The Imperative Landscape การสำรวจความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ธรรมชาติ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ในคราวนี้เป็นคิวของศิลปินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้มีชื่อว่า เซน เท (Zen Teh) ศิลปินร่วมสมัยชาวสิงคโปร์ ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง

เธอเป็นศิลปินผู้ทำงานศิลปะด้วยฐานข้อมูลจากการวิจัย (Research-based art) โดยสนใจการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติและพฤติกรรมมนุษย์ ผ่านกระบวนการทำงานศิลปะหลากสื่อหลายแขนง ทั้งภาพถ่าย ประติมากรรมสื่อผสม และงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-Specific Installation)

โดยเน้นประเด็นเกี่ยวกับการขยายตัวของเมือง และผลกระทบที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ เซน เท นำเสนอผลงาน The Imperative Landscape (2023) ที่ได้แรงบันดาลใจจากบรรยากาศการพัฒนาเมืองในจังหวัดเชียงราย ที่ส่งผลต่อสภาวะทางวัฒนธรรม จิตวิญญาณ ความศรัทธา และศาสนา ภายในพื้นที่ของเมืองแห่งนี้

The Imperative Landscape (2023) โดย เซน เท
The Imperative Landscape (2023) โดย เซน เท

“ผลงานของฉันเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ของมนุษย์ในโลกธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านี้ ฉันเคยเข้าร่วมโครงการศิลปินพำนักในเชียงรายเป็นครั้งแรก เมื่อ 10 ปีก่อน ในช่วงเวลานั้น ฉันได้สำรวจพื้นที่ในธรรมชาติและวัดบนภูเขา และได้บันทึกภาพพื้นที่เหล่านั้นเอาไว้”

“เมื่อฉันได้กลับมาที่เชียงรายอีกครั้ง เพื่อร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ครั้งนี้ ฉันพบว่าพื้นที่แห่งนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในธรรมชาติที่ถูกทำลายลงไปอย่างมาก ฉันจึงสำรวจการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะภูมิประเทศของภูเขาและผืนป่า เพื่อค้นหาว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ ความเชื่อทางวัฒนธรรม และความศรัทธาของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้อย่างไรบ้าง”

“ผลงานในครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าของฉันเกี่ยวกับกายภาพของภูเขา และจิตวิญญาณของผู้คนในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน”

“ดังนั้น ฉันจึงเดินทางไปทำสมาธิในพื้นที่ทางจิตวิญญาณต่างๆ และเข้าไปพูดคุยสัมภาษณ์คนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ในเชียงราย ในประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธา และจิตวิญญาณ และสื่อสารประเด็นเหล่านี้ผ่านผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่คล้ายกับแผนผังทางจิตวิญญาณ ที่เปิดให้ผู้ชมเข้ามามีประสบการณ์ร่วมกันภายในผลงานได้”

ศิลปิน เซน เท
The Imperative Landscape (2023) โดย เซน เท
The Imperative Landscape (2023) โดย เซน เท

เมื่อเข้าไปยังพื้นที่แสดงงาน สิ่งที่โดดเด่นเตะตาเราที่สุดคือผลงานประติมากรรมจัดวางเซรามิกรูปทรงแปลกตา แขวนห้อยจากเพดาน กระจายไปทั่วห้อง โดยศิลปินบอกมาว่ามีจำนวน 3,000 ชิ้น และผลงานศิลปะจัดวางในรูปของเบาะนั่งสมาธิทรงกลมที่วางเรียงรายอยู่บนพื้น

“ประติมากรรมจัดวางเซรามิกชุดนี้ ฉันได้แรงบันดาลใจจากดวงตาของพระพุทธรูป ที่หรี่ลงครึ่ง (พระพักตร์ของพระพุทธรูปยังก้มลงมองมายังเบื้องต่ำทำมุม 23.5 องศา ในองศาเดียวกับโลกที่เอียงทำมุมในแนวดิ่ง และโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี) ผลงานชิ้นนี้ทำขึ้นร่วมกับช่างทำเซรามิกท้องถิ่นในเชียงราย”

