กฎหมาย “ทำแท้งเสรี” ควรมีหรือไม่

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ปัจจุบันมีการผลักดันกฎหมายทำแท้งเสรีกันอย่างแพร่หลายภายใต้เหตุผลว่าเป็น “สิทธิในร่างกายของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์” ว่าควรตัดสินใจได้อย่างอิสระว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่

เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ได้เปิดช่องให้กับการทำแท้งในกรณีของการตั้งครรภ์แบบปกติทั่วไปอันมาจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างสมัครใจของคู่นอน

โดยกฎหมายอนุญาตให้สามารถทำแท้งได้ในกรณีตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน หรือไม่ก็เป็นเหตุผลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยซึ่งได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าการตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของแม่

ดังนั้น เพื่อรักษาชีวิตของแม่เอาไว้จึงอนุญาตให้สามารถทำแท้งได้

แต่ในกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากนี้การทำแท้งยังไม่สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามปรับแก้กฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้ทำแท้งอย่างเสรีในกรณีตั้งครรภ์ตามปกติทั่วไปได้

คำถามที่ตามมาก็คือกฎหมายทำแท้งเสรีควรมีหรือไม่

 

ซึ่งการตอบคำถามนี้จำเป็นต้องขยับไปครุ่นคิดถึงปัญหาที่เป็นพื้นฐานกว่า นั่นคือประเด็นทางจริยศาสตร์ที่ว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมหรือไม่

หากไม่ กฎหมายนี้ย่อมสามารถออกมาได้

แต่ถ้าผิดศีลธรรม กฎหมายนี้ก็ไม่พึงมี และควรรักษาแนวทางแบบเดิมเอาไว้ หรือไม่ก็ปรับแก้เพียงรายละเอียดที่เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ

ข้อพิจารณาสำคัญของเรื่องนี้คือทารกที่อยู่ในครรภ์เป็นมนุษย์หรือไม่

หากเป็น มนุษย์ที่ยังเป็นทารกอยู่นั้นมีสิทธิและสถานะต่างๆ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่หรือเปล่า

ถ้าการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม แล้วทารกก็เป็นคนคนหนึ่งเช่นกัน เพราะฉะนั้น การทำแท้งย่อมผิดไปด้วย เพราะการทำแท้งก็คือการฆ่าคนนั่นเอง

ผู้ที่รณรงค์ให้เกิดการทำแท้งเสรีมองว่าทารกในครรภ์ยังไม่ใช่มนุษย์หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่มนุษย์แบบเดียวกับผู้ใหญ่

เพราะผู้ใหญ่มีความรู้สึกนึกคิด จิตใจ อารมณ์ความรู้สึก และปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ในขณะที่ทารกยังไม่มี

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คัดค้านแนวคิดเช่นนี้ก็มองว่ามีหลักฐานทางการแพทย์มากมาย เช่น ภาพจาการอัลตร้าซาวด์ที่แสดงให้เห็นถึงอิริยาบถของทารกและอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏบนใบหน้า

ซึ่งบ่งชี้ว่าทารกมีความรู้สึกนึกคิด จิตใจ อารมณ์ความรู้สึก และปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ แล้ว

เพียงแต่อาจยังไม่เด่นชัดและยังไม่สามารถแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดแจ้งแบบที่ผู้ใหญ่ทำ

ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันว่าแม้ทารกในครรภ์ช่วงต้นจะยังไม่มีลักษณะเช่นนี้ปรากฏมากนัก แต่ในอายุครรภ์ช่วงกลางราวๆ 3-5 เดือนเป็นต้นไปจะสามารถมองเห็นพัฒนาการเหล่านี้ได้ไม่ยาก

 

ในฟากของผู้สนับสนุนกฎหมายทำแท้งเสรีมองว่าแม้ทารกจะมีลักษณะของอวัยวะและความรู้สึกนึกคิดแบบเดียวกับมนุษย์ผู้ใหญ่ก็ตาม

แต่เป็นสิ่งที่คาดการณ์จากการสังเกตสิ่งที่ปรากฏออกมาภายนอก ซึ่งอันที่จริงไม่สามารถล่วงรู้ไปถึงภายในตัวของทารกได้ว่าเขารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่

ดังนั้น ทารกจึงอาจมีสถานะที่มีศักยภาพจะพัฒนากลายเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ต่อไปในอนาคต

แต่ ณ ขณะที่ยังอยู่ในครรภ์ ทารกยังไม่ได้เจริญเติบโตไปสู่การเป็นมนุษย์จริงๆ

เพราะฉะนั้น หากมีปัญหาหรือความจำเป็นที่ต้องทำแท้งก็ย่อมสามารถทำได้ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมเหมือนกับการฆ่าคน

แน่นอน เหตุผลเช่นนี้ยังไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้คัดค้านคล้อยตามไปได้

เพราะการอ้างเหตุผลว่าทารกยังไม่ใช่คน เพราะไม่รู้ว่าทารกคิดหรือรู้สึกอย่างไรนั้นก็ควรที่จะไม่ทำแท้งเสียมากกว่าควรทำ

เหมือนกับเวลาศาลยกประโยชน์ให้จำเลยนั่นเอง กล่าวคือ ศาลไม่พิพากษาจำเลยว่าเป็นผู้กระทำผิดหากไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเขาทำผิดจริงๆ

เมื่อใดก็ตามที่ไม่รู้ว่าทำหรือไม่ทำกันแน่ ก็ไม่มีใครมีสิทธิไปลงโทษเขาได้

เช่นเดียวกับการที่ไม่รู้ว่าทารกมีความคิดและความรู้สึกเหมือนผู้ใหญ่หรือไม่ ก็ยิ่งไม่ควรไปฆ่าเขา มากกว่ามายืนยันว่าสามารถฆ่าเขาได้

 

ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายทำแท้งเสรีใช้ข้ออ้างอย่างหนึ่งก็คือการตัดสินใจเรื่องเป็นสิทธิของแม่แต่เพียงผู้เดียว เพราะร่างกายของเธอเป็นของเธอเอง ซึ่งไม่มีใครสามารถมาอ้างสิทธิในการตัดสินใจแทนตัวเธอได้

แต่ฝ่ายที่คัดค้านมองตรงกันข้ามว่าสิทธิในร่างกายเป็นของแม่ก็จริง แต่สิทธิในร่างกายของทารกเป็นของแม่ด้วยหรือ

หากทารกเป็นคนเหมือนกัน ทารกก็ย่อมมีสิทธิในร่างกายของตัวเองที่ใครก็ไม่อาจมาละเมิดได้

หากแม่มีสิทธิในชีวิตของตน ลูกก็มีสิทธิในชีวิตของตนเช่นกัน แล้วแม่จะมาอ้างแต่เพียงสิทธิของตัวเองเพื่อจะไปละเมิดสิทธิในชีวิตของผู้อื่นได้อย่างไร

ข้อถกเถียงนี้ยากที่จะยุติได้โดยง่าย เพราะฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าลูกในครรภ์เป็นของแม่ ในเมื่อทารกยังไม่สามารถตัดสินใจเองอย่างอิสระได้ ดังนั้น ภาระการตัดสินใจจึงตกมาอยู่ที่แม่แต่เพียงผู้เดียว

เมื่อแม่พิจารณาว่าตนไม่พร้อมให้เด็กเกิดมา ไม่ว่าจะด้วยปัญหาอะไรก็ตามแต่ แม่ย่อมมีสิทธิโดยชอบในการวินิจฉัยและเลือกว่าจะทำแท้งหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายสนับสนุนอ้างเหตุผลเช่นนี้ก็ยังไม่สามารถทำให้ฝ่ายที่คัดค้านยอมรับได้

โดยฝ่ายที่คัดค้านสามารถโต้แย้งได้ว่าผู้ที่ตั้งครรภ์ตระหนักรู้อยู่แก่ใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเจริญพันธุ์โดยไม่ป้องกันจะมีผลตามมาอย่างไร

เมื่อทราบว่าการทำเช่นนั้นมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะตั้งครรภ์ได้ แต่ก็ยังปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้น การจงใจกระทำสิ่งใดโดยรู้แน่ชัดว่าเป็นไปได้สูงมากว่าจะเกิดสิ่งใดตามมา ผลลัพธ์นั้นจึงเป็นผลของการตัดสินใจกระทำของเธอที่ไม่อาจปัดความรับผิดชอบนี้ออกไปได้

การทำแท้งโดยอ้างว่าไม่ใช่เรื่องผิดจึงเป็นข้ออ้างข้างๆ คูๆ ของคนเห็นแก่ตัวเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ มากกว่าที่จะเป็นเหตุผลที่ถูกต้องชอบธรรมจริงๆ

 

ประเด็นเรื่องการทำแท้งเป็นปัญหาที่มีมาช้านานแล้วในวิชาจริยศาสตร์

แต่ยังคงเป็นประเด็นสดใหม่ในสังคมไทยที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างพื้นที่ในการถกเถียงเมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว

การรณรงค์เรื่องกฎหมายทำแท้งเสรีไม่ว่าจากฟากที่สนับสนุนหรือคัดค้านก็ควรที่จะทำให้ลึกลงไปกว่าแค่ประเด็นเชิงเทคนิคทางกฎหมาย

หรือเทคนิควิธีการทางการแพทย์อันเป็นผลบั้นปลายของปัญหาอันเป็นต้นตอดั้งเดิม

แต่ควรขยับเข้ามาสู่คำถามและข้อถกเถียงพื้นฐานที่สุด

ได้แก่ ปัญหาทางปรัชญาว่าด้วยศีลธรรม ซึ่งก็คือขอบเขตของวิชาจริยศาสตร์นั่นเอง