คุยกับทูต | เยฟกินี โทมิคิน ในมุมมองของทูตรัสเซียวันนี้ (2)

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา นักเรียนนายร้อยและนายทหารไทยเดินทางไปรัสเซียเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมที่สถาบันการทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหมรัสเซีย หลักสูตรแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาถึงความร่วมมือทางทหารในการดำเนินกิจกรรมการฝึกปฏิบัติการและการรบร่วม และเรื่องที่เกี่ยวกับการผลักดันการขายอาวุธ

“ผมต้องการให้ทราบถึงแนวโน้มเชิงบวกในการพัฒนาความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียและไทย โดยเฉพาะในปี 2023 มีการหารือกันระหว่าง คณะผู้แทนจากกองทัพสหพันธรัฐรัสเซียและกองทัพไทย”

นายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ชี้แจง

“โดยอยากจะเน้นย้ำถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของการติดต่อกันระหว่างรัสเซีย-ไทย โดยเฉพาะเมื่อกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ร.ต.เอ.บี. อาสลามเบคอฟ (A.B. Aslambekov) เดินทางมาถึงสยามในปี 1882 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทวิภาคีทางการทหาร”

นายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

“ความร่วมมือระหว่างประเทศของเรากำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการศึกษาทางทหาร โดยรวมแล้ว นับตั้งแต่ปี 2020 หลังจากการลงนามในข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกันว่าด้วยการรับกำลังพลของราชอาณาจักรไทยเข้าศึกษา ในสถาบันการศึกษาทางทหารของกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธรัฐรัสเซียเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย”

“จนถึงปัจจุบัน นายทหาร 5 นายได้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรโรงเรียนเสนาธิการทหารบกของกองทัพสหพันธรัฐรัสเซีย และ 10 นายได้สำเร็จหลักสูตรการศึกษาภาษารัสเซียขั้นพื้นฐานแล้ว”

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2020 นักเรียนทหารไทย 8 นายจาก 3 เหล่าทัพ ได้เดินทางถึงกรุงมอสโก เพื่อเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรต่างๆ ของกระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย ได้แก่ หลักสูตรเสนาธิการทหารร่วม (State Military Security Course) หลักสูตรภาษารัสเซียทั่วไป หลักสูตรนักเรียนนายร้อย (Engagement of Motorized Rifle (Tank) Troops) และหลักสูตรนักเรียนนายเรือ (Military Education and Scientific Centre of the Navy) ตามกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการทหารไทย-รัสเซีย ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2016 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

27 ตุลาคม 2021 สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยจัดประชุมร่วมกับนายทหารทั้ง 10 นาย ที่ไปศึกษาที่สถาบันการศึกษาด้านการทหารแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

การส่งนักเรียนทหารไปศึกษาต่อที่สหพันธรัฐรัสเซียครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 115 ปี นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เดินทางไปศึกษาหลักสูตรนายร้อยมหาดเล็กและหลักสูตรนายทหารฝ่ายเสนาธิการของรัสเซีย พร้อมกับคุณพุ่ม สาคร นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง

โดยพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ทรงจัดให้บุคคลทั้งสองเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนทหารที่ดีที่สุดของรัสเซีย สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้ทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนดีเยี่ยมเช่นเดียวกับคุณพุ่ม และเมื่อเสด็จกลับประเทศไทย ได้ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และทรงเป็นผู้วางรากฐานการบินของประเทศไทยอีกด้วย

27 ตุลาคม 2021 สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยจัดประชุมร่วมกับนายทหารทั้ง 10 นาย ที่ไปศึกษาที่สถาบันการศึกษาด้านการทหารแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

ในปัจจุบัน ไทยและรัสเซียได้กระชับความสัมพันธ์ทางการทหาร โดยมีการจัดหายุทโธปกรณ์ และจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อาทิ การแข่งขันกีฬาทางทหารระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนการเยือนเมืองท่าระหว่างกัน การเข้าร่วมงานแสดงดนตรีโยธวาทิตในรัสเซียของกองทัพเรือ เป็นต้น (จากกองยุโรปตะวันออก กรมยุโรป)

