ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (5)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ตำรวจสันติบาลกอง 2

ระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ.2476 ขณะที่การต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำร่วมด้วยพระยาทรงสุรเดช หนึ่งใน 4 ทหารเสือผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง กับคณะราษฎรซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้นำร่วมด้วย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และหลวงพิบูลสงคราม รวมทั้งคณะราษฎรส่วนใหญ่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับนั้น

ฝ่ายพระยาพหลพลพยุเสนาตระหนักถึงความสำคัญของงานด้านการข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จำเป็นต้องหาผู้ที่ไว้วางใจและเป็นผู้มีความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งใน “กองกำกับการ 2 ตำรวจสันติบาล” จึงได้โอนย้ายนายทหารชั้นผู้น้อยที่ไม่มีใครรู้จักคือ นายร้อยโท ขุนศรีศรากร จากกองทัพบกมาเป็นนายตำรวจประจำกองกำกับการ 2

กองกำกับการ 2 ตำรวจสันติบาล มีหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ จึงมีความสำคัญเสมือนเป็นหัวใจของงานสันติบาลทั้งหมด เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของรัฐและรัฐบาลในการสอดส่องดูแลพฤติการณ์และความเคลื่อนไหวของบุคคลและกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลซึ่งแฝงอยู่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบการปกครองเดิมมาเป็นระบอบใหม่

ภารกิจหลักของกองกำกับการ 2 ตำรวจสันติบาล คือการสืบสวนความเคลื่อนไหวของกลุ่มข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือนในส่วนที่สืบเนื่องตกทอดมาแต่ระบอบเก่าและกลุ่มข้าราชการนอกประจำการโดยเฉพาะที่ถูกปลดออกเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ยังมีอิทธิพลอยู่ทั้งในส่วนของข้าราชการประจำและอิทธิพลทางการเมือง รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์และประชาชนทั่วไป

ซึ่งคณะราษฎรตระหนักว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อหาโอกาสช่วงชิงอำนาจการเมืองกลับคืนสู่ระบอบเดิม

 

นายร้อยตำรวจเอก เฉียบ อัมพุนันท์ อดีตสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองตำรวจสันติบาล หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ทัศนะว่า

“ข้าพเจ้าได้ผ่านงานมาทั้งภูธร นครบาล และสันติบาล ในที่สุดก็เข้าสู่กองราชการลับแห่งกอง 2 ซึ่งถือว่าเป็น ‘ยอด’ แห่งวงการตำรวจแล้ว ไม่มีกองใดที่จะมีความสำคัญยิ่งไปกว่านี้ ในทางการเมืองภายในประเทศ ความมั่นคงของรัฐบาลอยู่ที่กองนี้ เพราะเป็นสายตาสอดส่องให้ทั้งเวลาหลับและเวลาตื่น”

กองกำกับการ 2 ตำรวจสันติบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ตำรวจลับทางการเมือง” และมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญยิ่งในสายตาของฝ่ายพระยาพหลพลพยุเสนา ขณะที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและกลุ่มอำนาจเก่าในขณะนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญนัก

หน้าที่สำคัญของขุนศรีศรากรที่ได้รับมอบหมายคือควบคุมการสืบสวนสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์กับคณะราษฎร ซึ่งนอกจากหมายถึงกลุ่มอำนาจเก่า แล้วยังรวมถึงนายทหารในกลุ่มของพระยาทรงสุรเดชซึ่งมี “ลูกศิษย์” อยู่จำนวนไม่น้อยในกองทัพบกขณะนั้น

 

นายร้อยโท ขุนศรีศรากร เป็นนายทหารปืนใหญ่ซึ่งเคยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของหลวงอดุลเดชจรัส และหลวงพิบูลสงครามมาก่อน มีความใกล้ชิดกันมาช้านาน มีที่พักอยู่ใกล้เคียงกัน จึงรู้อุปนิสัยและคุ้นเคยกันเป็นพิเศษ

เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รับคำชักชวนโดยตรงจากนายทหารปืนใหญ่รุ่นพี่ที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงคือหลวงพิบูลสงคราม และเป็นนายทหารปืนใหญ่ “ใจถึง” ยศเพียงร้อยโทผู้นี้เองที่ได้รับมอบหมายจากคณะผู้ก่อการให้ไป “เชิญตัว” นายพลตรี พระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จนถึงขั้นใช้อาวุธจนพระยาเสนาสงครามได้รับบาดเจ็บสาหัส

ขุนศรีศรากรเป็นนายทหารที่ยืนหยัดยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรอย่างเหนียวแน่นมั่นคง และอีกไม่นานต่อมาเมื่อสามารถโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาสำเร็จแล้ว ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2476 หลวงอดุลเดชจรัสสหายที่รักยิ่งของหลวงพิบูลสงครามก็จะย้ายตามขุนศรีศรากรมารับตำแหน่งสำคัญที่สูงขึ้นไปอีกในกรมตำรวจ

และจะเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองของคณะราษฎรและหลวงพิบูลสงครามในเวลาต่อมา

 

หลวงอดุลเดชจรัสก็เช่นเดียวกับขุนศรีศรากรคือยืนหยัดยึดมั่นในอุดมการณ์ของคณะราษฎรอย่างเหนียวแน่น ดังที่ พ.ต.ท.สมพงษ์ แจ้งเร็ว บันทึกไว้ในวิทยานิพนธ์ “บทบาทของตำรวจสันติบาลในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ.2475 ถึง 2500” ว่า เมื่อคณะผู้ก่อการคณะราษฎรสามารถช่วงชิงอำนาจรัฐมาได้ก็ได้ใช้กรมตำรวจและ “ตำรวจลับ” คือกองตำรวจสันติบาลสอดส่องดูสืบสวนติดตามความเคลื่อนไหวของปรปักษ์ทางการเมืองของคณะราษฎรมาโดยตลอด พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐบาลเมื่อปี 2489 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งสามารถสะท้อนจุดยืนของหลวงอดุลเดชจรัสตั้งแต่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “พวกก่อการจะฉิบหายไม่ได้ หลวงอดุลจะต้องต่อสู้เพื่อความคงอยู่ของผู้ก่อการ แต่จะทรงอยู่อย่างไร การที่จะทรงไว้ให้ได้นั้น จำเป็นต้องทำอย่างนี้”

การเข้าควบคุมกรมตำรวจของฝ่ายทหารในคณะราษฎรโดยพลวงอดุลเดชจรัสจะมีผลอย่างสำคัญและยาวนานในการส่งเสริมเส้นทางการเมืองของหลวงพิบูลสงครามรวมทั้งความมั่นคงของคณะราษฎร

 

ความเห็นของทูตญี่ปุ่น

การถูกบีบบังคับให้ต้องเดินทางออกนอกประเทศของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมโดยอาศัยเงื่อนไขจากเค้าโครงเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับข้อหาคอมมิวนิสต์นั้น “บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475” โดยเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ยาสุจิ ยาตาเบ สรุปว่าเป็นเกมการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า และยังเห็นด้วยว่ารัฐบาลไม่มีหลักฐานใดๆ ในการกล่าวหาว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์ รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อกรณีนี้

“ฉะนั้น หากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีเจตนาจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ทางฝ่ายสถานทูตญี่ปุ่นเองก็ไม่มีสาเหตุอะไรที่จะขัดขวางหรือไม่อนุญาตให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นได้ ตรงกันข้ามถ้าหากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นจริง ทางฝ่ายสถานทูตญี่ปุ่นก็ยินดีจะอำนวยความสะดวก”

“พวกนักการเมืองหนุ่มซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นหัวหน้ามีความโกรธแค้นรัฐบาลปฏิกิริยาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจได้ ความโกรธแค้นของพวกเขาไม่ได้มาจากความรู้สึกเพียงประการเดียวว่า คนกลุ่มนี้ได้สร้างรัฐธรรมนูญโดยการเสียสละชีวิตในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1932 แต่มาคราวนี้พวกนี้ได้พลาดพลั้งต่อฝ่ายตรงข้าม”

“ฉะนั้น การยินยอมโดยไม่มีการตอบโต้ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ กลุ่มนี้ได้แสวงหาโอกาสในทางลัดที่จะโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในทันทีเมื่อรัฐบาลใหม่ได้เริ่มบริหารประเทศ”