เลือกตั้งรัสเซีย เกมที่ ‘จำเป็น’ ของปูติน

เริ่มตั้งแต่ 15 มีนาคมที่จะถึงนี้ เรื่อยไปจนถึง 17 มีนาคม คือกำหนดระยะเวลาสำหรับประชาชนชาวรัสเซียผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เดินทางไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศ

ตัวการเลือกตั้ง ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากมายเท่าใดนัก ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าแม้จะหลับหูหลับตา ก็ยังบอกได้ว่าผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

โอกาสที่ วลาดิมีร์ ปูติน เผด็จการที่ครองอำนาจอยู่นานที่สุดนับตั้งแต่ยุคของ โจเซฟ สตาลิน จะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 5 อยู่ในอำนาจสูงสุดต่อไปได้อีก 6 ปี เป็นเรื่องที่แน่นอนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

ดังนั้น ข้อที่กังขากันมากที่สุด ก็คือในประเทศที่นักการเมืองฝ่ายค้านล้วนแล้วแต่เสียชีวิต ถูกจำคุก หรือไม่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างคนพลัดถิ่นในประเทศอื่น

การเลือกตั้งนี้ยังมีความจำเป็นอะไรกันสำหรับผู้นำอย่างปูติน

 

ภายใต้บรรยากาศภายในประเทศที่การพูดความจริงเป็นการละเมิดกฎหมาย ประเทศที่ผู้นำใช้การเข่นฆ่าสังหารทั้งประชาชนของตนเองและประชาชนของชาติเพื่อนบ้าน เป็นเครื่องมือในการคงอยู่ในอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ การเลือกตั้งดูเหมือนเป็นสิ่งที่ “เกินความจำเป็น” ไปโดยแท้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ การเลือกตั้งรัสเซียแตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับการเลือกตั้งที่โลกตะวันตกและชาติที่มีเสรีอื่นใดเข้าใจกันอยู่มากมายนัก ที่แน่ๆ ก็คือ นี่ไม่ใช่การเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุที่ว่า รัสเซียไม่มีประชาธิปไตยมาเนิ่นนานแล้ว

หากมีรัสเซียประชาธิปไตย ปูตินก็คงต้องพ้นจากตำแหน่ง หลุดจากวงจรอำนาจไปตั้งแต่ปี 2008 เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 แล้ว

ในทางตรงกันข้าม คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของการเลือกตั้งรัสเซียก็คือ การไม่มีทางเลือก การไม่มีตัวเลือกให้เลือก การไม่มีการกำกับดูแลการเลือกตั้งอย่างพอเหมาะพอควร

องค์กรเฝ้าระวังการเลือกตั้งที่เป็นอิสระเพียงองค์กรเดียวที่มีอยู่ของรัสเซียอย่าง “โกลอส” ถูกทางการตีตราว่าเป็น “สายลับให้กับต่างชาติ” และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ตอนนี้ยังถูกจองจำอยู่ในตะราง

การเลือกตั้งรัสเซียจึงเป็นกระบวนการที่ทำขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่า ปูตินจะได้ผลการเลือกตั้งตามที่ตัวเองต้องการ

เป็นการเลือกตั้งที่จัดทำขึ้นมาโดยปูติน เพื่อปูติน อย่างแท้จริง เป็น “พิธีกรรม” ประการหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชามติที่สนับสนุนปูตินนั้นมีอยู่จริง และมีอยู่อย่างล้นเหลือคณานับ จึงนับเป็นพิธีกรรมที่ “จำเป็น” และสำคัญยิ่งต่อระบอบการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของเผด็จการผู้นี้

 

การเลือกตั้งของวลาดิมีร์ ปูติน นั้นแตกต่างจากอดีตผู้นำบางคนในยุคสหภาพโซเวียต แม้ว่าที่บางครั้งจัดการเลือกตั้ง “จอมปลอม” ขึ้น หลายครั้งจัดให้มีการเลือกตั้งชนิดที่ ไม่มีคู่แข่ง มีเพียงตัวเลือกเดียวบนกระดาษลงคะแนนให้กาเท่านั้น ความแตกต่างใหญ่หลวงนั้นอยู่ตรงที่ การเลือกตั้งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของปูติน มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของพรรคหรืออุดมการคอมมิวนิสต์

การเลือกตั้งสำหรับปูติน เป็นการสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศขึ้นมาจากความรุนแรงที่ใช้ในการกำราบ กดขี่ เข่นฆ่า คนที่เห็นต่างหรือฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง และเป็นเครื่องมือในการรักษาเสียงสนับสนุนจากปวงชนหมู่มากเอาไว้ให้ได้เห็นกัน

ในแง่นี้ เกร็ก ยูดิน นักวิจัยและนักปรัชญาการเมืองชาวรัสเซียประจำมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ชี้ว่าการเลือกตั้งสำหรับปูตินแล้ว ก็คือรูปแบบหนึ่งของการแซ่ซร้องสรรเสริญ เป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงการยอมรับของปวงชนต่อประธานาธิบดีและรัฐบาล บทบาทหน้าที่ของการเลือกตั้งของปูติน ไม่ใช่เพื่อการเปลี่ยนตัวบุคคลที่อยู่ในอำนาจ แต่เป็นไปเพื่อ “อัดฉีด” ความชอบธรรมให้กับผู้นำเผด็จการผู้นี้

ผลลัพธ์ทั้งหลายล้วนถูกตัดสินชี้ขาดไว้แล้วก่อนหน้านี้โดย “ท่านผู้นำ” หน้าที่ของประชาชนก็คือ แห่กันออกมาเปล่งเสียง “ขานรับ” เพื่อแซ่ซ้องสดุดีเท่านั้นเอง

 

หนึ่งในบุคคลเพียงไม่กี่คนในรัสเซียที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงนัยสำคัญนี้ และพยายามที่จะทุบทำลายพิธีกรรมของปูติน เปลี่ยนการเลือกตั้งกลับมาให้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองที่แท้จริงอีกครั้งก็คือ อเล็กซี นาวัลนี ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซียผู้ล่วงลับ

แม้จะตระหนักดีว่า การเลือกตั้งไม่สามารถใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวผู้กุมอำนาจในรัสเซียได้ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งเป็นวิถีที่ทรงประสิทธิภาพประการหนึ่งสำหรับใช้เพื่อแสดงการคัดค้านอย่างเป็นทางการ

ในปี 2011 นาวัลนีรณรงค์ทางการเมืองครั้งใหญ่ เรียกร้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียทั้งหลายร่วมมือกันแสดงออกดังกล่าว โดยการลงคะแนนเลือกใครก็ได้ พรรคใดก็ได้ ที่ไม่ใช่พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ของปูติน

กดดันจนทางการเครมลินต้องลงมือโกงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปีนั้นอย่างโจ๋งครึ่มเป็นประวัติการณ์เสียจนเกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรัสเซียหลังยุคสหภาพโซเวียตเป็นต้นมา

การฆาตกรรมนาวัลนี 1 เดือนก่อนหน้าวันเลือกตั้งนั้นเชื่อกันว่า ปูตินต้องการแสดงให้เห็นว่า ชาวรัสเซียไม่มีทางเลือกและตัวเลือกอื่นใดหลงเหลืออยู่ ยกเว้นตนเองและรัสเซียอย่างที่เป็นอยู่

กระนั้นนาวัลนีก็ยังคงกลายเป็นความท้าทายและคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อปูติน แม้จะอยู่ในหลุมศพแล้วก็ตามที

2 สัปดาห์ก่อนเสียชีวิต นาวัลนีเรียกร้องชาวรัสเซียนับล้านที่มีสิทธิ์ออกเสียงให้มาปรากฏตัวในตอนเที่ยงวันวันที่ 17 มีนาคม วันสุดท้ายการของเลือกตั้ง เพื่อลงคะแนนให้กับใครก็ได้ที่ไม่ใช่ปูติน หรือไม่ก็ให้ทำลายบัตรเลือกตั้ง หรืออาจจะแค่รวมตัวกันเพื่อแสดงพลังก็ได้เช่นกัน

 

ข้อมูลบันทึกการขนส่งสาธารณะในมอสโกระหว่างวันที่ 1 มีนาคม วันพิธีศพของนาวัลนี เรื่อยไปจนถึง 3 มีนาคม แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้เส้นทางสู่สถานีที่ใกล้สุสานมากที่สุดเพิ่มขึ้นถึง 27,000 คนต่อวัน อีกไม่น้อยเดินทางมาด้วยรถยนต์ อีกส่วนมาถึงด้วยการเดินเท้า พวกเขาเข้าคิวยาวนานหลายชั่วโมงเพื่อเคารพศพ ร่วมกันสวดอ้อนวอน และร่วมกันเปล่งเสียงตะโกนเรียก “นาวัลนี” “ไม่เอาสงคราม” และกระทั่ง “ปูตินคือฆาตกร” อย่างองอาจและท้าทาย

ดอกไม้ไว้อาลัยกองเป็นภูเขา รัสเซียนหนุ่มสาวและสูงวัย ผู้ลากมากดีและยากจน เดินทางมาคารวะผู้นำที่แท้จริงของพวกเขาอย่างกล้าหาญ ไม่ไยดีกับกล้องวงจรปิดของทางการ

เพลงที่เปิดในพิธีศพของนาวัลนี ทั้งที่เป็นซาวด์แทร็กของภาพยนตร์ “เทอร์มิเนเตอร์ 2 : จัดจ์เมนต์ เดย์” กับ “มาย เวย์” ของแฟรงก์ ซิเนตรา กลายเป็นเพลงประจำของขบวนการต่อต้านในรัสเซียไปในไม่ช้าไม่นาน

บรรยากาศทำนองเดียวกัน เกิดขึ้นในหัวเมืองต่างๆ ทั่วรัสเซียอีกกว่า 230 เมือง รวมผู้คนนับเป็นเรือนล้านที่เดินทางมาวาง “ดอกไม้เพื่อรำลึก” ถึงนาวัลนี ตามสถานที่ต่างๆ แล้วแต่ความเหมาะสม จุดเทียนไข รำลึกถึงเหยื่อที่ผ่านมาของการกดขี่ทางการเมือง

“ประเพณีในพิธีศพแบบดั้งเดิม ได้หลอมรวมเข้ากับการประท้วงทางการเมืองไปแล้ว” อเล็กซานดรา อาร์คีโพวา นักมานุษยวิทยาสังคมชาวรัสเซียระบุ

ที่น่าสนใจและชวนให้ติดตามกันก็คือ ยูเลีย นาวัลนายา ภริยาม่ายของนาวัลนี ผู้ที่ประกาศสืบทอดเจตนารมณ์ผู้เป็นสามี ยืนยันว่า เธอและผู้สนับสนุนพร้อมที่จะดำเนินการประท้วงตามแบบฉบับนี้ต่อไป

และใช้การเลือกตั้งเพื่อ “แสดงให้เห็นว่า เราอยู่ที่นั่น และเรามีมากมาย ไม่ใช่คนสองคน เป็นผู้คนจริงๆ ที่ต่อต้านปูตินจริงๆ”