มนัส สัตยารักษ์ : ยกเครื่องงานสืบสวนสอบสวน

อ่านคำแถลงในหัวข้อเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ รับบัญชานายกรัฐมนตรี ยกเครื่องงานสืบสวนสอบสวน” ของ นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แล้วต้องตั้งหลักป้องกันการสับสน

ประการแรก งานปฏิรูปตำรวจ เป็นส่วนหนึ่งของงาน “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” โดยซุกไว้ในวงเล็บต่อท้าย กระบวนการยุติธรรม

ประการที่ 2 แต่ละงานในวงเล็บ ต่างก็มีคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ และต่างก็มีบุคลากรของตัวเอง และต่างก็มีการแถลงข่าวหรือโฆษกเป็นของตนเอง (โดยไม่เกี่ยวกัน) บางที่ผู้เสพข่าวอ่านแล้วก็รู้สึกได้ว่า “เป็นคนละเรื่องเดียวกัน”

ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ แถลงเรื่อง “การโอนภารกิจ” ท่านแถลงในนาม “โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)” อันมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน

ส่วน นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคม แถลงเรื่อง “ยกเครื่องงานสืบสวนสอบสวน”

ทั้ง 2 ท่านต่างเป็นอนุกรรมการหรือกรรมการ ในงาน (หรือในองค์กร) เดียวกัน คือ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)”

ประการที่ 3 นายเสรี สุวรรณภานนท์ อนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา แถลงให้งานสอบสวนแยกออกจาก สตช. ไปขึ้นกับอัยการสูงสุด เป็นอีก “แท่ง” หนึ่งต่างหากจาก สตช. โดยไม่ต้องมียศ

พล.ต.อ.ชัชวลย์ สุขสมจิตร์ ในฐานะอนุกรรมการ ปฏิรูปตำรวจ (สาขาอะไรสักอย่างผมก็ลืมเสียแล้ว) เสนอให้งานสอบสวนยังอยู่กับตำรวจ แต่ให้มีอิสระ

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน พูดทางทีวีช่องไทยรัฐ ในรายการของ สุภาพ คลี่ขจาย ในหลายแง่หลายมุมในงานสอบสวนของตำรวจ สรุปได้ความคล้ายๆ กับที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์เสนอ แต่ชัดเจนกว่าตรงที่ ให้งานสอบสวนแยกออกเป็นอีก “แท่ง” หนึ่งใน สตช.

พล.ต.ท.อำนวย มีหน้าที่หลายตำแหน่งในสภาปฏิรูป เช่น เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ฯลฯ และอื่นๆ อีกจนผมจำไม่ได้ ได้แต่คอยฟังความคิดเห็นของอดีตตำรวจและพนักงานสอบสวน “ตัวจริง”

อย่างไรก็ตาม พวกเราชาวบ้านก็ไม่แน่ใจว่าข้อเสนอจากคำแถลงของแต่ละท่านจะศักดิ์สิทธิ์และจะเป็นจริงไปได้แค่ไหน เมื่อเราอ่านพบก็จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือ “คอมเมนต์” ไปตามที่คิดหรือตามถนัด

มีพวกเราชาวบ้านคนหนึ่ง อ่านพบข้อเสนอไม่เข้าท่าก็ปะทุอารมณ์ออกมาว่า

“ถ้าปฏิรูปกลายเป็นปฏิเละ แล้วประชาชนเดือดร้อนมากกว่าเดิม เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไปเฉยๆ อีกแล้ว… เราจะเอาเรื่อง!”

ผมไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปองค์กรอื่นหรืองานส่วนอื่นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เขาแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ กันมากมายหลายคณะและหลายชื่อหรือไม่ เพราะผมสนใจเฉพาะแต่เรื่องปฏิรูปตำรวจเท่านั้น

เมื่อได้ตั้งหลักจนไม่สับสนแล้ว ผมชั่งน้ำหนักคำพูดหรือคำแถลงว่าของใครน่าเชื่อถือมากที่สุด

ในที่สุดก็เชื่อถือของ นายมานิจ สุขสมจิตร มากที่สุด เพราะอ้างว่าเป็น “บัญชานายกฯ”

มีคนติงว่า คำพูดของนายกรัฐมนตรีท่านนี้ ต้องมีคนคอยตามแก้ข่าวกันหลายครั้ง บางครั้งตัวนายกฯ เองถึงกับต้องออกมาขอโทษ จะถือว่าศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นยุติได้อย่างไร?

