เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ไหว้รับวสันต์ในคืนวันตรุษจีน (ชุ้นตั๋ว)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หากตัดเรื่องการเซ่นไหว้เทพแห่งโชคลาภในคืนวันไหว้ซึ่งเป็นประเพณีของชาวกวางตุ้งออกไป ที่จริงตั้งแต่โบราณมามีประเพณีอันหนึ่งซึ่งกระทำในยามแรกของวันปีใหม่ (ตกราวห้าทุ่มของคืนวันไหว้) เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเหลือผู้ปฏิบัติอยู่น้อย คือการตั้งโต๊ะไหว้รับวสันต์หรือไหว้ “ชุ้นตั๋ว”

นับเป็นพิธีการไหว้แรกสุดของปีนั้น

อันที่จริงเทศกาลตรุษจีนมีชื่อว่า “ชุ้นเจี๋ย” หรือเทศกาลฉลองวสันต์ (ฤดูใบไม้ผลิ) เพราะปีใหม่หมายเอาว่าฤดูใบไม้ผลิได้เวียนกลับมาถึงโลกอีกรอบหนึ่ง เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นชีวิตหลังฤดูหนาวอันยาวนาน พืชพันธุ์ดอกผลก็จะเริ่มผลิบาน อากาศจะอบอุ่นขึ้นแต่ยังคงเย็นสบายอยู่

คำว่า “ชุ้น” หรือวสันต์ (ฤดูใบไม้ผลิ) จึงกลายเป็นคำมงคลอันหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน หลายบ้านจึงใช้คำนี้แปะบ้านเรือนนอกเหนือจากคำมงคลอื่นๆ เช่น ฮก (วาสนา) รวมทั้งแปะที่ของไหว้ในช่วงนี้ด้วย

เมื่อไหว้ขอบคุณเทพเจ้าและบรรชนในวันสิ้นปี (วันไหว้) แล้ว ตกค่ำ บ้านไหนที่ยังคงธรรมเนียมไหว้รับปีหรือตั้งชุ้นตั๋วจะต้องตระเตรียมข้าวของ ซึ่งมีทั้งผลไม้และขนมหวานปราศจากของสดคาว โต๊ะและของประดับประดาให้สวยงามเพื่อจะไหว้ให้ทันไหว้ชุ้นตั๋วในเวลาห้าทุ่ม

ผมเข้าใจเอาเองว่า การไหว้ชุ้นเป็นการไหว้รับ “ปีใหม่” ซึ่งกินความหลายอย่าง คือรับทั้งเทพจรปีที่มาถึง ไหว้รับฤดูวสันต์อันนำความผาสุกมาให้ ไหว้เทพเจ้าโชคลาภในความหมายกว้างๆ หมายถึงศุภมงคลเทพซึ่งจะมาในเวลาอันมงคลต่างๆ รวมถึงไหว้เทพที่เราเคารพนับถือในบ้านด้วย

ผมเรียกเอาง่ายๆ ว่าไหว้รับวสันต์หรือไหว้รับปี

 

เต็กซือหูท่านเล่าว่า แต่เดิมโต๊ะไหว้ชุ้นหรือชุ้นตั๋วนั้นจะตั้งไหว้ที่กลางแจ้งหน้าบ้าน แล้วจึงยก “ทั้งโต๊ะ” เข้ามาตั้งในบ้านต่อ คือรับมงคลเข้ามาในบ้าน แต่ในปัจจุบันอาจตั้งที่โต๊ะหรือแท่นบูชาในบ้านก็ได้

การตั้งแต่งโต๊ะไหว้ชุ้นมีธรรมเนียมสำคัญอันหนึ่งอยู่ครับ คือจะตั้งของไหว้เป็น “เลขคู่” ทั้งหมด เพราะเชื่อกันว่า “มงคลให้ดีมาคู่ไม่มาเดี่ยว ให้มาเป็นคู่ๆ” (ฮกโบ๋ตั๋วหลาย เซียงเซี้ยงตุยตุ่ย) คือสิริมงคลจะมาเป็นคู่ ของไหว้ในงานมงคลจึงต้องเป็นคู่ไปด้วย

