อาการป่วยสังคมไทยวันนี้ : โรคซึมเศร้า+โรคตาลขโมย

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

อาการป่วยสังคมไทยวันนี้

: โรคซึมเศร้า+โรคตาลขโมย

 

ถ้าเราไม่ทบทวนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ท้ายที่สุดเราก็อาจจะตกอยู่ในสภาพ

ยิ่งพัฒนา ยิ่งเหลื่อมล้ำ

ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งล้าหลัง

กลายเป็นรัฐกึ่งล้มเหลว

ตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า Permacrisis

แปลตรงตัวคือ “วิกฤตถาวร”

หรือระยะเวลาอันยาวนานของความไม่มั่นคงและความไร้เสถียรภาพ (an extended period of instability and insecurity)

หรืออีกนัย ก็นิยามว่าเป็น “ช่วงระยะเวลาหนึ่งของความไม่มั่นคงและความไม่มั่นคงที่ยืดเยื้อ”

เป็นสภาวะหลังการระบาดใหญ่ของ Covid ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน และในช่วงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทุกอย่างแพงขึ้น

กลายเป็น “วิกฤตของการดำรงชีวิตอยู่” ที่มีผลกระทบไปทั่วโลก

แต่สำหรับไทยแล้ว เราอาจจะก้าวเข้าสู่ภาวะ Permacrisis โดยไม่รู้ตัว

เพราะเราหลอกตัวเองว่าได้ก้าวพ้นความเป็นโลกที่สามแล้ว กำลังจะเป็นประเทศรายได้ปานกลางและน่าจะขยับขึ้นเป็นประเทศที่ร่ำรวยได้

แต่แล้วเราก็ติดอยู่กับ “กับดักรายได้ปานกลาง” มายาวนาน

จนถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าเราจะมีวิธีการหลุดออกจากบ่วงนี้ได้อย่างไร

 

เราอาจจะเห็นสถิติว่าคนส่วนใหญ่พ้นจากเส้นความยากจนแล้ว

แต่ความเป็นจริงที่มิอาจปฏิเสธได้คือสินทรัพย์หรือความมั่งคั่งของสังคมไทยมีลักษะ “กระจุกตัว”

ความรวยกระจุก ความจนกระจาย

ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ความจริงแย่ลง

รัฐบาลชุดนี้บอกว่าเราอยู่ใน “วิกฤต” มากว่าสิบปี แต่ถึงวันนี้ก็ยังมองไม่เห็นหนทางที่จะแหวกหนีจากภาวะตีบตันนั้นได้

เพราะแม้จะมีเงินแจกคนละหมื่นยื่นให้ 50 ล้านคนก็คงเป็นเพียงยาแก้ปวดชั่วคราวเท่านั้น

ตราบที่ยังไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนและถาวร

ข้อมูลแบงก์ชาติบอกว่าคนไทยมีเงินฝากในธนาคาร 110 ล้านบัญชี และกว่าร้อยละ 90 มีเงินฝากเฉลี่ยเพียง 4,000 บาท

ที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือสินทรัพย์ของคนไทยส่วนใหญ่เริ่มหลุดมือไปมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะเกษตรกรเป็นหนี้มากขึ้น จึงต้องขายไร่นาเพื่อไปใช้หนี้บ้าง ขายที่เพื่อส่งลูกเรียนบ้าง

กลายเป็นที่ว่าที่ดินไปตกอยู่ในมือของคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น

สถิติที่น่าตกใจบอกว่า คนไทย 20% ที่รวยที่สุดเป็นเจ้าของที่ดิน 80% ของทั้งประเทศ

คนจนที่สุด 20% เป็นเจ้าของที่ดินเพียง 0.25%

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล บอกว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้เป็น “โรคซึมเศร้า” เรื้อรัง

ไร้ชีวิตชีวา ไร้ความกระตือรือร้น และไร้ความหวัง

เท่านั้นไม่พอ วันนี้สังคมไทยยังมีโรคมาซ้ำเติมอีกโรคคือ “โรคตาลขโมย”