“ผลงานศิลปะจัดวางเซรามิกห้อยเพดานเหล่านี้ กับผลงานศิลปะจัดวางเบาะนั่งสมาธิทรงกลมบนพื้น ถูกจัดวางตำแหน่งโดยคำนวณจากตำแหน่งของปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เพราะในสมัยโบราณ วัดมักจะถูกสร้างบนภูเขาเพื่อสังเกตดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เพื่อให้เรามีสติรับรู้ถึงความเป็นไปทั้งภายในและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราตามหลักศาสนา และยังเพื่อคำนวณการโคจรของดวงจันทร์และโลกตามปฏิทินจันทรคติ เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันมาฆบูชา”

“การจัดวางของผลงานเหล่านี้ยังเชื่อมโยงกับตำแหน่งของวงโคจรของโลกในวันเหมายัน (Winter Solstice) (วันที่มีกลางวันสั้นและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปีของซีกโลกเหนือ รวมถึงประเทศไทย ทำให้กลางวันสั้นและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี), วันครีษมายัน (Summer Solstice) (วันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีของซีกโลกเหนือ รวมถึงประเทศไทย), วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) และ วันวสันตวิษุวัต (Spring Equinox) หรือวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี)”

“หลายวัดทางภาคเหนือในประเทศไทย รวมถึงปราสาทนครวัดในกัมพูชา จึงถูกสร้างให้สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นทางหน้าต่างแต่ละบานในแต่ละช่วงของปี (และเมื่อถึงวันศารทวิษุวัตพระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกพอดี)”

“ทั้ง 4 วันนี้ เป็นวันสำคัญของคนโบราณเพราะทำให้เรารับรู้ถึงฤดูกาล แต่พอเวลาผ่านไป ผู้คนกลับหลงลืมภูมิปัญญาเหล่านี้ที่ซ่อนอยู่ในโบราณสถานต่างๆ แม้จะยังหลงเหลือความเคารพบูชา แต่เราก็ไม่เข้าใจเหตุผลที่เราเคารพบูชาสิ่งเหล่านี้”

“ผลงานชุดนี้จึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนลองเปิดตา เพื่อมองความเป็นจริงของธรรมชาติที่อยู่รอบตัว และมีสติรับรู้ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน อย่างการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์”

“ฉันสร้างผลงานชุดนี้ขึ้นโดยอ้างอิงถึงศาสตร์จักรวาลวิทยา (สาขาวิชาดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างและการกำเนิดของจักรวาล) โดยเป็นการทำงานร่วมกับ รศ.ดร.ฟ้ารุ่ง สุรินา บุญทิศ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย”

The Imperative Landscape (2023) โดย เซน เท
The Imperative Landscape (2023) โดย เซน เท

ที่น่าสั่งเกตก็คือ บนเบาะนั่งสมาธิเหล่านี้ประดับด้วยลวดลายภาพผืนป่า เช่นเดียวกับลวดลายผืนป่าบนผลงานประติมากรรมจัดวางทรงกลมบนขื่อของวิหาร สะท้อนภาพบนประติมากรรมกระจกเงาทรงกลม คล้ายกับดวงจันทร์บนท้องฟ้าที่สะท้อนภาพภูมิทัศน์บนโลกมนุษย์ก็ไม่ปาน

“ผลงานชุดนี้เป็นภาพถ่ายของผืนป่าในเชียงราย โดยฉันไปยังพื้นที่ทางจิตวิญญาณต่างๆ ในเชียงราย อย่างวัดป่าบนภูเขาหลายแห่ง และสำรวจพื้นที่ธรรมชาติที่ยังเหลือรอดจากการทำลายโดยการพัฒนาเมืองในภูมิทัศน์ป่าและภูเขาเหล่านี้ และบันทึกภาพเอาไว้ และนำภาพถ่ายที่ได้มาคอลลาจ (ปะติด) เข้าด้วยกัน เพื่อแสดงถึงความเป็นจิตวิญญาณแบบไทยๆ ผ่านภูมิทัศน์ผืนป่าเหล่านี้”

นอกจากนี้ บนผนัง และทางด้านหลังพระประธานภายในวิหารแห่งนี้ ยังมีผลงานจิตรกรรมสื่อผสมรูปทรงเรขาคณิตรูปผืนป่าที่ในลักษณะเดียวกันอีกด้วย

“ผลงานชุดนี้เป็นภาพคอลลาจของผืนป่าจากเมื่อสิบปีที่แล้ว เป็นผลงานที่ฉันทำในช่วงเวลาที่มาเข้าร่วมโครงการศิลปินพำนักในเชียงราย ที่อังกฤษ แกลลอรี่ กับคุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ (หนึ่งในภัณฑารักษ์ของมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ดังนั้น นิทรรศการครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการสำรวจเส้นทางการทำงานของฉันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”

ที่น่าสนใจคือวิหารแห่งนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงพื้นที่แสดงงานศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่ที่มีผู้คนเข้ามาใช้งาน ทั้งการประกอบกิจกรรมทางศาสนา และการทำสมาธิวิปัสสนา

แม้กระทั่งงานบางชิ้นอย่างเบาะนั่งสมาธิ ก็เป็นสิ่งที่สามารถใช้สอยได้ ไม่ใช่งานที่ไว้ให้ดูแต่ตาเพียงอย่างเดียว

ถือเป็นการหลอมรวมเอาศิลปะร่วมสมัยเข้ากับกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมทางศาสนาได้อย่างแนบเนียนกลมกลืน”

“ฉันชอบที่พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ใช้สอยที่ผู้คนเข้ามาใช้งานทุกวันจริงๆ นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันทำงานชุดนี้ให้มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนที่เข้ามาทำสมาธิภายในพื้นที่แห่งนี้ได้อีกด้วย”

บนด้านหลังของอาคารวิหารแห่งนี้ยังมีอีกผลงานพิเศษอีกชิ้นอย่าง “เปิดโลก เปิดสุนทรียะ ในพุทธศิลป์” ภาพวาดพระบฏ หรือภาพผ้าแขวนบูชารูปพระพุทธเจ้า ขนาดใหญ่มหึมา ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินเพศบรรพชิต อย่าง พระผล คูเวียงหวาย จัดแสดงอยู่อีกด้วย

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน The Imperative Landscape (2023) ของ เซน เท ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน วิหารดิน ใน ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน เข้าชม (ฟรี) ทุกวัน เวลา 08:00-17:00 น.

The Imperative Landscape (2023) โดย เซน เท
The Imperative Landscape (2023) โดย เซน เท

แถมท้าย ถ้ามิตรรักแฟนศิลปะท่านใดดูงานศิลปะในตัวเมืองเชียงรายจนท้องหิว

ขอแนะนำร้านชื่อดังระดับตำนานในเมืองเชียงรายอย่าง สหรส เกาเหลาเลือดหมู น้ำซุปรสชาติกลมกล่อม หวานน้ำต้มกระดูก

ทีเด็ดอยู่ที่หมูสับก้อนใหญ่นุ่มเด้ง เลือดและเครื่องในสะอาดไร้กลิ่นคาว

แถมใส่จิงจูฉ่าย สมุนไพรเปี่ยมสรรพคุณดีต่อสุขภาพ

ที่สำคัญ ร้านนี้ยังเป็นร้านของครอบครัวหนึ่งในภัณฑารักษ์ของมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย อย่าง อังกฤษ อัจฉริยโสภณ อีกด้วย

ร้านมีหลายสาขา แต่ที่หาง่ายที่สุดคือสาขาใกล้หอนาฬิกา เชียงราย

ใครสนใจก็แวะเวียนไปชิมกันได้ตามอัธยาศัย •

เปิดโลก เปิดสุนทรียะ ในพุทธศิลป์” โดย พระผล คูเวียงหวาย

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.zenteh.com/ ขอบคุณภาพจาก Thailand Biennale Chiang Rai 2023

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์