เกษียร เตชะพีระ : “ปรัชญาการเมืองตายแล้ว” (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

กล่าวโดยสรุป ข้อเสนอหลักของผมเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองในตอนก่อนๆ ที่ผ่านมาก็คือ

ปรัชญา (เป็นด้านตรงข้ามหรือเป็นปฏิปักษ์กับ) วัฒนธรรมและสถาบัน ในความหมายที่ว่า :

วัฒนธรรม คือการคิดการประพฤติปฏิบัติไปโดยคุ้นชิน ไม่ต้องคิดไม่ต้องถาม ไม่ทันคิดไม่ทันถามด้วยซ้ำไป คิดและทำไปเลยราวอัตโนมัติ เหมือนถูกกดปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็น แล้วเราก็ react ตอบโต้กลับ

ขณะที่ สถาบัน คือแบบแผนการประพฤติปฏิบัติที่ทำซ้ำมาอย่างตั้งมั่นยืนนาน ลงร่องลงตัว สถาปนาเป็นแบบธรรมเนียมปกติ เป็นที่ยอมรับนับถือและได้ความปกป้องคุ้มครองจากระเบียบอำนาจ

ปรัชญา เป็นปฏิปักษ์ด้านตรงข้ามกับ วัฒนธรรมและสถาบัน เพราะมันรื้อคิดตั้งคำถามลงไปตรงฐานรากที่รองรับวัฒนธรรมและสถาบันทั้งหลาย ว่าจริงไหม? ทำไม? เพื่ออะไร? เป็นอย่างอื่นได้ไหม? ฯลฯ

เปรียบเหมือนโดนกดปุ่มที่คุณปู่คุณทวดอุตส่าห์ปลูกฝังติดตั้งไว้ให้กลางหลังมานมนานกาเลแต่อ้อนแต่ออก คุณลูกคุณหลานย่อมยัวะหรือบันดาลโทสะโดยอัตโนมัติทันทีเป็นธรรมดา

การทำงานของปรัชญาจึงเสี่ยงอันตราย ต่อความยัวะ ความเข้าใจผิด ฯลฯ ถึงขั้นนักปรัชญาอาจถูกขับไสไล่ส่งให้ออกไปนอกประเทศซะ

แต่ถ้าปรัชญาไม่ทำงาน แต่กลับเงียบเสียงหรือตายเสียแล้ว สังคมก็จะถูกคุมขัง/แช่แข็งไว้กับฐานคติดังที่เป็นอยู่ตราบชั่วกัลปาวสาน มิไยว่าฐานคตินั้นจะไม่สมเหตุสมผล ฝืนขัดทวนกระแสความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปของโลก ผิดยุคผิดสมัยหรือใช้การไม่ได้แล้วอย่างไรก็ตาม

นั่นหมายความว่าตราบใดที่สังคมหนึ่งๆ ยังร้องทักถามฐานคติทางการเมืองของตัวเองเป็น คิดเองเป็น เลิกเชื่อเป็น ปรัชญาการเมืองก็ยังไม่ตาย และสังคมนั้นก็ยังมีหวังว่าจะค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ และทางเลือกต่างๆ ทางการเมืองอยู่

ทว่าที่น่าเศร้าและหดหู่คือสัญญาณหมายที่บอกให้เรารู้แน่ว่าปรัชญาการเมืองยังไม่ตายและทำงานอยู่อย่างขะมักเขม้นขยันขันแข็งก็คือการเสี่ยงภัยของนักปรัชญาผู้ตั้งคำถามนอกลู่นอกคอกผิดกาลเทศะ ที่จะถูกโกรธเกลียด ขับไล่ให้ออกไปจากที่นี่ซะและพิพากษาลงโทษให้ถึงตายโดยสังคมการเมืองนั่นแหละ

นั่นแปลว่าหากปรัชญาการเมืองไม่ตาย นักปรัชญาการเมืองอาจกลับตายได้!

ดังที่ โสเกรตีส นักปรัชญาชาวกรีก (470-399 ก่อนคริสตกาล) ผู้ขึ้นชื่อลือชาเสมือนนักบุญและมรณสักขี (saint and martyr) ของปรัชญาตะวันตกเคยประสบมาแล้ว

ตอนนั้นเป็นปี 399 ก่อนคริสตกาล นครรัฐเอเธนส์ที่โสเกรตีสอาศัยอยู่เพิ่งผ่านสงครามยืดเยื้อนาน 27 ปีกับนครรัฐสปาร์ตาซึ่งเอเธนส์ตกเป็นฝ่ายปราชัยมาได้ 5 ปี

หลังสงคราม สปาร์ตาผู้พิชิตได้โค่นระบอบประชาธิปไตยเอเธนส์ลงและแต่งตั้ง “สามสิบทรราช” ชาวเอเธนส์ให้ขึ้นมาปกครองแทน ซึ่งพวกนี้ก็ได้เข่นฆ่าล่าล้างปรปักษ์ทางการเมืองของตนอย่างกว้างขวาง ขยายความบาดหมางตึงเครียดขัดแย้งให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น จนครองอำนาจอยู่ได้ปีเดียวสามสิบทรราชก็ถูกโค่นไป และเอเธนส์กลับสู่การปกครองประชาธิปไตยในปี 401 ก่อนคริสตกาล

โสเกรตีสตกเป็นเป้าเพ่งเล็งระแวงสงสัยของฝ่ายประชาธิปไตยหัวอนุรักษนิยมในเอเธนส์ส่วนหนึ่งเพราะเขามีลูกศิษย์ลูกหาเป็นแกนนำสามสิบทรราช 2 คนและยังหันไปเข้าข้างสปาร์ตาอีกคน (ไครเตียส, ชาร์มีเดส, อัลซีเบียเดส ตามลำดับ) ทั้งสามมักสังสรรค์สนทนาทางปรัชญากับโสเกรตีสที่พวกนี้นับถือเป็นครูหรือกัลยาณมิตรอยู่เนืองๆ

นอกจากนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยหัวอนุรักษนิยมยังรู้สึกด้วยว่าพวกนักปราชญ์นี่แหละเป็นตัวการสำคัญที่บั่นทอนให้สังคมเอเธนส์อ่อนแอ ด้วยการบ่อนทำลายทรรศนะและค่านิยมตามประเพณีของเอเธนส์ (“ความเป็นเอเธนส์”) ลงไป

ในสายตาของพวกเขา โสเกรตีสจึงเป็นครูที่ส่งอิทธิพลเลวร้ายต่อบรรดาเด็กหนุ่มชาวเอเธนส์ที่มาเกาะติดเป็นลูกศิษย์ คอยปลุกระดมบ่อนทำลายสังคมวัฒนธรรมอันดีงามแต่เดิมด้วยคำถามผ่าเหล่าผ่ากอก่อกวนจี้ไชยุยงเสี้ยมสอนของตน

ในที่สุดโสเกรตีสจึงถูกตั้งข้อหาว่าไม่ยอมรับนับถือเทพเจ้าทางการทั้งหลายของนครรัฐเอเธนส์ นำเสนอเทพเจ้าใหม่ๆ เข้ามา และทำให้เยาวชนเสียคนไป และเอาตัวขึ้นไต่สวนพิจารณาคดีเบื้องหน้าสภาห้าร้อยของชาวนครเอเธนส์ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลตุลาการ

คำกล่าวแก้คดีของโสเกรตีส (Apology, http://www.sjsu.edu/people/james.lindahl/courses/Phil70A/s3/apology.pdf) ต่อที่ประชุมสภาห้าร้อยของเอเธนส์นั้น เพลโต ศิษย์คนหนึ่งของโสเกรตีสซึ่งเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นการไต่สวนดำเนินคดีอยู่ด้วยได้บันทึกเป็นข้อเขียนไว้ไม่กี่ปีหลังเหตุการณ์ ส่วนในพากย์ไทย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ได้แปลเรียบเรียงและตีความอธิบายประกอบไว้ใน บทที่ 4 “อโพโลจี”, ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น : บทวิเคราะห์โสเกรตีส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524

ใครที่ลองอ่าน “อโพโลจี” ดูย่อมรู้สึกได้ว่าคำกล่าวแก้คดีของโสเกรตีสนี้ไม่ใคร่เข้าท่า ฟังไม่ค่อยขึ้น มันไม่ใช่ข้อถกเถียงโต้แย้งที่จะโน้มน้าวจูงใจสภาห้าร้อยของเพื่อนพลเมืองชาวเอเธนส์ให้เห็นคล้อยตามหรือเห็นอกเห็นใจและปล่อยตัวโสเกรตีสพ้นข้อหาไปไม่

ตรงกันข้ามท่าทีโวหารแบบอวดอ้างคุณงามความถูกต้องของพฤติกรรมตัวเอง (ที่ตนอุตส่าห์ดำเนินชีวิตปุจฉา-วิสัชนาต่อหน้าธารกำนัลเพื่อแสวงหาความรู้แท้จริงทางปรัชญาให้โดยไม่เคยเรียกร้องอะไรตอบแทน) และเสียดเย้ยทวงบุญคุณจากนครรัฐเอเธนส์ (ฉะนั้น บทลงโทษที่ตนพึงได้รับไม่ใช่โทษประหารอย่างที่โจทก์ร้องขอ แต่คือการเลี้ยงดูฟรีตลอดชีวิตต่างหาก หรือไม่ก็แค่เสียค่าปรับพอเป็นพิธี ฯลฯ) ส่งผลให้สภาห้าร้อยลงมติประชาธิปไตยเสียงข้างมากสองครั้งด้วยความหมั่นไส้เพิ่มทวี

โดยที่ครั้งแรกตัดสินว่าโสเกรตีสผิดตามข้อกล่าวหา และครั้งหลังให้ลงโทษประหารโสเกรตีส – แถมคะแนนเสียงข้างมากครั้งหลังยังสูงกว่าครั้งแรกอีกแปดสิบเสียงด้วยซ้ำไป!

แต่คำกล่าวแก้คดีของโสเกรตีสจะฟังขึ้นและเข้าใจได้หากตีความว่า มันไม่ใช่การแก้ตัวของโสเกรตีสเองให้พ้นผิด หากเป็นการกล่าวแก้ปกป้องวิถีชีวิตนักปรัชญาอย่างที่เขาประพฤติปฏิบัติมาตลอดต่างหาก กล่าวคือ ยืนกรานว่าตนได้ประกอบคุณความดีอำนวยประโยชน์แก่ชาวเอเธนส์โดยคอยซักค้านทางปรัชญาต่อความคิดเห็นเชื่อถือศรัทธาของชาวเมืองนี้ให้ตลอดมา ชั่วแต่ว่าชาวเอเธนส์ต่างหากที่เหมือนวานรได้แก้ว มองไม่ออก ไม่ตระหนักเข้าใจเนื้อแท้และคุณค่าของสิ่งที่ตนทำ เอาแต่โมโหโกรธา จึงส่งผลให้เขาต้องมาขึ้นศาลถึงแก่จะเอาชีวิตเขาในวันนี้

ดังที่โสเกรตีสกล่าวไว้ในบางตอนว่า

(อ้างจากสำนวนแปลของ อ.สมบัติ จันทรวงศ์ ที่เอ่ยถึงข้างต้น) :

“ในเมื่อเทพเจ้ากำหนดที่ให้ข้าพเจ้าอยู่ อย่างที่ข้าพเจ้าเชื่อและเข้าใจว่าพร้อมด้วยคำสั่งให้ใช้ชีวิตในทางปรัชญาและเพื่อตรวจสอบตนเองและผู้อื่นแล้ว มีหรือที่ข้าพเจ้าจะละทิ้งตำแหน่งของข้าพเจ้า เพราะกลัวความตายหรืออะไรอื่นใดก็ตามที การกระทำอย่างนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เลวร้าย และเป็นการยุติธรรมที่จะมีผู้เอาตัวข้าพเจ้ามาฟ้องในศาลด้วยข้อหาว่าข้าพเจ้าไม่เชื่อว่ามีเหล่าเทพเจ้า เพราะข้าพเจ้าไม่ทำตามคำพยากรณ์และกลัวความตาย และคิดว่าข้าพเจ้าฉลาดในเมื่อข้าพเจ้าไม่ฉลาด… (“อโพโลจี” น.213)

“…และขณะนี้ข้าพเจ้าก็มิได้เสียใจที่กล่าวแก้คดีไปอย่างที่ข้าพเจ้าได้กระทำไปแล้ว แต่ข้าพเจ้ายินดีที่จะตายหลังจากกล่าวแก้คดีอย่างนั้นยิ่งกว่าที่จะมีชีวิตอยู่หลังจากแก้คดีในแบบอื่น เพราะทั้งในศาลและในสงคราม ข้าพเจ้าและคนอื่นใดก็ไม่ควรจะวางแผนหลบหนีความตายโดยทุกวิถีทาง

“ในการสู้รบนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ว่าคนเราอาจหนีตายได้ด้วยการทิ้งอาวุธและขอความกรุณาจากผู้รุกไล่ และก็ยังมีวิธีการหนีตายอีกมากมายในภาวะอันตรายที่แตกต่างกัน ถ้าเพียงแต่ว่าบุคคลเต็มใจที่จะกระทำและกล่าวอะไรก็ได้

“แต่ท่านสุภาพชน การหนีตายนั้นไม่ยากหรอก การหลีกหนีความชั่วนั้นยากยิ่งกว่า เพราะความชั่ววิ่งเร็วกว่าความตาย สำหรับข้าพเจ้าเนื่องจากข้าพเจ้าช้าและชราแล้ว จึงถูกนักวิ่งช้าไล่ทัน ส่วนโจทก์ของข้าพเจ้าซึ่งทั้งเก่งและเร็วนั้น ถูกความชั่วซึ่งวิ่งเร็วไล่ทัน

“บัดนี้ข้าพเจ้ากำลังจะจากไปเพราะถูกท่านตัดสินว่ากระทำผิดและถูกลงโทษประหาร ส่วนพวกเขาก็จะถูกความจริงตัดสินว่ากระทำการอันชั่วช้าและไม่ยุติธรรม ข้าพเจ้ายึดตามโทษของข้าพเจ้า พวกเขาก็ยึดตามโทษของพวกเขา บางทีสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นไปอย่างนี้ และข้าพเจ้าก็คิดว่ามันเหมาะสมดีแล้ว… (“อโพโลจี” น.264-265)

“แต่บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องจากกัน ข้าพเจ้าไปตาย ส่วนท่านมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่ใครจะไปดีกว่ากัน เทพเจ้าเท่านั้นที่รู้” (“อโพโลจี” น.279)

การธำรงรักษาปรัชญา (ในความหมายสมรรถนะที่จะตั้งคำถามลงไปตรงฐานราก/ฐานคติของสังคม ให้เห็นความเป็นไปได้ต่างๆ และทางเลือกอื่นๆ นอกกรอบที่ครอบงำอยู่) ให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมการเมือง จึงอาจต้องแลกด้วยความตายของนักปรัชญาการเมืองด้วยประการฉะนี้