สัญลักษณ์พระปรางค์วัดอรุณ ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

สัญลักษณ์พระปรางค์วัดอรุณ

ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 (จบ)

 

ดังที่ทราบโดยทั่วไปว่า สมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิสังขรณ์ใหญ่พระปรางค์วัดอรุณฯ และส่วนที่มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดก็คือ วิหารคด วิหารทิศ กำแพง และเก๋งจีนรอบพระปรางค์ โดยมีการรื้อส่วนนี้ออกทั้งหมด โดยคงเหลือเก็บเพียงวิหารทิศทางด้านตะวันตกเพียงหลังเดียวเท่านั้น พร้อมทั้งสร้างกำแพงแบบสมัยใหม่ขึ้นแทน ตอนล่างเป็นผนังทึบก่ออิฐถือปูน ส่วนตอนบนทำเป็นรั้วลูกกรงเหล็ก ทาสีแดง มีรูปครุฑยุดนาคติดอยู่ที่ตอนบนทุกช่องของรั้ว

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ยังทรงมีรับสั่งให้รื้อประตูเข้าพระปรางค์ออกทั้งหมดที่แต่เดิมมีอยู่ 9 ประตู แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่เพียง 5 ประตู ออกแบบเป็นประตูซุ้มเหมือนวัดราชประดิษฐ์ โดยซุ้มเหนือบานประตูทั้งด้านนอกและด้านในทำเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ทั้ง 5 รัชกาล ได้แก่ ประตูที่ด้านทิศตะวันออกมี 3 ประตู ทำเป็นพระราชลัญจกรรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 4 ส่วนประตูด้านทิศตะวันตกมี 2 ประตู ทำเป็นพระราชลัญจกรรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3

สำหรับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกหลังพระปรางค์ที่เหลือเพียงวิหารทิศลักษณะเก๋งจีนเก่าไว้เพียง 1 หลัง โปรดเกล้าฯ ให้ทาสีผนังภายในใหม่ทั้งหมดด้วยสีขาว แทนที่ภาพเขียนเดิมซึ่งเขียนภาพเกี่ยวกับนรก เนื่องจากทรงเห็นว่าการเขียนภาพนรกนั้นไม่งาม ส่วนรั้วด้านใต้ที่ติดกับกำแพงพระราชวังเดิมนั้น เป็นรั้วก่ออิฐถือปูนทึบตลอดด้าน

เก๋งจีนทิศตะวันตกของพระปรางค์วัดอรุณฯ สัญลักษณ์นรกภูมิ
ที่มาภาพ : หนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม

สิ่งที่น่าสนใจคือ หากเราย้อนกลับไปพิจารณาสภาพดั้งเดิมขององค์ประกอบส่วนนี้ (วิหารคด วิหารทิศ กำแพง และเก๋งจีนรอบพระปรางค์) ซึ่งถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 น่าคิดนะครับว่า กลุ่มอาคารที่ล้อมรอบพระปรางค์เหล่านี้ทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ทางคติจักรวาลอย่างไร

หากพิจารณา “แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย” (พ.ศ.2430) ในบริเวณพระปรางค์วัดอรุณฯ จะพบว่า การวางแผนผังของกลุ่มอาคารส่วนนี้สอดคล้องและเทียบเคียงได้กับแผนผังโครงสร้างจักรวาลที่ปรากฏใน “ไตรภูมิรัชกาลที่ 1” (รวมถึงภาพวาดในสมุดภาพไตรภูมิหลายฉบับ) โดยตำแหน่งและความหมายของกลุ่มอาคารส่วนนี้สามารถเทียบเคียงเชิงสัญลักษณ์ได้กับ “กำแพงจักรวาล”

อย่างไรก็ตาม เราเหลือหลักฐานน้อยมากในการจินตนาการถึงกลุ่มอาคารเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบทางศิลปกรรมภายในอาคารแต่ละหลังที่จะช่วยให้เข้าใจบทบาทหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ของอาคารที่นอกเหนือจากการเป็นสัญลักษณ์ของกำแพงจักรวาลได้

