ภัยทางศีลธรรมในโลกการเงิน

ภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) หรือ อันตรายบนศีลธรรม คือ สภาวะที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแสวงหากำไรของตน โดยการเพิ่มความเสี่ยงอย่างไม่เกรงกลัวผลกระทบที่จะตามมา เนื่องจากรู้อยู่แก่ใจดีว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีคนอื่นรับผิดชอบแทน

จากนิยามข้างต้น ฟังแล้วอาจจะเข้าใจยาก หากเปรียบเปรยคงเหมือน เด็กเล็กเล่นตีลังกาโดยไม่กลัวเจ็บเนื่องจากมีฟูกนุ่มๆ รองรับอยู่ตลอดเวลา

ขอยกตัวอย่างสุดคลาสสิคอันหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมากล่าวอ้างว่าเป็นภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) คือ การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากประกันสุขภาพ

มีการกล่าวอ้างโดยทั่วไปว่า เมื่อทำประกันสุขภาพแล้ว ผู้ทำประกันมักละเลยไม่ดูแลรักษาสุขภาพตามเดิม เพราะรู้ว่าตนเองทำประกันสุขภาพไว้แล้ว หากเจ็บป่วยบริษัทประกันย่อมเป็นผู้รับผิดชอบแทน หรือผู้ทำประกันสุขภาพมีแนวโน้มจะใช้สิทธิ์ตามกรมธรรม์ประกันสุขภาพแม้เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็ตาม

สภาวะดังกล่าวส่งผลให้บริษัทประกันต้องปรับปรุงโมเดลการรับประกันสุขภาพ ส่งผลให้เบี้ยประกันสุขภาพโดยรวมสูงขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ผู้ทำประกันที่เป็นคนดีไม่เบิกประกันพร่ำเพรื่อ ต้องร่วมรับผิดชอบเบี้ยประกันสุขภาพที่สูงขึ้นไปด้วย

 

เมื่อมีผู้ได้ประโยชน์-ผู้เสียผลประโยชน์ สภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) จึงเป็นเกม (Game) ประเภท เกมผลรวมเป็นศูนย์ (Zero-sum Game) กล่าวคือ เมื่อมีคนได้ผลประโยชน์ต้องมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเสียผลประโยชน์ ซึ่ง Zero-sum game นั้นเป็นผลกระทบในระยะสั้น (Short-run Effect)

ซึ่งหากประชาชนรายย่อยเสียผลประโยชน์ บริษัทยักษ์ใหญ่จะได้รับผลประโยชน์เต็มที่

แต่หากบริษัทยักษ์เสียผลประโยชน์อาจปิดตัวลงและเบี้ยวไม่จ่ายเงินตามสัญญา ประชาชนรายย่อยเสียผลประโยชน์เช่นกัน

ก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาว (Long-run Effect) ภาพรวมอาจติดลบได้ จากการสร้างผลกระทบวงกว้างต่อธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นๆ

แนวทางการป้องกันภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ตามทฤษฎี มี 3 แนวทาง คือ 1.ใช้ระบบจูงใจ 2.ออกนโยบายป้องกันพฤติกรรมการประพฤติผิดทางศีลธรรม 3.การสอดส่องกำกับดูแล

ปัญหาภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเรื่องอำนาจการต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน ประชาชนรายย่อยแต่ละคนไม่มีเวลาและพละกำลังมากพอที่จะตรวจสอบการดำเนินกิจการของบริษัทยักษ์ใหญ่ ดังนั้นภาครัฐจึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วยกำกับดูแลบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มิให้ประพฤติผิดทางศีลธรรม

 

ประเทศไทยเคยเผชิญปัญหาอันเกิดจากภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ในโลกการเงินมาแล้วหลายครั้งหลายคราว ขอหยิบยกตัวอย่างมาเล่าเพียง 4 ตัวอย่างครับ

