เมนูข้อมูล : คว้าพุงเพียวๆ ไปกิน

ทั้งที่มีภาพอยู่เกลื่อน ค้นหาได้ดาษดื่นและสะดวกดายจากโลกออนไลน์ ว่าที่คล้องนกหวีดเป่ากันแก้มโป่งทั่วหน้าขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง ท่ามกลางเสียงปลุกบนเวที “กปปส.” หรือชื่อเต็มๆ ว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

และมาเปลี่ยนอีกทีภายหลังเป็น “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ให้ “กองทัพเข้ามาแก้ปัญหา” เรียกร้องแล้วเรียกร้องอีกให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. ขณะนั้นเข้ามาแสดงบทบาท

และที่สุด “กองทัพ” ทำรัฐประหาร

“สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่ได้รับการสถาปนาให้เป็น “ลุงกำนัน” อันแสนน่ารักน่าใคร่ จัดเลี้ยงฉลองทีมงานในชุดทหารอันครึกครื้น ประกาศความสำเร็จกันเกรียงไกร

พอถึงวันนี้ มีการทำความเข้าใจกันเข้มข้นว่า “พรรคประชาธิปัตย์” ไม่ใช่ “กปปส.”

“พรรคประชาธิปัตย์” เป็นสถาบันทางการเมือง ขณะ กปปส. เป็นการทำงานภาคประชาชน

นี่ย่อมเป็นนวัตกรรมการหาทางออกให้กับ “พฤติกรรมที่ได้กระทำกันไปแล้ว” อย่างสุดยอด

นั่นเป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ กับ “การเมืองหลังความพ่ายแพ้ซ้ำซาก”

จะเป็นการยืมมือกองทัพมาทำลายศัตรูการเมือง ด้วยความหวังว่าหมดจาก “เพื่อไทย” จะไม่ต้องพ่ายแพ้ใครอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่คงวิพากษ์วิจารณ์กันไป

เพียงแต่ถึงวันนี้ฟังคล้ายกับว่า “หมดเพื่อไทยก็ไม่ใช่ประชาธิปัตย์อยู่ดี” ด้วยโอกาสที่ “หัวหน้าพรรคจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแบบองอาจไม่ต้องไปจัดการกันในค่ายทหาร” ดูจะมีไม่มากนัก

เนื่องจากวาระการเมืองของประเทศ มี “นักการเมือง” ทั้งที่เคยมาจากการเลือกตั้ง และที่รอวาสนาจากการแต่งตั้ง มาdมายหลายหน้า ชูกำปั้นประกาศหนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่เว้นแม้แต่ “ลุงกำนัน” อันแสนน่ารัก

ทำให้เกิดการกระซิบกันกระหึ่มเมืองว่านี่คือเหตุที่ทำให้พลพรรคประชาธิปัตย์ชักแถวออกมาแสดงความผิดหวังต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เหมือนกับยืมมือมาตีเมือง แล้วเกิดอยากยึดเมืองเสียเอง ไม่คืนให้คนที่ไปขอยืมมือ

อย่างไรก็ตาม การเมืองที่ถึงอย่างไรต้องอยู่ในภาพของประชาธิปไตยเพื่อการยอมรับของนานาประเทศ ไม่ว่าจะพยายามสักเพียงใดที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นแค่ภาพบังหน้า แต่ที่สุดแล้ว “การเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยจะต้องได้รับการจัดให้มีขึ้น

และเมื่อมีการเลือกตั้ง นั่นหมายถึงต้องฟังเสียงของประชาชน

ไม่ว่าจะจัดการทุกเรื่องราว ทั้งเป็นกฎหมายทุกระดับ กองกำลังทุกหน่วย แนวร่วมที่มีประสิทธิภาพ แต่ที่สุดแล้วการหาทางให้อ้างได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามด้วย ย่อมเป็นการสร้างความชอบธรรมที่มีน้ำหนักที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร หนีไม่พ้นขึ้นอยู่กับประชาชน

จึงน่าสนใจยิ่งว่า คะแนนนิยมของคนที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่ายืมมือมาจัดการศัตรูการเมืองเป็นอย่างไรในขณะนี้

ดูเหมือนว่า “สวนดุสิตโพล” จะมีคำตอบ ด้วยการสำรวจล่าสุด ในคำถามที่ว่า ถ้ามีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คิดว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ร้อยละ 53.29 ตอบว่าไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ อยากได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ร้อยละ 46.71 บอกเหมาะสม เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนตั้งใจจริง มีความรู้ความสามารถ

ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับหัวหน้าคณะ คสช. แต่เป็นส่วนใหญ่ที่เฉียดฉิวมากแทบจะเฉียดครึ่งต่อครึ่ง ในขณะที่กติกาการเลือกตั้งล่าสุดที่วางกันไว้ชัดเจนว่ากีดกันไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมาก

นายกรัฐมนตรีต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายพรรคเป็นรัฐบาลผสม คะแนนนิยมระดับเฉียดฉิวจะเป็นส่วนใหญ่นี้ถือว่าได้เปรียบมาก เพราะหาแนวร่วมอีกไม่มากก็ฉลุย

นั่นหมายความว่านิทาน ตาอิน กะ ตานา ที่มีตาอยู่มาหยิบชิ้นปลามัน

จึงต้องติดตามแบบยากกะพริบตา