หัวโต พุงป่อง แขนขาลีบ

ทั้งตัวก็โตไปมากกว่านี้ไม่ได้

มิหนำซ้ำยังขยายตัวเฉพาะจุด นั่นคือมาโตอยู่ที่กรุงเทพฯ, อีอีซี และหัวเมืองหลักไม่กี่แห่งเช่นเชียงใหม่, ภูเก็ตเป็นหลัก

แต่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือของประเทศโดยเฉพาะในชุมชนมีความอ่อนแอ, ปวกเปียก

ในชุมชนเหลือแต่ผู้สูงอายุและเด็ก

หนุ่มสาวมาหางานในโรงงานนอกชุมชนเดิมของตน พอมีลูกก็ส่งกลับไปหาตายายเลี้ยง

ผลก็คือเด็กไทยก็เติบโตมาโดยไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

ชุมชนหลายแห่งก็ยากจนลง เป็นหนี้ และก็สูญเสียที่ดินของตนไป

ภาพที่เห็นคือยิ่งพัฒนา ประเทศก็ยิ่งอ่อนแอ

นั่นคือสภาวะอันตราย

 

ภาพที่เห็นในเมืองใหญ่คือการก่อสร้างที่ทันสมัย

ดร.กอบศักดิ์ที่ทำเรื่องการพัฒนาชนบทมายาวนานยอมรับว่า “สิ่งที่น่ากลัวคือยิ่งเราพัฒนา ประเทศเรายิ่งอ่อนแอลงเรื่อยๆ”

แม้ในเมืองหลวงเอง 30% ของประชากรอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม

และมีปัญหาในการดำรงชีพ

เอาเข้าจริงๆ ถ้าเรากล้าเผชิญกับความเป็นจริง ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีอยู่ทุกที่…เราจะมองมันให้ลึกหรือเปล่า

และใช่ว่าจะไม่ได้ใช้งบประมาณเพื่อเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ

ตัวเลขในงบประมาณปี 2566 นี้มีกิจกรรมยุทธศาสตร์ “สร้างความเสมอภาค, ลดความเหลื่อมล้ำ” จัดสรรไว้กว่า 7 แสนล้านบาท

รัฐบาลเชื่อว่าเงินก้อนใหญ่นี้คือการโอนเงินให้คนจน

ในรูปของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, เบี้ยคนชรา เป็นต้น

นักการเมืองคิดว่านี่คือคำตอบ

แต่ความจริงไม่ใช่

เพราะความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหานั้นคือคนสองกลุ่มที่วิ่งได้ไม่เท่ากัน

เหมือนวิ่งมาราธอน

หากวิ่งเกาะกลุ่มกัน ความเหลื่อมล้ำอาจจะลดลง

แต่เมื่อวิ่งไป คนกลุ่มต่างๆ ก็ยิ่งวิ่งออกห่างจากกัน ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ก็ยิ่งห่างออกไปอีก

 

รัฐบาลมักคิดว่าการช่วยคนจนก็คือการช่วย “พอให้เขายืนขึ้นมาได้”

ทั้งๆ ที่ความจริงต้อง “ช่วยให้เขาวิ่งได้”

หากคิดว่าการเอาเงินคนรวยมาแจกคนจนคือการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสแล้ว ก็เป็นการมองผิดความเป็นจริง

เพราะคนกลุ่มหนึ่งวิ่งได้อย่างเต็มพิกัด

แต่อีกหลายกลุ่ม (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่) กลับยังเดินไม่ได้ด้วยซ้ำ

“รัฐบาลคิดว่าแจกเงินแล้วจบ แต่ความจริงมันไม่จบเพราะว่ามันคือความต่างของความสามารถก้าวไปข้างหน้าของคนสองกลุ่ม…” ดร.กอบศักดิ์บอก

แต่รัฐบาลคิดว่าใช้งบประมาณมากมาย ปีละไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านแล้วก็น่าจะต้องถือว่าได้ทุ่มเทเต็มกำลังแล้ว