ตัวอย่างแรก ในสมัยท่านสมหมาย ฮุนตระกูล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะนั้นราคาสุรามีการกำหนดเพดานราคาไว้ บริษัทผลิตสุรารายใหญ่แห่งหนึ่ง ขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ 4 ราย เพื่อประกอบธุรกิจโดยนำสุราที่ผลิตได้เป็นหลักประกันสินเชื่อ ผู้บริหารเห็นโอกาสทำกำไรเพิ่มขึ้น จึงผลิตสุราเก็บไว้ในโกดัง ไม่นำออกจำหน่าย หนี้ของบริษัทสุราขณะนั้นเพียงประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งในสมัยนั้น 4 แบงก์ใหญ่จะล้มละลายจากสินเชื่อนี้ (ในขณะนี้เงินจำนวนดังกล่าวไม่ส่งผลกับธนาคารมากนัก)

4 แบงก์ใหญ่จึงจูงมือกันมาหา รมว.คลัง ให้ช่วย เนื่องจากหลักประกันสินเชื่อ คือ เหล้า ธนาคารจะยึดออกขายทอดตลาดก็คงไม่ได้ราคา จะจำหน่ายเองก็ไม่มีประสบการณ์ จะยึดธุรกิจออกขายทอดตลาด เจ้าสัวคนเดิมก็สามารถประมูลกลับไปได้ในราคาที่ถูกลงกว่าหนี้ที่มี

ท้ายที่สุด รมว.คลัง จึงต้องขยับเพดานราคาสุราให้ 4 ธนาคารจึงรอดจากการล้มละลาย

 

ตัวอย่างที่ 2 ในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง ก่อนปี 2540 ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งนิยมกู้ยืมเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศ แล้วปล่อยสินเชื่อในประเทศ

ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ล้วนมีความสุขกับกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยไม่รู้เลยว่าหายนะรอคอยอยู่ข้างหน้า

ขณะนั้นระบบแลกเปลี่ยนเงินตราของไทยเป็นระบบตะกร้าเงิน (Basket of currencies) คือเกือบจะคงที่ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หากอัตราแลกเปลี่ยนคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่เมื่อค่าเงินบาทอ่อนตัวลงจากนโยบายลอยตัวค่าเงินบาท ธนาคารพาณิชย์มีหนี้สินเพิ่มขึ้นทันที จนไม่สามารถชำระหนี้เงินตราต่างประเทศคืนให้แก่เจ้าหนี้ได้ ต้องปิดกิจการ และเรียกคืนหนี้จากสินเชื่อทั้งหมด ประชาชน ธุรกิจห้างร้าน เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทั้งไม่ได้เงินฝากคืน และไม่ได้เงินสินเชื่อตามงวดที่เคยตกลงกันไว้

ภาคเอกชนขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ราคาสินทรัพย์ทั้งบ้าน ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร รถยนต์ ราคาตกอย่างรวดเร็ว เพราะต้องรีบขายเพื่อเสริมสภาพคล่อง มีข่าวผู้คนทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหวฆ่าตัวตายกันรายวัน

ปัญหาเริ่มต้นด้วย ธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 18 แห่ง ปิดกิจการ ลุกลามกลายเป็นไฟลามทุ่ง จนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินเพื่อโอนสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารพาณิชย์จำนวน 6 แห่ง และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำนวน 58 แห่ง เข้ามาบริหารจัดการเพื่อให้ปัญหาคลี่คลาย ส่วนธนาคารพาณิชย์ที่รอดตายก็ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนอย่างเร่งด่วน

แต่กว่าปัญหาจะคลี่คลาย วิกฤตต้มยำกุ้งก็ลุกลามไปกลายเป็นปัญหาของทั้งภูมิภาคเสียแล้ว

ปัญหาเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน หิวกระหายในกำไรที่มากขึ้นโดยไม่สนใจความเสี่ยงที่ตามมา

อีกมุมหนึ่งของวิกฤตต้มยำกุ้ง ธปท.เอง ได้นำทุนสำรองระหว่างประเทศ ไปต่อสู้ค่าเงินบาทอย่างบ้าคลั่งราวกับการเล่นพนันในบ่อน ทั้งที่ตนเองกำกับดูแลปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ย่อมรู้ปริมาณเงินที่กองทุน Quantum Fund ของจอร์จ โซลอส ถือครองอยู่ แต่กลับปล่อยให้เกิดการโจมตีค่าเงิน

ผู้บริหาร ธปท. ณ ขณะนั้น ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อันเป็นสมบัติสาธารณะของประชาชน มิใช่เงินส่วนตัวของผู้บริหาร ไปเดิมพัน

ภายหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ธปท.ไม่รับผิดชอบชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน กลับโยนภาระให้รัฐบาลตั้งงบประมาณแผ่นดินประจำปีมาชำระดอกเบี้ยหนี้กองทุนฟื้นฟู ปีละ 60,000-70,000 ล้านบาท จนกระทั้งปี 2555 รัฐบาลจึงโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูออกจากรัฐบาล ให้ ธปท.ผู้สร้างหนี้รับผิดชอบ

ท้ายที่สุด ธปท.โยนภาระให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หาเงินชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยแทน ทาง สคฝ.จึงต้องรีดไถจากผู้ฝากเงินบัญชีธนาคารทุกคนทั่วประเทศอีกต่อหนึ่ง

สรุปสั้นๆ คือ หนี้กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน ธปท.เป็นผู้สร้างหนี้แต่ไม่เคยรับผิดชอบ โยนภาระให้ประชาชนรับผลกรรมที่ไม่ได้ก่อ ผ่านทางภาษีอากร และภาษีเงินฝาก เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard)

 

ตัวอย่างที่ 3 โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค มีการกล่าวถึงว่า โครงการนี้ทำให้คนที่มิได้เจ็บป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น

ในการใช้สิทธิ 30 บาทนั้น ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล 30 บาท ค่าเดินทาง ค่าขาดรายได้จากการหยุดงาน รวมๆ แล้วหลักหลายร้อยบาท คงไม่มีใครไปต่อคิวเล่น ซึ่งตรงกับงานศึกษาวิจัยในต่างประเทศที่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-pay) คือผู้รับบริการจ่ายเงินบางส่วน รัฐจ่ายเงินบางส่วน ไม่ฟรีทั้งหมด

ระบบร่วมจ่ายนี้ บริษัทประกันสุขภาพเริ่มนำมาปรับใช้เพื่อป้องกันปัญหาภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard)

ต่อมามีการยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท เปลี่ยนเป็นใช้บริการฟรี จึงมีข่าวคนไข้ขอรับยาฟรีไปจำหน่ายต่อเป็นระยะๆ

 

ตัวอย่างที่ 4 ประกันโรคโควิด-19 เจอปุ๊ปจ่ายปั๊ป ในปี 2563 แผนประกันโรคโควิด-19 ทำกำไรให้บริษัทประกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีการแพร่ระบาดมากนักในไทย ปี 2564 บริษัทประกันจึงขายกรมธรรม์โรคโควิด-19 กันเต็มอัตราศึก หน่วยงานกำกับดูแลก็มิได้ป้องปราม

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดในไทยอย่างหนัก บริษัทประกันจึงเลิกกิจการปิดตัวลง ทิ้งภาระหนี้ตามกรมธรรม์หลายหมื่นล้านบาทให้กองทุนประกันวินาศภัยชดใช้หนี้สินแทน ซึ่งกองทุนก็มีเงินไม่เพียงพอ ต้องไปรีดจากประชาชนผู้ทำประกันในอนาคตอีกต่อหนึ่ง

ถึงวันนี้ ณ ขณะนี้ ประชาชนที่ซื้อกรมธรรม์โรคโควิด-19 ยังไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์

ในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ITD เริ่มออกอาการ “ใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม” หรือ “too big to fail” อาจก่อปัญหาเป็นวงกว้างในวงการก่อสร้างและตลาดการเงิน

ช่วงนี้มีสัญญาณจากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเห็นตรงกันว่าปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในไทย 14 ราย และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 6 ราย รวมทั้งสิ้น 20 ธนาคาร ยังไม่รวม บสย. นั้นไม่เพียงพอสำหรับประเทศไทย ต้องการเปิดใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพิ่มเติมโดยไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต

ฟังแล้วได้แต่ถอนหายใจ แล้วบอกตนเองว่า ธปท.ทุกวันนี้ คงไม่เหมือน ธปท.ในอดีต

หวังว่า ธปท.จะมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมมากพอ เมื่อธนาคารพาณิชย์ปิดกิจการ จะไม่ทิ้งภาระให้ประชาชนอีก