ธนาคารไร้สาขา ใกล้เป็นจริง

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ระบบธนาคารไทย จะมีการเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้ง อย่างเป็นจริงเป็นจัง

เมื่อกระทรวงการคลัง ออกประกาศ “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)” ลงนาม (20 กุมภาพันธ์ 2567) โดย เศรษฐา ทวีสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 4 มีนาคม 2567)

ดูจะใช้เวลามากกว่าที่คาดไว้แต่แรก หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยนำเสนอ “แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)” เมื่อต้นปีที่แล้ว (เมื่อ 11 มกราคม 2566) ครั้งนั้นได้ระบุห้วงเวลาดำเนินการไว้

“…ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อที่จะได้นำไปประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank นำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ พร้อมเปิดรับสมัครคำขอจัดตั้ง Virtual Bank ได้ในปี 2566 ประกาศผลผู้ที่ได้รับคัดเลือกและได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ภายในปี 2567”

เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างช่วงท้ายๆ รัฐบาลชุดก่อน กับการเลือกตั้งทั่วไป และการมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

 

ตามไทม์ไลน์ใหม่ (อ้างอิงจากข่าว ธปท. 5 มีนาคม) “ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มายัง ธปท. ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567 ถึง 19 กันยายน 2567” ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงการคลังได้กำหนดช่วงเวลาต่อจากนั้นไว้ค่อนข้างตายตัว เป็นไปตามกระบวนการต่อเนื่อง จาก ธปท. ผู้มีอำนาจและบทบาทสำคัญในการพิจารณาและนำเสนอผู้ได้รับคัดเลือก “ต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ…เว้นแต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร” ขณะเปิดช่องให้อำนาจทางการเมืองไว้บ้าง “รัฐมนตรีอาจให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาได้ ซึ่งรวมระยะเวลาพิจารณาทั้งสิ้น ต้องไม่เกิน 1 ปี”

จากนั้น เป็นช่วงเวลาดำเนินการทางเทคนิค “เมื่อรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ…ผู้ขออนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบนั้น ต้องดำเนินการจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อยื่นขอรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ต่อรัฐมนตรี ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย และเปิดดำเนินการภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาผ่อนผันให้ซึ่งจะผ่อนผันได้อีกไม่เกิน 1 ปี”

ถ้าว่ากันตามไทม์ไลน์ข้างต้นอย่างเคร่งครัด โฉมหน้าธนาคารไร้สาขาในไทย จะปรากฏขึ้น (19 กันยายน 2568) ไม่กี่วันก่อนวาระดำรงตำแหน่งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน จะสิ้นสุดลง

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ตามวาระปกติ อยู่ในตำแหน่ง 5 ปี (1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2568) เป็นที่คาดกันได้ว่า น่าจะเป็นไปอย่างนั้น แม้ว่ามีภาพความขัดแย้งกับรัฐมนตรีคลังจะปรากฏอยู่บ้าง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อีกคนที่มีบทบาทสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบธนาคารไทยยุคใกล้ สามารถเทียบเคียงกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (ดำรงตำแหน่ง 31 พฤษภาคม 2544-6 ตุลาคม 2549)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท.ผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง อยู่ในตำแหน่งเกิน 5 ปี เป็นคนแรกตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ด้วยต่อเนื่องเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการคลัง (8 ตุลาคม 2549-28 กุมภาพันธ์ 2550) และเป็นผู้ว่าการ ธปท.คนแรกที่มีประสบการณ์เชี่ยวกรำกับระบบธนาคารพาณิชย์ เขามากับ “แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย” ในจังหวะที่เขาประเมินว่า ระบบธนาคารพาพณิชย์ไทยกลับมาตั้งหลักตั้งแต่ปี 2544 มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ อนุญาตให้จัดตั้งธนาคารใหม่ระลอกใหญ่ หลังจากว่างเว้นมากว่าครึ่งศตวรรษ

ช่วงปี 2547-2550 กระทรวงการคลังอนุมัติให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ มี 4 แห่ง เป็นไปตามแบบแผน-ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) “ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้ทุกกลุ่มและทําธุรกรรมทางการเงินได้เกือบทุกประเภท…จะต้องมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท” และอีก 2 แห่ง เป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธย.) “ให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม…จะต้องมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท” ต่อมา ธย.เหลือเพียงแห่งเดียว ด้วยอีกแห่งยกระดับขึ้นเป็น ธพ.

