ในโลกแห่งความผันผวน ของ ‘ต้นสน’ ระวังจบแบบ ‘หักมุม’

สุทธิชัย หยุ่น

ผมผ่านโลกถูก “ป่วน” เพราะเทคโนโลยีกำลังเข้าสู่ยุค disruption มาเกือบ 25 ปี

ชีวิตปั่นป่วนวุ่นวาย แต่ก็สนุก ท้าทาย มีเรื่องให้ต้องปรับตัวตลอดเวลา

บอกกับตัวเองและเพื่อนร่วมงานว่า Adapt for Die (ไม่ปรับก็พับฐาน)

รอดมาได้อย่างหวุดหวิด แต่จะรอดต่อไปอย่างไรยังสงสัยอยู่

…ก็บังเอิญให้ได้อ่าน ‘Twists and Turns : คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม’ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

หนังสือเล่มล่าสุดของคุณสันติธาร “ต้นสน” เสถียรไทย

เกิดแรงฮึดขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์

ฮึดเพราะ “ต้นสน” มาฟอร์มสดและใหม่…เหมือนดูมวยร้อนแรงทุกยก

บทแรกๆ จริงจังกับเรื่อง AI และกระแส Sustainability

แกเรียกเนื้อหาส่วนนี้ว่า Twists

ทำให้รำลึกถึงเพลง Let’s Twist Again ของ Chubby Checker ของยุค Sixties ตามไปด้วย ได้อารมณ์ร่วมของการดิ้นไปมาอย่างคึกคัก

อ่านบางตอนของหนังสือก็คล้อยตาม อีกบางตอนก็แย้งในใจ เอาปากกาออกมาขีดเขียน เติมตรงนั้นแต่งตรงนั้นไปตามเรื่อง

พอถึงเรื่อง “สังคมคนสูงวัย” ก็เริ่มได้ความคิดว่าจะต้องเตรียมทำตัวให้ไม่ว่างเปล่าและสิ้นหวังอย่างไร

ก็มีอันต้องกระตุกตัวเองให้ยืนหยัดหายใจไปเรื่อยๆ

เพราะ “ต้นสน” เล่าให้เห็นว่ามีเรื่องสนุกๆ และท้าทายรออยู่ข้างหน้าอีกเยอะ

“ต้นสน” ปูพื้นด้วย Twists เสร็จก็กระโจนเข้า Turns ของหนังสือ

ผมรู้สึกเหมือน…ดิ้นกันพล่านแล้วเลี้ยวหักมุม!

 

อ่านถึงตอนที่ทำให้ต้องหยุดทุกกิจกรรมเพื่อตั้งสมาธิก็คือบทที่ว่าด้วย “วันนี้ วันหน้า และวันหนึ่ง” (How to Make Hard Decisions)

เพราะมันโดนใจเป็นพิเศษเพราะคนเขียนเอาประสบการณ์ชีวิตของตนเองมา “แฉ”

แต่ละช่วงชีวิต ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญๆ โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์มากำหนด “ตัวเลือก 3 ประเภท”

จะเรียนต่อดีไหม? จะเปลี่ยนงานดีไหม?จะทำธุรกิจเองดีไหม? จะเกษียณดีไหม?

“เพื่อวันนี้” สำหรับความสุขวันนี้…ก็เรื่อง “บริโภค” Consumption

“เพื่อวันหน้า” เน้นโอกาสในอนาคตก็ต้อง “ลงทุน” Investment

หรือ “เพื่อวันหนึ่ง”…ตัดสินใจเพื่อไม่ให้เสียใจภายหลัง (No Regrets) หาก “วันหนึ่ง” เราย้อนกลับมาย้อนไตร่ตรอง

ทำให้ผมคิดย้อนกลับไปก็ยังไม่มีเรื่องไหนที่ตัดสินใจแล้ว “เสียใจภายหลัง”

มีแต่ “กลัวจะเสียใจภายหน้า”

ก็จึงก้มหน้าก้มตาทำสิ่งที่ “ต้นสน” พูดในช่วงแรกๆ

สลับย้อนกลับไปเรื่อง Twists ที่เป็น “พล็อตของโลกหักมุม”

ที่โยงกับ Turns อันหมายถึงการต้องพร้อมเลี้ยวเมื่อถึงทางแยกที่สำคัญ

เพราะผม “กลัวจะเสียใจภายหน้า” ตอนอายุยังน้อย จึงใช้ตัวเลือกแรกคือ “วันนี้”

ปล่อยให้ “วันหน้า” มันดูแลตัวเอง

เพราะ “วันหนึ่ง” มันก็ต้องมาถึง

ถึงเวลานั้น Twists กับ Turns ก็ต้องมาเจอกัน…ส่วนจะเป็นการบรรจบกันแบบปะทะหรือสอดประสานกันอย่างแนบเนียนก็ต้องปล่อยไปตามวิถีธรรมชาติของมัน

 

ประสบการณ์ชีวิตจริงของผมเองก็ตรงกับที่ “ต้นสน” บอกไว้ในตอนต้นของหนังสือว่า

“ทุกการหักมุมย่อมมีโอกาสหักเลี้ยว”

เคี้ยวๆ คดๆ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้ามันราบเรียบเป็นเส้นตรงเขาก็ไม่เรียกว่าชีวิตจริง

มันต้องมีบาดแผลจากการหกล้มคว่ำคะมำหงายบ้างจึงจะเรียกได้ว่ามันคือของจริง

คุณค่าของเรื่องราวที่ “ต้นสน” เขียนเล่มนี้ (ที่ต่อยอดจากสองเล่มก่อนคือ FUTURATION เปลี่ยนปัจจุบันและ THE GREAT REMAKE สู่โลกใหม่) คือการเชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่มาพร้อมกับ ChatGPT-4

ซึ่งสร้างความตื่นเต้นกับความมหัศจรรย์ของเทคโนโยลีใหม่ที่กำลังจะเขย่าโลกรอบใหม่อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

แต่มันก็มาพร้อมกับ “ความว้าวุ่น”

เพราะมันเกิดคำถามว่าต่อไป AI จะเป็นเป็นช่วยเรา หรือเราจะเป็นผู้ช่วยเขา หรือเขาไม่ต้องมีเรา?

คำถามสุดท้ายนี่แหละที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับมนุษยชาติได้อย่างน่าตะลึงพรึงเพริดเลยทีเดียว

 

แล้วมันก็ทำให้เราตระหนักว่าการเกิด “ความกลัว” นั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายเสมอไป

เดิมเรากลัว “ตกขบวน” (FOMO: Fear of Missing Out) กันเสียส่วนใหญ่

แต่ “ต้นสน” เตือนเราว่าเราควรเพิ่มความกลัวขึ้นมาอีกเรื่อง

นั่นคือต้อง “กลัวตกราง” (ผมเข้าใจเองว่าน่าจะหมายถึง Derailed)

เพราะถ้าเรากระโจนลงไปใช้เทคโนโลยี Generative AI อย่างไม่มีความเข้าใจ อาจจะเกิดความผิดพลาด ข้อมูลรั่วไหล เกิดอันตรายในวงกว้าง

เพราะแค่ “ใช้เป็น” ยังไม่พอ ต้องใช้อย่างมี “ภูมิคุ้มกัน” และอย่างมีกรอบแห่ง “จริยธรรม” อีกด้วย

ผมทึ่งที่ “ต้นสน” นำเสนอเรื่อง AI เคียงคู่กับ Green Policy ที่ไม่เพียงแต่ตระหนักเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” เท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจถึงความยั่งยืนหรือ Sustainability ในแง่นโยบายและภาคปฏิบัติด้วยอย่างรู้เท่าทันและลงมือทำอย่างจริงจัง

เพราะ “เศรษฐกิจสีเขียว” จะเป็นการเขย่าโลกในทุกๆ ด้านอีกกระแสหนึ่ง

ซึ่งอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงรุนแรงและหนักหน่วงไม่น้อยไปกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 ด้วยซ้ำไป

 

จะไม่ให้ผมอ่านหนังสือเล่มนี้รวดเดียวจบได้อย่างไรในเมื่อพอเปิดบทต่อไป “ต้นสน” ก็ตอบคำถามในใจผมในบัดดลด้วยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ภายใต้หัวข้อ “Asia Century จะมาจริงหรือ?”

และโยนคำถามที่ยากแต่จำเป็นอย่างยิ่งยวดว่า “แล้วประเทศไทยล่ะ?”

ตามติดมาด้วยบทเฉพาะสำหรับคนไทยที่พาดหัวว่า “จากดาวรุ่งสู่สูงวัย”

ที่ชี้ชัดว่าไทยเรากำลังอยู่ในสภาพ “นักกีฬาสูงวัย”

ถ้าปรับตัวได้ก็ยังอาจจะเป็น นักกีฬาสูงวัยที่เก่งและเก๋าได้

หาไม่แล้ว เราก็จะกลายเป็น “นักกีฬาที่ถูกลืม”

 

ในบทที่เกี่ยวกับ Turns ที่เป็นเรื่องราวชีวิตของ “ต้นสน” นั่นแหละที่ผมคิดว่าเป็นสาระส่วนที่ “จับต้องได้” ที่สุด

เพราะเป็นประสบการณ์จริงที่ต้องตัดสินใจเมื่อมายืนอยู่ตรงทางแยกครั้งสำคัญในชีวิต 3 ครั้ง : ตอนสมัครเรียนปริญญาเอก, ตอนหางานในภาคการเงิน และตัดสินใจเริ่มงานบริษัทเทคโนโลยี

แต่ละจังหวะต้องตัดสินใจ “เลี้ยว” โดยไม่แน่ใจว่าจะไปโผล่ ณ จุดที่ตอบโจทย์ชีวิตจริงหรือไม่

แต่ที่สรุปบทเรียนได้ถึงวันนี้คือแต่ละทางแยกมีบทเรียนมากมายที่หล่อหลอมเป็น “ต้นสน” วันนี้

บทเรียนที่ “ต้นสน” แบ่งปันให้คนอ่านหลายข้อทำให้ผมร้อง “เออ…จริงว่ะ”

เพราะเคยเจอแบบนั้นแต่ไม่สามารถบรรยายออกมาชัดเจนได้เหมือน

เช่นบางครั้ง ทายอนาคตให้ผิดน้อยกว่าคนอื่นอาจสำคัญน้อยกว่าการทายให้ถูก

หรือที่บอกให้เข้าใจ “เทรนด์” และมองทะลุ “วัฏจักร” (cycle)

เพราะบ่อยครั้งเราเห็นรายละเอียดเป็นจุดๆ แต่ไม่เห็น “เทรนด์”

หรือเห็นปรากฏการณ์แต่ไม่เข้าใจว่ามันคือส่วนหนึ่งของ “วัฏจักร”

ที่กระชากความคิดผมเลยก็คือประโยคที่ว่า

“ยิ่งรู้เยอะ ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งมองไม่ออก”

แต่ที่ทำให้ผมยิ้มกับตัวเองก็บทสุดท้าย

ผมบอกตัวเองว่า “ต้นสน” เขียนเรื่องสั้นที่มี Twist Ending นี่หว่า

จบด้วยด้วยการเลี้ยวโค้ง “หักมุม” อย่างนุ่มเนียนเลย

“อย่าลืมมีความสุข”!

เตือนตัวเอง 7 ข้อ : อย่าลืมสโลว์ดาวน์, ค้นหาตัวเอง, ถอดหัวโขน, คนที่ทำให้เราเป็นเรา, ดูแลสุขภาพ, ยอมรับและให้อภัยตัวเอง…และอย่าลืมให้!

แต่ยัง…ยังไม่จบจริง

เพราะ “ต้นสน” ยังประคองอารมณ์ของคนอ่านไปถึง “สมดุลแห่งโลกหักมุม” ที่ตอบโจทย์โลกที่แสนจะไม่สมดุลนี้ได้อย่างน่าทึ่ง

เท่าทันเทคโนโลยี แต่ไม่ลืมคน

รู้จักคน แต่อย่าถูกโลกลืม

รู้จักปล่อย แต่ไม่อ่อนไหว

พร้อมยึดมั่น แต่ไม่ยึดติด

และสร้างความสำเร็จจนมีความสุข

แต่อย่าลืมหาความสุขจากความสำเร็จ

คือ 3 สมดุลที่ต้องคอยหาทุกช่วงชีวิต

ผมเถียงในใจว่า “มันไม่ง่าย…”

แต่ก็กลับมาบอกตัวเองก่อนจะวางหนังสือเล่มนี้ลงว่า

“ก็เพราะมันไม่ง่าย…จึงท้าทายให้พยายามไง”

 

รู้เลยว่าทำไม “ต้นสน” จึงตั้งชื่อหนังสือว่า Twists and Turns

เพราะถ้า Twist แล้วไม่ Turn อาจจะเกิดอาการ “หลังเดี้ยง” ต้องทำกายภาพบำบัดตลอดชีวิต

แต่เมื่อ “คิดเปลี่ยน” โดยตระหนักตลอดเวลาว่า “โลกหักมุม” จึงเป็น “คนทันโลก”ที่พร้อมสำหรับ “เลี้ยวโค้ง” ต่อไปเสมอ

เพราะ “โอกาส” ใหม่รอคนที่พร้อมจะ “หักมุม” อยู่เสมอ!