ฝุ่นพิษ ‘บังตา’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ถ้าผมเป็นนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ในวันนี้จะเกิดความรู้สึกท้อแท้หมดพลังใจเพราะทุกอย่างที่เห็นข้างหน้าดูมีอุปสรรคน่าอึดอัดเต็มไปหมด จะทำอะไรก็ไม่เต็มที่ แถมยังถูกตำหนิด้อยค่ากระแหนะกระแหน ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องฝุ่นพิษ “พีเอ็ม 2.5” ซึ่งนักวิชาการดาหน้าออกมาถล่มอย่างไม่ยั้ง

แต่ดูเหมือนเศรษฐาตัวเป็นๆ กลับมีพลังรับมือด้วยท่าทีที่นิ่งและเดินหน้าลุยงานลูกเดียว ต้องถือว่านายกฯ คนนี้ใจเต็มร้อย

 

ลองมาไล่เรียงเรื่องน่าอึดอัดตั้งแต่เรื่องการเมือง “เศรษฐา” โดนโจมตีว่าเป็นนายกฯ หุ่นเชิดของ “ทักษิณ ชินวัตร” ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ดึงมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ โอกาสการเป็นหัวหน้ารัฐบาลของ “เศรษฐา” แทบเป็นศูนย์เพราะเป็นเพียงนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้านอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ไม่เคยมีฐานเสียงการเมือง

เมื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” ลูกสาว “ทักษิณ ชินวัตร” ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สัญญาณภาพของเศรษฐาในฐานะนายกฯ ก็ขุ่นมัวมากขึ้นเป็นลำดับ ตามด้วยเสียงด้อยค่าว่า “นายกฯ 2 คน” ดังกระหึ่มไม่หยุด

ตั้งแต่ “ทักษิณ” กลับมาเมืองไทยก็มีเสียงวิจารณ์ว่าป่วยทิพย์ 2 มาตรฐาน และเมื่อได้รับการพักโทษออกจากโรงพยาบาลตำรวจไปอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้าได้แสดงฤทธิ์เดชดึง “สมเด็จฮุน เซน” อดีตนายกฯ กัมพูชาให้บินข้ามแดนมาเยี่ยม

สัญญาณภาพนายกฯ ของเศรษฐาก็ยิ่งมัวกว่าเดิม

ที่อึดอัดกว่านั้น เป็นภาพวันที่คุณเศรษฐาไปเชียงใหม่นั่งกินข้าวกับคุณทักษิณ คุณสมชาย วงษ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ อีกคนที่อยู่ในเครือข่าย “ทักษิณ”

เป็นภาพบ่งบอกถึง “บารมี” ของ “ทักษิณ” ที่ดูเหมือนครอบอยู่เหนือ “เศรษฐา”

ในมุมเศรษฐกิจ “เศรษฐา” ตกเป็นเหยื่ออันโอชะของบรรดาผู้ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม

โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทที่ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

มาวันนี้เศรษฐาซึ่งนั่งควบเก้าอี้นายกฯ เก้าอี้รัฐมนตรีคลัง แต่ไม่สามารถปั้นฝัน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ให้เป็นจริงได้

ที่ฟังแล้วน่าอึดอัดใจก็คือดัชนีตลาดหุ้นในยุคเศรษฐาที่ฝ่ายตรงข้ามนำไปเปรียบเทียบกับยุคลุงตู่ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่า ลุงตู่ทำได้ดีกว่า ตลาดหุ้นพุ่งทะยานถึง 1,852.51 จุด

แต่ ณ วันที่ 15 มีนาคมที่เศรษฐานั่งนายกฯ ดัชนีหุ้นดิ่งเหลือแค่ 1,387.39

หุ้นตกแล้วตกอีกจนน่าห่วง รัฐบาลนี้มีฝีมือปั้นให้พุ่งทะยานเท่ากับยุคลุงตู่ได้หรือเปล่า?

“เศรษฐา” เป็นนายกฯ ปุ๊บก็ออกทัวร์ต่างประเทศ รวมเบ็ดเสร็จถึงวันนี้ 6 เดือน 15 ประเทศ 52 วัน กลายเป็นประเด็นให้สมาชิกวุฒิสภาเอาไปกระแหนะกระแหนว่าเป็นนายกฯ บินไปนอกมากที่สุด ทุบสถิติโลกพร้อมกับคำถามว่า ท้ายสุดแล้วที่บินว่อนไปนั้นมีผลลัพธ์ให้ประเทศมากน้อยเพียงใด?

