ฮามาส-อิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (21) ฉากทัศน์ของสงครามฮามาส-อิสราเอล (ต่อ)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

ฮามาส-อิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (21)

ฉากทัศน์ของสงครามฮามาส-อิสราเอล (ต่อ)

 

อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกับสงครามฮามาส-อิสราเอล (ต่อ)

“อิสราเอลจะต้องคืนที่ดินที่เป็นของชาวปาเลสไตน์ และควรทำผ่านการเจรจา ไม่ใช่ผ่านการสังหาร การฆ่าเป็นความไร้อารยธรรม ใช่ เราได้ยินเจ้าหน้าที่หลายคนบอกว่าควรเปิดการเจรจา ควรมีการสนทนากันมากกว่านี้ การสนทนาควรเกิดขึ้นด้วย แต่อิสราเอลกล่าวว่าพวกเขาต้องการการตอบสนองตามสัดส่วนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา”

ในขณะเดียวกัน มหฎิรเชื่อว่าประเทศอาหรับและอิสลามในภูมิภาคควรเสนอสถานที่พึ่งพิงให้แก่สตรีและเด็กชาวปาเลสไตน์ ในขณะที่ผู้ชายก็ควรยืนหยัดเพื่อป้องกันการยึดครองของอิสราเอลอย่างถาวรต่อไป

“หากอิสราเอลยังคงสังหารชาวปาเลสไตน์ต่อไป เราควรจัดหาสถานที่ลี้ภัยให้กับผู้หญิงและเด็กเป็นอย่างน้อย” เขากล่าว

ส่วน “พวกผู้ชายก็ควรอยู่ในฉนวนกาซา เพราะถ้าไม่อยู่ที่นั่น อิสราเอลก็จะยึดครองฉนวนกาซา ดังนั้น พวกเขาควรได้รับการปกป้อง”

“ในขณะนี้พวกเขาไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ พวกเขาไม่มีอาวุธ และพวกเขากำลังถูกฆ่า ทั้งๆ ที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพวกเขาเป็นฮามาสหรือไม่ พวกเขา (อิสราเอล) กำลังสังหารผู้คน โดยบอกว่าพวกเขาต้องการกำจัดกลุ่มฮามาส แต่คนและเด็กทารกที่ถูกฆ่าคือกลุ่มฮามาสหรือเปล่า? คุณจะพิสูจน์การฆ่าคนได้อย่างไร”

 

มหฎิรได้ก่อตั้งโครงการริเริ่มกัวลาลัมเปอร์เพื่ออาชญากรสงครามในปี 2019 เช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการอาชญากรรมสงครามกัวลาลัมเปอร์ เพื่อตรวจสอบกิจกรรมของสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และพันธมิตรในอิรัก เลบานอน และดินแดนปาเลสไตน์

นอกจากนี้ เขายังกล่าวหาชาติตะวันตกว่าเพิ่มโอกาสที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามอันเป็นผลมาจากการแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ในมุมมองของเขา ส่วนหนึ่งของปัญหาคือการขาดแคลนคุณค่าทางศีลธรรมในหมู่ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในปัจจุบัน

“เรากำลังแสวงหาผู้นำโลกที่ไม่มีมโนธรรม” มหฎิรกล่าว “เรามีผู้นำโลกที่มีคุณสมบัติที่แย่มากในการเป็นผู้นำระดับโลก การพบว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้มีการสังหารชาวปาเลสไตน์ นั่นแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของความเป็นผู้นำดังกล่าว”

“ผู้นำควรมุ่งไปสู่การทำความดีและแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องเสมอ เพียงใช้หลักนิติธรรม แต่ตอนนี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร และผู้นำยุโรปคนอื่นๆ อีกหลายราย คุณภาพความเป็นผู้นำของพวกเขาย่ำแย่มาก พวกเขาไม่มีมโนธรรม ไม่มีค่านิยมทางศีลธรรม พวกเขาชอบที่จะเห็นสงครามและการต่อสู้กัน และพวกเขาก็ไม่รังเกียจหากไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้น หรือหากกฎหมายถูกทำลาย”

ในช่วงเวลาที่อาชญากรรมจากความเกลียดชังอิสลามและการต่อต้านยิวเพิ่มขึ้นทั่วโลกเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ในตะวันออกกลาง มาเลเซียสามารถรักษาระดับความสามัคคีในหมู่ประชากรที่หลากหลาย ซึ่งประกอบด้วยชาวมาเลย์ส่วนใหญ่ที่เป็นชาวมุสลิม รวมถึงชาวพุทธ ชาวจีน ชาวคริสต์ และชาวทมิฬฮินดูเป็นหลัก

“มาเลเซียเป็นประเทศที่มีหลายเชื้อชาติและหลายศาสนา” มหฎิรกล่าว “เรามีความเชื่อที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่เราแต่ละคนยอมรับว่าเราต้องอดทนซึ่งกันและกัน

แน่นอนว่าเราแตกต่าง เราไม่สามารถเหมือนกันได้ หากพระเจ้าต้องการให้เราเหมือนกัน เราทุกคนก็จะเป็นมุสลิม แต่ก็มีคนที่ไม่ใช่มุสลิม และมุสลิมก็ต้องอดทนต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม นั่นเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนของศาสนาอิสลาม”

“ดังนั้น เราจึงยึดมั่นในคำสอนของศาสนาอิสลามและเราอยู่ด้วยกัน พวกเขามีทางของตัวเอง เรามีทางของเราเอง และเรายอมรับสิ่งนั้นได้”

 

มหฎิรกล่าวต่อไปว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จากการยอมรับอย่างกว้างขวางถึงความจริงที่ว่าการใช้ความรุนแรงสามารถทำร้ายประเทศชาติและประชาชนของประเทศได้ นี่เป็นบทเรียนที่เขาเชื่อว่าประเทศอื่นๆ ควรเข้าร่วมด้วย

“หากเราเผชิญหน้า (ถ้า) เรามีความรุนแรง (แล้ว) เราจะทำลายประเทศ สุดท้ายก็ไม่มีใครได้อะไรเลย” เขากล่าว “ทุกคนในมาเลเซียเข้าใจดีว่าถ้าคุณสู้กันเอง ทั้งประเทศจะถูกทำลาย ทุกคนจะต้องเดือดร้อน”

“ใช่ เรามีความแตกต่างของเรา เราสามารถจัดการความแตกต่างบนโต๊ะได้ ไม่ใช่ด้วยการทะเลาะกันเอง เมื่อคุณทะเลาะกัน คุณฆ่าคนและทำลายประเทศ สุดท้ายแม้จะชนะแต่ประเทศก็ถูกทำลาย แน่นอน หากคุณแพ้ คุณจะต้องเผชิญหน้ากับประเทศที่ไม่มั่นคงอีกต่อไป”

 

ซาอุดีอาระเบียระดมทุน

สร้างฉนวนกาซาทะลุ 133 ล้านดอลลาร์

โครงการระดมทุนระดับประเทศของซาอุดีอาระเบียเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในฉนวนกาซาได้ระดมทุนไปแล้วกว่า 133 ล้านดอลลาร์ ผู้จัดงานกล่าว

โครงการริเริ่มนี้เปิดตัวมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2024 โดยหน่วยงานช่วยเหลือของซาอุดีอาระเบีย KSrelief ผ่านทางแพลตฟอร์ม Sahem สำหรับการบริจาคเพื่อการกุศล

ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งจากกษัตริย์ซัลมานและมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ในเวลานี้มีผู้คนมากกว่า 806,000 คนได้ร่วมกันบริจาค

แต่การช่วยเหลือเหล่านี้จะเข้าถึงชาวกาซาได้หรือไม่?

 

แอฟริกาใต้แถลงต่อศาลโลก

อิสราเอลกำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวปาเลสไตน์

แอฟริกาใต้โต้แย้งต่อศาลโลกหรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติว่าอิสราเอลต้องรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ และการยึดครองที่ดินโดยอิสราเอลที่จะต้องเป็นรัฐปาเลสไตน์นั้น “ผิดกฎหมายโดยเนื้อแท้และโดยพื้นฐาน”

แอฟริกาใต้โต้แย้งต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอันเป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติหรือที่รู้จักกันในนามศาลโลก เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ว่าอิสราเอลต้องรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์

ตัวแทนของแอฟริกาใต้พูดในวันที่สองของการพิจารณาคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอความเห็นจากสมัชชาใหญ่สำหรับความเห็นที่เกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมายในนโยบายของอิสราเอลในดินแดนที่ถูกยึดครอง

“แอฟริกาใต้มีพันธกรณีพิเศษ ทั้งต่อประชาชนของตนเองและประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อใดก็ตามที่มีพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติ (เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในแอฟริกาใต้เป็นเวลายาวนาน) อย่างร้ายแรงและน่ารังเกียจเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจะต้องถูกเรียกร้องให้ยุติโดยทันที”

วูซิมูซี มาดอนเซลา เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำเนเธอร์แลนด์ กล่าวกับคณะผู้พิพากษานานาชาติ 15 คน

 

อิสราเอลปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และมักจะเมินเฉยต่อมติของสหประชาชาติและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและมีอคติต่อหน่วยงานดังกล่าว อิสราเอลไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ ในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งเกิดขึ้นโดยมีฉากหลังเป็นสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งในเวลานั้นคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปมากกว่า 29,000 ราย ตามการระบุของกระทรวงสาธารณสุขของฉนวนกาซา

อิสราเอลส่งคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว โดยโต้แย้งว่าข้อกล่าวหาที่ยื่นต่อศาลนั้นมีอคติ และ “ไม่ยอมรับสิทธิและหน้าที่ของอิสราเอลในการปกป้องพลเมืองของตน”

อิสราเอลเข้ายึดเวสต์แบงก์ เยรูซาเลมตะวันออก และฉนวนกาซาในสงครามตะวันออกกลางปี 1967 สามพื้นที่ข้างต้นเป็นพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์มีอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าว ในขณะที่อิสราเอลถือว่าเวสต์แบงก์เป็นดินแดนพิพาท และกล่าวว่า อนาคตของดินแดนเหล่านี้ควรได้รับการตัดสินใจผ่านการเจรจา

นอกจากนี้ อิสราเอลยังตั้งถิ่นฐานทั่วเวสต์แบงก์ ซึ่งหลายแห่งมีลักษณะคล้ายกับชานเมืองและเมืองเล็กๆ ที่พัฒนาเต็มที่แล้ว โดยการตั้งถิ่นฐานเหล่านี้ได้กลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวมากกว่า 500,000 คน ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 3 ล้านคนอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ต่อมาอิสราเอลผนวกเยรูซาเลมตะวันออกและถือว่าเยรูซาเลมทั้งเมืองเป็นเมืองหลวงของตน

ประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่ถือว่าการตั้งถิ่นฐานนี้ผิดกฎหมาย การผนวกเยรูซาเลมตะวันออกของอิสราเอลซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ละเอียดอ่อนที่สุดของเมือง ไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล