ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
สถานการณ์นับแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2551 มีทั้ง “สภาพ” ที่เหมือนกับจะมีร่องรอยแห่งความเป็นสันถวมิตรอันสนิทสนม
แต่ก็เป็นสันถวมิตรอันสนิทสนมซึ่งมากด้วยความหวาดระแวง
อย่างเช่น ภาพอันปรากฏในงานศพมารดา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ณ วัดโสมนัสวรวิหาร เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม
เป็นครั้งแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้พบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้พบและทักทายกับ พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ และยังได้พบแต่มิได้ทักทายกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
เพียงไล่เรียงตัวละครแต่ละชื่อออกมาก็เป็น “ข่าวใหญ่”
ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อเป็นงานศพมารดาของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ยิ่งก่อให้เกิดสภาพการณ์อย่างที่เรียกว่า ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติในทางการเมือง
สัญญาณเหล่านี้น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีทำให้การคืนกลับบ้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร น่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น
แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปเหมือนกับเป็นฉากหนึ่งของละคร
ความเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกันระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา น่าจะเป็นเรื่องดี
แต่ในเมื่อความเป็นจริง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คือ “บูรพาพยัคฆ์”
ในเมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เติบใหญ่มาจากกองพลทหารราบที่ 2 มหาดเล็กรักษาพระองค์
สายสัมพันธ์จึงแนบแน่นอยู่กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ในห้วงที่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คือ แม่ทัพภาคที่ 1 จึงเป็นปัจจัยชี้ขาดหนึ่งในด้านกำลัง
อย่าแปลกใจหากเส้นทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะอยู่นอกเหนือการคาดหมายและบริหารจัดการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้ครั้งหนึ่งจะเคยมีส่วนในการแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้บัญชาการทหารบกก็ตาม
เยื่อใยแห่งความเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกันระหว่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จึงดำเนินไปในทิศทางอันเรียกได้ว่า
แม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ
หากมองไปทางด้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อยู่เรียงเคียงข้างก็มีความแจ่มชัด
แจ่มชัดว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำเนินกลยุทธ์อย่างไร
ภาพแห่งการเดินสายไปยังแต่ละโรงเรียนนายร้อยโดยเริ่มที่นายร้อย จปร.ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังจำหลักอย่างหนักแน่น
การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ชัดเจน
เป็นความชัดเจนที่แม้จะดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรีอยู่ก็ตาม แต่มีความจำเป็นต้องเข้าแบกรับหน้าที่เหมือนกับที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งมาแล้วหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516
การเข้าทักทาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เป็นเงาสะท้อนแห่งมารยาททางสังคม
ต่างคนต่างมีภารธุระที่จำเป็นต้อง “ปฏิบัติ”
ก็เมื่อตอนที่มีการสนทนากัน ณ บ้านริมถนนสุขุมวิทก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ร่วมอยู่ในโต๊ะด้วยกัน มิใช่หรือ
ที่เกิดขึ้นจึงเหมือนกับเป็นบทบาทหนึ่งแห่งละครในทางการเมือง
ไม่ว่าการเดินสายของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่าการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ไม่ว่าการรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในเดือนกันยายน 2549
ความเป็นจริงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องประสบก็คือ การเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของคดีในมือของ คตส.
ไม่ว่าเรื่องเอ็กซิมแบงก์ ไม่ว่าในเรื่องแปลงสัมปทานโทรศัพท์
และที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือคดีการซื้อขายที่ดินในย่านรัชดาภิเษกที่ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจนมาน ชินวัตร ล้วนตกเป็นจำเลย
ล่วงเข้าเดือนกรกฎาคม 2551 การดำเนินคดีก็เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
ในห้วงแห่งการฟ้องร้องและดำเนินคดีที่ดินรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาทกำลังดำเนินอยู่นั้น
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ก็มีการเคลื่อนไหว
นั่นก็คือการยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปญี่ปุ่นและจีนระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-10 สิงหาคม และจะเดินทางไปอังกฤษระหว่างวันที่ 15-20 สิงหาคม
โดย คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 จะเดินทางไปจีนวันที่ 5-10 สิงหาคม และจะไปอังกฤษวันที่ 15-20 สิงหาคม
องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เดินทางไปตามคำขอ และเมื่อเดินทางกลับประเทศก็ให้เข้ามารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 11 สิงหาคม
การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2551 จึงน่าสนใจอย่างเป็นพิเศษ
กลางดึกของคืนวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ออกเดินทางไปยังญี่ปุ่นตามกำหนดการพร้อมกับมีรัฐมนตรีและ ส.ส.ไปส่งเป็นจำนวนมาก
เป้าหมายคือเดินทางไปบรรยาย ณ มหาวิทยาลัยหนึ่งแห่งเมืองฟูกูโอกะ
ขณะที่เป้าหมายแรกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือญี่ปุ่น ในวันที่ 5 สิงหาคม
คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ก็ออกเดินทางอย่างเงียบๆ พร้อมกับพี่ชายบุญธรรม นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ตรงไปยังจีน
ต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม มีข่าว นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
โดยมี นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงเดินทางไปด้วย
ทุกอย่างเป็นไปตามที่ได้แจ้งต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ครบถ้วนโดยเฉพาะเส้นทางและวันเวลาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และของ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ที่น่าสนใจก็คือ การเดินทางตามไปของบุตรทั้ง 3 ไม่ว่าจะป็น นายพานทองแท้ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น น.ส.พินทองทา ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
ขณะเดียวกัน ก็มี นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
ขณะเดียวกัน ก็มี นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวของ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ทุกอย่างเริ่มได้คำตอบในวันที่ 11 สิงหาคม 2551
ตามคำขอที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน ชินวัตร แจ้งต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็คือจะกลับประเทศในวันที่ 11 สิงหาคม และจะเข้ารายงานตัวต่อศาล
กลับเป็น “แถลงการณ์” ที่อ่านออกสถานีโทรทัศน์ NBT
แถลงการณ์ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมด้วย คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้เดินทางมาพำนักที่ประเทศอังกฤษ ไม่ได้ไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
พร้อมกับระบุเหตุผลในการตัดสินใจเช่นนี้ว่า เพราะมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ใช้ระบบสองมาตรฐานที่เห็นได้อย่างชัดเจน
“เล่นงานผมและครอบครัวพร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม”
เมื่อการมิได้เป็นไปตามที่ได้มีคำสั่ง องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีคำสั่งให้ปรับจำเลยทั้งสองตามสัญญาประกัน และให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสอง
ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่า คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จึงล้วนถูกออก “หมายจับ” ไปด้วยกัน
การเมืองไทยจึง “พลิก” ไปอีกหน้าและเข้าสู่บทใหม่ที่มากด้วยความร้อนแรง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022