“ในปี 2024 เราคาดว่าจะมีการเยี่ยมเยียนทั้งระดับสูงและระดับการทำงาน มีการหารือ การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และการมาเยือนของกองทัพเรือ”

“เราตั้งตารอที่จะจัดให้มีการฝึกซ้อมร่วมและการฝึกอบรมประเภทต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายในการต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ และค้ำประกันความมั่นคงทางทะเล”

เอกอัครราชทูตโทมิคิน ตอบคำถามเรื่องการซื้ออาวุธ

“เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก และก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงในทางปฏิบัติหรือที่ดีกว่านั้นคือการสรุปสัญญา รายละเอียดในการเจรจาเป็นเรื่องที่ยังไม่เปิดเผย”

“อย่างไรก็ตาม ผมสามารถพูดได้อย่างเต็มที่ว่า สหพันธรัฐรัสเซียมีระบบอาวุธที่ล้ำสมัยไม่มีใครเหมือน และมีประสิทธิผลในทางปฏิบัติ”

“แน่นอนว่า เราพร้อมที่จะช่วยเหลือในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนากองทัพบกและการปรับปรุงยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย นอกจากนี้ ประเทศของเรายังเปิดรับความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของศูนย์อุตสาหกรรมการทหารของประเทศไทยด้วย”

ปธน.วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เข้าร่วมพิธีทางศาสนาเนื่องในโอกาสวันคริสต์มาสนิกายออโธดอกซ์ //ภาพ VOA

เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา สำนักข่าวท้องถิ่นของรัสเซีย เผยภาพของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสออร์โธดอกซ์ พร้อมกับครอบครัวของทหารรัสเซียที่เสียชีวิตจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

เอกอัครราชทูตโทมิคิน เล่าถึงประเพณีคริสต์มาสของรัสเซียที่แตกต่างจากตะวันตก ว่า

“สิบสามวันหลังจากคริสต์มาสตะวันตกเป็นวันที่ 7 มกราคม คริสตจักรออร์โธดอกซ์รัสเซียจะเฉลิมฉลองคริสต์มาสตามปฏิทินจูเลียนเก่า ซึ่งเป็นวันที่มีพิธีกรรมและการเฉลิมฉลองอันศักดิ์สิทธิ์”

รัสเซียในยุคพระเจ้าซาร์นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ รัสเซียจึงมีการใช้ปฏิทินจูเลียนที่พัฒนาขึ้นมาก่อนคริสตกาล ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ใช้ปฏิทินแบบเกรกอเรียน ซึ่งปฏิทินแบบจูเลียนจะช้ากว่าแบบเกรกอเรียนประมาณ 13 วัน

ปธน.วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เข้าร่วมพิธีทางศาสนาเนื่องในโอกาสวันคริสต์มาสนิกายออโธดอกซ์ //ภาพ VOA

“คริสต์มาสเป็นหนึ่งในประเพณีเฉลิมฉลองที่สนุกสนานที่สุด และในคืนก่อนคริสต์มาส เป็นประเพณีที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันอาหารมื้อพิเศษ”

“ประเพณีเก่าแก่ของรัสเซียซึ่งมีรากฐานมาจากความความเชื่อ ความศรัทธาของคริสเตียนออร์โธดอกซ์ นั่นคือการอดอาหารและมื้ออาหารในวันคริสต์มาสอีฟ โดยทั่วไปการถือศีลอดจะคงอยู่จนถึงหลังการสักการะตอนเย็นหรือจนกว่าดาวดวงแรกจะปรากฏ ต่อจากนั้น คืออาหารมื้อเย็นถือเป็นการเฉลิมฉลองอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีเนื้อสัตว์ก็ตาม”

