รถยนต์ ‘ไฟฟ้า-สันดาป’ ลั่นกลองรบ เปิดสงครามราคา-ลดเดือด ‘1.5-2 แสน’

สันติ จิรพรพนิต

กลายเป็นกระแสร้อนแรงรับไตรมาสแรกก่อนงานใหญ่วงการรถยนต์ “มอเตอร์โชว์ 2024”

เมื่อบรรดาค่ายรถน้อยใหญ่ทั้งจากจีน-ญี่ปุ่นและเกาหลี เปิดหน้าลดราคารถยนต์ในสังกัดชนิดทำให้ผู้บริโภคถึงกับตาลุก

ซึ่งหากย้อนไปช่วงกลางปี 2566 วงการรถมือสองได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากปัญหา “โควิด-19”

ทำให้เจ้าของรถตกงาน หรือรายได้หดตัวลง จนรัฐบาลต้องออกมาตรการพักหนี้ หรือให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเพื่อลดภาระ

กระทั่งช่วงต้นปี 2566 ที่มาตรการช่วยเหลือหมดลง ทำให้มีรถถือสองทะลักเข้าตลาดจำนวนมาก จากการยึด หรือขายทิ้งเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ล่วงเข้าต้นปี 2567 ขณะที่ตลาดรถมือสองยังราคาตกไม่เลิก

เกิดปรากฏการณ์ที่รถใหม่ป้ายแดง เริ่มจัดแคมเปญพิเศษทั้งส่วนลดเงินสด ดอกเบี้ย 0% หรือผ่อนระยะยาว 99 เดือน

สาเหตุสำคัญประเมินว่าเพราะความนิยมใน “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย

โดยเฉพาะรถจากประเทศจีน ที่ได้สิทธิภาษีนำเข้า 0% และยังได้ส่วนลดจากรัฐบาลสูงสุดคันละ 150,000 บาท

บวกกับรัฐบาลสนับสนุนขยายสถานีชาร์จจนครอบคลุมมากขึ้น

ไม่นับปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทรงตัวในระดับสูง

ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีราคาพอๆ กับรถน้ำมัน หรือสันดาปภายใน มาใช้มากขึ้น

 

ทําให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มชนิดก้าวกระโดด

จากตัวเลขกรมการขนส่งทางบก ปี ค.ศ.2020 มีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียน 1,056 คัน

ปี ค.ศ.2021-2022 เพิ่มเป็น 1,935 คัน และ 9,729 คัน ตามลำดับ

กระทั่งในปีที่แล้ว ค.ศ.2023 หรือ พ.ศ.2566 ยอดจดทะเบียนทะยานขึ้นอย่างน่าตกใจเป็น 76,314 คัน

เติบโตแบบดุเดือดกว่า 684%

ส่วนในปี 2567 ประมาณการว่ายอดจดทะเบียนยิ่งเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะแตะระดับ 1 แสนคันได้สำเร็จ

ปัจจัยหนุนนอกจากเรื่องราคาน้ำมัน ความพร้อมของสถานีชาร์จแล้ว ความมั่นใจของคนไทยมากขึ้น

บวกกับคุณภาพรถยนต์จากจีนได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น แม้ในระดับนานาชาติยังยอมรับ

นอกจากนี้ ความไฮเทคและออปชั่นพิเศษที่รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับราคาใกล้เคียงกัน

เป็นอีกแรงกระตุ้นให้คนไทยตัดสินใจเป็นเจ้าของมากขึ้น

อีกส่วนคือคนไทยเริ่มคุ้นเคยเมื่อเห็นรถไฟฟ้าจำนวนมากบนถนน และปรับตัวได้ หรือรับได้กับข้อจำกัดเรื่องสถานีชารร์จ หรือค่าใช้จ่ายในอนาคต

โดยเฉพาะราคาแบตเตอรี่ที่แพง ราวๆ ครึ่งหนึ่งของราคารถ

ด้วยความนิยมในรถไฟฟ้าจากจีน การเติบโตแบบก้าวกระโดดของยอดขายในไทย ทำให้ค่ายรถหน้าใหม่ๆ แห่กันเข้ามาชิงเค้กก้อนนี้

ช่วงปลายปีที่แล้วมีอย่างน้อย 2 ค่ายประกาศเข้ามาทำตลาดเต็มตัว คือ “จีเอซี ไอออน” หนึ่งในยักษ์ใหญ่จากจีน

พอมาถึงก็ลดราคาลงจากเดิมล้านต้นๆ เหลือต่ำกว่า 9 แสนบาท

ถัดมาไม่นาน “ฉางอัน ดีพอล” ก็เข้ามาร่วมด้วย แถมตั้งราคาใกล้เคียงกับเจ้าตลาด

และมีอีกหลายค่ายจ่อคิวเปิดตัวในปีนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากเรื่องความไฮเทคและออปชั่นแล้ว ราคามีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจ

จึงมีสงครามราคาเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2567

เริ่มจากเกรท วอลล์ มอเตอร์ เปิดตัวรถเก๋ง “โอร่า กู๊ดแคท” รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกที่ขึ้นสายพานการผลิตในไทย

ลดราคาลงใน 3 รุ่นย่อย เหลือ 799,000-1,099,000 บาท

จากเดิมรุ่นนำเข้าจำหน่ายราคา 828,500-1,286,000 บาท

เมื่อเทียบรุ่นท็อปราคาถูกลงเกือบ 2 แสนบาท

พลอยทำให้เจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย คือ “บีวายดี” ต้องแก้เกมทันทีด้วยการเปิดตัว “ATTO 3” โมเดลเยียร์ 2024 เก๋งไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในเมืองไทย

โดยนำรถรุ่นเริ่มต้นมาแยกเป็น 2 รุ่นย่อย

Atto 3 Dynamic ราคา 899,900 บาท และ Atto 3 Premium ราคา 949,900 บาท

จากเดิมขายที่ราคา 1,099,900 บาท

มีแนวโน้มว่าเก๋งอีกรุ่นของบีวายดีคือ “ดอลฟิน” ที่วางเซ็กเมนต์ต่ำกว่า “ATTO 3” ต้องปรับลดราคาลงอีก

เนื่องจาก Atto 3 Dynamic ราคาใกล้เคียงกับตัวท็อปของดอลฟินนั่นเอง

 

การขยับตัวในศึกสงครามราคาของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ค่ายรถจากญี่ปุ่นที่โดนแชร์ส่วนแบ่งการตลาดไปไม่น้อย นิ่งเฉยไม่ได้

สังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงแรกๆ

เริ่มจากรถรุ่นปรับโฉม หรือไมเนอร์เชนจ์ ที่เปิดตัวในปี 2567 ส่วนใหญ่แทบไม่เพิ่มราคาขึ้นเลย แถมใส่ออปชั่นจัดเต็มมากขึ้น

ผิดกับในอีดตที่ต้องเพิ่มราคาหลักหมื่น หรือเป็นแสนในบางรุ่น

ก่อนที่จะเริ่มเดือดเมื่อมีแคมเปญส่วนลดเงินสด ดอกเบี้ย 0% และอื่นๆ

จนเมื่อค่ายรถจากจีนเขย่าเรื่องราคามากขึ้น

ทำให้รถญี่ปุ่นตัดสินใจลดราคาอย่างดุเดือด

ค่าย “ซูซูกิ” ประกาศลดราคารถเอสยูวี “XL7” ลง 80,000 บาท เหลือเริ่มต้น 734,000-749,000 บาท

จากเดิมราคา 814,000-829,000 บาท

และที่หนักคือรุ่น “เซียส” (CIAZ) เก๋งอีโคคาร์ ลดราคาถึงคันละ 150,000 บาท

จากเดิม 4 รุ่นย่อย ราคา 528,000-678,000 บาท เหลือ 378,000-528,000 บาท

ถัดมาไม่กี่วัน “มาสด้า” ระเบิดแคมเปญ “MAZDA SUPER OFFER” ดอกเบี้ยต่ำสุด 0% ส่วนลดสูงสุด 120,000 บาท โดยมีรถให้เลือกเกือบทั้งค่าย แต่ส่วนลดแตกต่างกันไป

ขณะที่ค่ายจากเกาหลีใต้ “ฮุนได” ขอร่วมศึกประกาศลดราคา 150,000 บาท เช่นกัน

กับรถครอบครัว “สตาร์เกเซอร์” รุ่นเริ่มต้นเหลือ 619,000 บาท

และเอสยูวี “เครต้า” รุ่นเริ่มต้นเหลือ 639,000 บาท

จากนี้ต้องดูว่าจะมีค่ายไหนออกมาร่วมรบในสงครามราคาครั้งนี้

ที่แน่ๆ คนที่กำลังเล็งรถใหม่เอาไว้ ยิ้มร่าแน่นอน •

 

 

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ | สันติ จิรพรพนิต

[email protected]