ในสายตาของสื่อระดับโลกอย่างนิตยสารไทม์มองภาพเศรษฐาเป็นเซลส์แมน แต่การได้มาซึ่งตำแหน่งนายกฯ นั้น “ไทม์” พาดหัวพร้อมคำบรรยายว่า “shortchange” ซึ่งถ้าเอาไปโยงกับผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลคว้าชัยเป็นอันดับ 1 ก็มีนัยยะน่าเคลือบแคลงในเรื่องความชอบธรรม

 

ในประเด็นสิ่งแวดล้อมว่าด้วยเรื่องฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 ก็เป็นปม “บังตา” นายกฯ จนเกิดเป็นภาพคลุมเครือว่าจะเอายังไงแน่ระหว่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับเศรษฐกิจระยะสั้นๆ

ระหว่างนายกฯ เศรษฐาตรวจราชการที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลว่า

“หลังไปร่วมรับประทานอาหารเย็นกับท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ ผมชวนท่านจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และท่าน พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 มานั่งคุยเรื่องสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่จังหวัดเชียงใหม่

เราเลือกนั่งโต๊ะริมน้ำด้านนอกเพราะผมอยากทดสอบว่าอากาศเป็นอย่างไร พอจะนั่งกลางแจ้งได้ไหม ปรากฏว่า อากาศช่วงกลางคืนของเชียงใหม่คืนวันนี้ดีกว่าที่คิดครับ

ท่านผู้ว่าฯ บอกว่าฝุ่นมีมากช่วงกลางวันและดีขึ้นช่วงกลางคืน เพราะพอเราเจอจุดไฟป่าแล้วเราสามารถดับไฟได้ทันทีภายในหนึ่งวัน ทำให้อากาศช่วงกลางคืนจะดีขึ้น ที่สำคัญทำให้ไฟป่าไม่ลามกลายเป็นไฟแปลงใหญ่

สถานการณ์ฝุ่นเชียงใหม่วันนี้ยังดีกว่านี้ได้อีกครับ และเรายังต้องทำงานหนักกันต่อครับ พรุ่งนี้ผมจะไปติดตามรับฟังสรุปการแก้ไขปัญหาและหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้กำชับและสั่งการไปก่อนหน้านี้”

 

ข้อความปรากฏในโพสต์ดังกล่าวนี้ ส่งแรงสะท้อนไปถึง “สมชาย ปรีชาศิลปกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาจารย์สมชายเขียนจดหมายถึง “เศรษฐา” ในทันทีแล้วนำออกเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก “ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง” มีข้อความว่า

“ผมไม่ได้มีความคาดหวังอะไรมากกับคุณเศรษฐา ในฐานะของนายกฯ แต่การมาเยือนเชียงใหม่ในวันที่ 15 มีนาคม กลับสร้างความผิดหวังเป็นอย่างมาก

ความผิดหวังประการแรก คุณเศรษฐาใช้อะไรเป็นมาตรวัดว่าอากาศเชียงใหม่ดี ถ้าลองเปิดตาดูข้อมูลใน IQAir หรือแอพพ์อื่นๆ ก็ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน เช้าวันที่ 15 และเช้าวันที่ 16 มีนาคม ปริมาณฝุ่นของเชียงใหม่ขึ้นไปอยู่ระดับสีม่วง อันแปลว่า ‘ไม่ถูกสุขภาพมาก’

เพียงแค่การไปนั่งร้านอาหารริมแม่น้ำแล้วบอกว่าอากาศดี มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันข้อความดังกล่าว อย่าลืมว่าคุณเศรษฐาก็แค่โฉบมาวันสองวัน แถมนอนในโรงแรมที่มีเครื่องปรับอากาศเป็นอย่างดี

การสูดฝุ่นเข้าไปชั่วโมงสองชั่วโมงก็คงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากเท่าไหร่ แต่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ต้องมีชีวิตทั้ง 24 ชั่วโมง ทำมาหากินนอนในบ้านที่อาจไม่มีเครื่องกรองอากาศ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ การสูดฝุ่นเข้าไปกำลังเป็นการตายผ่อนส่งมิใช่หรือ

ลองไปฟังเสียง ฟังความรู้สึก ฟังอารมณ์ของคนในพื้นที่บ้างก็ดีนะครับ แทนที่จะใช้เวลาไปกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ถ้าอยากเจอกลับไปกรุงเทพฯ เมื่อไหร่ก็หาเวลาไปเจอกันเถอะครับ แทนที่มาถึงเชียงใหม่จะมารับฟังเสียงของประชาชนท่ามกลางวิกฤตฝุ่น กลับไปปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่กับบรรดาผู้มีอำนาจ นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ถ้าจะทำแบบนี้ไม่ต้องเชียงใหม่หรอก

ความผิดในเรื่องต่อมาก็คือ การทำหน้าที่ในฐานะของฝ่ายบริหารที่มีอำนาจสูงสุด พวกเราได้ฟ้องคดีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ และศาลปกครองได้วินิจฉัยที่ ส1/2567 ตัดสินว่านายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยและล่าช้าต่อการแก้ไขปัญหา

ศาลมีคำตัดสินให้นายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ได้อุทธรณ์คำตัดสิน จึงทำให้ผลของคำพิพากษาต้องเลื่อนออกไปอีก

ทั้งที่คุณเศรษฐาแสดงท่าทีต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ในปีที่ผ่านมา แต่ทำไมจึงปล่อยให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ อุทธรณ์ ทำให้การแก้ไขปัญหานี้ยืดเยื้อออกไปอีก

ทำไมนายกฯ ในฐานะที่มีอำนาจสูงสุดจึงไม่สั่งการให้ยุติการอุทธรณ์แล้วสั่งการตามกฎหมายที่มีอย่างจริงจัง

ผมคาดเดาว่าหากมีการประกาศว่าเชียงใหม่มีมลพิษรุนแรงจะกระทบกับการท่องเที่ยว อันเป็นกลไกขับดันทางเศรษฐกิจอันหนึ่งที่พอจะช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยไม่ล่มจมไปมากกว่านี้ ทำให้คุณเศรษฐาต้องไปนั่งดมฝุ่นแล้วบอกว่า “เชียงใหม่อากาศดี” ทั้งที่รู้อยู่เต็มตาเต็มจมูกว่าฝุ่นมันปกคลุมบ้านเมืองมากขนาดไหน

ความผิดหวังต่อคนที่เราไม่เคยคาดหวังนี่มันเป็นเรื่องที่ชวนให้ละเหี่ยใจไม่น้อยนะครับ”

 

อีก 2 วันถัดมา “สฤณี อาชวานันทกุล” กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก กระหน่ำนายกฯ เศรษฐาไม่ยั้งมือ หลังจากเห็นข้อความที่นายกฯ โพสต์ในเฟซบุ๊ก

“จากกรณีที่มีคำถามมาถึงผมว่า ทำไมจึงไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน ในขณะที่ค่าฝุ่นสูง ผมได้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วครับ เกรงว่าหากประกาศจะส่งผลทางลบมากกว่า เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ จะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจากผลกระทบโควิด-19 เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกันมาจากบ้านเขา

หากเข้ามาท่องเที่ยวในเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครองทันที แน่นอนครับว่า จ.เชียงใหม่จะเสียนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเที่ยวทั้งระยะสั้นและระยะยาว เราเป็นห่วงกันตรงนี้ครับ”

“สฤณี” โพสต์แสดงความเห็นว่า

“อันนี้ไม่โอเคอย่างรุนแรงจนไม่รู้จะวิจารณ์ตรงไหนก่อน คำแถลงนี้แสดงให้เห็น (อีกครั้ง) ว่า นายกฯ ไม่เข้าใจหรือแกล้งมองไม่เห็นความสำคัญของ ‘การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน’ แหล่งท่องเที่ยวที่อากาศเป็นพิษร้ายแรงจะดึงดูดนักท่องเที่ยวในระยะยาวได้ยังไง?

คิดว่านักท่องเที่ยวโง่ ไม่สนใจคุณภาพอากาศ หรือคิดว่าถ้าเอาเงินเขามาได้ก็พอ เรื่องอื่นไม่ต้องสนใจ? คิดแบบนี้มักง่ายมากนะ

การประกาศเขตภัยพิบัติแน่นอนว่าย่อมมี ‘ต้นทุน’ ที่ต้องจ่าย เช่น รายได้จากการท่องเที่ยวที่อาจลดลงในระยะสั้น แต่นั่นแหละคือประเด็น ถ้าไม่มีต้นทุนต้องจ่ายเลย ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ารัฐจะแก้ไขปัญหานี้ที่รากสาเหตุ แถม ‘ต้นทุน’ ระยะสั้นที่ต้องจ่ายในกรณีนี้ ก็คุ้มค่าแน่นอนเมื่อเทียบกับ ‘ประโยชน์’ ที่จะเกิด นั่นคือ จากการลงมือแก้ปัญหาจริงจังเพื่อช่วยรักษาปอดของคนเชียงใหม่ ค่ารักษาพยาบาลที่ประหยัดได้น่าจะมากกว่าต้นทุนของการประกาศเขตภัยพิบัติหลายเท่าตัว

เส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนย่อมเต็มไปด้วยการแลกได้แลกเสีย การมองให้เห็นต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจริงและมีมูลค่าสูงไม่แพ้หรือสูงกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ

คิดว่ารัฐบาลนี้ควรเลิกอ้างการพัฒนาที่ยั่งยืน, sustainable development ใดๆ ได้แล้ว จนกว่าจะเข้าใจอย่างถ่องแท้จริงๆ เริ่มจากตัวนายกฯ ก่อนเลย”

ปิดท้าย “สฤณี” ใช้แฮชแท็ก #เป็นเซลส์แมนไม่จำเป็นต้องมักง่าย

สำหรับผม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบๆ เช่นนี้ ไม่ควรมองข้าม และนายกฯ เศรษฐาน่าจะกลับมาทบทวนตัวเองว่า ต้องเดินหน้าต่ออย่างไรเพื่อให้ผู้คนมองเห็นจุดเด่นในความเป็นนักธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นขยันทำงานเพื่อประเทศจริงๆ? •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]