บรรพชนคนไทยหลายพันปี ‘ลูกผสม’ ในโซเมีย

บรรพชนคนไทยเป็น “ลูกผสม” ชาวสยามร้อยพ่อพันแม่อยู่บริเวณโซเมีย ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว (บางแห่งมากกว่า 5,000 ปีมาแล้ว)

ความเป็น “ลูกผสม” ของคนสมัยเริ่มแรก (ซึ่งเป็นบรรพชนคนไทย) พบหลักฐาน ดังนี้

1. มีการเคลื่อนไหวของคนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเป็นระยะทางไกลๆ ถึงไกลมาก

2. ดีเอ็นเอของคนกลุ่มหนึ่งตรงกับของคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ไกลกันมาก

[ดีเอ็นเอไม่บอกเรื่องเชื้อชาติ และบอกไม่ได้ว่าคนไทย แต่บอกความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม]

 

“ลูกผสม” หลายชาติพันธุ์

คนสมัยแรกเริ่มในไทยบริเวณโซเมีย มีการเคลื่อนไหวทางไกลไปมาหาสู่กัน ด้วยเหตุผลต่างๆ อย่างสืบเนื่อง

1. เคลื่อนไหวขนย้ายซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรสําคัญ

ได้แก่ ทองแดง, ตะกั่ว เพื่อหลอมโลหะผสม (สําริด) ทําเครื่องมือเครื่องใช้ พบหลักฐานโบราณคดีจากบันทึกของสุรพล นาถะพินธุ (อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผู้เชี่ยวชาญโลหวิทยาสมัยก่อนประวัติศาสตร์) ดังนี้

เครื่องมือสําริด วัฒนธรรมบ้านเชียง (จ.อุดรธานี) พบว่าทองแดง (ซึ่งเป็นโลหะหลัก) ได้จากบ้านวิละบุรี เมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว

หัวขวานสําริด บ้านโนนวัด (อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา) และบ้านโนนป่าหวาย (อ.โคกสําโรง จ.ลพบุรี) พบว่า ทองแดง (โละหะหลัก) ไม่รู้ที่มา

แต่จากการตรวจสอบจึงรู้แน่นอนว่าไม่มาจาก 3 แหล่งผลิตสําคัญ คือ (1.) ภูโล้น (อ.สังคม จ.หนองคาย) (2.) เขาวงพระจันทร์ (อ.โคกสําโรง จ.ลพบุรี) (3.) บ้านวิละบุรี (เมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว)

ดังนั้น ต้องมีแหล่งทองแดงที่ใดที่หนึ่ง (ในภาคพื้นทวีป) ยังไม่เป็นที่รู้ของนักโบราณคดีซึ่งเท่ากับเป็นหลักฐานว่ามีการเคลื่อนไหวไปมาของคนกว้างขวางมาก

นอกจากนี้ ยังพบว่าวัตถุสำริดอายุประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ที่แหล่งโบราณคดีที่หมู่บ้าน Nyaung Gan ซึ่งอยู่ห่างเมืองมัณฑะเลย์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 120 กิโลเมตร ตอนกลางของประเทศเมียนมา ทำด้วยทองแดงผลิตจากย่านเขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี ในประเทศไทย

[ข้อมูลจากบันทึกของสุรพล นาทะพินธุ พิมพ์ใน มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2567 หน้า 13]

2. เคลื่อนไหวหลายทิศทาง

การเคลื่อนไหวของคนหลายชาติพันธุ์เป็นไปหลายทิศทาง (ไม่ทิศทางเดียว) ทั้งเหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก และแนวเฉียง ราว 2,000-1,700 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500 ลงไป

เหนือ-ใต้ กลุ่มคนจากแม่นํ้าฮวงโห (แม่นํ้าเหลือง) ในจีนตอนเหนือ เคลื่อนไหวลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เข้าสู่ไทยทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณแม่ฮ่องสอน

พบหลักฐานดีเอ็นเอ จากงานวิจัยของ ดร.วิภู กุตะนันท์ (มหาวิทยาลัยนเรศวรพิษณุโลก) และหม้อสามขาในวัฒนธรรมจีนเหนือจากการขุดค้นทางโบราณคดีตามแนวตะวันตกในไทย

ตะวันออก-ตะวันตก กลุ่มคนจากแม่นํ้าแยงซีในจีนตอนใต้ เคลื่อนไหวหลายทิศทาง แต่มีทิศทางหนึ่งไปทิศตะวันตกของจีน เข้าสู่ไทยทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณแม่ฮ่องสอน (จากงานวิจัยของ ดร.วิภู กุตะนันท์)

เฉียงเหนือ-เฉียงใต้ พบในเรื่องเล่าที่บันทึกลายลักษณ์อักษรทั้งเอกสารจีน (หมานซู) และเอกสารไทย (ตํานานสิงหนวัติ, นิทานขุนบรม, ตํานานสุวรรณโคมคํา ฯลฯ)

[สรุปข้อมูลจากงานแถลงข่าว “โลงผีแมน ข้อมูลใหม่ สู่การถอดรหัส สืบรากมนุษย์ยุคโบราณ 1,700 ปี การบูรณาการศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์” โดย ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) และ รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ (นักพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร) ที่ท้องพระโรง หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567]

