ศึกชิงเมืองเชียงใหม่ เพื่อประกาศชัย… ทางยุทธศาสตร์ นายกฯ ทักษิณเริ่มงานแล้ว

มุกดา สุวรรณชาติ

หลังจากที่ได้กลับบ้าน นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะต้องใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และประชาชน

แม้ความในทางกฎหมายและการปฏิบัติ นายกฯ ทักษิณไม่สามารถกลับมาบริหารประเทศได้ด้วยตนเอง แต่จะต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์แนะนำ การแก้ปัญหาต่างๆ ผ่านบุคคลอื่นๆ ซึ่งขณะนี้คือรัฐบาลผสมซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย จึงยังพอมีโอกาสที่จะแนะนำได้ ถ้าหากเป็นรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลหรือพรรคอื่นก็คงจะยาก

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ต้องวางควบคู่กันไปก็คือ ต้องไม่ให้พรรคเพื่อไทยหลุดจากการเป็นแกนนำของพรรครัฐบาล

เรื่องใหญ่ที่สุดคือปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทยที่ใครๆ ก็รู้ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น เวลา 4 ปีของรัฐบาลนี้ถ้าอยู่ครบก็ยังไม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน

ดังนั้น ความหวังที่จะสร้างผลงานทางเศรษฐกิจ ให้ส่งผลสะเทือนทางการเมืองทำให้คะแนนเสียงดีขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ยากที่สุด คงไม่มีใครจะทำได้ในรอบ 5 ปีนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้การแก้ปัญหาทางการเมืองโดยตรงควบคู่ไปก็จำเป็นต้องทำ ซึ่งภารกิจนี้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารและแกนนำทั้งหลายของพรรคเพื่อไทย แต่ก็หนีไม่พ้นเป็นภาระโดยอ้อมซึ่งนายกฯ ทักษิณหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เยือนฐานที่มั่น เชียงใหม่

ยกตัวอย่างการเดินทางไปเชียงใหม่ แม้จะบอกว่าคือการไปเยี่ยมถิ่นเก่า ไปพบญาติมิตร ไปไหว้บรรพบุรุษ

แต่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองจากภาพการลงพื้นที่และพบปะผู้คน ต่างก็ประเมินว่า นี่คือการเดินงานการเมืองขั้นแรก แบบปกติ

เพราะเชียงใหม่คือฐานที่มั่นใหญ่ของพรรคเพื่อไทยมากว่า 20 ปี แต่ในการเลือกตั้ง 2566 เพื่อไทยได้ ส.ส.ที่นี่เพียง 2 คนจาก 10 คน แพ้ก้าวไกลไปถึง 7 เขต และแพ้พลังประชารัฐ 1 เขต ที่ชนะก็ชนะแบบหวุดหวิด ถือเป็นความเสียหายทางการเมือง

การพ่ายแพ้พรรคก้าวไกลในเมืองหลวง เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขตกรุงเทพฯ มีความแปรปรวนทางอุดมการณ์สูง ขึ้นอยู่กับความนิยมในแต่ละช่วง

แต่ที่เชียงใหม่ไม่ใช่เขตกลางแบบกรุงเทพฯ ที่นี่คือฐานที่มั่นเก่า เป็นบ้านเกิดของนายกฯ ทักษิณ เคยมีคนเสื้อแดงเป็นกำลังสนับสนุนอย่างมากมาย

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงถือเป็นความเพลี่ยงพล้ำ ซึ่งถ้าไม่แก้ไขจะกลายเป็นการพ่ายแพ้ระยะยาว

สำหรับพรรคใหญ่ที่ลดขนาดลง การมีฐานที่มั่นเป็นเรื่องจำเป็น

การเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ครั้งนี้นายกฯ ทักษิณจะได้สัมผัสบรรยากาศจริงว่า สภาพชาวบ้านตอนนี้เป็นอย่างไร จะได้เห็นสีหน้าแววตาของผู้คน ความหนาแน่นของกำลังสนับสนุน ความกระตือรือร้น

สำหรับคนที่มีวิญญาณนักการเมืองก็น่าจะรู้ได้ว่ามีความแตกต่างจาก 20 ปีที่แล้วอย่างไร และจะต้องคิดแนวทางการแก้ปัญหา

นักวิเคราะห์ประเมินว่านายกฯ ทักษิณไม่รอจนถึงการเลือกตั้งปี 2570

 

ฐานที่มั่นร้าว ก่อนแตก

ย้อนกลับไป…ศึกชิงนายก อบจ. 2563 นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สังกัดเพื่อไทย ชนะนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ที่ลงแบบอิสระ ด้วยคะแนน 51.1 ต่อ 42.8%

ประเด็นที่เป็นตัวชี้ขาดไม่ใช่นโยบายการบริหารเชียงใหม่ แต่เป็นประเด็นการเมืองที่มีข่าวลือว่าคุณบุญเลิศจะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งประชาชนมองว่าเป็นการหักหลังฝ่ายประชาธิปไตย เพราะไปร่วมกับกลุ่มทำรัฐประหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีก็พบว่าเรื่องนั้นไม่เป็นจริง

และสถานการณ์การเมืองปัจจุบันกลับผลักดันให้พรรคเพื่อไทยต้องไปร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ

มีคนวิเคราะห์ว่ารอยร้าวในครั้งนั้น ทำให้เกิดช่องว่างในระดับล่าง เมื่อก้าวไกลกระแสดี จึงแทรกเข้ามาได้เกือบทุกเขต ในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 พรรคก้าวไกลมีคะแนน ส.ส.เขตมากที่สุด ถึง 404,000 เพื่อไทยได้ 318,000 นับรวมทั้ง 10 เขต จึงถือได้ว่าฐานที่มั่นภาคเหนือถูกตีแตก

ถ้าหากเหตุผลในการแพ้ชนะเป็นอย่างนั้นจริง โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะชนะในการเลือกนายก อบจ.ครั้งหน้า คงไม่ง่ายแล้ว เพราะคู่แข่งสำคัญก็คือพรรคก้าวไกลซึ่งกลายมาเป็นผู้ครอบครองเสียงส่วนใหญ่ของเชียงใหม่ ก็มาลงสนามแข่งขันนายก อบจ.ด้วย

และตามข่าวล่าสุด คุณทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ซึ่งเป็น ส.ส.เชียงใหม่มา 2 สมัย แต่ครั้งล่าสุดลง ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพ่ายแพ้แก่ก้าวไกล ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยไปร่วมจับมือตั้งรัฐบาลกับกลุ่มพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ตอนนี้คาดว่าจะลงสมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ แทนนายบุญเลิศ แบบอิสระ

ศึกชิงนายก อบจ.เชียงใหม่ครั้งนี้จึงไม่ใช่การเลือกตั้งท้องถิ่นธรรมดา แต่เป็นการวัดแนวโน้มของการเมืองใหญ่ในอนาคต ถ้าพรรคเพื่อไทยแพ้ครั้งนี้ โอกาสฟื้นกลับในการเลือกตั้งใหญ่ จะเหลือน้อยมาก

แต่ถ้าได้รับชัยชนะก็จะเห็นทางว่าจะได้ฟื้นตัวกลับ แม้ไม่ได้ครบทั้ง 10 เขตแต่ก็มีโอกาสที่จะได้เกินครึ่ง

 

พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ไม่มีใครถอย

เพื่อไทยต้องชิงฐานที่มั่นคืนเพราะนายกฯ ทักษิณมีบ้านเกิดอยู่ที่นี่ สามารถเป็นกำลังสำคัญและยังมีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นทัพหลัก ซึ่งมีงบประมาณจำนวนไม่น้อยที่จะพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่เพราะเป็นเมืองหลักสำคัญของภาคเหนือและทำรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมากมาย

ตอนนี้ยังมีเวลา เพราะกว่าจะหมดวาระ อบจ.สมัยนี้ก็ปลายเดือนธันวาคม 2567 กว่าจะเลือกตั้งก็เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะมีงบประมาณใหม่ออกมาแล้ว รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจึงมีโอกาสผลักดันโครงการเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นจิตใจคนเชียงใหม่ไปด้วย การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ จะชี้วัดความนิยมของรัฐบาลก่อนครบ 2 ปี และความเข้มแข็งของเพื่อไทยในภาคเหนือ

เวลาที่เหลืออีก 10 เดือนเชื่อว่านายกฯ ทักษิณจะไปเชียงใหม่อีกหลายรอบ

แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องเลือกทั้งนายก อบจ. และ ส.จ.อีกสี่สิบกว่าคน ส.จ.ทั้งจังหวัดก็มีความสำคัญมากเช่นกัน นายก อบจ.จะทำงานได้ก็ต้องมี ส.จ.สนับสนุนในสภาจังหวัด แต่ก้าวไกลไม่มี ส.จ.สนับสนุน นี่คือจุดอ่อนที่ต้องสร้างเสริม

ผลเลือกตั้งคราวที่แล้วฝ่ายคุณบุญเลิศแม้แพ้แต่ก็ได้ ส.จ.มา 21 คนเท่ากับฝ่ายคุณพิชัย (นายก อบจ.) ที่ได้ 21 คน แต่คะแนนนายก อบจ. คุณพิชัยได้ 421,000 ส่วนคุณบุญเลิศได้ 353,000 คะแนน

ถ้าคุณทัศนีย์ลงแบบอิสระ และใช้ฐานเสียงเดิมก็ยังเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัว

ส่วนกลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่ครั้งก่อนไม่ติดอันดับ มีเพียงแค่ 19,000 คะแนนเท่านั้นเพราะผู้สมัครไม่มีใครรู้จัก

แต่สถานการณ์วันนี้เอาคะแนนนั้นมาวัดไม่ได้เพราะการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 พรรคก้าวไกลมีคะแนน ส.ส. 10 เขตมากที่สุด ถึง 404,000 ต้องหวังว่ากระแสพรรคจะช่วยให้ได้รับชัยชนะ

 

ศึกครั้งนี้ทุกคนถอยไม่ได้ทั้งนั้น เพื่อไทยต้องชิงฐานที่มั่นกลับมาเพื่อประกาศว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าจะทวงคืนตำแหน่งแชมป์

ส่วนก้าวไกลต้องการชัยชนะ เพื่อสร้างภาพอนาคตการเมืองระดับประเทศของพรรค เพราะเป้าหมายครั้งหน้าคือ ส.ส. 251 คน

แต่ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ คงต้องชูการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวล้านนาให้ได้มากที่สุด แต่ในศึกสามก๊ก การแปรเปลี่ยนชนะหรือแพ้เกิดขึ้นได้เสมอ