ปริศนาโบราณคดี : พระอุปคุต VS พระบัวเข็ม ตกลงองค์เดียวกัน หรือคนละองค์? (4)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

พระบัวเข็มเป็นปางหนึ่งของพระอุปคุต?

สองฉบับที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ “พระอุปคุต” ในฐานะ “พระอรหันต์” รูปหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นหลังยุคพุทธกาลราว 100 ปี

และไม่ว่าตำนานฝ่ายบาลีหรือสันสกฤตจะบันทึกเรื่องราวของพระอุปคุตผิดแผกแตกต่างกันค่อนข้างมากเพียงไรก็ตาม

ทว่า โดยภาพรวมแล้ว พระอุปคุต ก็ยังเป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึง “พระอรหันต์ผู้มีอิทธิฤทธิ์อย่างแรงกล้าในการปราบพญามาร” ข้อสำคัญยังคงมีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน

ในขณะที่ “พระบัวเข็ม” ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในแทบทุกวงการ ไม่ว่าวงการพระเครื่อง วงการสงฆ์ แวดวงนักวิชาการท้องถิ่น วงการท่องเที่ยวทัวร์อุษาคเนย์ ต่างล้วนสรุปตรงกัน (ส่วนหนึ่งอาจเพราะคัดลอกต่อๆ กันมาจากอินเตอร์เน็ต) ว่า…

พระบัวเข็ม เป็นปางหนึ่งของพระอุปคุต โดยระบุว่าพระอุปคุตมีปางหลักๆ เพียงสองปาง เช่นคือ ปางฉกบาตร (ส่วนปางอื่นๆ มาทำขึ้นใหม่ในยุคหลัง) กับอีกปางที่ประทับใต้สะดือทะเล มีรูปลักษณ์เฉพาะ เรียก “ปางบัวเข็ม” หรือ “พระบัวเข็ม”

โดยมักอ้างกันว่า พระบัวเข็ม นิยมมากในหมู่มอญ พม่า ไทใหญ่ ต่อมาจึงค่อยๆ เผยแพร่เข้ามาในสยามสมัยรัชกาลที่ 3-4 โดยพระภิกษุมอญ

จะยังมีกลุ่มที่ยังไม่ยอมฟันธงว่า พระปฏิมาทั้งสองคือเรื่องเดียวกัน ก็คือกลุ่มของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ทั้งฝ่ายกรมศิลปากร และฝ่ายมหาวิทยาลัยศิลปากร เท่านั้น

คือไม่ถึงกับปฏิเสธ ว่าเป็นคนละองค์กัน แต่ก็มีคำถามมากมายหลายข้อที่คาใจและท้าทาย จึงนำมาโยนให้ผู้อ่านช่วยกันขบคิดก่อนที่จะสรุป

โดยเฉพาะคำถามที่ว่าในวัฒนธรรมมอญ พม่า และไทใหญ่นั้น เขาเรียกพระบัวเข็มกันว่าอย่างไร คนกลุ่มนี้มองว่าพระบัวเข็ม เป็นปางหนึ่งของพระอรหันต์อุปคุต ตามความเข้าใจของคนไทยด้วยหรือไม่

ลำพังพระบัวเข็มเอง ก็มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบใบบัวปรกเศียร ฐานประดับกุ้งหอยปูปลา และแบบเศียรคาดเพชรพลอย พระหัตถ์กำผลสมอหรือหม้อยา

และหากพระบัวเข็มเป็นปางหนึ่งของพระอุปคุตจริงแล้วไซร้ ทำไมพระอรหันต์จึงไปมีรูปลักษณ์คล้ายพระพุทธเจ้า?

หรือแท้จริงแล้ว พระอุปคุตต่างหากที่เป็นปางหนึ่งของพระบัวเข็ม?

 

พระบัวเข็มเป็นพระอรหันต์หรือพระโพธิสัตว์?

คําถามแรกที่ต้องช่วยกันคลี่คลายให้ได้คือ “พระบัวเข็ม” คือใครกันแน่ เป็นพระอรหันต์หรือพระโพธิสัตว์?