“แต่เมื่อดาวดวงแรกปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า การเฉลิมฉลองก็เริ่มต้นขึ้น แม้จะอยู่ในวันถือบวชอย่างเคร่งครัด แต่ก็เสิร์ฟอาหารในลักษณะและสไตล์ที่รื่นเริงเป็นพิเศษ ชาวรัสเซียเรียกอาหารมื้อนี้ว่า อาหารค่ำศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Supper) ครอบครัวรวมตัวกันรอบโต๊ะเพื่อเป็นเกียรติแก่การประสูติของพระกุมารเยซู คลุมโต๊ะด้วยผ้าปูโต๊ะสีขาว เป็นสัญลักษณ์ของผ้าห่อตัวของพระคริสต์ หญ้าแห้งถูกนำออกมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงความยากจนในถ้ำที่พระเยซูประสูติ”

ชมการแสดงวงดนตรี Igor Butman Quintet จากรัสเซีย
ดนตรีในสวน ‘Igor Butman and Friends’  โดยนายอิกอร์ บุตแมน ศิลปินแจ๊สระดับตำนาน

“ปัจจุบันโบสถ์คริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ในประเทศไทยมีทั้งหมด 10 แห่ง และสำนักเซมินารี (สถาบันการศึกษาสำหรับฝึกบุรุษเพื่อเตรียมบวชเป็นบาทหลวง) สองแห่ง แห่งหนึ่งในภูเก็ต และอีกแห่งหนึ่งไม่ไกลจากหัวหิน”

“เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมาเยือนมากที่สุดจึง มีโบสถ์คริสต์นิกายออร์โธดอกซ์รัสเซียในสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ รวมถึงกรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต เกาะช้าง และเชียงใหม่ เป็นต้น”

ปีนี้ 2024 ถูกกำหนดให้เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างรัสเซียและไทย เอกอัครราชทูตโทมิคิน กล่าวว่า

“ฝ่ายรัสเซียมีรายการมากมายที่เสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งรวมถึงกิจกรรม ในด้านวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการ การแสดง การประชุมร่วมกัน และโครงการต่างๆ”

“โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เรามีวงดนตรี Igor Butman Quintet ซึ่งรวบรวมนักดนตรีแจ๊ซรุ่นใหม่มากความสามารถจากรัสเซีย มาแสดงที่นี่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานดังกล่าว”

กิจกรรมดนตรีในสวน ‘Igor Butman and Friends’ Concert’ โดยนายอิกอร์ บุตแมน ศิลปินแจ๊ซระดับโลกและศิลปินแห่งชาติรัสเซีย พร้อมคณะ จัดขึ้น ณ แอมฟิเธียเตอร์ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย เพื่อเฉลิมฉลอง เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง ระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรุงมอสโกและนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และครบรอบ 125 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสจักรวรรดิรัสเซีย ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม 1897 ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

เปิดเทศกาลวันภาพยนตร์มอสโกในประเทศไทย ประเดิมฉาย The Challenge รอบปฐมทัศน์

“นอกจากนี้ ยังรวมถึงงานเทศกาล ‘วันภาพยนตร์มอสโก ในประเทศไทย’ (Moscow Film Days in Thailand) ที่คัดสรรภาพยนตร์แนวแอ๊กชั่น ดราม่า ไซไฟ จำนวน 5 เรื่อง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายนปีนี้ ที่โรงภาพยนตร์เครือเอสเอฟ ทั่วประเทศ โดยประเดิมรอบปฐมทัศน์ไปแล้วด้วยภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ ชาเลนจ์” (The Challenge) ที่ถ่ายทำจริงบนอวกาศ”

เทศกาลนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือจากกรมวัฒนธรรมประจำรัฐบาลกรุงมอสโก, สำนักงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ประจำกรุงมอสโก, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประจำประเทศไทย และดำเนินการโดยหน่วยงาน JMCC ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์การออกแบบกรุงเทพมหานคร 2024 (Bangkok Design Week 2024) •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin