ภาคเหนือ อีสานและใต้ ในเพลิงสงครามมหาเอเชียบูรพา

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

ภาคเหนือ อีสานและใต้

ในเพลิงสงครามมหาเอเชียบูรพา

 

นับแต่ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปยังพม่า อินเดียและมาลายู พร้อมการลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น (2484) และการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐ (2485)

จากนั้น สัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมาโจมตีทางอากาศในพระนครและจังหวัดชายแดน

เครื่องบินจุงกิงตกที่ลำพูน

ร่องรอยหนึ่งที่เกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศของสัมพันธมิตรในภาคเหนือช่วงต้นสงคราม คือ ในหนังสืออานุภาพเอเชีย : ประวัติศาสตร์สงครามมหาเอเชียบูรพา เล่มที่ 1 (2486) ที่กองทัพญี่ปุ่นทำแจกจ่ายในสังคมไทยตีพิมพ์ภาพซากเครื่องบินหน้าสถานีตำรวจเมืองลำพูน โดยให้ชื่อภาพ “ซากเครื่องบินจุงกิงถูกยิงตกที่จังหวัดลำพูน” แต่ข้อมูลในเล่มนี้ไม่ให้ข้อมูลมากกว่านั้น (อานุภาพเอเชีย, 2486, 218)

จากการค้นคว้าบันทึกความทรงจำของคนร่วมสมัยพบว่า มีการโจมตีทางอากาศครั้งหนึ่งที่ลำพูน เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรถูกยิงตกเมื่อปี 2485 นั้น บุญเสริม สาตราภัย ช่างถ่ายภาพและนักเขียนสารคดีชาวเชียงใหม่บันทึกว่า เครื่องบินของกองทัพอากาศจีนบินเข้ามาจากคุนหมิงเข้าโจมตีภาคเหนือและถูก ป.ต.อ. ยิงตกที่ใกล้วัดพระยืน ต.เวียงยืน อ.เมืองลำพูน

ชาวบ้านเล่าให้เขาฟังว่า เครื่องบินมาจากทางทิศเหนือเมืองลำพูนตามทางรถไฟ ชาวบ้านเห็นควันสีดำพวยพุ่งอยู่ตอนท้ายเครื่องบิน เสียงกลองเตือนภัยของวัดพระยืนตีแจ้งสัญญาณ จากนั้น ปืนกลจากเครื่องบินดังออกมาเป็นชุด กระสุนไปถูกคนขับเกวียนที่อยู่เบื้องล่างเสียชีวิต จากนั้น เครื่องบินลำหนึ่งดิ่งตัวลงชนกับต้นโพธิ์ใหญ่กลางทุ่ง ร่างนักบินชาวอเมริกันกระเด็นออกมานอกตัวเครื่องบินเสียชีวิต ต่อมา นายอำเภอนำศพนักบินฝังใกล้จุดเกิดเหตุ ส่วนเครื่องบินนำมาแสดงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน (บุญเสริม สาตราภัย, 2546, 65-66)

จากความทรงจำนี้ น่าจะสอดคล้องกับภาพเครื่องบินที่พังยับเยินในหนังสืออานุภาพเอเชีย (2486) ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ P-40 Warhawk แห่ง “กองบินเสือ” (Flying Tiger) ที่นายพลแคลร์ ลี เชนโนลต์ (Claire Lee Chennault) กองทัพอากาศสหรัฐก่อตั้งกองบินอาสาสมัครขึ้นที่คุนหมิง (ปลายปี 2484) ช่วยจีนรบกับญี่ปุ่น เข้าประจำการติดเครื่องหมายกองทัพอากาศจีนก๊กมินตั๋ง ด้วยเหตุนี้ เครื่องบินที่โจมตีทางเหนือของไทยจึงน่าจะบินมาจากตอนใต้ของจีน กองบินดังกล่าวนี้รับหน้าที่เข้ามาโจมตีจุดยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในตอนเหนือของไทยและพม่าหลายครั้ง (บุญเสริม, 63-64)

P-40 Warhawk ติดเครื่องหมายของก๊กมินตั๋ง เครดิตภาพ : thediplomat.com

เชียงใหม่ในสงคราม

จากความทรงจำของชาวเชียงใหม่บันทึกว่า สถานีรถไฟเชียงใหม่ถูกโจมตี เมื่อ 21 ธันวาคม 2486 ทำให้อาคารสถานี บ้านเรือน โกดังสินค้า ฉางข้าวที่เสบียงอาหารของญี่ปุ่นเสียหาย เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตกว่า 300 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก

กว่าที่ทางการและเทศบาลเชียงใหม่จะเข้าไปเก็บศพได้ก็หลังเกิดเหตุหลายวัน สภาพศพที่พบส่วนใหญ่ร่างแหลกเหลว ศพจำนวนมากถูกนำไปฝังรวมกันยังสุสานทุกแห่งในเชียงใหม่ ด้วยขุดหลุมขนาดใหญ่และฝังรวมๆ กัน ที่สุสานก่อนฝังกลบ มีทหารญี่ปุ่นหมู่หนึ่งจะเป่าแตรทำความเคารพให้เกียรติแก่ผู้ตายทุกคน

เป้าหมายของสัมพันธมิตรครั้งนั้น คือ สถานีรถไฟ โกดังเก็บเสบียง โรงสีข้าว สนามบินโดนโจมตีบ่อยที่สุด ในช่วงท้ายสงคราม เครื่องบินบินลงต่ำมาก ด้วยญี่ปุ่นขาดแคลนเครื่องบินรบและอ่อนเปลี้ยลงมาก (บุญเสริม, 81-82)

ในห้วงยามแห่งสงคราม ชาวเชียงใหม่ได้สร้างระบบการเตือนภัยด้วยตนเองขึ้นหรือ “ยามอากาศ” โดยสร้างห้างขึ้นบนยอดไม้สูงใกล้ประตูเชียงใหม่ มีคนประจำการ ผลัดเวรกันครั้งละ 2 คนสอดส่องความปลอดภัยให้ชาวเมืองทั้งกลางวันและกลางคืน หากพบเห็นเครื่องบิน จะใช้ไซเรนแบบมือหมุนเพื่อแจ้งชาวเมืองทราบ และมีโทรศัพท์สนามติดต่อกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน

ทั้งนี้ ยามอากาศนี้มีหลายแห่ง เช่น ยอดเจดีย์ของวัดหลวง หอคอยของหลังคาโบสถ์คริสต์เชิงสะพานนวรัตน์ บนดาดฟ้าของร้านรันตผล ที่ท่าแพ และบนถังน้ำของสถานีรถไฟเชียงใหม่ (บุญเสริม, 121-123)

เครื่องบินขับไล่แห่งกองบินเสือเหนือน่านฟ้าจีน เมื่อ 2485

ในราวเดือนมิถุนายน 2487 เมื่อญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำการรบหลายแห่ง เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถครองน่านฟ้าในแถบภาคเหนือของไทยและเชียงตุงได้ ยามกลางวันจะมีเครื่องบินสัมพันธมิตรคุ้มครองเส้นทางลำเลียง ปกติจะได้ยินแถวเทือกเขา บ้างก็บินผ่านที่พักของทหารไทยทุกวัน แต่กลับไม่ทำอันตราย ด้วยเหตุที่เรือนที่พักของทหารไทยมีลักษณะปลูกเป็นเรือนยาวมีมุขอาจทำให้เครื่องบินทราบว่าเป็นที่พักทหารไทยจึงไม่ถูกโจมตีที่พัก แต่จะทำลายยานพาหนะทุกคันที่พบ (ถาวร ช่วยประสิทธิ์, 2548, 116-117) ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของนิโคล สมิธ ทหารสหรัฐปฏิบัติการที่ซือเหมาตอนใต้ของจีนซึ่งเป็นแหล่งปฏิบัติการของคนไทยที่เป็นเสรีไทยในขณะนั้น (ส.ส.สุวงศ์, 2529)

อย่างไรก็ตาม ในราวเดือนมิถุนายน 2488 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนนไม่กี่เดือน ในคืนวันหนึ่งชาวเชียงใหม่ได้ยินเสียงกระหึ่มของเครื่องบิน ซึ่งปกติเครื่องบินญี่ปุ่นหรือไทยจะไม่ออกบินในเวลากลางคืน เมื่อเสียงสัญญาณเตือนภัยดังสนั่นเมือง ชาวเมืองต่างหาที่หลบภัยกัน แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีเสียงระเบิดดังตามมาดังเช่นเคย

แต่เสียงเครื่องบินยังดังเหนือฟากฟ้าเมืองต่อไป ผู้คนจึงออกจากหลุมหลบภัย เมื่อแหงนดูบนท้องฟ้าปรากฏม่านควันเป็นรูปตัว “V” น่าจะหมายถึง Victory หรือชัยชนะ ยาวราว 1-2 กิโลเมตรบนท้องฟ้า เมื่อปล่อยควันแล้วเครื่องบินก็บินขึ้นทางเหนือจากไป ควันลอยอยู่นานถึง 2 ชั่วโมง เข้าใจว่า สัมพันธมิตรคงมาส่งสัญญาณให้คนไทยทราบและเป็นการข่มขวัญกองทัพญี่ปุ่น (บุญเสริม, 91-92)

