ชนบทไทยในเพลิงสงครามมหาเอเชียบูรพา

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

ชนบทไทยในเพลิงสงครามมหาเอเชียบูรพา

 

โดยทั่วไปแล้ว เรื่องราวและความทรงจำถึงพระนครครั้งถูกโจมตีทางอากาศเมื่อครั้งสงครามมีบันทึกมากเพียงพอที่จะให้ภาพที่แจ่มชัด แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ ภาพของชนบทไทยในระหว่างสงครามนั้นเป็นอย่างไร

ยังเป็นความรู้และภาพที่ขาดวิ่นอยู่รอการเติมเต็ม ว่า สภาพชนบทไทยในระหว่างการถูกสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศเป็นอย่างไร

ลูกระเบิดด้านที่เชิงสะพานราชบุรี เมื่อ 2488 เครดิตภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

เชียงรายในยามศึก

ไม่นานภายหลังจากที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นไทยและไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปตีพม่าและมลายูเมื่อปลายปี 2484 และไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐเมื่อปลายเดือนมกราคม 2485 แล้ว หมอเสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ประจำที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ขณะนั้น โรงพยาบาลมีนายแพทย์ 1 ผู้ช่วยนายแพทย์ 3 นางพยาบาล 1 เท่านั้น มีอาคารเพียงตึกอำนวยการ เรือนคนไข้ชาย 1 เรือนคนไข้หญิง 1 บ้านพักแพทย์ 1 บ้านพักพยาบาล 4 เขาบันทึกถึงเชียงรายถูกโจมตีทางอากาศครั้งแรกว่า

“วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2485 ท้องฟ้าโปร่งปราศจากเมฆหมอก แต่พอ 11 โมงเช้ามีแสงแดดออก อากาศแจ่มใส ปรากฏว่ามีเครื่องบินปีกชั้นเดียว 3 ลำบินมาทางตะวันตกของจังหวัด บินเกาะหมู่กันมาเป็นอย่างดี พวกประชาชนในจังหวัดเชียงรายไม่มีโอกาสเห็นเครื่องบินเลยจึงต่างออกมานอกบ้าน มาดูเครื่องบินที่ง 3 ลำที่ใกล้เข้ามาๆ พอถึงกลางเมือง เครื่องบินทั้งสามต่างแฉลบลง ลำที่หนึ่งลงก่อน ตามด้วยลำที่สองและลำที่สาม พร้อมกันนั้นได้ปล่อยลูกดำๆ ร่อนลงมาเป็นแถวยาวๆ แล้วได้ยินเสียงระเบิดลูกแล้วลูกเล่า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในการทิ้งระเบิดแล้วก็บินกลับเป็นหมู่สามลำกลับไปทางทิศตะวันตกทางเดิม” (สันติสุข โสภณสิริ, 2537, 98)

หมอเสมบันทึกต่ออีกว่า “วันนั้น พ่อยืนอยู่ที่หน้าตึกอำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งอยู่ใกล้สนามบินและห่างจากตัวเมือง ได้เห็นเครื่องบินหย่อนลูกดำๆ เป็นสายลงมาทั้งสามลำและได้ยินเสียงระเบิดติดต่อกัน”

หมอเสม พริ้งพวงแก้ว และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

จากนั้น เขารีบเข้าเมือง ภาพที่ปรากฏต่อหน้านั้น “เมืองปราศจากผู้คน ทุกอย่างสงบเงียบอย่างน่าวังเวง ทุกคนหนีเอาตัวรอดไปนอกเมืองหมด บนถนนที่ผ่านสโมสรข้าราชการไปทางศาลาเทศบาล มีคนเสียชีวิตนอนตายอย่างเกลื่อนกลาดในศาลาเทศบาล เทศมนตรีที่รู้จักกันดีนอนเสียชีวิตเกือบจะถึงปากหลุมหลบภัย ผู้มาติดต่อการงานกับเทศบาล นอนตายอยู่เกลื่อนหน้าศาลาเทศบาล อาคารเทศบาลถูกระเบิด เจ้าหน้าที่เปิดสัญญาณภัยทางอากาศเสียชีวิตในห้องสัญญาณ เนื้อสมองกระเด็นติดอยู่ตามผนังห้อง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่ฝึกไว้เตรียมสู้กับข้าศึกด้วยอาวุธและหมามุ่ย หายเงียบเข้าป่าเข้าดงไปจนสิ้น พ่อและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต้องช่วยกันขนศพกว่า 20 ศพไปป่าช้านอกเมืองโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ…” (สันติสุข โสภณสิริ, 2537, 98-99)

