รถไฟฟ้ามหานคร

ปริญญา ตรีน้อยใส

เมื่อปีที่แล้ว พาไปมองรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทั้งที่สร้างเสร็จนานแล้ว เพิ่งสร้างเสร็จ กำลังสร้าง และอยู่ในแผนจะสร้างต่อไป เพื่อให้เห็นว่าเครือข่ายการขนส่งมวลชนระบบราง ที่รองรับการสัญจรของผู้คนในมหานครแห่งนี้ แปรเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

จากภาพโบราณ ที่เห็นเพียงการสัญจรทางน้ำโดยเรือ ในแม่น้ำลำคลอง มาเป็นภาพถ่ายการสัญจรทางบก ด้วยพาหนะบนถนนสายต่างๆ มาถึงภาพสยองของปริมาณรถยนต์จอดหรือเคลื่อนช้าๆ บนทางด่วน ในช่วงเช้าเย็น

มาเป็นภาพปัจจุบัน ที่มีรถไฟฟ้า ทั้งที่มุดใต้ดินและใต้แม่น้ำ ทั้งที่วิ่งลอยฟ้าข้ามไปมาราวกับรถไฟเหาะโรลเลอร์โคสเตอร์ ในสวนสนุก

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการขนส่งทางราง รายงานตัวเลขผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ว่าในวันนั้น มีรถวิ่งให้บริการรวม 3,540 เที่ยว มีผู้ใช้บริการทุกสาย รวม 1,829,064 คน-เที่ยว

นั่นหมายความว่า ทุกวันนี้ มีคนในกรุงเทพฯ เป็นล้านคน เดินทางไปมาด้วยรถไฟฟ้าสายต่างๆ

 

สําหรับ รถไฟฟ้าบีทีเอส เจ้าเก่า ที่เปิดให้บริการมานานกว่าใคร ทั้งสองสายคือ สายสุขุมวิท และสายสีลม ที่ทุกวันนี้ ขยายเส้นทาง ยาวไกลไปถึงลำลูกกา ปากน้ำ และบางหว้านั้น มีผู้ใช้บริการมากที่สุด มากถึงเก้าแสนคน-เที่ยว (896,552) และยังมีบริการสายสั้นๆ อย่างสายสีทอง สำหรับลูกค้าศูนย์การค้าไอคอนสยาม อีกแปดพันคน-เที่ยว (8,090)

รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล สายสีน้ำเงินที่บางช่วงเป็นรถไฟใต้ดิน บางช่วงเปลี่ยนใจไปลอยฟ้า มีจำนวนผู้โดยสารไม่น้อยเลย คือ ห้าแสนคน-เที่ยว (533,901)

เท่ากับว่า จำนวนผู้โดยสาร เฉพาะสองระบบเก่านี้ รวมกันแล้วเกือบถึงร้อยละแปดสิบของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด ซึ่งไม่แปลก เพราะรถไฟสายอื่นๆ ล้วนเป็นสายใหม่ เพิ่งเปิด

ให้บริการ และพื้นที่บริการอยู่บริเวณชานเมือง

เริ่มจากรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ที่วิ่งไปสนามบินสุวรรณภูมิ และสายฉลองรัชธรรม สีม่วง วิ่งไปถึงถนนกาญจนาภิเษก คลองบางไผ่ มีจำนวนผู้โดยสารพอๆ กัน คือ แปดหมื่นคน-เที่ยว (80,396 และ 82,137)

ส่วนรถไฟฟ้า สายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งเปิดให้บริการ ผู้คนยังไม่คุ้นเคย จึงมีจำนวนผู้โดยสารน้อยกว่า คือ 60,540 44,509 และ 37,416 คน-เที่ยว ตามลำดับ

 

ตัวเลขที่เห็น เป็นเพียงจำนวนผู้โดยสารในวันเดียว และเป็นวันศุกร์ ต้นเดือนและต้นปี ตัวเลขคงจะเพิ่มมากขึ้นในวันอื่นของเดือน ของปี โดยเฉพาะวันที่มีกิจกรรม หรือเทศกาลงานต่างๆ รวมทั้งคนที่จะเปลี่ยนใจมาเดินทางแบบนี้ แทนการขับรถยนต์ หรือนั่งรถตู้ประจำทาง

ตัวเลขที่เห็น น่าจะมีความสำคัญต่อผู้บริหาร ในการตัดสินใจวางแผนเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ การแก้ปัญหาจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5

รวมทั้ง ถ้าพิจารณาใช้ตัวเลขดังกล่าวเป็นฐาน ก็น่าจะนำไปคำนวณแบ่งผลประโยชน์ในแต่ละวันได้ มากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการ

นอกจากจะได้มีตั๋วใยแมงมุมแล้ว อาจนำไปสู่การเหมาจ่ายค่าบริการรายวัน รายอาทิตย์ รายเดือน ได้เช่นประเทศอื่นๆ

 

ตัวเลขที่เห็น ยังสะท้อนภาพผู้คนในกรุงเทพฯ เป็นล้านคน ที่ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ยอมเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าบ้าง ยอมเสียเวลาบ้าง และยอมไม่สะดวกบ้าง

ในขณะที่ผู้คนอีกหลายล้านยังเอาเปรียบ จ่ายเงินน้อยกว่าบ้าง เดินทางถึงที่หมายเร็วกว่าบ้าง หรือนั่งอยู่ในรถฟังเพลงสบายกว่าบ้าง ในขณะที่สร้างมลภาวะต่างๆ ยังบ่นอยู่ได้ว่าการจราจรติดขัด

รวมทั้งผู้บริหารบ้านเมือง จะต้องมองภาพรวม เหมือนเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้คิดแค่ว่า โครงการรถไฟฟ้าเป็นธุรกิจบริการ ดำเนินการแล้วต้องมีกำไร คุ้มกับการลงทุน

หากมองเห็นเป็นกิจการขนส่งมวลชน เป็นสวัสดิการให้ความสะดวกสาธารณชนผู้เสียภาษี

และเข้าใจว่าให้ผลตอบแทนด้านอื่น เช่น เป็นการลดปริมาณรถยนต์บนถนนและทางด่วน ลดการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิง ลดมลภาวะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ลดปัญหาสุขภาพ

และเป็นสวัสดิการเด็กนักเรียน เยาวชน และผู้สูงวัย •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส