชนเขาไปครอบครองตลาดทั่วโลก

“ผมว่ารัฐบาลก็มีหัวธุรกิจ เพราะทั้งคุณทักษิณ ชินวัตร และท่านเศรษฐา ทวีสิน ก็เป็นนักธุรกิจ ผมยังเชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นโพซิทีฟกับธุรกิจมาก” นายอดิเรกกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ประธานซีพีเอฟเตือนว่า เศรษฐกิจสัมพันธ์กับกำลังซื้อ อย่างในจีน ปัญหากำลังซื้อในจีนตกค่อนข้างหนัก อสังหาริมทรัพย์ขายไม่ได้จำนวนมาก ภาพของการจับจ่ายยังไม่คึกคัก เดินทางไปจีน 2 เดือนก่อน สนามบินคนเงียบมาก ประมาณคร่าวๆ น่าจะมีคนใช้เพียง 10-20% มองว่ากำลังซื้อยังถดถอย การใช้เงินคนยังระวังตัว ทุกคนประหยัด

ปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ในจีนซบเซา ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีในการดูแล

คนกินกำลังซื้อลดลง

ราคาหมูและราคาไก่ไม่ดี