จีนขาลง : สูงสุดคืนสู่สามัญ?

เกษียร เตชะพีระ

สํานวน “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ผมรู้จักจากนิยายกำลังภายในแปลที่ได้อ่านสมัยวัยรุ่น เข้าใจว่ามาจากสำนวนจีน ว่า “大道至簡” (ต้าเต้าซื่อเจียน) ซึ่งมีนัยทางปรัชญาเต๋าเนียนซึ้งแฝงอยู่ ในทำนองว่าจอมยุทธ์ยอดฝีมือนั้น กระบวนท่าหรืออาวุธที่ใช้กลับยิ่งเรียบง่าย อาจเป็นแค่กู่ตะโกน พลิกฝ่ามือหรือดีดนิ้วยิงก้อนกรวด กิ่งไม้หรือใบไม้ก็พิชิตคู่ต่อสู้ได้แล้ว

ดังที่ เอี้ยก่วย จอมยุทธ์เจ้าอินทรี สำแดงฝีมือไว้ในมังกรหยกภาคสอง เป็นต้น (เสถียร จันทิมาธร, วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย, 2563)

แต่ในคอลัมน์ตอนนี้ ผมเพียงต้องการใช้ในความหมายทื่อตรงที่เกี่ยวพันกับแนวคิดเรื่อง Peak China (จีนสุดยอด) ซึ่งแพร่หลายในวงการสื่อมวลชน ธุรกิจและความมั่นคงตะวันตกไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในทำนองว่า บัดนี้จีนได้บรรลุอำนาจสุดยอดที่จะบรรลุถึงได้แล้ว ฉะนั้น หลังจากนี้ย่อมมีแต่ดิ่งต่ำลง (ดังรูปประกอบ)

 

เอเฟริด ลีฟนี คอลัมนิสต์หญิงของหนังสือพิมพ์ The New York Times ได้ลำดับความเป็นมาของแนวคิดดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจในคอลัมน์ Shop Talk หัวข้อ “Peak China (Post-Dynasty Version)” เมื่อ 18 สิงหาคม ศกก่อนว่ามันเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อปี 2018 และเน้นที่อำนาจทางเศรษฐกิจของจีน

เธอระบุว่า ไมเคิล เบกลีย์ รองศาสตราจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Tufts นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ และหัวหน้าโครงการเอเชียแห่งสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บัญญัติแนวคิดนี้ขึ้นในบทความเมื่อปี 2018 โดยได้แรงบันดาลใจจากแนวคิด Peak Oil ซึ่งหมายถึงจังหวะเวลาสมมุติที่การผลิตน้ำมันทั่วโลกขึ้นถึงอัตราสูงสุด หลังจากนั้นการผลิตน้ำมันจะเริ่มลดน้อยถอยลงอย่างไม่มีวันกระเตื้องกลับคืนมาได้

Peak Oil ฉันใด Peak China ก็ฉันนั้น

 

เบกลีย์เถียงว่าเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนั้นไม่แน่หรอกว่ามันจะต้องแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาดังที่ผู้คนมากหลายเคยคาดการณ์ไว้

บรรดานักรัฐศาสตร์เขียนงานกันมากเรื่องการผงาดขึ้นและเสื่อมถอยลงของมหาอำนาจประเทศต่างๆ สำหรับเขาแล้ว Peak China (จีนสุดยอด) ก็คือวลีที่รวบยอดสรุปย่อจังหวะซึ่งมหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นอย่างจีนเริ่มชะลอตัวลง

ทว่า จังหวะที่มหาอำนาจ (อันดับสอง) อย่างจีนผงาดถึงจุดสุดยอดทางเศรษฐกิจและเริ่มชะลอตัวลงนี่แหละที่อันตราย เพราะมันจะเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสทางประวัติศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่แง้มเปิดออกแคบๆ ในช่วงสั้นๆ ซึ่งมหาอำนาจหน้าใหม่อาจฉกฉวยรุกก้าวร้าวเข้าใส่มหาอำนาจ (อันดับหนึ่ง) เดิมอย่างสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าช่วงชิงฐานะตั้วเหี่ย (大兄) ในโลกมาเป็นของตน ก่อนที่จีนจะเข้าสู่ช่วงขาลงและหน้าต่างแห่งโอกาสนั้นจะงับปิดไป

อันเป็นข้อเสนอหลักของหนังสือเรื่อง Danger Zone : The Coming Conflict with China (2022) ที่เบกลีย์เขียนร่วมกับ ฮัล แบรนดส์ (ดูภาพปก)

 

แนวคิด Peak China เริ่มขึ้นพาดหัวสื่อต่างๆ ในปี 2021 เมื่อศาสตราจารย์ มักซิมิเลียน มาเยอร์ ชาวเยอรมัน และ เอมิเลียน คาวาลสกี ชาวโปแลนด์ร่วมกันเขียนบทความลงเว็บไซต์ Politico Europe เรื่อง “Have we reached peak China?” (เราถึงจุดจีนสุดยอดกันแล้วหรือ?) โดยเสนอข้อถกเถียงว่าการลงทุนของจีนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศตามโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) นั้นให้ผลลัพธ์ที่น่าผิดหวัง

ปีถัดไปนิตยสาร Foreign Affairs ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์คลังสมองด้านนโยบายต่างประเทศโดดเด่นของอเมริกาก็หยิบวลี Peak China ไปวิเคราะห์วิจารณ์โต้แย้งว่าจีนไม่ได้กำลังอยู่ในช่วงขาลง มิควรด่วนสรุป (“China Hasn’t Reached the Peak of Its Power”, 22 August 2022)

มิช้านาน เหล่าสถาบันคลังสมอง นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการเมือง นักลงทุน ฯลฯ ก็พากันดาหน้า ออกมาถกอภิปรายประเด็นดังกล่าวกันอึกทึกอึงมี่

นิตยสาร The Economist ฉบับ 13 พฤษภาคม 2023 เอาประเด็น Peak China? ขึ้นปก เขียนบทบรรณา-ธิการและบทนำเสนอแบบย่อพิเศษเรื่องนี้รวม 8 หน้า

ข้างหนังสือพิมพ์รายวัน The Financial Times ของอังกฤษก็ลงบทวิเคราะห์เรื่องนี้โดย มาร์ติน วูล์ฟ หัวหน้านักวิจารณ์เศรษฐศาสตร์ของตนและจัดสัมมนาประเด็นดังกล่าวทางเว็บไซต์บ้าง ยังผลให้ผู้สันทัดกรณีออกมาร่วมแจมความเห็นหลายคน

(“We shouldn’t call ‘peak China’ just yet”, 19 September 2023)

 

ราชา กฤษณามูรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐแห่งรัฐอิลลินอยส์ สังกัดพรรคเดโมแครต สมาชิกอาวุโสของคณะกรรมการว่าด้วยการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน พูดถึงประเด็น Peak China ว่าเขามองเห็น “เหล่าสัญญาณเตือนที่เป็นจริง” อยู่ว่าเครื่องจักรเศรษฐกิจจีนกำลังสั่นกระตุกเป็นพักๆ แต่ปัดปฏิเสธที่จะพูดถึง “จุดสุดยอดหรือระนาบสูงเทียมใดๆ” และเตือนว่าไม่ควรสันนิษฐานสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนโดยอาศัยเพียงข้อมูลอันจำกัดที่จีนรายงานออกมา

ส่วน เอียน เบรมเมอร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มยูเรเชีย ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมือง ก็เชื่อว่าแนวคิดที่ว่าคืนวันอันดีที่สุดของจีนได้ล่วงเลยไปแล้วนั้น “บรรทุกสัมภาระอุดมการณ์เสียจนเต็ม” และนำเสนอโดยพวกที่ละเลยข้อเท็จจริงขั้นพื้นฐาน “คนเยอะแยะมากมายยังตื่นเต้นยิ่งที่จะไปทำมาหาเงินในจีน มันชิงสุกก่อนห่ามทางภาววิสัยเกินไปที่จะใช้วลี Peak China”

และทางนิตยสาร Foreign Policy อันเป็นสื่อชั้นนำระดับโลกที่เสนอบทวิเคราะห์โต้แย้งถกเถียงเรื่องนโยบายต่างประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์และกิจการสากลก็ได้เชิญ ไมเคิล เบกลีย์ เจ้าตำรับ Peak China มาวิวาทะเรื่องนี้กับ เคยู จิน (金刻羽) รองศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์หญิงชาวจีนชื่อดังแห่ง London School of Economics ผู้เพิ่งเขียนหนังสือ The New China Playbook : Beyond Socialism and Capitalism (2023) ทาง Youtube เมื่อเดือนกรกฎาคม ศกก่อน

อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งปีที่ผ่านมาหลังจากนั้น ปรากฏว่ากระแสข่าวจากจีนออกไปในทางขาลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก การถูกศาลสั่งล้มละลายของบริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ยอดหนี้ภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นที่ใหญ่โตมโหฬารเป็นภูเขาเลากา เยาวชนตกงานถึงหนึ่งในห้า ผู้บริโภคลดรั้งการจับจ่ายใช้สอยเพราะสูญเสียความมั่นใจ ภาวะเงินฝืด การลงทุนโดยตรงของต่างชาติในจีนและสินค้าส่งออกจากจีนตกต่ำเป็นประวัติการณ์

ขณะที่สงครามเย็นรอบสองทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า-ไฮเทคระหว่างอเมริกากับจีนยังดำเนินสืบต่อ โดยที่แนวนโยบายของประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรค สี จิ้นผิง ก็เน้นบทบาทภาครัฐ ความมั่นคงทางการเมืองการทหารข่าวกรอง และการปราบปรามคอร์รัปชั่น มากกว่าจะเอื้อเฟื้อตลาดเสรี…