นายพล นักธุรกิจ-นักการเมืองใหญ่ กับธุรกิจแข่งม้าในไทย (1)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“กรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น” ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมือง เข้าไปตรวจธุรกิจกองทัพอย่างเป็นทางการ…1

ข้อความนี้น่าสนใจยิ่ง สังคมไทยภายใต้บทบาทของทหารเป็นบริบทหลักมายาวนาน ควบคู่กับความรู้ความเข้าใจทั้งทางวิชาการและทางการเมืองต่อประเด็นนี้น้อยมาก เมื่อฝ่ายการเมืองแตะประเด็นอ่อนไหวและสำคัญยิ่งต่อการเมือง เศรษฐกิจและประชาธิปไตยของไทย

ผมจึงขอเริ่มโหมโรง ทหารทำอะไรกับเศรษฐกิจไทย

หวังอย่างยิ่งที่ฝ่ายการเมือง ฝ่ายวิชาการและคนไทยจะได้ร่วมกันทำความเข้าใจ ทหารกับเศรษฐกิจ กันต่อไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะมากยิ่งขึ้นต่อไป

 

ผังสมบัติของทหารบกไทย

การศึกษาทหารกับธุรกิจ

“…18 สิงหาคม 2022 นาย วรภพ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 มาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม วงเงินกว่า 1.97 แสนล้านบาท โดยเสนอตัดงบประมาณ 10% ในส่วนเงินนอกงบประมาณ (ขยายความโดยผู้เขียน) ที่ไม่อาจตรวจสอบได้ เงินนอกงบประมาณ ถ้าเรียกให้ถูกต้องคือ เงินนอกของงบประมาณ (ขยายความโดยผู้เขียน) เพราะไม่อยู่ในงบการเงินของกระทรวง เป็นธุรกิจของกองทัพพาณิชย์ ที่ไม่มีการรายงาน และการตรวจสอบใดๆ เช่น บ่อน้ำมัน สนามกอล์ฟ สนามม้า สนามมวย โรงแรม ปั้มต่างๆ (ขยายความโดยผู้เขียน)

ซึ่งรายได้เหล่านี้ มีการอ้างว่าเอามาเป็นสวัสดิการกองทัพ แต่คำถามคือ เป็นสวัสดิการของใคร นายพล ขุนศึก ศักดินาหรือไม่ แล้วไม่ใช่แค่สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่ตรวจสอบไม่ได้ แม้แต่สำนักการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง ก็ตรวจสอบไม่ได้เช่นกัน แล้วผู้บัญชาการทหารบกบอกจะมีการปฏิรูปกองทัพ แต่วันนี้ 3 ปียังไม่มีความคืบหน้า…”

ข้อมูลนี้ อ้างจาก “ก้าวไกล เสนอตัดเงินนอกงบ กองทัพ หมื่นล้านไปสร้างสวัสดิการประชาชน” บางส่วนการอภิปรายงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 18 สิงหาคม 2022

น่าสนใจมีการกล่าวถึง ธุรกิจของทหารพาณิชย์ น่าสนใจไปกว่านั้น บ่อน้ำมัน (บ่อน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รายได้ 600ล้านบาทต่อปี2 แต่ก็เป็นเงินนอกงบประมาณ)3 สนามกอล์ฟ สนามม้า สนามมวย โรงแรม ปั้มต่างๆ เป็นธุรกิจที่ดูแลโดยกองทัพบก หาใช่ของกองทัพไทย

ธุรกิจกองทัพบกหรือที่ผู้เขียนเรียกว่า สมบัติกองทัพบก น่าสนใจที่เป็นเงินนอกงบประมาณกระทรวงกลาโหม ที่สภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ตรวจสอบไม่ได้

หลังจากมีการศึกษาบทบาททหารไทยมาอย่างยาวนาน มีการศึกษาบทบาททหารในทางการเมือง เป็นผู้นำประเทศมากกว่าพลเรือน4 การรัฐประหาร5 บทบาททางเศรษฐกิจ6 แต่ผลงานดีๆของนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ยังไม่เคยศึกษา สมบัติของทหารบกที่เป็น สนามกอล์ฟ สนามม้า สนามมวย โรงแรมต่างๆ เลย

แม้ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจอาจไม่มาก แต่สมบัติทหารบกดังกล่าวย่อมมีความสำคัญมากๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีอำนาจใดตรวจสอบได้

แน่นอน ทหารไทยกับการเมืองยังมีอีกหลายเรื่องที่สำคัญ เช่นทหารจะทำรัฐประหารอีกไหม

ทหารไทยภักดีต่อใคร ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ การพัฒนาเศรษฐกิจชาติ หลักการประชาธิปไตย ประชาชนไทย หรือภักดีทั้งหมดในเวลาเดียวกัน7

ทหารไทยกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร หลายฝ่ายมุ่งไปที่การจัดซื้อเครื่องบิน F 35 จากสหรัฐอเมริกา และ เรือดำน้ำ จากจีน

ในระยะหลัง ยังมีการบุกเบิกศึกษา ทหารของพระราชา8 ซึ่งเพิ่งเกิดหรือเกิดนานแล้ว แต่ทำให้ทหารของพระราชาสำคัญ เป็นเอกเทศ

และพิเศษในยุคนี้ เนื่องจากยังอยู่ในงบประมาณของรัฐบาลที่ประชาชนไทยจ่ายภาษีให้ แต่กลับไม่ใช่หน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมแล้ว

สมบัติกองทัพบกที่จะศึกษาต่อไปสลับซับซ้อนกว่า งานศึกษาเพื่อเรียกชื่อว่าทหารไทยเป็น ขุนศึก (Praetorian) พวกค้ากำไรเกินควร (Profiters) หรือ มืออาชีพ (Professional) กันแน่9

สมบัติกองทัพบกแสดงถึงพัฒนาการระหว่างราชสำนัก นักธุรกิจ-การเมืองรายใหญ่ในไทยอันยาวนานและเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขกาลเวลา แต่ยังดำรงอยู่และพร้อมแสดงบทบาทของตนเสมอเมื่อต้องแสดง

 

ทำไมศึกษาทหารบกกับธุรกิจแข่งม้าในไทย

ความจริงแล้ว สมบัติของทหารบกไทย มีหลายขุมทรัพย์และมีผู้ศึกษาไปบ้างแล้ว เช่น รัฐวิสาหกิจต่างๆ ศึกษาโดย Fred W. Riggs10, Suehiro (1982)11 อุกฤษฏ์ (1983)12, Sangsit Piriyarangsun (1983), Paul Chambers13, Kanda Naknoi (2020)14 และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ธนาคาร สถาบันการเงิน สถานีโทรทัศน์ ที่ล้วนเป็น สมบัติของทหารบกไทย ที่มีขนาดใหญ่และสร้างความมั่งคั่งให้กับนายพลไทยมาหลายยุค

แต่ธุรกิจแข่งม้าและสนามม้าในไทย นับเป็นสมบัติของทหารบกไทย ที่มีผู้ทำการศึกษาน้อย ทั้งๆที่ธุรกิจแข่งม้าและสนามม้า มีกำเนิดมานานกว่า 116 ปี นับตั้งแต่สมัยของรัชกาลที่ 5 เฉพาะราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง ) เคยกำไรปี 2008 รวม 206,977 บาท แล้วกองทัพบกเป็นผู้เช่าสนามม้าและจัดการแข่งขันม้าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

และสมาคมยังคงเป็นสมบัติของทหารบกไทย ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

ที่สำคัญมาก แง่มุมของธุรกิจแข่งม้า ยังแสดงความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของทหารบกอย่างสลับซับซ้อนและมีพลังในสังคมไทย ดังที่จะอธิบายโดยละเอียดดังนี้

 

ความสำคัญของธุรกิจแข่งม้า
กับสังคมเศรษฐกิจไทย

รวบรวมโดยผู้เขียน ข้อมูลจาก

“กรณีศึกษาช่อง 7 เบอร์ 1 ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” tvdigitalwotch.com

“ไขปริศนาหนี้ 1.2 พันล้านบาท บ.ทหาร RTA” สำนักข่าวอิศรา 8 ธันวาคม 2562

“เช็กสถานะธุรกิจ บ.ทหาร RTA ผลิตรายการ ททบ.5 ปี 2561 กำไร 11.09 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 1,061 ล้านบาท” สำนักข่าวอิศรา 10 ธันวาคม 2562

“Pongpiphat ‘Army’s Wonderland’ แดนมหัศจรรย์ในกองทัพบก สุขสันต์ไปกับสนามมวย-ม้า-กอล์ฟและโรงแรม” The Matter 31 มกราคม 2021

ไม่น่าเชื่อ สมบัติกองทัพบก มีมากมาย ธนาคาร สถานีโทรทัศน์ วิทยุ โรงแรม สนามกอล์ฟ สนามมวย สนามม้า สมบัติเหล่านี้เกี่ยวพันอย่างไรต่อกองทัพ นายพลและชาวบ้าน

 

 


1จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำ “เปิดขุมทรัพย์ สร้างความโปร่งใสแต่ธุรกิจกองทัพไทยกับเบญจา แสงจันทร์” 101 7 March 2024

2“วรภพ เสนอตัดเงินนอกงบประมาณกองทัพ” The Sender.co 18 สิงหาคม 2022

3กรรมาธิการ พิจารณางบประมาณสภาผู้แทนราษฎรยังเสนอตัดงบลับ 500 ล้านบาท แผนปรับกำลังพล เครื่องบิน F-35 เช่าซื้อรถเบนซ์ให้นายพล 36 นาย อ้างจาก “งบกลาโหม : กมธ. ไล่บี้ งบกลาโหม 1.97 แสนล้านบาท” มติชน 18 กรกฎาคม 2565

4ดู Surachart Bamrungsuk, “Thailand’s Zig-Zag Road to Democracy : Continuity and Change in Military Intervention” In After the Coup : The National Council for Peace and Order Era and the Future of Thailand edited by Michael J. Montesano, Terrence Chong and Mark Heng, Singapore : ISEAS-Yusof Ishak Institute, -2019.

5Ukrist Pathmanand, “A Difference Coup in Thailand?” Journal of Contemporary Asia, 2008.

6Paul Chamber “Understanding the Evolutions of ‘Khaki Capital’ in Thailand : A Historical Institutional Perspective”. Contemporary Southeast Asia, Vol. 43 No.3 December 2021.

7Robert H. Taylor, Epilogue : Controlling or Playing Politics? in

8Supalak Kanjanakhundee, A Soldier King : Monarchy and Military in the Thailand of Rama x, Singapore : ISEAS Yusof Ishak Institute, 2022.

9Michael J. Montesno, Terence Chong, Prajak Kongkirati op.cit.,

10Fred W. Riggs, Thailand : The Modernization of Bureaucratic Polity. (Honolulu : East-West Center Press, 1966)

11Suehiro, Akira, Capital Accumulation in Thailand, 1855-1985 (Tokyo: Center for East Asia, 1989)

12Ukrist Pathmanand, US and Thailand’s Economic Policy 1960-1970, MA. Thesis, International Relation Department, Political Sciences Faculty, Chulalongkorn University, 1983.

13Paul Chambers, “Understanding the Evolutions of ‘Khaki Capital’ in Thailand : A Historical Institutional Perspective”. Contemporary Southeast Asia, Vol. 43 No.3 December 2021.

14Kanda Naknoi, “The Thai Military As a Business Group, 1940-2016” Center for Economic Institutions, Working Paper Series, No. 2019-14 2020.