ดังนั้น ผลไม้ก็จะจัดเป็นจำนวนคู่ทั้งจำนวนและชนิด เช่น สองหรือหกผลต่อหนึ่งชนิด และจะต้องมีขนมมงคลต่างๆ หากเป็นธรรมเนียมฮกเกี้ยนจะมีขนมอั่งกู๊ (เต่าแดง) อั่งโถ (ลูกท้อแดง) ฮวดโก้ยหรือขนมถ้วยฟูที่จะต้องตั้งสองจาน เต๋เหลี่ยวหรือจับอับ ข้าวเหนียวกวนสองถ้วยซึ่งนิยมย้อมสีชมพูและวางอั่งโจ้หรือพุทราจีนลงไปด้านบนให้มีสีแดงเป็นมงคลขึ้นไปอีก

ของไหว้เอกในชุ้นตั๋วมีสองอย่าง อย่างแรกคือขนมเข่งหรือ “หนีโก้ย” (ขนมปี) ขนมเข่งนี้ท่านให้วางซ้อนกันขึ้นไป ลูกใหญ่อยู่ล่างสุดมีลูกเล็กซ้อนกันสองลูกด้านบน เป็นสัญลัษณ์ว่าแต่ละปีก็จะเพิ่มพูนยิ่งๆขึ้นไป ขนมนี้อยู่กลางโต๊ะบูชา

อีกอย่างคือ “ข้าววสันต์” หรือ “ชุ้นปึ่ง” หมายถึงข้าวเจ้าหุงสุกธรรมดาๆ นี่แหละครับ ตักพูนๆ สวยๆ หนึ่งถ้วย แต่ต้องประดับประดาให้เป็นพิเศษ คือต้องปัก “ชุ้นฮั้ว” หรือ “ดอกไม้วสันต์” ประดิษฐ์จากกระดาษตัดเป็นรูปดอกไม้มีลวดลายต่างๆ และมักมีคำว่า “ชุ้น” ปักไว้บนข้าวนั้นด้วย

ดังที่ผมเคยเล่าไปแล้วว่า ปกติคนฮกเกี้ยนจะไม่นิยมใช้ข้าวสุกเซ่นไหว้เทพเจ้า แต่การใช้ข้าวเซ่นไหว้เทพจะมีในโอกาสพิเศษคือไหว้ชุ้นตั๋ว ไหว้ทีก๊องแซและไหว้เจ้าที่ที่เรียกว่าไหว้เหง๋ครับ

เหตุที่ต้องมีข้าวสุกหรือชุ้นปึ่งเซ่นไหว้ ท่านบอกว่า เป็นนัยของการถวายผลผลิตแรกจากการเก็บเกี่ยวแห่งฤดูวสันต์ ซึ่งเป็นธัญญาหารจากผืนดินนั่นเอง

ข้าวชุ้นปึ่งมักมีเคล็ดที่ถือกันในเชิงการเสี่ยงทาย คือของเซ่นไหว้ในงานมงคลมักให้ตั้งทิ้งไว้สามทิวาราตรี ซึ่งรวมทั้งข้าวถ้วยนี้ด้วย เชื่อกันว่าหากข้าวชุ้นปึ่งที่ตั้งทิ้งไว้ขึ้นราและรานั้นออกสีแดง สีส้มหรือชมพู ถือเป็นศุภนิมิตสำแดงว่า “ฮวด” หรือเฟื่องฟู ในปีนั้นเจ้าบ้านก็จะเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นมาด้วย

ที่จริงผู้ใหญ่ก็มักพูดกันขำๆ ว่า อยากให้ออกราส้มจะยากอะไร แค่หุงข้าวให้แฉะใส่น้ำเยอะหน่อยก็ได้แล้ว อย่าไปถือจริงจังกับเรื่องนี้มากนัก

นอกจากนั้น ก็มีดอกไม้ธูปเทียน ดอกไม้ในชุ้นตั๋วจะเน้นสีสันสดใสสวยงาม

แต่ของไหว้ที่จะไม่ปรากฏในชุ้นตั๋วทั้งที่นิยมไหว้เจ้าเกือบทุกเทศกาลและทุกพิธีกรรมคือหลักฉ่ายหรือของแห้งหกอย่าง (หมี่สั่ว, วุ้นเส้น, ดอกไม้จีน, ฟองเต้าหู้, เห็ดหอมและเห็ดหูหนู)

ท่านว่าเพราะมันชวนให้รู้สึกแห้งเหี่ยวในจิตใจ พอเป็นของไหว้วสันต์หรือปีใหม่ก็ควรจะต้องเห็นแล้วรู้สึกเบิกบาน อิ่มเอิบสดใส จึงตัดพวกของแห้งเหล่านี้ออกไปทั้งหมด แม้แต่ในพิธีแต่งงานท่านก็ไม่ให้ใช้หลักฉ่ายไหว้เจ้าเพราะกลัวเรือนหอบ่าวสาวจะแห้งเหี่ยวไม่สดใสไปด้วย

 

เมื่อเจ้าบ้านตระเตรียมจัดวางของไหว้เรียบร้อยแล้ว พอถึงห้าทุ่มตรงก็จุดธูปเทียนบูชา ขอพรขอความสวัสดิมงคลต่างๆ บางคนก็ถือเอาเวลานี้เป็นฤกษ์สำหรับเปลี่ยน “ชุ้นเหลียน” หรือกลอนมงคลคู่ที่สองข้างประตูหน้าบ้าน ฉีกของเดิมทิ้งแล้วเปลี่ยนคู่ใหม่ซึ่งจะติดไว้ตลอดทั้งปี และยังมีการขึ้นผ้าแดงมงคล (หมึ่งฉาย) เหนือประตูบ้านตลอดจนถึงวันสิบห้าค่ำหรือจนกว่าจะสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีนด้วย

ไหว้เสร็จแล้วบางบ้านก็ยังไม่นอนกันนะครับ กินข้าวมื้อดึกเอาฤกษ์เอาชัยปีใหม่ทั้งครอบครัว ดูรายการทีวีปีใหม่ (จีน) อะไรว่าไป พอเช้ามืดก็ยกน้ำชาถวายพระอีกรอบโดยของไหว้ที่ตั้งไว้เมื่อคืนจะยังไม่ยกออก

ตามธรรมเนียมที่เคยกล่าวไว้แล้วว่า “ศุภมงคลเทพสถิตสามทิวา” หากบ้านใดจัดงานมงคล ไม่ว่าจะขึ้นบ้านใหม่ ไหว้ชุ้นตั๋วปีใหม่ สมโภชฉลองวัดแซยิดเทพเจ้าหรืองานมงคลอื่นๆ ของไหว้โดยเฉพาะที่ไม่เน่าเสียก็จะตั้งทิ้งไว้บนโต๊ะเช่นนั้นเป็นเวลาสามวัน และจะต้องจุดธูปบูชาตลอดทั้งสามวันนั้น หากขึ้นผ้าแดงหน้าบ้านก็จะแขวนไว้สามวันเช่นกัน

กระนั้น แม้โดยกำหนดจะต้องตั้งชุ้นตั๋วตั้งแต่วันหนึ่งค่ำไปจนถึงวันสามค่ำให้ครบสามวัน แต่ในทางปฏิบัติ การตั้งชุ้นตั๋วจะตั้งทิ้งไว้จนถึงวันสี่ค่ำในช่วงเย็นรวมเป็นสี่วัน

เหตุเพราะท่านให้ตั้งเพื่อรอรับ “เจ้าเตา” เสด็จกลับมาที่บ้านด้วยเลยครับ ตามความเชื่อ เจ้าเตาไฟหรือซือเบ๋งเจ้ากุนจะเสด็จกลับมาจากสวรรค์หลังจากไปทูลถวายรายงานความประพฤติเจ้าของบ้านในวันสี่ค่ำเดือนอ้ายจีน เจ้าบ้านก็จะแสดงความอารีและเคารพด้วยการเซ่นไหว้ต้อนรับ แต่หากตั้งชุ้นตั๋วในบ้านแล้วก็เพียงแค่แทรกของไหว้เพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งจานเล็กๆ เช่น ทอฟฟี่หรือลูกกวาด และมีกระดาษสำหรับไหว้เจ้าเตาเพิ่มขึ้นอีกชุดเท่านั้นเอง