ผมขอยืนยันความคิดเดิม ผมเชื่อว่า นายมานิจ สุขสมจิตร ผู้อาวุโสและเจนจัดกับการแถลงข่าวได้กลั่นกรองมาเรียบร้อยแล้ว

เนื้อหาสำคัญที่ทำให้ผมเห็นด้วยก็คือ กำหนดโครงสร้างตำแหน่งพนักงานสอบสวนจาก 3 หลักการ คือ

1. สร้างความชำนาญเฉพาะด้าน ให้ทำงานสอบสวนอย่างต่อเนื่อง ไม่ย้ายไปมา

2. ให้พนักงานสอบสวนมีอิสระในการทำงานโดยปราศจากการแทรกแซง

3. ให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานสายอาชีพเช่นเดียวกับตำรวจในสายงานอื่นและเติบโตได้ในทุกระดับ จนถึง ผบ.ตร.

อย่างนี้สิครับจึงเรียกว่า “ปฏิรูป” หรือ “ยกเครื่อง”

นอกจากนั้น นายกฯ ให้พิจารณาดึงคนภายนอกที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีความรู้ความสามารถทางนิติศาสตร์และการพิจารณาอรรถคดี มาปฏิบัติหน้าที่ในงานสอบสวนได้

ในเรื่องของ คนนอก นี้ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เมื่อครั้งที่ผมและเพื่อนเขียนหนังสือต่อต้าน อ.ตร. ที่มาจากทหาร เราก็มีข้อเสนอว่า ตำแหน่ง อ.ตร. อาจจะเป็น “คนนอก” ในสายพลเรือนที่มีความรู้ความสามารถทางนิติศาสตร์

และเราก็ตอบคำถามของสถาบัน NIDA อย่างเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ กรมตำรวจก็เคยดึงคนนอกมาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่องค์กรและงานสอบสวน เป็นที่พึ่งของลูกศิษย์ลูกหา เท่าที่ผมนึกออกในขณะนี้ ก็เช่น พล.ต.อ.สุพาสน์ จีรพันธุ์ (นรต.รุ่น 9) อดีตผู้พิพากษา พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ อดีตอัยการ ทั้งสองท่านเป็นตำรวจก่อนไปเป็นผู้พิพากษาและอัยการ แต่ด้วยความรักอาชีพตำรวจก็กลับมาอีกครั้งจนเกษียณอายุในยศสูงสุด

พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีต รอง ผบ.ตร. ผมไม่รู้จักท่านเป็นส่วนตัว แต่รู้ประวัติว่าท่านสอบเป็นผู้พิพากษาได้แล้ว ท่านน่าจะเป็น “คนนอก” แต่ความรักอาชีพตำรวจและงานสอบสวน ทำให้เลือกเป็นตำรวจ ซึ่งฐานะในสังคมต่ำต้อยกว่าผู้พิพากษามาก

จงรัก จุฑานนท์

ท่านผู้นี้เป็นตำนานงานสอบสวน เป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหาย ฟ้องคดีที่ท่านสอบสวนแล้วอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง จนศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิตจำเลย

พูดถึง พล.ต.อ.สุพาสน์ จีรพันธุ์ นรต.รุ่น 9 ที่ไปเป็นผู้พิพากษา นึกถึงผลการสำรวจศิษย์เก่า นรต. ตั้งแต่รุ่น 33 ถึงรุ่น 57 มีถึง 49 ท่านที่ไปเป็นผู้พิพากษาและอัยการ

เป็นผู้พิพากษา 27 ท่าน และเป็นอัยการ 22 ท่าน แยกย้ายกันไปทำงานทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ได้รับคำยืนยันจาก สตช. ว่า ยังมีคนเก่งนิติศาสตร์เหลืออยู่อีกเยอะ รวมทั้งที่จบระดับปริญญาเอกมาจากมหาวิทยาลัยระดับโลก นอกจากนั้น ยังมีนายตำรวจที่ไม่ได้เป็น นรต. แต่เก่งนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเป็นตำรวจอีกหลายคน

ผมเชื่อว่าพวกเขาเหล่านี้พร้อมที่จะเป็นพนักงานสอบสวนที่ดี ถ้ามีโครงสร้างตาม 3 หลักการมารองรับ

ส่วนใครจะเป็นตำรวจเลว ประเภทไม่รับแจ้งความ ปัดเป่าคดี ทำร้ายผู้ต้องหา สร้างแพะ ทุจริตเรียกรับผลประโยชน์จากการสอบสวน รับใช้นักการเมือง หรือยอมเป็นทาสผู้มีอิทธิพล ฯลฯ ถือเป็นเรื่องปัจเจกหรือส่วนบุคคล หรือ individual ไม่ใช่เรื่องของสถาบันหรือองค์กร

แม้แต่ครูที่สื่อเรียกว่าเป็น “แพะ” เพื่อกล่าวหาตำรวจ ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็น “แกะ” ที่หลอกลวงกระทั่งบิ๊กในกระทรวงยุติธรรม

แต่เราก็ไม่ควรกล่าวหาและลงโทษสถาบันครู อาชีพสื่อ หรือองค์กรกระทรวงยุติธรรม