เมื่อหญิงจีนไม่คิดแต่งงาน กลายเป็นปัญหาระดับประเทศ

(Photo by Chandan KHANNA / AFP)

ไช่ หวั่นโหรว นักเขียนคำโฆษณาฟรีแลนซ์ เป็นหนึ่งในหญิงชาวจีนจำนวนมากที่คิดเหมือนกันว่า สถานะการแต่งงานนั้น เป็นธรรมเนียมที่ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้หญิง

ทำให้ตอนนี้ผู้หญิงจำนวนมากในจีน เริ่มมองเห็นอนาคตของพวกเธอ ที่จะก้าวต่อไปในอนาคต แบบไม่ต้องมีสามี ไม่ต้องมีลูก

นักสตรีนิยม วัย 28 ปี ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ที่คาเฟ่แห่งหนึ่ง ในเมืองซีอาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีนว่า ไม่ว่าคุณจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด หรือเป็นเพียงแค่คนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ผู้หญิงก็เป็นผู้เสียสละมากที่สุดในบ้าน

“คนรุ่นก่อนๆ ที่แต่งงานไป โดยเฉพาะผู้หญิง จะต้องเสียสละตัวเองและความก้าวหน้าด้านอาชีพ ไม่ได้มีความสุขในชีวิตเหมือนกับที่สัญญาไว้ ทุกวันนี้การใช้ชีวิตของตัวเองให้ดี ก็ยากพอแล้ว”

 

เมื่อปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่เกี่ยวกับการแต่งงานและการให้กำเนิดบุตร ท่ามกลางสถานการณ์จำนวนประชากรในจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 2 ปีติดกัน และอัตราการเกิดที่น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ในรายงานการทำงานของรัฐบาลปีนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ก็ให้คำมั่นว่า จะทำงานเพื่อสังคมที่เป็นมิตรต่อการเกิด และจะส่งเสริมการดูแลเด็กๆ

ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ของจีน มองว่า ครอบครัวเดี่ยว หรือครอบครัวที่มีเพียงพ่อ แม่ และลูก ถือเป็นรากฐานความมั่นคงของสังคม โดยผู้หญิงที่เป็นแม่ทั้งที่ยังไม่แต่งงานจะถูกตีตรา และมักจะถูกปฏิเสธเรื่องสิทธิประโยชน์

ขณะที่ผู้หญิงมีการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ แต่กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงอย่างคาดไม่ถึง ท่ามกลางการว่างงานของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเศรษฐกิจที่กำลังถดอย

กลายเป็นที่มาที่ทำให้ผู้หญิงหันมา “โสด” กันมากขึ้น

 

จากข้อมูลของทางการจีน ระบุว่า ประชากรในจีนที่อายุมากกว่า 15 ปี เป็นโสดมากถึง 239 ล้านคน เมื่อปี 2021 ส่วนคนที่จดทะเบียนแต่งงาน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากการชะงักไปจากการเกิดโรคระบาด ซึ่งช่วงปี 2022 มีการจดทะบียนน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์

ในปี 2021 สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ สำรวจผู้ที่ยังไม่แต่งงานที่อยู่ในเมืองราว 2,900 คน พบว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงในกลุ่มตัวอย่าง ไม่มีแผนที่จะ “แต่งงาน”

กระนั้นก็ตาม การแต่งงานก็ยังเป็นเรื่องสำคัญในสังคมจีน และสัดส่วนของคนที่ยังไม่แต่งงานเลยในจีนก็ถือว่ายังต่ำอยู่ แต่ในอีกมุมหนึ่งที่จำนวนประชากรเริ่มลดลง คนจีนหลายคนเริ่มแต่งงานช้าลง จนทำให้ค่าเฉลี่ยอายุของคนแต่งงานสูงขึ้นเป็น 28.67 ปี เมื่อปี 2020 จาก 24.89 ปี ในปี 2010

อย่างที่นครเซี่ยงไฮ้ตัวเลขของคนที่แต่งงานเฉลี่ยอยู่ที่ 30.6 ปี ในผู้ชาย และ 29.2 ปี ในผู้หญิง เมื่อปีที่ผ่านมา

 

ลวี่ ผิน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีชาวจีนซึ่งอาศัยอยู่อยู่ที่สหรัฐอเมริกาบอกว่า การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับอนุญาตในจีน แต่การปฏิเสธการแต่งงานและการมีลูกอาจกล่าวได้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการไม่เชื่อฟัง โดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อรัฐปิตาธิปไตย หรือระบบสังคมแบบที่เพศชายเป็นใหญ่ในบทบาทผู้นำทางการเมืองและทางสังคม

ทั้งนี้ หลังจากการปรับปรุงระดับการศึกษาของสตรีให้ดีขึ้นในรอบหลายสิบปี รวมถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานและการขับเคลื่อนสังคม ทางการจีนตอนนี้กำลังเผชิญหน้ากับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากหญิงกลุ่มนี้ ที่กำลังออกมาต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนมากขึ้น

รูปแบบการใช้ชีวิตโสดยาวนาน กำลังค่อยๆ แพร่หลายมากขึ้นในประเทศจีน และทำให้เกิดชุมชนออนไลน์ของผู้หญิงที่ส่วนใหญ่จะโสด ที่แสวงหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนที่คิดเหมือนๆ กัน

 

เหลียว เยว่อี้ สาววัย 24 จากหนานหนิง เป็นหนึ่งในผู้ที่โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการอยากใช้ชีวิตโสด ลงในวีแชต บอกว่า เธอเพิ่งจะบอกกับแม่เธอไปว่า เธอตื่นขึ้นมาจากการฝันร้ายที่ว่า เธอมีลูก และว่า จากการตัดสินใจอย่างดีแล้ว เธอตัดสินใจที่จะไม่แต่งงาน และจะไม่มีลูก เธอไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหนี้ที่จะต้องมาขอโทษใครในเรื่องนี้ และพ่อแม่ของเธอก็รับได้กับการตัดสินใจของเธอ

สิ่งที่เยว่อี้ตัดสินใจคือ ต้องการเพียงแค่เก็บเงินเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในอนาคต เธอคิดว่า “การมีลูกคือการลงทุนมหาศาล ที่ได้ผลตอบแทนกลับมาเพียงน้อยนิด”

นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า จำนวนคนโสดตลอดชีวิตอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในอนาคต แต่การแต่งงานที่ล่าช้าและการให้กำเนิดบุตรที่ลดลง มีแนวโน้มที่จะเป็นภัยคุกคามต่อเป้าหมายด้านประชากรศาสตร์ของประเทศจีนในตอนนี้

ไม่น่าเชื่อว่า ประเทศจีนที่ครั้งหนึ่งประชากรล้นทะลักจนต้องสั่งให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียง 1 คน ตอนนี้กำลังเสี่ยงกับภาวะการลดลงของประชากร