ใครคือ ‘แฟนซีรีส์วายไทย’ ในญี่ปุ่น ที่มา ปัญหา และโอกาส

คนมองหนัง

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม มีโอกาสเข้าร่วมฟังการประชุมวิชาการระดับชาติหัวข้อ “วายศึกษา วายสร้างสรรค์ วายยั่งยืน” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอแผนงานวิจัยหัวข้อ “เควียร์ อำนาจอ่อน แรงงาน และการแปล : หลังม่าน ‘วาย’ ในฐานะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ระดับชาติ/ข้ามชาติ” ซึ่งมี รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ

หนึ่งในความรู้ใหม่ที่ได้รับจากงานประชุมนี้คือสถานการณ์ของ “แฟนๆ ซีรีส์วายไทย” ในประเทศญี่ปุ่น จึงขออนุญาตสรุปประมวลข้อมูลที่ได้ยินได้ฟังจากวิทยากรหลายท่านในวงเสวนา “อุตสาหกรรมวายไทยกับกลุ่มแฟน : วัฒนธรรมระดับชาติและข้ามชาติ” ประกอบด้วย คุณอรรถ บุนนาค รศ.ดร.อัมพร จิรัฐติกร และ ผศ.ดร.รุจิรัตน์ วินิจผล มาถ่ายทอดต่อเป็นข้อๆ

ดังนี้

 

หนึ่ง แม้จะรับรู้กันว่าวัฒนธรรม “บอยเลิฟ” ของประเทศญี่ปุ่น คือต้นธารวัฒนธรรม “วาย” ในประเทศไทย

แต่หากมองที่สภาพของอุตสาหกรรมบันเทิงยุคปัจจุบัน เราจะพบว่า ขณะที่ทางญี่ปุ่นเน้นตีพิมพ์เรื่องราวแบบ “บีแอล” เป็นมังงะ (หนังสือการ์ตูน) และดัดแปลงเป็น “อนิเมะ” (ภาพยนตร์การ์ตูน)

จุดเด่นของไทยเรา กลับกลายเป็นการมุ่งผลิต “ซีรีส์วาย” ที่ใช้คนจริงๆ แสดง

นี่คือ “ช่องว่าง” ที่เปิดโอกาสให้ “อุตสาหกรรมวายไทย” มีที่ทางในดินแดนต้นกำเนิด “บอยเลิฟ”

 

สอง “ซีรีส์วายไทย” เริ่มบูมในประเทศญี่ปุ่นตอน พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) ซึ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์โควิด ผู้คนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน

เวลานั้น เกิดกระแสในหมู่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ญี่ปุ่น ที่เชิญชวนกันมาดู “ซีรีส์วายไทย” เงื่อนไขหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันสำคัญมาก คือ เมื่อสี่ปีก่อน “ซีรีส์วายดังๆ” ของไทย สามารถ “ดูได้ฟรี” ทั่วโลก ผ่านทางแพลตฟอร์มยูทูบ

นี่เป็นวิถีที่ “แปลก” มากสำหรับสังคมญี่ปุ่น ที่กิจกรรมการบริโภคทุกชนิดจะต้องมีค่าบริการ เช่น ถ้าอยากดูหนัง-ซีรีส์ต่างประเทศ ก็ต้องเสียเงินสมัครเป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งเจ้าต่างๆ ก่อน

ในแง่ประชากรศาสตร์ “แฟนซีรีส์วายไทย” ในญี่ปุ่นมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ บรรดา “คุณแม่บ้าน” วัย 40 ปีขึ้นไป (ซึ่งถือเป็นผู้บริโภคกลุ่มสำคัญ และมี “เวลาว่าง” ในช่วงบ่ายวันธรรมดา) กลุ่มต่อมา คือ คนดูที่เป็นวัยรุ่น

 

สาม “วัฒนธรรมดารา” ของญี่ปุ่นกับไทยนั้นผิดแผกกัน

“ดาราญี่ปุ่น” ยึดหลักการแบ่งแยก “บทบาทการแสดง” ออกจาก “ชีวิตจริง-ชีวิตส่วนตัว” อย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง นั่นทำให้พวกเขาไม่มีหน้าที่ต้อง “เซอร์วิส” แฟนๆ นอกจอ

ผิดกับ “ดาราไทย” ที่ต้องสวมบทบาทเป็น “คนของประชาชน” ในทุกบริบท เช่น “ดาราวายไทย” ที่ต้องทำตัวเป็น “คู่จิ้น” กันต่อในโซเชียลมีเดีย ในงานแฟนมีต นี่ส่งผลให้แฟนญี่ปุ่นตกหลุมรัก “นักแสดงวายไทย” ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ

ขณะเดียวกัน อัตลักษณ์ของเหล่าแฟนคลับญี่ปุ่นก็จะมีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมดาราข้างต้น กล่าวคือ พวกเขามักประเมินตนเองเป็น “อากาศธาตุ” ที่คอยเฝ้ามองเฝ้าเชียร์ “ดาราวาย” คนโปรดอยู่ห่างๆ ไม่ได้มีลักษณะ “อิน” จนพยายามนำตัวเองเข้าไปแทนที่ตัวละครในซีรีส์ หรือไม่ได้มีพฤติกรรม “หวงแหนคู่จิ้น” จนนำไปสู่การต่อต้าน “การเปลี่ยนคู่ดารา”

 

สี่ คนญี่ปุ่นผู้เป็น “แฟนซีรีส์วายไทย” สามารถปรับตัวเข้าสู่ “ด้อมวายไทย” ในหลากหลายแง่มุม

เช่น ปกติคนญี่ปุ่นจะไม่พกกล้องเข้าไปถ่ายภาพหรือคลิปในฮอลล์คอนเสิร์ตและการแสดงสดอื่นๆ แต่พอพวกเขาพบว่า งานแฟนมีตดาราวายไทยที่ไปจัดในประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้แฟนๆ สามารถนำกล้องเข้าไปได้ แฟนชาวญี่ปุ่นก็จัดหากล้องถ่ายรูปพร้อมเลนส์ซูมประสิทธิภาพสูงมาใช้สอยเพื่อการนี้โดยทันที

นอกจากนั้น ยังพบว่า ณ ปัจจุบัน แม่บ้านและวัยรุ่นหญิงชาวญี่ปุ่นต่างนิยมเรียนภาษาไทยกันมากขึ้น พร้อมๆ กับการหันมาบริโภค “นมเย็นสีชมพู” และหัดดม “ยาดม” ซึ่งเป็นสินค้าสองประเภทที่ปรากฏชัดขึ้นมา ท่ามกลางกระแสบูมของ “ซีรีส์วายไทย”

 

ห้า กระนั้นก็ดี ยังมีความไม่ลงรอยบางอย่างที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากวิถีอันแตกต่างระหว่าง “แฟนๆ ชาวญี่ปุ่น” กับรูปแบบการทำธุรกิจของ “อุตสาหกรรมวายไทยร่วมสมัย”

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า “ซีรีส์วายไทย” เริ่มฮิตในญี่ปุ่น ผ่าน “ช่องทางการดูฟรี” ในยูทูบ อย่างไรก็ตาม พอเวลาผ่านไป เอกชนไทยแต่ละเจ้าจำเป็นต้องนำซีรีส์ของตัวเองเข้าฉายในแพลตฟอร์มออนไลน์ทางการต่างๆ เพื่อให้ถูกกฎหมายและสอดคล้องตามระบบระเบียบของประเทศปลายทาง

พร้อมกันนั้น ก็เริ่มบล็อกไม่ให้คนญี่ปุ่นเข้าถึงเนื้อหาของ “ซีรีส์วายไทย” ที่เปิดให้ชมฟรีทางยูทูบ