เหตุการณ์เชียงรายโดนโจมตีทางอากาศมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากทำให้กองทัพพายัพรายงานไปพระนคร ทางพระนครส่งเครื่องบินฮอว์กปีกชั้นเดียวบินมาเยี่ยมปลอบขวัญ และสั่งให้โรงพยาบาลศิริราชส่งพยาบาลมาช่วยเหลือผู้ป่วย

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นมาตั้งที่เชียงรายยิ่งทำให้เชียงรายถูกโจมตีทุกวัน ญี่ปุ่นไปตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน โรงพยาบาลถูกยิงจากเครื่องบินด้วยแต่ไม่ถูกระเบิด ด้วยตั้งอยู่ใกล้สนามบินอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ แม้หมอเสมจะใช้ผ้าสีแดงทำกากบาทบนหลังคา พร้อมการพรางอาคารด้วยกิ่งไม้และทางมะพร้าวและทาสีแล้วก็ตาม แต่โรงพยาบาลก็ไม่พ้นภัยทางอากาศ (สันติสุข โสภณสิริ, 2537, 99)

หมอเสม พริ้งพวงแก้ว รำลึกชีวิตครั้งปฏิบัติหน้าที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ช่วงสงครามว่า “ตอนนั้นคิดถึงชีวิตไปวันๆ มีชีวิตรอดไปวันๆ พรุ่งนี้เช้าไม่ตายก็ดีแล้ว” (สันติสุข โสภณสิริ, 2537, 97)

ตัวเมืองเชียงรายในช่วง 2478-2481 เครดิตภาพ : โรเบิร์ต เพนเดิลตัน

ระเบิดลงที่สมุทรปราการ

สนิท เจริญรัฐ นักหนังสือพิมพ์ ผู้อพยพหนีภัยทางอากาศจากพระนครมาบางพลี บันทึกการทิ้งระเบิดของฝูงบินสัมพันธมิตรว่า เมื่อ 5 มิถุนายน 2487 ในระหว่างช่วงก่อนเที่ยง ระหว่างที่เขากำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่ระเบียงบ้านพักริมคลอง เด็กๆ ร้องว่า เครื่องบินมา เขาบันทึกว่า ตั้งแต่สงครามเริ่มมาไม่ปรากฏเครื่องบินสัมพันธมิตรมาโจมตีทางอากาศในยามกลางวันเลย บนท้องฟ้าปรากฏฝูงบินหมู่ละ 4 ลำ บนท้องฟ้ามีมากกว่า 7 หมู่ กลางฝูงปรากฏบี 29 ลำสีขาวใหญ่กว่าลำอื่นๆ

พลันชาวสมุทรปราการได้ยินเสียงเครื่องบินบนท้องฟ้า เสียงไม่คุ้นหู แถมยังมีจำนวนมากเหนือท้องฟ้า จึงเอะใจวิ่งหาที่หลบภัย ระลอกแรกผ่านหัวไป ระลอกสองตามมา ติดตามด้วยเสียงระเบิดเหนือสมุทรปราการ แถบบางนางเกรง ชาวร้านตลาดแตกตื่นวิ่งหนีเข้าบ้านและกลับออกมาด้วยไม่รู้จะไปหลบที่ใด บ้างก็หมอบข้างทางรถไฟ บ้างกระโดดลงคลอง บ้างวิ่งออกไปกลางแจ้ง บ้างกระโดลงบ่อน้ำ (สนิท เจริญรัฐ, 2507, 287-288)

เครื่องบินเหล่านี้บินมาจากอ่าวไทยมุ่งหน้าไปยังพระนคร คาดว่าน่าจะมาจากอินเดีย ชาวบางพลีได้พบเห็นหมู่เครื่องบินนั้นประหวั่นถึงภยันตรายของชาวพระนคร ด้วยเขาทราบดีว่า หน่วยต่อต้านอากาศยานของไทยมีศักยภาพเพียงใดในการต่อต้านอากาศยาน อีกทั้งญี่ปุ่นมิได้ให้เครื่องบินที่มีประสิทธิภาพสูงแก่ไทยใช้ป้องกันตนเองเลย (สนิท เจริญรัฐ, 2507, 279-281)

“ชั่วอึดใจต่อมา เครื่องบินฝูงหลังยังไม่ทันลับตาชาวบางพลี เสียงระเบิดก็ดังสนั่นหวั่นไหวทางทิศกรุงเทพฯ จากฝีมือของฝูงบินแรกๆ…หมู่เพชฌฆาตเหินฟ้าจะเหวี่ยงแหมฤตยูเปะปะไปทั่วพระนคร ธนบุรี…เสียง ปตอ.เบาบางเหลือเกิน ใจจึงแบ๊วลงไปอีก เพราะรู้สึกว่าชาวเมืองหลวงคงบาดเจ็บล้มตายลงไปไม่น้อยทีเดียว มันคือบทหนึ่งของสงครามสมัยใหม่ตอนเทไข่มรณะลงจากฟากฟ้า” (สนิท เจริญรัฐ, 2507, 281-282)

สนิท เจริญรัฐ นักหนังสือพิมพ์

ภาคกลางในเพลิงสงคราม

ในช่วงปลายสงคราม บนท้องฟ้านครชัยศรี นครปฐมนั้น ปรากฏเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรในยามกลางวันเข้ามาสอดแนมพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ ด้วยมีเส้นทางรถไฟที่วิ่งผ่านไปยังชายแดนไทยต่อพม่า ในยามค่ำคืนวันหนึ่ง มีเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดทำลายสะพานเสาวภาเพื่อทำลายเส้นทางการขนส่งทางการทหาร ทหารญี่ปุ่นยิงต้านที่ไม่ระคายเครื่องบิน พร้อมสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังลั่นทุ่ง ชาวบ้านต่างวิ่งหนีลงหลุมหลบภัย (ช.งิ้วราย, 2546, 49-54)

สำหรับสุพรรณบุรี มนัส โอภากุล ยังจําได้ติดตามาจนปัจจุบัน เมื่อไทยถูกญี่ปุ่นบังคับให้เซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น เป็นธรรมดาอยู่เอง อังกฤษและอเมริกาจะต้องโจมตีเมืองไทย เพราะทหารญี่ปุ่นยังอยู่ในเมืองไทยอีกเป็นจํานวนมาก

ในช่วงปลายสงคราม เวลากลางคืนราว 3-4 ทุ่ม เครื่องบินบินทแยงมาจากตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดสุพรรณฯ เข้ากรุงเทพฯ เหมือนตึก 10 ชั้น ลอยอยู่กลางเวหา มุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ก็คือกรุงเทพฯ นั่นเอง ปีกทั้งสองข้างแสงไฟแวบๆ

ด้านหลังที่ทําการไปรษณีย์โทรเลขสุพรรณฯ (ธนาคารนครหลวงปัจจุบัน) ตั้งหอคอยระวังภัยสูงราว 10-15 เมตร มีหวอคอยให้สัญญาณเมื่อเครื่องบินผ่าน คืนวันหนึ่ง เครื่องบินผ่านตัวตลาดจังหวัดสุพรรณฯ ไม่ได้ยินเสียงหวอ พอเครื่องบินเลยไปชั่วครู่จึงได้ยินเสียงหวอดังขึ้น ชาวตลาดที่เห็นเหตุการณ์หัวเราะ เชื่อว่ายามที่อยู่บนหอคงหลับอย่างไม่มีปัญหา

ทางราชการให้ทุกบ้านทําผ้า “มาตรฐาน” คลุมดวงไฟฟ้า โดยเอาผ้าฝ้ายทอหยาบๆ สีม่อฮ่อม (สีกรมท่าปนเทา) มาทํา เพื่อป้องกันไม่ให้แสงไฟลอดออกไปข้างนอก สมัยโน้นยังไม่มีหลอดไฟนีออน (ฟลูออเรสเซนต์)

ตัวตลาดจังหวัดสุพรรณบุรีในช่วงสงคราม พอค่ำทุกบ้านปิดประตูบ้านหมด พวกเราหนุ่มๆ ออกไปนั่งเล่นที่สะพานข้ามคลอง บนถนนพระพันวษา มืดและเงียบไม่มีผู้คนออกมาเดินเล่นแม้แต่คนเดียว (silpa-mag.com/article 43824)

ส่วนอยุธยา ในช่วงปลายสงครามนั้น ปรากฏเครื่องบินสัมพันธมิตรพยายามทำลายสะพานปรีดี-ธำรง แต่ระเบิดพลาดเป้าไปลงพื้นที่ฝั่งทางรถไฟ (สมบัติ พลายน้อย, 2560, 53)

ภาพชนบทในเพลิงสงครามเหล่านั้นยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของคนร่วมสมัย

ตลาดราชา สมุทรปราการ ช่วงต้นทศวรรษ 2480 เครดิตภาพ : โรเบิร์ต เพนเดิลตัน
สะพานราชบุรีถูกทำลายจากระเบิด ปี 2488
สถานีรถไฟลพบุรีถูกทำลายเมื่อ 6 มกราคม 2487