นายพล Claire Lee Chennault ที่คุนหมิง เมื่อพฤษภาคม 2485

อีสานครั้งสงคราม

ใบสอน หัมพานนท์ (2463-2555) ชาวอีสานที่มีชีวิตในช่วงสงครามเล่าว่า ทางราชการมักเตือนประชาชนเสมอให้ระวังการโจมตีทางอากาศ

เครื่องบินสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศมักมากลางคืน สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านเมื่อได้ยินเสียงหึ่งๆ บนท้องฟ้าดังยาวๆ มาแต่ไกล เมื่อท้องฟ้ามืดลงในแต่ละวัน ทุกคนรอฟังเสียงเกราะที่จะดังขึ้น เมื่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตีเกราะเพื่อเป็นสัญญาณแทนเสียงหวอให้คนหลบภัย “เมื่อเสียงเกราะดังขึ้นเท่านั้น ผู้คนต่างวิ่งตะลีตะลานจนตาเหลือกลงบันไดบ้านไปยังหลุมเพาะหลบภัยที่แต่ละบ้านได้เตรียมไว้” (มนตรา เลี่ยวเส็ง, 2554, 240)

ใบสอนเล่าว่า หากเครื่องบินบินมาแบบทันทีราชการเตือนให้วิ่งไปหลบภับที่หลุมสาธารณะที่ราชการขุดหลุมไว้ให้ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 10 เมตร ลึก 1 เมตร ไว้หลายหลุม แม้แต่ในโรงเรียน หากอยู่ในทุ่งนาให้มอบราบใช้คันนากำบัง หลุมหลบภัยแต่ละบ้านในอีสานมีลักษณะเป็นอุโมงค์ลึกท่วมหัว ปากหลุมไม่กว้างนักราว 3 ฟุต หลุมในบ้านของใบสอน บรรจุได้ 4 คน (มนตรา เลี่ยวเส็ง, 2554, 241-242)

สถานีรถไฟเชียงใหม่หลังนี้ถูกทำลายเมื่อ 21 ธันวาคม 2486

ภูเก็ต

สําหรับภาพชนบททางใต้นั้นพบว่า ภูเก็ตถูกเครื่องบินอังกฤษมาโจมตีสนามบินและท่าเรือหลายหน มีการทำลายเรือสินค้าทั้งไทย ญี่ปุ่น และอิตาลี เช่น เรือทุ่งคาของบริษัทจินหงวน ถูกจมที่น่านน้ำปีนัง เรือถ่องโหถูกตอร์ปิโดจมลงแถบน่านน้ำกระบี่ เรืออิตาลี ชื่อ ออกโตเบอร์ สุมตรา และโวลปเป็นเรือบรรทุกสินค้าก็ถูกจม (ฤดี ภูมิภูถาวร, 2562, 97-98, 104, 119-120)

สนามบินญี่ปุ่นที่อ่าวฉลอง มีกำลังหนึ่งกองร้อย เครื่องบินน้ำสองลำประจำการ ในช่วงสงครามปรากฏเรือดำน้ำสัมพันธมิตรปรากฏขึ้นบ่อยๆ มีการต่อสู้กันประปราย เครื่องบินสัมพันธมิตรมุ่งเป้าที่ท่าเรือ สนามบิน และหน่วยทหารญี่ปุ่น คลังแสงที่สนามบินเคยถูกทิ้งระเบิดครั้งหนึ่ง นักบินไทยพยายามวิ่งขึ้นเครื่องบินต่อสู้ แต่เครื่องบินถูกระดมยิงด้วยปืนกลจนเครื่องระเบิดก่อนที่นักบินจะวิ่งไปถึง ที่แหลมพรมเทพมีกองทหารยี่ปุ่นตั้งอยู่ เครื่องบินสัมพันธมิตรจากเรือบรรทุกเครื่องบินมักเข้ามาทิ้งระเบิดโดยเครื่องบินญี่ปุ่นออกต่อต้านไม่ไหว ในช่วงปลายสงครามมีเรือดำน้ำมักมาส่งเสรีไทยขึ้นฝั่งเสมอ (ฤดี, 127)

ความทรงจำเหล่านี้คือภาพชนบทไทยในช่วงสงครามอันปรากฏในความทรงจำของคนร่วมสมัย

บนยอดต้นยางใหญ่ที่ประตูเมืองเชียงใหม่ มีห้างสำหรับ “ยามอากาศ” เครดิตภาพ : บุญเสริม สาตราภัย
เครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่น รุ่น KI-21 ตกที่นครราชสีมาช่วงสงคราม เครดิตภาพ : Checkk Outzz
เกราะไม้ สำหรับให้สัญญาณเรียกประชุมหรือเตือนภัยในอีสาน
ไฟไหม้อาคารที่ท่าเรือสงขลาจากการถูกโจมตีของเครื่องบิน บี 24 เมื่อ 21 กรกฎาคม 2488