“ผมว่ารัฐบาลขาดความเข้าใจเรื่องตลาด” ดร.กอบศักดิ์ซึ่งเคยทำงานทั้งเป็นรัฐมนตรีและคุ้นเคยกับเอกชนบอก

ชุมชนและผู้มีรายได้น้อยจะสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งโดยไม่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลังนั้นจะต้องวิ่งให้ทัน

เพียงแค่รับเงินที่รัฐบาลแจกมานั้นไม่สามารถทำให้ชาวบ้านวิ่งได้ เพราะก็ยังต้องพึ่งพารัฐบาลอยู่

“การจะวิ่งได้ รัฐบาลต้องช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงตลาดเพราะนั่นคือรายได้หลัก”

รัฐบาลบอกว่าจะต้องสอนให้ชาวบ้านตกปลา

“แต่คนสอนเองก็ไม่เคยตกปลาเลย…ตกปลาไม่เป็น!” ดร.กอบศักดิ์พูดแล้วพลางหัวเราะร่วน

ข้าราชการไปบอกชาวบ้านว่า “คุณป้าคุณลุงต้องทำ logistics ต้องทำ packaging ต้องทำ e-commerce”

แต่คนสอนไม่เคยทำ ไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวเรื่องการผลิตและการขายของมาก่อน

ลงท้ายก็เท่ากับเตี้ยอุ้มค่อมเท่านั้น

 

สําหรับคนที่เข้าไปทำงานในรัฐบาลกว่า 6 ปี ดร.กอบศักดิ์ได้บทเรียนที่ลุ่มลึกหลายประการ

“ตอนนี้ ผมอายุมากพอที่จะพูดอะไรตรงไปตรงมาแล้ว ไม่ต้องเกรงใจใครแล้ว” ดร.กอบศักดิ์บอกผม

ผมยืนยันว่าเมื่อคนเราถึงอายุวัยที่อาวุโสระดับหนึ่ง และไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณนักการเมืองคนใดก็ต้องพูดความจริงที่ประสบมา

อย่างน้อยก็จะได้ไม่รู้สึกเสียใจก่อนจะจากโลกนี้ไปว่า “ไม่เสียชาติเกิด” ได้อย่างเต็มปาก

รัฐบาลสอนให้ชาวบ้านผลิตสินค้าต่างๆ โดยเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้

แต่ไม่ได้คุณภาพที่ตลาดต้องการ

“ตอนทำก็สนุกสนาน ออกข่าวกันคึกคัก แต่เมื่อไม่เป็นที่ต้องการของตลาดก็กองกันอยู่ตรงนั้น”

นั่นคือคำอธิบายว่าทำไมใช้เงินตั้งเยอะ แต่ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ

แต่เมื่อเกิดนิสัยต้องแจกเงิน ก็กลับมาใช้วิธีแจกเงินต่อไป

ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุดแต่อย่างไร

 

ท้ายที่สุด ทางออกคือจะต้องให้เอกชนต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะการแจกเงินของรัฐบาลไม่สามารถทำให้ชาวบ้านขายสินค้าเข้าตลาดได้

ทำไมเอกชนต้องช่วย

“คำตอบคือถ้าเอกชนไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม อีกหน่อยเอกชนไม่ว่าจะร่ำรวยแค่ไหนก็อยู่ไม่ได้ เพราะเอกชนจะนั่งอยู่ส่วนบนของพีระมิดขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังลำบาก และจะลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ…”

สังคมใดที่มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นตลอดเวลา สังคมนั้นก็จะเกิดความแตกแยก และสังคมก็จะปั่นป่วน ความรุนแรงก็จะตามมา และธุรกิจเองก็อยู่ไม่ได้

สังคมก็จะมีอันล่มสลาย

นี่คือคำอธิบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด

ส่วนเอกชนจะช่วยอย่างไร รัฐจะต้องแก้กฎกติกาให้คล่องตัวขึ้นอย่างไร ใครในสังคมต้องทำอะไรบ้าง เป็นอีกหัวข้อใหญ่ที่ต้องระดมความคิดความอ่านกันครั้งใหญ่กันเลยทีเดียว!