ก้าวข้ามวิกฤต แบบเอ็กซิสเตนเชียลลิสซึ่ม

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

คุณเคยรู้สึกซังกะตาย หมดพลังในการใช้ชีวิต ล่องลอย เซื่องซึม เคว้งคว้าง ว่างเปล่า ว้าเหว่ เพราะว่าไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไมบ้างหรือเปล่า

ถ้าเคยมี ความรู้สึกนี้อยู่กับคุณนานแค่ไหน 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน 1 ปี หรือต่อเนื่องหลายปีแบบไม่มีวี่แววว่าจะหาย

ถ้าหากว่ามีนานเกิน 1 เดือนคุณแก้ปัญหาอย่างไร อาการนี้ทุเลาเบาบางลงเองหรือไม่ มันเลยเถิดไปจนถึงขั้นที่คิดจะจบชีวิตตัวเองหรือเปล่า

อาการที่กล่าวมานี้อาจมาจากทางกายหรือเป็นสภาวะจิตใจที่เหตุมาจากความผิดปกติทางกาย ไม่ว่าจะเป็นเคมีในสมองหรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการทางการแพทย์

ซึ่งในกรณีแบบนี้ความคิดจิตใจของคนผู้นั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การทำงานของกลไกบางอย่างในร่างกายได้ส่งผลกระทบไปสู่ภาวะทางจิตใจในที่สุด เมื่อต้นตอมาจากร่างกาย การแก้ที่ต้นเหตุจึงได้ผล

แต่อีกประเภทหนึ่งมาจากความคิดจิตใจ ไม่ได้มีต้นตอมาจากความผิดปกติของร่างกาย ทว่า เป็นผลพวงจากการใคร่ครวญด้วยเหตุผลแล้วไม่พบ “ความหมายของชีวิต” (meaning of life) การที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ตระหนักว่า “ชีวิตไม่ได้มีความหมายอะไร” (meaningless) ไม่ว่าจะอยู่หรือตายก็มีค่าไม่ต่างกัน ทำให้เคว้งคว้างว่างเปล่าหมดพลังในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อดำเนินชีวิตต่อ

ในทางปรัชญาเรียกภาวะนี้ว่า “วิกฤตการดำรงอยู่” (Existential Crisis) ซึ่งต่อมาได้ขยายเข้ามาสู่แวดวงจิตวิทยาอันนำไปสู่ขั้นตอนการรักษาเยียวยาในอีกทิศทางหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีวิธีรับมือสภาวะนี้จากทางจิตวิทยาแล้วก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่าที่มาของปัญหาในประเภทหลังนั้นมาจากเรื่อง “ความคิด”

เพราะการที่ไม่สามารถตอบคำถามหรือสร้างความกระจ่างให้กับปัญหานี้ก็ย่อมทำให้คนผู้นั้นขาดเป้าหมายชีวิตที่หนักแน่นไปด้วย จึงทำให้เขาจำต้องใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบหมดอาลัยตายอยาก บั่นทอนสุขภาพกายและจิตใจของทั้งตัวเองและคนรอบข้าง

ดังนั้น หากจะรับมือกับปัญหานี้อย่างยั่งยืนจริงๆ ก็จำเป็นต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ชีวิตมีความหมายหรือไม่” และไม่ว่าจะมีหรือไม่มี เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่นี้ต่อไปอย่างไรและเพื่ออะไร

นักปรัชญาที่เสนอความคิดในเรื่องนี้มีจำนวนไม่น้อยและให้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “อัตถิภาวนิยม” ซึ่งบ่อยครั้งก็เรียกทับศัพท์ไปเลยว่า “เอ็กซิสเตนเชียลลิสซึ่ม” (Existentialism)

บิดาของสายความคิดนี้หากนับตามลำดับทางประวัติศาสตร์ก็คือ “โซเรน เกียร์เกการ์ด” (S?ren Kierkegaard) นักปรัชญาชาวเดนมาร์ก ส่วนในยุคถัดๆ มาก็มีนักปรัชญาในสายสกุลความคิดนี้อีกเป็นจำนวนมาก เช่น มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) นักปรัชญาชาวเยอรมัน และ ฌอง ปอล ซาตร์ (Jean-Paul Sartre) กับ อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) ชาวฝรั่งเศส เป็นต้น

นักปรัชญาบางคนในกลุ่มนี้แม้จะอยู่ในสายสกุลความคิดเดียวกันแต่ก็ให้คำตอบที่แตกต่างกันไปสุดขั้ว

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเกียร์เกการ์ดที่เชื่อว่ามนุษย์จำเป็นต้องหลุดพ้นจากความสิ้นหวังด้วยการทำให้ชีวิตมีความหมายเพื่อยึดโยงตัวเองเข้ากับสิ่งที่สูงส่งและถาวรกว่า

โดยมีพัฒนาการสามขั้นได้แก่

(1) ขั้นสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic) มนุษย์จะอุทิศตนไปสู่การสร้างสรรค์หรือเสพรับคุณค่าทางศิลปะต่างๆ ซึ่งมีความยืนยงกว่าชีวิตมนุษย์

(2) ขั้นจริยธรรม (Ethical) มนุษย์จะพัฒนาชีวิตตนเองในด้านความถูกผิดดีชั่วทางศีลธรรมและความรับผิดชอบซึ่งมีคุณค่ายืนยงกว่าศิลปะ

และ (3) ขั้นศาสนา (Religious) อันเป็นขั้นสูงสุดซึ่งมนุษย์จะปวารณาตัวเองเข้ากับศรัทธาทางศาสนา

ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดเกียร์เกการ์ดอุทิศตนไปสู่การเป็นคริสเตียนตามแนวคิดที่เรียกว่า “การก้าวกระโดดแห่งศรัทธา” (Leap of Faith)

 

ในขณะที่นักปรัชญาเอ็กซิสเตนเชียลลิสซึ่มอีกหลายคนมีความคิดที่ต่างไปจากเกียร์เกการ์ด ไม่ว่าจะเป็นไฮเดกเกอร์ที่ไม่ได้มุ่งไปสู่ทิศทางของศาสนาแต่ให้การสนับสนุนนาซีเยอรมันจนกลายเป็นตราบาปที่ติดตัวไปตลอด

ส่วนซาตร์กับกามูส์ก็เป็นพวก “อเทวนิยม” (atheist) คือปฏิเสธพระเจ้าและใช้วิธีสร้างความหมายให้กับชีวิตโดยไม่ต้องอิงกับความเชื่อทางศาสนา

โดยมองว่า “ชีวิตที่มีความหมาย” (meaningful life) สามารถสร้างได้ผ่าน “การเลือก” (choosing) คือเลือกกระทำสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลาว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร และทำสิ่งเหล่านั้นอย่างไร

การที่แต่ละคนเลือกไม่เหมือนกันนี้ได้วาดตัวตนของแต่ละคนออกมาทำให้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

การเลือกนั้นต้องเลือกอย่างเป็นตัวของตัวเองตามความคิดความเชื่อที่แท้จริงของตน ไม่ใช่เลือกไปตามบทบาทหน้าที่ซึ่งสังคมกำหนด หรือความคิด ความเชื่อ ค่านิยมของคนอื่น ลองจินตนาการดูว่าหากสังคมมีความเชื่อหรือค่านิยมร่วมกันเป็นจำนวนมากแล้วค่านิยมนี้ขัดแย้งกับตัวตนที่แท้จริงของเรา เราจะยอมปล่อยตัวให้ไหลไปตามสังคมหรือจะฝืนต้านเพื่อเป็นตัวของตัวเอง

หากยอมตามกระแสสังคมโดยที่แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ปรารถนาเช่นนั้น ก็เท่ากับสูญเสียตัวตน แล้วไปขึ้นกับความคิดของคนอื่น เอ็กซิสเตนเชียลลิสซึ่มเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “ความไม่จริงแท้” (inauthenticity)

แต่หากตรงกันข้าม คือเป็นตัวของตัวเองแล้วตัดสินใจตามความคิดของเราจะเรียกว่า “ความจริงแท้” (authenticity) อย่างหลังนี่เองที่ชีวิตเป็นของเราจริงๆ และทำให้ชีวิตมีความหมาย

 

ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง “Billy Elliot” คงจะเข้าใจความคิดนี้ได้ไม่ยาก

ตัวเอกของเรื่องชื่อบิลลี่ เอลเลียต เป็นเด็กผู้ชายในครอบครัวคนงานเหมืองถ่านหิน พ่อของบิลลี่ส่งเขาไปฝึกมวยตามค่านิยมของสังคมว่าผู้ชายควรมีบุคลิกและรสนิยมเป็นอย่างไร

ในขณะที่เขาไม่ได้ชอบเล่นกีฬาเลย แต่กลับหลงใหลในการเต้นบัลเล่ต์ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สังคมมองว่าเป็นเรื่องของเด็กผู้หญิง

การที่ตัวตนที่แท้จริงของบิลลี่สวนทางกับค่านิยมของสังคมทำให้เขาต้องตัดสินใจเลือกว่าจะยอมทำตามค่านิยมเหล่านั้น หรือจะฝืนต้านเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ

ท้ายที่สุดบิลลี่ก็เลือกที่จะเอาดีทางการเต้นบัลเล่ต์ แม้มีราคาที่ต้องจ่ายจากการเลือกทำในสิ่งที่ครอบครัวและสังคมไม่สนับสนุนก็ตาม

ลักษณะของการตัดสินใจเลือกตามสิ่งที่เป็นตัวเองจริงๆ ก็คือความจริงแท้

ปรัชญาเอ็กซิสเตนเชียลลิสซึ่มให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่อง “เสรีภาพ” (freedom) ซึ่งตามมาด้วย “ความรับผิดชอบ” (responsibility) ซาตร์กล่าวว่า “มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ” (Man is condemned to be free) คือไม่ว่าจะอยากมีเสรีภาพหรือไม่ ทุกคนก็ล้วนแล้วแต่มีเสรีภาพติดตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบทุกอย่างออกจากตัวได้ เพราะไม่ว่าจะมีอำนาจหรือสิ่งอื่นใดที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตมากเพียงใด แต่ทุกคนก็มีทางเลือกเสมอว่าจะตอบสนองและตัดสินใจทำอย่างไรต่อไปไม่ว่าจะยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม

ด้วยปรัชญาเช่นนี้เองที่ทำให้มนุษย์สามารถวาดตัวตนขึ้นมาได้จาก “ความว่างเปล่า” (nothingness) และทำให้ชีวิตที่ดู “ไร้แก่นสารสาระ” (absurd) กลายเป็นชีวิตที่มีความหมายขึ้นมาได้ และควรค่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป