ขอแสดงความนับถือ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แห่งคอลัมน์ ตุลวิภาคพจนกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

นำปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ว่าด้วยเรื่องร้อนๆ และเรื้อรัง เกี่ยวกับปัญหาที่ดินในประเทศไทย มานำเสนอ

องค์ปาฐก คือศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยในโครงการวิจัย “ระบบกำกับดูแลที่ดินเพื่อการพัฒนา : ทางเลือกการใช้ที่ดินและนโยบายที่ดินใน 20 ปีข้างหน้า” ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

งานวิจัยนี้สำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์เป็นเล่มแล้ว

ในชื่อเรื่อง Getting Land Right : ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป (2566)

 

สิ่งที่ ดร.ผาสุก คณะผู้วิจัย พบเห็น และส่งเสียงเตือน (โดยที่เราได้ยินได้ฟังมานาน แต่แก้ไม่ได้เสียที)

นั่นคือ ที่ดิน เป็นปัญหามหึมาที่ครอบคลุมปริมณฑลของความขัดแย้งเอาไว้ทั้งหมด

ทั้งในทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ

พันลึกไปถึงกฎหมายไทยในเรื่องที่ดินและการจัดการที่ดิน

เป็นนาฏกรรมของรัฐไทยในยุคโลกาภิวัตน์ที่เราถูกบังคับให้ชมในหลายรูปแบบ

ล่าสุด คือกรณีปัญหาพิพาทจุดหมุดนิรนามสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 4-01 ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ที่มีการทับซ้อนกัน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

แต่ละหน่วยงาน ยืนยันหนักแน่นว่า ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเอง

ยืนยันว่าทำตามหลักกฎหมายทุกประการ

ถือเป็นเรื่องพิสดาร ที่ชาวบ้านยืนทำตาปริบๆ

เพราะเป็นศึกระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองทั้งหมด

กล่าวถึงเรื่องพิพาท ที่นอกจากเรื่องพิสดารข้างต้นแล้ว

อาจารย์ผาสุกและทีมวิจัย พบว่า เฉพาะในช่วง พ.ศ.2557-2562

หน่วยงานรัฐฟ้องร้องประชาชนในศาลว่าบุกรุกที่ดินที่รัฐบาลนิยามว่าเป็น “ป่า” อยู่กว่า 50,000 คดี

ยังไม่รวมกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง

ที่น่าตระหนกคือสิ่งที่เกิดขึ้นในความขัดแย้งเหล่านี้คือความรุนแรงด้วยกำลัง จนถึงการอุ้มหายแกนนำที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ

ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงกับนิยามของ “สงคราม”

สงครามที่มากด้วยความสับสน วุ่นวาย เหลื่อมล้ำและลักลั่น

เป็น “ความลักลั่น” ในที่ดิน 3 ประเภท คือ ที่ดินของรัฐ ที่ดิน “กึ่งรัฐ-กึ่งเอกชน” และที่ดินของเอกชน

โดยเฉพาะที่ดินของรัฐ ทั้งที่เป็นที่ดินของทางราชการ ป่าไม้ตามกฎหมาย ที่สงวนหวงห้ามของรัฐทุกประเภท ที่ราชพัสดุ ที่ดินทั้งหลายอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ และที่ดินที่อยู่ในความดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ของทางราชการส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ

ที่มากด้วยปัญหา ไม่ชัดเจน

และแถมถูกนำไปแสวงหาประโยชน์ โดยที่ไม่ตกถึงมือชาวบ้าน

ที่ดินของรัฐดังกล่าวนี้อยู่ในความครอบครองของหน่วยราชการระดับกระทรวงอย่างน้อย 8 แห่ง

ระดับกรมและรัฐวิสาหกิจมากกว่า 20 แห่ง

และมีกฎหมายกำกับอย่างน้อย 16 ฉบับ

นี่เองที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการพัฒานาอย่างเสรี ในเมื่อปัจจัยการผลิตสำคัญอย่างที่ดินตกอยู่ในกำมือหรือการกำกับควบคุมจัดการโดยรัฐและกลไกระบบราชการกว่าค่อนประเทศ

ยังไม่รวมนายทุนพ่อค้าต่างเข้ามาร่วมฉกฉวยผลประโยชน์นี้ด้วย

 

สังคมไทยจึงอยู่ในภาวะที่ “กาแฟดำ” บอกไว้ที่หน้า 69 คือ

เป็นสังคมที่ป่วย

โดยอาการป่วยสังคมไทยวันนี้ คือโรคซึมเศร้า+โรคตานขโมย

ข้อมูลแบงก์ชาติบอกว่าคนไทยมีเงินฝากในธนาคาร 110 ล้านบัญชี

และกว่าร้อยละ 90 มีเงินฝากเฉลี่ยเพียง 4,000 บาท

ที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือสินทรัพย์ของคนไทยส่วนใหญ่เริ่มหลุดมือไปมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะเกษตรกรเป็นหนี้มากขึ้น

จึงต้องขายไร่นาเพื่อไปใช้หนี้บ้าง ขายที่เพื่อส่งลูกเรียนบ้าง

กลายเป็นที่ว่าที่ดินไปตกอยู่ในมือของคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น

สถิติที่น่าตกใจบอกว่า คนไทย 20% ที่รวยที่สุดเป็นเจ้าของที่ดิน 80% ของทั้งประเทศ

คนจนที่สุด 20% เป็นเจ้าของที่ดินเพียง 0.25%

และดูเหมือนว่า ฝ่ายที่เป็นเจ้าของที่ดิน 80% ของทั้งประเทศ ก็ยังไม่พอ

ยังแอบแฝงเข้าไปหาประโยชน์และพยายามเข้าไปเป็นเจ้าของในที่ดิน ป่า และชายหาด

อย่างตะกรุมตะกราม •