ในเมื่อกล่าวกันว่า พระบัวเข็ม อุบัติขึ้นด้วยการนำติดตัวเข้าสู่แผ่นดินสยามครั้งแรกโดย “พระภิกษุชาวมอญ” รูปหนึ่ง นำมาถวายแด่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ฉายา “พระวชิรภิกขุ”

โดยไม่มีเอกสารใดระบุนามของพระภิกษุมอญรูปนั้นว่าจะใช่ “พระซาย” ฉายา “พุทฺธวํโส” หรือไม่ ผู้สร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้แก่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 จนถึงขนาดขออุปสมบทใหม่ในวงศ์พระสงฆ์มอญ (รามัญนิกาย) เมื่อ พ.ศ.2372 นำไปสู่การตั้งคณะธรรมยุตขึ้นในปี พ.ศ.2376

ข้อมูลที่พบในหนังสือและโลกออนไลน์มักกล่าวเหมือนๆ กันว่า ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้นำพระบัวเข็มองค์นั้นเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีขอฝนหรือ “พระพิรุณศาสตร์” ทำให้ชาวสยามเชื่อกันว่า พระบัวเข็มมีคุณในแง่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ โดยไม่ได้มีการศึกษาประวัติปูมหลังเบื้องลึกของพระบัวเข็ม (ด้วยคงเข้าใจกันโดยนัยว่า เพราะคือองค์เดียวกันกับพระอุปคุตนั่นเอง ฉะนั้นประวัติของพระบัวเข็มก็ย่อมเป็นบุตรพ่อค้าน้ำหอมเหมือนกัน)

เมื่อไม่สามารถหาประวัติของพระบัวเข็มในเอกสารฝ่ายไทยได้ ผู้เขียนจึงหันไปศึกษาเอกสารต่างประเทศของทางฝ่ายพม่า มอญ ลังกา อินเดีย ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส

จึงได้พบว่า มีผู้เคยศึกษาเรื่องพระบัวเข็มในอดีตไว้บ้างไม่มากนัก

ดังนี้

 

ศาสตราจารย์ ฌ็อง บัวเซอลีเยร์ (Prof. Jean Boisselier) นักโบราณคดีคนสำคัญในช่วงทศวรรษ 50-90 จากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ได้กล่าวว่า

ในประเทศพม่า นับตั้งแต่ยุคศรีเกษตรหรือปยู่เป็นต้นมา (พุทธศตวรรษที่ 10) ชาวปยู่และชาวมอญบูชาพระพุทธปฏิมาที่ชวนให้น่าสงสัยอยู่รูปแบบหนึ่ง ซึ่งสอบถามแล้วชาวพื้นถิ่นในพม่าแล้ว เรียกกันว่า “พระทักษิณสาขา” ภาษาบาลีใช้ว่า Dakkhinsakha ส่วนภาษามอญใช้ว่า Detkhina-Tharkhar

เหตุที่มองว่ามีลักษณะพิสดาร ก็เพราะผสมผสานระหว่าง รูปลักษณ์ที่ประทับนั่งในปางมารวิชัย (ปราบมาร) คือเอามือขวาวางพาดเข่าขวาแตะธรณี และเอามือซ้ายวางบนตัก มีข้อสังเกตคือเอาคางวางบนไหล่ คล้ายเก็บส่วนคอ และมักนั่งก้มหน้า

ในขณะที่ส่วนพระเศียรนั้น มีการทำรูปใบบัวปรกคล้ายหมวก ซึ่งมีรูกลมกลวงอยู่ข้างบน หมวกใบบัวแบบนี้ “อาจารย์บ๊วซ” (หมายถึง ศาสตราจารย์ ฌ็อง บัวเซอลีเย่) กล่าวว่า เคยพบครั้งแรกในรูปประติมากรรมของท้าวกุเวร (หรืออีกชื่อคือท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศเหนือในกลุ่มท้าวจตุโลกบาล ท้าวกุเวรมีลักษณะคล้ายท้าวชุมพล เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งของชาวทมิฬ) ในศิลปะอมราวดี ที่อินเดียใต้ ในพุทธศตวรรษที่ 7 และต่อมาพบในเครื่องประดับของ “คณะ” หรือคนแคระ (Gana) ที่เป็นบริวารคอยเฝ้าศาสนสถานบนแผ่นหินในศิลปะลังกา ยุคอนุราธปุระ ราวพุทธศตวรรที่ 7 เป็นต้นมา

อาจารย์บ๊วซเรียกหมวกใบบัวกลีบใหญ่นี้ว่า “Padma” ปัทมา ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในพระพุทธรูปทั่วไป ต่อมาดอกบัวได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ “พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ” หรือพระโพธิสัตว์ผู้ถือดอกบัว (ปาณิ หรือ ปาณี แปลว่าผู้ถือ) ในฝ่ายมหายาน เพียงแต่พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิไม่เอาใบบัวมาปรกเศียร ผิดกับท้าวกุเวร และตัวคณะ

อาจารย์บ๊วซเชื่อว่า “พระทักษิณสาขา” นี้คือ พระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ที่พัฒนามาจากเทพพื้นเมืองในฝ่ายอินเดียใต้และลังกา คือการแปลงท้าวกุเวรและคณะ (ยังคงเหลือลักษณะอ้วนต้อพุงพลุ้ย และมีใบบัวปรกผม) ด้วยการที่ชาวมอญได้นำมาผสมผสานกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยของพระพุทธเจ้า (พระมหามัยมุนี) และตั้งชื่อเฉพาะใหม่ว่า “พระทักษิณสาขา”

ด้วยเหตุที่ได้นำกิ่งไม้โพธิ์จากด้านทิศใต้ ซึ่งหักลงมาเองจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ (ต้นโพธิ์นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี) จนแห้งสนิทดีแล้ว นำมาแกะสลักทาด้วยยางรักหุ้มทองเป็นพระโพธิสัตว์ขนาดเล็ก

อันเป็นที่มาของชื่อ “พระทักษิณสาขา” (“ทักษิณ” แปลว่า “ใต้” ไม่ใช่เป็นชื่อเฉพาะของใคร…) สะท้อนว่าในอดีตพระบัวเข็มต้องแกะด้วยไม้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดเล็กจิ๋ว จนถึงกับที่พระภิกษุมอญสามารถพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ แล้วจึงนำมาถวายแด่รัชกาลที่ 4

 

อนึ่ง ผู้เขียนสืบค้นต่อไปจนพบว่า “ทักษิณสาขา” คำนี้ เป็นคำที่ปรากฏใน “ศิลาจารึกกัลยาณี” เมืองหงสาวดี ด้วยเช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าจารึกกัลยาณีสีมานี้ เป็นกลุ่มจารึกมอญมีทั้งหมด 10 หลัก เขียนในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ แห่งรามัญเทศะ เมื่อ พ.ศ.2019

พบคำว่า Dakkhinsakha ในจารึกหลักที่ 2 บรรทัดที่ 45 กล่าวถึง การสร้างวิหาร Maricavatticeti (Mirisavetiya) การสร้าง “ทักษิณสาขา” และการสร้างโลหะปราสาท ของกษัตริย์ลังกาแห่งกรุงอนุราธปุระ (ซึ่งการปรากฏคำว่า “ทักษิณสาขา” ในที่นี้ ไม่แน่ใจว่าหมายถึง การปลูกต้นโพธิ์ให้กิ่งโน้มไปทางทิศใต้ หรือว่าหมายถึงการแกะสลักพระที่ชาวไทยเรียกว่าพระบัวเข็ม?)

ในที่นี้ต้องขอยกย่องคำอธิบายของอาจารย์บ๊วซ เพราะถือว่าเป็นการเปิดประเด็นในมิติเรื่อง หมวกใบบัว “ปัทมะ” กับการทำท่านั่งปางมารวิชัย เป็นอย่างดี ซึ่งอาจารย์บ๊วซมีแนวคิดว่า จุดกำเนิดของพระบัวเข็มน่าจะเป็นการรวมตัวกันระหว่าง ท้าวกุเวร คณะ และพระพุทธรูปปางมารวิชัย

โดยที่ท่านตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เป็นพระพุทธปฏิมามีหน้าตาอ่อนเยาว์มาก แต่ท่านยังไม่ได้ตั้งคำถามถึง เหตุผลของการเจาะรูเข็มสำหรับฝังพระธาตุหรือตะกรุดทั้ง 9 รูนั้น

รวมทั้งยังไม่ได้วิเคราะห์ถึงอีกรูปลักษณ์หนึ่งของพระบัวเข็ม ในมิติที่ไร้หมวกปัทมะ แต่คาดหน้าผากด้วยเพชรพลอย และในมือถือผลสมอแทน

มิติดังกล่าว เป็นการหยิบยืมลักษณะเด่นของ “พระไภสัชยคุรุ” พระโพธิสัตว์อีกองค์หนึ่งของพุทธฝ่ายมหายาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นหมอยา มาผสมผสานกันด้วยหรือไม่

สัปดาห์หน้าจะค่อยๆ คลี่คลายปมของพระบัวเข็มกันอย่างเข้มข้นอีกครั้ง