เมื่อไหว้รับเจ้าเตาเรียบร้อย ในตอนเย็นของวันสี่ค่ำ ของที่ตั้งไหว้ชุ้นตั๋วจะถูกยกออกเกือบทั้งหมด ส่วนข้าวชุ้นปึ่งที่บูดเสียหรือแห้งกรังแล้วก็ทิ้งไป

แต่จะเหลือเพียงของไหว้อย่างเดียวเท่านั้นที่ยังคงตั้งทิ้งไว้บนโต๊ะคือขนมเข่ง

 

ขนมเข่งจานดังกล่าวจะถูกตั้งทิ้งไว้จนถึงวันเจ็ดค่ำ (โฉ่ยชิด) จึงจะยกออก มีเกร็ดเล็กน้อยว่า วันเจ็ดค่ำเดือนอ้ายจีนเป็น “วันมนุษย์” เพราะเป็นวันที่เจ้าแม่ลู่โอ้ (หรือหนี่วา) เทพีดึกดำบรรพ์สรรค์สร้างมนุษย์ขึ้นมา และยังเป็นวันที่เจ้าแม่อุดรอยรั่วฟ้า (ป้อเที้ยนยิด) เนื่องจากในตำนานสร้างโลกของจีน ในตอนที่สร้างโลกนั้น เกิดเหตุภัยพิบัติจนฟ้ารั่ว มนุษย์ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส เจ้าแม่ลู่โอ๊จึงเอาหินอุดรอยรั่วของฟ้าเอาไว้

การตั้งขนมเข่งทิ้งไว้บนโต๊ะถูกเชื่อมโยงไปยังตำนานนี้ โดยถือเอาว่าขนมเข่ง (ที่แข็งเหมือนหินแล้วนั้น) เป็นของที่เจ้าแม่ลู่โอ๊จะใช้อุดรอยรั่วฟ้านั่นเอง

อันที่จริงการตั้งขนมเข่งทิ้งไว้ของคนจีนชวนให้ผมนึกถึงธรรมเนียมปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น ที่จะต้องตั้งขนมโมจิ (ขนมทำจากแป้งข้าวเช่นเดียวกับขนมเข่ง) เซ่นไหว้เทพรับปีใหม่และทิ้งไว้หลายวันเช่นกัน แถมยังตั้งซ้อนกันเหมือนของจีน และจะทุบให้แตกนำมาปรุงกินกันหลังสิ้นสุดเทศกาลปีใหม่

บางท่านให้ข้อมูลที่น่าสนใจกับผมว่า จีนกวางตุ้งมักจะนำส้มเล็กๆ วางไว้บนขนมเข่ง ซึ่งเหมือนกับวิธีปฏิบัติของญี่ปุ่นเลยครับ ทั้งหมดนี้ไม่น่าแปลกใจเพราะเราก็รู้กันดีว่าญี่ปุ่นรับธรรมเนียมจากจีนไปเยอะ เพียงแต่ไม่คิดว่า คนจีนยังคงมีธรรมเนียมเก่าๆ บางอย่างที่ยังพอเห็นร่องรอยความเชื่อมโยงกับญี่ปุ่นอยู่

 

วันโฉ่ยชิดยังเป็นวันที่นิยมกินผักต้มเจ็ดอย่าง (ชิดไฉ่) รวมกัน

จะมีผักอะไรบ้างนั้นผมก็จำไม่ได้ แต่คล้ายๆ ต้มจับฉ่ายนั่นแหละ ท่านว่าเป็นมงคลในวันมนุษย์ อันที่จริงคงเป็นกุศโลบายให้ได้ทานผักเยอะๆ เพื่อพักท้องจากการกินหมูเห็ดเป็ดไก่มาตลอดหลายวัน

และบางท่านก็ถือว่าวันโฉ่ยชิดเป็นวันพระด้วย จึงได้กินผัก (กินเจ) ในวันนี้

หลังวันเจ็ดค่ำพอได้พักการไหว้เจ้าสักวันสองวันแล้ว ก็จะถึงวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน คือวันไหว้ทีกง (ทีก๊อง) วันเทวสมภพของฟ้าหรือหยกหองสย่งเต่ (เง็กเซียนฮ่องเต้) ในวันเก้าค่ำ

ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง