‘ลำพัง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ในป่านั้น ช่วงเวลาซึ่งเรียกว่าฤดูแล้งนั้นยาวนาน กับสัตว์ป่า พวกมันมีแค่สองฤดูกาล คือ ช่วงเวลาแห่งฝน และเวลาของความแห้งแล้ง ความเขียวชอุ่มในป่าผลัดใบ เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ

หลังจากสายฝนเริ่มจากไป ราวๆ สิ้นเดือนตุลาคม สายลมหนาวเดินทางมาถึง นั่นคือการมาของฤดูแล้ง สภาพอากาศตอนเช้าตรู่ และตอนกลางคืน เย็นยะเยือก ใบไม้แห้งกรอบ เปลี่ยนสีใบ เข้าสู่กระบวนการลดการใช้น้ำสารคลอโรฟิลล์ โมเลกุลเขียวๆ ในใบไม้หยุดทำงาน ถูกดึงเข้าไปเก็บไว้ในลำต้น คงเหลือเพียงสารที่เรียกว่า คาโรทีนอยด์ อันมีหลากสี ตั้งแต่แดง เหลือง แสด ชมพู และม่วง

สายลมกระโชกแรง ใบไม้สีสวยงามอยู่บนกิ่งก้านไม่นานก็ร่วงหล่นลงพื้น

 

นํ้าในลำห้วยลดระดับลงอีก สันทรายโผล่ บางช่วงแปรสภาพเป็นเกาะ หาดทรายขยายกว้าง ลำห้วยสายเล็กๆ แห้งเหือด เหลือน้ำเพียงในลำห้วยสายหลักที่สายน้ำไหลเอื่อยๆ ใสแจ๋ว มองเห็นกรวดทรายชัด

ในเวลาบ่าย ไอแดดสะท้อนผืนทรายระยิบ กวาง, เก้ง มักพาลูกน้อยมากินน้ำ

บ่ายคล้อยสักหน่อยก็จะเป็นเวลาของช้างที่มีลูกเล็กเช่นกัน ช้างตัวโตๆ นอนคลุกฝุ่นข้างลำห้วย ใช้งวงดูดฝุ่นขึ้นมาพ่นลำตัวก่อนลงมาแช่น้ำ เจ้าตัวเล็กจะอยู่ในวงล้อม แต่ด้วยความซน จึงมักหันไปทางโน้นทางนี้ และหาทางออกมาอยู่นอกวงล้อม ทำให้ช้างตัวทำหน้าที่พี่เลี้ยงต้องดึงตัวกลับเข้าไป

กลางคืน น้ำค้างหยดลงพื้นดังเปาะแปะ อุณหภูมิลดต่ำเพราะเป็นเวลาที่ซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตรเอนเอียงออกห่างจากดวงอาทิตย์

นี่เป็นเวลาที่แหล่งอาหารอย่างโป่งน้ำซับคึกคัก

กระทิง วัวแดง รวมฝูงมุ่งหน้า หญ้าในโป่งโดนเหยียบย่ำกระทั่งราบเรียบ

อากาศเย็นยะเยือก สำหรับบางชีวิต เรียกได้ว่านี่เป็นฤดูกาลแห่งความรัก

 

เป็นเวลาที่เหล่าสัตว์ตัวผู้ซึ่งต้องแยกออกไปใช้ชีวิตลำพังเริ่มเข้ามาวนเวียน เข้ามาใกล้ฝูง ขณะตัวเมียหลายตัวส่งกลิ่นให้รู้ว่า เธอพร้อมรับความสัมพันธ์

แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ตัวผู้ทุกตัวจะสมหวัง หรือได้รับการยอมรับ

หน้าที่สำคัญของตัวเมียอย่างหนึ่ง คือ ต้องเลือกผู้ที่จะมาเป็นพ่อของลูกอย่างพิถีพิถัน ต้องเหมาะสม แข็งแรงที่สุด

การอวดความสวยงามแข็งแรงให้ตัวเมียยอมรับ รวมทั้งบางครั้งต้องใช้กำลังต่อสู้ ก็เป็นเรื่องอันเลี่ยงไม่พ้น

สัตว์ตัวเมียส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดมาเพื่อถูกครอบครอง นอกจากทำหน้าที่นำฝูงแล้ว ตัวเมียจะทำหน้าที่ดูแลให้การคัดเลือกสายพันธุ์ตามวิถี เป็นไปอย่างเคร่งครัด ตัวผู้ที่เหมาะสมทำหน้าที่ให้ลูกเกิดมาแข็งแรงสมบูรณ์

บรรดาตัวผู้เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ก็จะต้องออกไปจากฝูง สาเหตุหลักประการหนึ่งคือ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการผสมกันเองภายในครอบครัว

ออกจากฝูง ใช้ชีวิตลำพัง พวกมันถูกเรียกว่า สัตว์โทน

ควายป่า – ควายป่าตัวผู้ ซึ่งต้องแยกออกจากฝูง ใช้ชีวิตลำพัง ถูกเรียกว่าสัตว์โทนเช่นเดียวกับสัตว์ตัวผู้ชนิดอื่นๆ ทุกตัว มีสัญชาตญาณในการระวังภัยที่ดี

ตัวผู้ซึ่งเติบโตเต็มวัย ลักษณะร่างกายเปลี่ยนแปลง ล่ำสัน แต่ก็รู้ดีว่า การออกไปใช้ชีวิตลำพังนั้นไม่ง่าย ต้องฝ่าฟันอุปสรรค รวมทั้งเรียนรู้วิธีการเอาชีวิตให้รอดพ้นจากสัตว์ผู้ล่า

พวกมันเข้าใจดีว่า ข้อดีของการอยู่ในฝูงคือต่างจะช่วยกันระวังภัยในขณะกินอาหาร หรือพักผ่อน สมาชิกในฝูงจะผลัดกันทำหน้าที่เป็นยาม พวกอ่อนวัยได้รับการปกป้องดูแล รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินวิถีอย่างเข้มข้น

เมื่อถึงเวลาต้องแยกจากฝูง ดูคล้ายกับว่า ป่าจะกว้างใหญ่ และอ้างว้างเกินกว่าจะอยู่เพียงลำพัง

หลายตัวใช้ท่วงท่าก้าวร้าว เพื่อปกปิดความรู้สึกหวาดหวั่นข้างใน

 

ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ร่างกายเปลี่ยนสภาพอย่างชัดเจน สีตามลำตัวคล้ำจัดยิ่งขึ้น ริ้วรอยยับย่นเด่นชัด กล้าแข็งขึ้น

ในฐานะของสัตว์ตัวผู้ พวกมันจำเป็นต้องมีวิถีเช่นนี้ ออกไปแสวงหาฝูงใหม่ เป็นวิถีที่ถูกกำหนดมา

สัญชาตญาณในการคัดเลือกสายพันธุ์นี้ สืบทอดต่อกันมาเนิ่นนาน

อยู่ลำพังไม่ง่าย แต่การค้นหาเส้นทางและเดินไปตามเส้นทางของตัวเองโดยไม่คำนึงถึงความรกชัฏ ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสัตว์โทน

 

สัตว์โทนร่างกำยำผิวคล้ำจัด ริ้วรอยยับย่นเด่นชัด บางตัวเมื่อค้นพบเส้นทาง หรือด่านของตัวเองก็เดินมุ่งหน้าไป

ผิวคล้ำจัด ริ้วรอย คือบทเรียนและประสบการณ์

การอยู่เพียงลำพัง เป็นวิถีของสัตว์โทน

กายลัดเลาะไปตามด่านเพียง “ลำพัง”

แต่สิ่งที่นึกถึงเสมอคือ ความอบอุ่นที่มีอยู่ในฝูง •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