“ธนาคารใหม่มีโครงสร้างธุรกิจพัฒนามาจากสถาบันการเงินชั้นรอง โดยเฉพาะบริษัทเงินทุน ซึ่งสามารถผ่านมรสุมช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาได้ มักมีความสัมพันธ์โดยตรงกับเครือข่ายธุรกิจครอบครัวทรงอิทธิพลในเวลานั้น ประกาศกระทรวงการคลัง”

ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้

 

ส่วนผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน มีโปรไฟล์ที่น่าสนใจเช่นกัน “มีภูมิหลังการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ (ปริญญาตรี-Swarthmore College และโท-เอก Yale University) เช่นเดียวกับผู้ว่าการ ราวครึ่งหนึ่งในทำเนียบ…ผ่านการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นคนที่ 11 เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ ดร.เสนาะ อูนากูล (ผู้ว่าการ 2518-2522) …ถือกันว่าอยู่ยุคอิทธิพลสหรัฐ ช่วงปลายสงครามเวียดนาม” ผมเคยเสนอไว้เช่นกัน

ส่วนที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ด้วยมีประสบการณ์ในบทบาทนักเศรษฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งองค์กรระดับโลก (เคยประจำอยู่ที่ธนาคารโลก กรุงวอชิตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ราว 10 ปี) และระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

“เขาเข้ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (2557-2563) ในช่วงนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และมี สมหมาย ภาษี เป็นรัฐมนตรีคลัง ต่อด้วยอีกช่วงมาเป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (2560-มีนาคม 2563) คาบเกี่ยวกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง” ผมเองเคยเสนอไว้เช่นกัน

ในช่วงเป็นผู้ว่าการ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กับปาฐกถางานประจำปี ธปท. เรียกว่า BOT Symposium ได้สะท้อนแนวคิดกว้างอย่างน่าสนใจ

อาทิ กล่าวพาดพิงถึง “ความสมานฉันท์ในสังคมไทย” ไว้ว่า “…ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Survey ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันที่พบว่า ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ได้บั่นทอนกลไกในการสร้าง resiliency ของระบบเศรษฐกิจไทย” (BOT Symposium 2021)

ปีต่อๆ มา มุมมองก็น่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะ BOT Symposium 2022 เขาตระหนักว่า “คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากขาดความมั่นคงในอนาคตในหลายด้าน…”

โดยเฉพาะประการสำคัญ “…ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (economic insecurity)”

 

วกมาเกี่ยวกับธนาคารไร้สาขา ดูแล้วมี Keyword สะท้อนแนวทางในแผนการไว้

“เพื่อเปิดให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)” ถ้อยแถลงของ ธปท.สรุปความเกี่ยวกับบทบาทธนาคารไร้สาขาไว้ (อ้างอิงจากข่าว ธปท.5 มีนาคม) ข้อความเน้นไว้ น่าสะท้อนถึงกลุ่มคนในสังคมไทยยุคใหม่

เมื่อพิจารณาประกาศกระทรวงคลัง (ยาว 16 หน้า) จะพบถ้อยความซึ่งเน้นไว้หลายครั้ง อย่างน่าสังเกต ถือเป็นท่อนขยายความต่อจากข้างบนก็ว่าได้ “…โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอ และเหมาะสม (Underserved) หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved)”

แนวความคิดผู้ว่าการ ธปท. กับแผนงานใหญ่ที่ว่ามาข้างต้น มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ อย่างไร •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com