พระปิดตายันต์ยุ่งสำริด หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง พระเกจิชื่อดังย่านฝั่งธนฯ

“พระภาวนาโกศล” หรือ “หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร” หรือ “หลวงพ่อวัดหนัง” เจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

พระเกจิชื่อดัง ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา และรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี

วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียง มีมากมายหลายรุ่น อาทิ เหรียญรุ่นยันต์สี่ หรือเหรียญยันต์ห้า อีกทั้งพระชัยวัฒน์ก็เป็นที่นิยมมากเช่นกัน

แต่ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ พระปิดตายันต์ยุ่ง เนื้อโลหะผสม

หลวงปู่เอี่ยม สร้างพระปิดตาไว้หลายอย่าง แยกตามเนื้อได้เป็นเนื้อสำริด เนื้อตะกั่ว เนื้อผงใบลาน เนื้อผงหัวบานเย็น และเนื้อไม้แกะ

จากคำบอกเล่าต่อกันมาว่าสร้างพระปิดตาเนื้อผงและพระปิดตาเนื้อไม้แกะขึ้นก่อน ต่อมาจึงได้สร้างพระปิดตาเนื้อตะกั่วและเนื้อสำริด

พระปิดตายันต์ยุ่งเนื้อสำริด

ในปี พ.ศ.2436 เมื่อเรือรบของฝรั่งเศสเข้ามาปิดอ่าวสยาม ทหารและชาวบ้านได้เข้ามาขอรับพระจนล้นหลาม พระปิดตาเนื้อตะกั่วที่สร้างไว้ก่อนหน้าแจกไปจนหมด จึงให้พระภิกษุ-สามเณรและสานุศิษย์ ช่วยกันเทหล่อพระเนื้อตะกั่วต่อ

หลังจากนั้น จึงได้สร้างพระปิดตาเนื้อสำริด ประมาณว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 ตอนที่ได้มาครองที่วัดหนังแล้ว และเมื่อคราวบูรณะเขื่อนที่หน้าวัด ปี พ.ศ.2463 ก็มีการเทพระชัยวัฒน์และพระปิดตาเนื้อสำริด สมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงินช่วยเหลือในครั้งนั้นด้วย

พระปิดตาเนื้อสำริด มีเรื่องบอกเล่าจากหลวงพ่อเล็ก ลูกศิษย์ใกล้ชิดว่า หลวงปู่เอี่ยมจะให้จัดหาโลหะต่างๆ ซึ่งจะนำมาเป็นส่วนผสมเนื้อโลหะสำริด แล้วให้ช่างรีดเป็นแผ่นบางๆ เพื่อให้ลงอักขระเลขยันต์ ต่อจากนั้น จึงมอบให้ช่างนำไปหลอมเทหล่อเป็นองค์พระอีกทีหนึ่ง

หลวงปู่เอี่ยม สร้างพระปิดตาเนื้อสำริดน้อยกว่าพระชัยวัฒน์มาก แต่ต่อมาก็สร้างอยู่หลายครั้งเช่นกัน แบบพิมพ์นั้นจะเป็นพระปิดทวารและมียันต์วางเป็นเส้นสายตลอดเกือบทั้งองค์พระ นิยมเรียกกันว่า พิมพ์ยันต์ยุ่ง ในส่วนที่บริเวณหัวเข่าถ้าเป็นยันต์ตัวนะ มักจะเรียกกันว่าพิมพ์นะหัวเข่า เป็นต้น

การวางยันต์ขององค์พระ ช่างจะปั้นเทียนเป็นเส้นลักษณะคล้ายเส้นขนมจีน แล้วจึงนำมาวางเป็นรูปยันต์ตามกำหนดของหลวงปู่เอี่ยมอีกทีหนึ่ง ตอนยังเป็นหุ่นเทียน ดังนั้นเส้นสายของยันต์ จึงจะไม่เหมือนกันทุกองค์ทีเดียวนัก เนื่องจากเป็นการวางยันต์ทีละองค์

ปัจจุบันพระปิดตายันต์ยุ่งเนื้อสำริด หาพบได้ยากมากองค์หนึ่งในวงการ

หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร

อัตโนประวัติเป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด เกิดในสกุลทองอู๋ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2375 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ครอบครัวประกอบอาชีพชาวสวน

อายุ 9 ขวบ เข้าศึกษาที่สำนักพระอาจารย์รอด วัดหนัง ครั้นอายุได้ 11 ปี ศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักพระมหายิ้ม วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อจากนั้น ได้ไปอยู่ในสำนักพระปิฎกโกศล (ฉิม) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)

ต่อมากลับมาบรรพชา และศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดหนังสำนักเดิมอีกวาระหนึ่ง การศึกษาในระยะนี้ ดำเนินมาหลายปีติดต่อกันจนกระทั่งถึง พ.ศ.2394 เมื่ออายุได้ 19 ปี จึงได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมสนามหลวง ซึ่งสมัยนั้น ต้องเข้าสอบแปลปากเปล่า ณ เบื้องพระพักตร์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แต่น่าเสียดายที่สอบพลาดไป เลยลาสิกขา กลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง

เมื่ออายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดราชโอรสาราม มีพระสุธรรมเทพเถร (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระธรรมเจดีย์ (จีน) พระภาวนาโกศล (รอด) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา สุวัณณสโร

ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมุ่งมั่นศึกษาด้านปริยัติธรรมมาก ในระยะสั้น ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดนางนอง โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่รอด วัดหนัง ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านวิทยาคมขลัง จนกลายเป็นศิษย์เอกที่พระอาจารย์รักมาก

 

ต่อมาในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลวงปู่รอด ถูกถอดจากสมณศักดิ์ จึงได้ย้ายไปอยู่ที่วัดโคนอน ซึ่งหลวงปู่เอี่ยมตามไปรับใช้ด้วย ไม่นานนักก็ถึงแก่มรณภาพ จึงได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน

นอกจากนี้ ยังเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์

พ.ศ.2441 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูศีลคุณธราจารย์ และอาราธนาไปครองวัดหนัง และรุ่งขึ้นอีก 1 ปี ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง เป็นพระราชาคณะที่ พระภาวนาโกศล (เอี่ยม) ซึ่งเป็นสมณศักดิ์เดียวกับพระอาจารย์นั่นเอง

ปฏิบัติกิจวัตรเป็นประจำวันอย่างสม่ำเสมอเป็นปกติ เช่น การลงอุโบสถ แม้ฝนจะตกบ้างเล็กน้อยก็เดินกางร่มไป

เนื่องจากเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์

ในงานพระราชพิธีต่างๆ จะได้รับสั่งให้ขุนวินิจฉัยสังฆการี นิมนต์เข้าไปในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ วันฉัตรมงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น

ครองวัดหนังอยู่ถึง 27 ปีเศษ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้วัดเป็นอย่างมาก

จวบจนละสังขาร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2469 สิริอายุ 94 ปี พรรษา 72 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]