แม้แฟนๆ กลุ่ม “แม่บ้าน” อาจไม่ประสบปัญหามากนัก เพราะพวกเธอ/ครอบครัว สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายของการสมัครเป็นสมาชิกแพลตฟอร์มดูวิดีโอต่างๆ ได้ ทว่า คนดูที่เริ่มขาดหายไปจะได้แก่เด็กวัยรุ่น ซึ่งจ่ายค่าบริการดังกล่าวไม่ไหว ( เนื่องจากญี่ปุ่นชาร์จค่าสมาชิกแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งในอัตราที่สูงมาก)

จึงเริ่มเกิดข้อเสนอแนะทางนโยบายว่า ทำไมรัฐบาลไทยไม่เป็นเจ้าภาพลงทุนจัดซื้อลิขสิทธิ์ “ซีรีส์วายไทย” มามัดรวมเข้าเป็นแพ็กเกจใหญ่ แล้วนำซีรีส์เหล่านี้ไปเผยแพร่ในช่องยูทูบหนึ่งช่อง ซึ่งตั้งค่าให้เข้าถึง (แบบดูฟรี) ได้เฉพาะผู้ชมจากประเทศญี่ปุ่น (หรือประเทศอื่นๆ ที่เป็นฐานใหญ่ในการบริโภคซีรีส์วาย) เท่านั้น

สำหรับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย นี่อาจเป็นกลยุทธ์การสร้าง “ซอฟต์เพาเวอร์” ทางด้านอุตสาหกรรมวาย ที่ดีกว่าการพาดาราไปเดินสายออกงานนู่นนี่ในต่างประเทศเสียอีก

 

หก อีกหนึ่งรอยแยกที่เริ่มปรากฏชัด นั้นมีที่มาจากพันธกิจหลักของ “แฟนคลับญี่ปุ่น” ซึ่งมุ่งประคองรักษา “สายสัมพันธ์ระยะยาว” กับดาราที่พวกเขาชื่นชม ผ่านความภักดี ที่พร้อมจะไปให้กำลังใจดาราคนโปรดในทุกๆ อีเวนต์สาธารณะ

ค่านิยมแบบนี้ดูจะ “สวนทาง” กับแนวโน้มการทำธุรกิจของภาคบันเทิงไทย ที่คล้ายกำลังประเมินว่า พวกตนต้องมุ่งกอบโกยกระแสนิยมที่มีต่อซีรีส์วายในช่วง 1-2 ปีนี้ เอาไว้ให้ได้มากที่สุด (ก่อนมันจะเลิกฮิต)

ขณะที่เอกชนและหน่วยงานภาครัฐของไทยกำลังเพลิดเพลินกับการจัดงานในลักษณะ “แฟนมีต” ต่างๆ โดยถี่ยิบ บางงานเข้าฟรี บางงานเก็บเงินค่าบัตร แฟนๆ ชาวญี่ปุ่น กลับเห็นว่านั่นคือการทำงานที่ไม่เป็นระบบ พวกเขารู้สึกเห็นใจดาราคนโปรด ที่กำลังถูก “ถลุงใช้งานอย่างหนัก” และรู้สึกเหนื่อยล้าที่จะตามติดดาราไปในทุกๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนกัน

นอกจากนี้ แฟนชาวญี่ปุ่นยัง “ไม่ค่อยโอเค” กับรูปแบบการจัดงาน “แฟนมีตแบบไทยๆ” ซึ่งมีการ “สุ่มเบเนฟิต” (เช่น ถ้าแฟนๆ ที่ซื้อตั๋วเข้างานราคา 1,000 บาท มีจำนวน 100 คน จะมี 20 คน ที่โชคดีได้รับเบเนฟิตให้ขึ้นไปถ่ายรูปกับดาราบนเวที)

เพราะคนญี่ปุ่นไม่เชื่อเรื่อง “การเสี่ยงโชค” และยึดหลักว่า ถ้าพวกตนจ่ายเงินค่าบริการต่างๆ เท่ากัน ก็ต้องได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการนั้นๆ ทัดเทียมกันทั้งหมดด้วย

นี่คือปัญหาท้าทายและโอกาสที่จะปรับตัวของ “อุตสาหกรรมวายไทย” ในประเทศญี่ปุ่น •

 

| คนมองหนัง