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ชี้ว่าประเด็นที่น่าสนใจคือค่าอายุ 1,700 ปี ที่ได้กลุ่มตัวอย่างจากโลงผีแมนนั้น มีการผสมผสานของ DNA จากคน 3 กลุ่ม แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนจากลุ่มน้ำเหลืองเข้ามาในพื้นที่แถบทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้แก่

กลุ่มหัวบินเนียน (คนพื้นเมืองอุษาคเนย์ในยุคก่อนจะมีโลหะใช้) ซึ่งมีชุด DNA เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ในปัจจุบัน,

กลุ่มคนยุคเหล็กจากลุ่มน้ำแยงซี ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งมี DNA เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท และ

กลุ่มคนยุคเหล็กจากแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) ทางตอนเหนือของจีน ซึ่งแตกต่างไปจากชุด DNA ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างในวัฒนธรรมบ้านเชียง และกลุ่มตัวอย่าง DNA ของผู้คนยุคเหล็กในบริเวณนี้ที่มีอายุเก่าแก่ขึ้นไปถึงช่วง 1,800 ปี

ทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่างหลังนั้น มีชุดของ DNA ของกลุ่มหัวบินเนียน และลุ่มน้ำแยงซี แต่ไม่พบร่องรอยของ DNA ของกลุ่มคนจากลุ่มน้ำเหลือง

น่าสังเกตว่าช่วง 1,700 ปีที่แล้ว ใกล้เคียงกับช่วงที่เริ่มมีการรับเอาเทคโนโลยีการทำนาทดน้ำจากจีนเข้ามาในอุษาคเนย์ โดยกลุ่มคนในปัจจุบันที่มี DNA เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนในวัฒนธรรมโลงผีแมน และพูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต คือพวกปะดอง หรือกะเหรี่ยงคอยาว

โลงผีแมนใส่กระดูกคนตายที่เป็นเครือญาติโคตรตระกูลเดียวกันของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ในถ้ำผีแมน (ผีฟ้า) อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน (เฟซบุ๊ก Rasmi Shoocongdej)

โลกหลังความตาย

คนทั่วไปเมื่อตายก็เอาศพไปวางให้แร้งกากินบริเวณที่ชุมชนกำหนด

หัวหน้าเผ่าพันธุ์เมื่อตาย คนทั้งชุมชนต้องร่วมกันทำให้มีพิธีกรรมซ้ำซ้อน ตามความเชื่อเรื่องขวัญ (ไม่ใช่วิญญาณ) ในศาสนาผี (ยังไม่มีพราหมณ์, พุทธ)

(1.) ทำพิธีเรียกขวัญหลายวันหลายคืน

(2.) หลังจากนั้นหามศพไปฝังดินที่ขุดหลุมไว้

(3.) นานเท่าที่กำหนด ก็ขุดซากศพที่เหลือแต่กระดูก เพราะเนื้อหนังถูกธรรมชาติย่อยสลายออกหมดแล้ว

(4.) กระดูกที่ถูกชำระล้างแล้ว ถูกจัดวางในภาชนะพิเศษ สำหรับบรรจุกระดูกหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูลเครือญาติ (เช่น พ่อ-แม่-ลูก, ลูกพี่ลูกน้อง, ปู่ยาตายาย ฯลฯ)

(5.) ภาชนะบรรจุกระดูกถูกนำไปทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง เรียกพิธีศพครั้งที่ 2

(6.) ทำพิธีส่งขวัญขึ้นฟ้า ไปรวมพลังกับผีฟ้า (แถน) คอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานในชุมชน

โลงไม้ ทำจากไม้ทั้งต้นผ่าซีกตัดหัวท้าย (คล้ายเรือ) มีบากเป็นข้อหัวท้าย ส่วนแต่ละซีกขุดเป็นราง (คล้ายรางเลี้ยงหมูตามหมู่บ้าน) ตรงร่องรางซีกหนึ่งใช้วางกระดูกหัวหน้าเผ่าพันธุ์

ถ้ำ เป็นที่จัดวางตั้งโลงไม้ใส่กระดูกศพ (ตามพิธีศพครั้งที่ 2) ของหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูลซึ่งเป็นเครือญาติชาติพันธุ์

 

ชาติพันธุ์ปัจจุบัน

เปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบัน พบว่า DNA ของคนโบราณปางมะผ้า (จ.แม่ฮ่องสอน) 1,700 ปีมาแล้ว ตรงกับละว้า, กะเหรี่ยง, ปะด่อง (กะเหรี่ยงคอยาว) และมอญ

เป็นหลักฐานหนักแน่นว่าละว้า, กะเหรี่ยง, มอญ อยู่ดินแดนนี้ก่อนไทย และเป็นบรรพชนคนไทยอีกสายหนึ่ง

ดีเอ็นเอบอกไม่ได้ ใครเป็นคนไทย? ดร.วิภู กุตะนันท์ บอกว่า “การใช้ข้อมูลดีเอ็นเอไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าใครเป็นคนไทย” •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