แต่กระนั้น หลักฐานที่หลงเหลืออยู่บางอย่างก็ช่วยให้เรามองเห็นเค้าเงื่อนบางอย่างอยู่บ้าง

นั่นก็คือ เก๋งจีนทางด้านทิศตะวันตก โดยเก๋งจีนหลังนี้ จากหลักฐานเอกสารการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 5 บอกไว้ว่า ภาพจิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ภายในคือภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับนรกภูมิ แต่รัชกาลที่ 5 ไม่โปรดจึงมีพระราชดำริให้ลบภาพทิ้งทั้งหมด

จากหลักฐานทำให้เราสันนิษฐานได้ว่า เก๋งจีนทางด้านทิศตะวันตกอาจจะทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์แทนความหมายของ “นรกภูมิ” ตามโครงสร้างจักรวาลแบบพุทธเถรวาทสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ถูกอธิบายไว้ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 และสมุดภาพไตรภูมิทั้งหลาย

ซึ่งความหมาย ณ ตำแหน่งนี้ยังสอดรับกับความนิยมในการสร้างงานสถาปัตยกรรมยุคต้นรัตนโกสินทร์อื่นๆ ด้วย อาทิ วัดพระเชตุพนฯ ที่มีการกำหนดให้ศาลาการเปรียญที่อยู่ทางทิศตะวันตกของผังพุทธาวาส ทำหน้าที่แสดงสัญลักษณ์ของนรกภูมิ ผ่านการเขียนภาพจิตรกรรมนรกบนผนังอาคาร

สิ่งที่น่าคิดต่อไปก็คือ แม้เราจะไม่ทราบว่าภาพจิตรกรรมภายในของเก๋งจีนหลังอื่นเคยเขียนภาพจิตรกรรมอะไรไว้บ้าง แต่ก็น่าเชื่อว่าจะถูกเขียนขึ้นเป็นภาพนรกภูมิในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เก๋งจีนหลังอื่น (รวมทั้งวิหารทิศ) ที่ถูกรื้อออกไปจะสอดคล้องลงตัวมากกับการระบุตำแหน่งของ “โลกันตนรก” ที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ และสมุดภาพไตรภูมิ ที่นิยมแสดงตำแหน่งโลกันตนรกอยู่โดยรอบของแนวขอบด้านนอกกำแพงจักรวาล (ดูภาพประกอบ)

จากที่กล่าวมา องค์ประกอบวิหารคดและเก๋งจีน แม้จะมีหลักฐานให้ศึกษาและสันนิษฐานน้อย แต่สิ่งที่ยืนยันชัดเจนในเชิงความหมายก็คือ กลุ่มอาคารเหล่านี้มีความเป็นไปได้มากที่จะทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของกำแพงจักรวาล

ส่วนเก๋งจีนทางทิศตะวันตกสื่อสัญลักษณ์ของความหมายนรกภูมิ และยิ่งไปกว่านั้น ภาพจิตรกรรมดังกล่าวอาจมีความหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นที่สื่อถึงโลกกันตนรกที่อยู่รอบนอกกำแพงจักรวาล

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงก็จะทำให้พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นการสื่อสารสัญลักษณ์ของจักรวาลผ่านงานสถาปัตยกรรมได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ และอาจจะสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์งานช่างในสังคมสยามก็เป็นได้

ภาพวาดโลกันตนรกที่อยู่รอบนอกกำแพงจักรวาล จาก สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เลขที่ 10/ก
ที่มาภาพ : หนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม

ประเด็นสุดท้ายที่อยากพูดคือ ความเชื่อเกี่ยวกับโลกและจักรวาล ชนชั้นนำสยามต่างพยายามจำลองให้เห็นเป็นรูปธรรมในหลายลักษณะ เช่น จิตรกรรมฝาผนัง ภาพเขียนสมุดไทย และจำลองผ่านการสร้างงานศิลปะสถาปัตยกรรมนานาประเภท ซึ่งนักวิชาการที่ผ่านมาส่วนใหญ่เชื่อว่า ต้นแบบที่เป็นเสมือนพิมพ์เขียวของการจำลองความเชื่อนี้ของสังคมไทยมาโดยตลอดก็คือคัมภีร์ “ไตรภูมิพระร่วง”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนักวิชาการที่ผ่านมาต้องการอธิบายแนวคิดและคติสัญลักษณ์การออกแบบวัดอรุณฯ จึงมักอธิบายโดยอาศัยอ้างอิงไตรภูมิพระร่วงเป็นหลักมาโดยตลอด เสมือนหนึ่งว่าเป็นคัมภีร์เพียงเล่มเดียวที่อธิบายถึงเรื่องโลกและจักรวาลของสังคมสยาม โดยมิได้ตระหนักคัมภีร์เล่มนี้ถูกแต่งขึ้นก่อนยุครัตนโกสินทร์หลายร้อยปี

ที่สำคัญคือไตรภูมิพระร่วงเป็นเอกสารที่คนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใด

ดังปรากฏให้เห็นชัดว่า เมื่อคราวรัชกาลที่ 1 โปรดให้พระราชาคณะและราชบัณฑิตร่วมกันแต่งคัมภีร์เกี่ยวกับโลกและจักรวาลขึ้นใหม่ในชื่อว่า “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” (ไตรภูมิรัชกาลที่ 1) ก็มิได้มีการอ้างอิงหรือกล่าวถึงไตรภูมิพระร่วงเลย

นั่นเท่ากับว่าไตรภูมิพระร่วงอาจไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยต่อการออกแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ โดยเอกสารที่น่าจะเป็นต้นธารความคิดที่แท้จริงในการออกแบบมากที่สุด (แต่กลับไม่ได้รับความสนใจในงานศึกษาที่ผ่านมามากนัก) คือ ไตรภูมิรัชกาลที่ 1 ต่างหาก

 

ในทัศนะผม ไตรภูมิรัชกาลที่ 1 คือคัมภีร์เล่มหลักที่มอบแรงบันดาลใจทั้งหมดในการกำหนดแนวความคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมวัดอรุณฯ (ไม่ใช่เฉพาะแค่พระปรางค์) แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า งานศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดในการออกแบบวัดอรุณฯ ที่ผ่านมาให้ความสนใจน้อยมากต่อเอกสารนี้

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวงวิชาการมักเชื่อว่า ฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องโลกและจักรวาลของสังคมไทยที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ ล้วนมีเนื้อหาที่แทบจะไม่มีความแตกต่างอะไรในสาระสำคัญ และเชื่อว่าในบรรดาคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับโลกศาสตร์เหล่านี้ “ไตรภูมิพระร่วง” คือเล่มแม่บท หรือเป็นเล่มหลักที่สังคมไทยทุกยุคทุกสมัยรับรู้และใช้เป็นคัมภีร์สำคัญมาโดยตลอด

แต่ปัจจุบัน เริ่มเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เนื้อหาในคัมภีร์เกี่ยวกับโลกและจักรวาลในสังคมไทยแต่ละฉบับมีรายละเอียดหลายอย่างที่แตกต่างกัน และหลายจุดมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญมาก ซึ่งเกิดขึ้นจากความเชื่อทางศาสนา ค่านิยม และสภาพทางสังคม ณ ช่วงเวลาที่คัมภีร์แต่ละฉบับได้ถูกเขียนขึ้นนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน

ดังนั้น การใช้คัมภีร์ที่เขียนขึ้นในยุคสมัยหนึ่งมาอธิบายแนวคิดทางสถาปัตยกรรมอีกยุคสมัยหนึ่งซึ่งห่างกันหลายร้อยปีจึงเป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรือไม่สมบูรณ์มากพอต่อการทำความเข้าใจหรือตีความแนวความคิดได้

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของบทความที่พยายามชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นแทบจะทุกรายละเอียดของการออกแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ กับเนื้อหาที่ถูกพรรณานาไว้ในคัมภีร์ไตรภูมิรัชกาลที่ 1

และหากสังคมไทยต้องการเข้าใจความหมายและคติสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แท้จริงของงานสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญที่สุดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ชิ้นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสนใจกับ “ไตรภูมิรัชกาลที่ 1” หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” มากกว่า “ไตรภูมิพระร่วง”